(148) ปฏิบัติตนเองในวัดกับนอกวัด


(148)

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม

ภารกิจและกิจกรรมที่ทำในวันนี้;

ช่วงเช้าที่วัดหรือที่บ้านภารกิจก็มักจะไม่แตกต่างกันตื่นแต่เช้ามืด ทำภารกิจส่วนตัวเสร็จแล้วออกมาที่ครัวส่วนหน้าของวัด เตรียมอาหารถวายพระ และเริ่มทำขนมเพื่อสุขภาพ "อบคุ้กกี้กราโนล่า" รู้สึกขอบคุณทุกท่านที่ให้ความเกื้อหนุนอุปถัมภ์กิจกรรมของต้นกล้า นับตั้งแต่ได้รับโจทย์นี้มา มีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา จนมาลงตัวเป็นกิจกรรมที่หลายๆ คนเข้ามามีส่วนร่วม

หลังรับข้าวเสร็จ ช่วยกันกับมลในการทำขนมและแพ็คขนม นำแนวคิดในเรื่องของ LEAN เข้ามาใช้ทำให้ได้ผลลัพธ์ของงานที่มากในช่วงเวลาจำกัด

ช่วงบ่ายเข้าไปโซนที่พักภาวนา เดินจงกลมและนั่งสมาธิ การที่ได้ทำอยู่ที่วัดเอื้ออำนวยให้การปฏิบัติได้ราบรื่นคล่องขึ้น ตัดสิ่งรบกวนออกไปได้มากกว่า

ช่วงเย็นกลับเข้าบ้านวันนี้นอนที่บ้านแม่ ในตลอดหลายปีที่ปฏิบัติชีวิตเช่นนี้มีความรู้สึกระหว่างห่วงใยแม่กับความตั้งใจรักษาสัจจะจะเลือกอะไรดี แต่หลายปีที่ผ่านมาก็เลือกสัจจะ และได้ฝึกฝนตนเองในเรื่องการพลัดพราก

ข้อปฏิบัติในชีวิต;

สิ่งที่กำหนดเป็นข้อวัตรปฏิบัติตนเองในวัดกับนอกวัด ไม่แตกต่างกันมากนัก

- สวดมนต์ทำวัตรเช้า

- เตรียมอาหารถวายพระ

- เดินจงกลม

- นั่งสมาธิภาวนา

- เขียนถอดบทเรียนใคร่ครวญในตนเอง

- ศึกษาธรรมะจากการฟังเทศน์

- ทำวัตรเย็น

วันที่อยู่วัดสามารถปฏิบัติข้อวัตรได้สะดวกและค่อนข้างครบตามที่สัจจะไว้ แต่เวลาที่ไปต่างจังหวัดสิ่งที่ขาดไปคือ การนำอาหารถวายพระด้วยตนเอง แต่ก็จะมีแม่ออกชาวบ้านที่มองทุนให้ทำอาหารถวายพระดังนั้นความพร่องของข้อวัตรจึงไม่ขาด

วันนี้การเดินจงกลมและการนั่งสมาธิภาวนาได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องเวลาที่ปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ทำให้นึกถึงนักกีฬาที่เข้าค่ายฝึกซ้อมกำลังกายเพื่อเตรียมแข่งขันในสนามจริง การฝึกกำลังของจิตก็เช่นเดียวกันการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอทำให้เราเผชิญกับเรื่องราวในชีวิตประจำวันได้

สิ่งที่ได้เรียนรู้และคุณค่าที่เกิดขึ้นในชีวิต;

"ใจสงบเย็น"ท่ามกลางกระแสความวุ่นวายรอบตัวคือ สิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการเรียนรู้และฝึกฝนของเราเป็นอย่างไร เวลาที่มีเรื่องราว เหตุการณ์และผู้คนเข้ามากระทบ ใจของเราเป็นอย่างไร อารมณ์ ความคิด และความรู้สึกของเราเป็นอย่างไร แนวโน้มไปทางด้านบวกหรือด้านลบ

จิตที่เศร้าหมองมาจากจิตที่ปราศจากศีลห่อหุ้ม จิตที่ผ่านการฝึกปฏิบัติศีลจะทำให้สะอาดผ่องแผ้วมาก เวลาที่เราไม่มีสติและไม่มีปัญญาสิ่งที่เราจะประคองตนเองได้คือ ความอดทน อันเป็นความอดทนที่มีต่ออารมณ์ความคิดด้านลบที่เกิดขึ้น

เวลาที่นึกถึงภารกิจบุญที่ตนเองทำใจนี้อดที่จะยิ้มไม่ได้ มันคล้ายอาหารใจที่เราเติมเต็มเข้าไปอยู่ตลอดเวลา เป็นใจที่เต็มอิ่มและสงบ ความพากเพียรทำให้เรามองเห็นวิถีของการก้าวผ่านปัญหาและอุปสรรค ทำให้เป็นกำลังใจแก่ตนเองได้ดีมากๆ

บทธรรมที่ได้ศึกษา;

คนมีทานหรือคนที่เด่นในการให้ทาน

ย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผยและเด่นในปวงชนโดยไม่น้อยมีรูปร่างลักษณะ

ผู้เช่นนี้มนุษย์และสัตว์ตลอดเทวดาที่มองไม่เห็นก็เคารพรัก

จะตกทิศใดแดนใดย่อมไม่อดยากขาดแคลน

หากมีสิ่งหรือผู้อุปถัมภ์จนได้ ไม่อับจนทนทุกข์

แม้ในแดนมนุษย์เรานี้ก็พอเห็นได้อย่างเต็มตารู้ได้อย่างเต็มใจว่า

ผู้มีทานเป็นเครื่องประดับตัวย่อมเป็นคนไม่ล้าสมัยในสังคม

และบุคคลทุกชั้นไม่รังเกียจ"

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

-----------------

จากบทธรรมดังกล่าวน้อมกลับมาทบทวนในตนเอง สิบกว่าปีที่ฝึกฝนเรื่องการให้ทาน จากทานน้อยๆ มาสู่ทานที่ละเอียดขึ้น คือ การละออกจากความเห็นแก่ตัว การทำสิ่งที่ต่างๆ ที่ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย แม้เหนื่อยแสนเหนื่อยแต่ใช้กายและการกระทำเป็นทาน ใจนี้จะเต็มอิ่มมากๆ

28-05-2560


คำสำคัญ (Tags): #self reflection#mind#reflection
หมายเลขบันทึก: 629176เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2017 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2017 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท