สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

5 เรื่องสำคัญ แก้ปัญหาจุดตายของเด็กไอที



ต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 5 เปิดค่าย 7 วัน แก้ไขจุดบอด

เสริมทักษะพื้นฐานสำคัญให้คนไอทีรุ่นเยาว์…ก่อนจะผลักดันผลงานสู่ผู้ใช้จริง


เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 อย่างเต็มตัว สิ่งสำคัญที่จะมองข้ามไปไม่ได้ นั่นคือ การพัฒนากำลังคนของประเทศ เพราะถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่าในการพัฒนาประเทศ เช่นเดียวกับโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ที่ดำเนินงานโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กซ์ทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สนับสนุนโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมกันบ่มเพาะเยาวชนไอที ที่มาจากเวทีการประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทยให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นนักพัฒนาผลงานด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เข้าถึง เข้าใจ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ได้จริง



โดยปีนี้มีผลงานของเยาวชนที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 26 ทีม จากผลงานทั่วประเทศ ล้วนแต่เป็นเยาวชนที่มีศักยภาพในการคิดสร้างผลงานทั้งที่เป็นผลงานด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ แต่ยังเป็นเพียงต้นแบบทางความคิดที่ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริงโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ จึงได้เสริมศักยภาพ 5 เรื่องหลักในการพัฒนาต่อยอดผลงานของเยาวชนไอที ได้แก่ เรื่องที่ 1. “การรู้จักตนเอง และเชื่อมโยงตัวเองกับสังคม” เรื่องนี้ต้องการให้เยาวชนไอทีค้นหา และสำรวจผลงานของตนเอง ดูว่างานที่ทำมันไปเชื่อมโยงกับชีวิตคนในสังคมอย่างไร ฝึกวิเคราะห์เชื่อมโยงตัวเองกับสังคม เพื่อให้ได้โจทย์ปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมาใช้ในการพัฒนาผลงาน เรื่องที่ 2. “การวิเคราะห์ผู้ใช้งาน” หัวข้อนี้ได้ออกแบบให้เยาวชนเรียนรู้ผ่านกิจกรรมจำลองการสัมภาษณ์ CEO มุ่งให้เยาวชนได้ทำความเข้าใจผู้ใช้งานจริงโดยฝึกให้เยาวชนรู้จักเก็บข้อมูลจากการตั้งคำถาม และการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง User Experience (UX) / User Interface (UI) ที่อยากให้ผู้เรียนลองออกแบบผลิตภัณฑ์โดยยึดจากประสบการณ์ของผู้ใช้มาช่วยออกแบบกระบวนการวิจัย หรือผลิต รวมไปถึงรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่คนเห็นแล้วเข้าใจง่าย หรือเมื่อได้ลองใช้แล้วรู้สึกประทับใจ เรื่องที่ 3. “การพัฒนาผลงานที่มีความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์” คือ ให้เยาวชนฝึกวิเคราะห์ปัญหา และค้นหาเทคโนโลยีมาใช้กับผลงานของตนที่มีความแตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งสิ่งนั้นต้องมีคุณค่ากับตนเองและสังคม เรื่องที่ 4. “การสร้างแบรนด์ให้โดนใจ” หัวข้อนี้ต้องการให้เยาวชนเกิดทักษะในการสร้างแบรนด์ที่มีความแตกต่างและเข้าใจเรื่องกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำกับสินค้าหรือผลงานชิ้นนั้นได้ เรื่องที่ 5. “เทคนิคการนำเสนองานอย่างมืออาชีพ” เรื่องนี้มุ่งเน้นให้เยาวชนไอทีเกิดทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทั้งต่อทีมและต่อสาธารณะโดยฝึกการพูดการนำเสนอผลงานให้น่าดึงดูดความสนใจ


ดร.กัลยา อุดมวิทิต

รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ


ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า “นอกจากความรู้ในค่ายแล้ว เรายัง พาน้องๆออกไปดูงานและพูดคุยกับกลุ่ม start up ที่อยู่ในธุรกิจไอที หรือธุรกิจด้านอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เขาได้เห็นสถานการณ์จริงว่าเวลาใช้งาน ใช้อย่างไร แล้วคนที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจจริงๆเขามีประสบการณ์ที่จะพัฒนางานจนกลายเป็นผลงานที่ใช้ได้จริง ได้อย่างไร ซึ่งส่วนนี้ทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้กับน้องๆในค่าย ที่เห็นตัวอย่างจากผู้ที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างหรือทำงาน ทั้งหมดนี้เราเพียงต้องการเสริมแนวคิด แต่เด็กจะเป็นคนสังเคราะห์และมองย้อนกลับไปในผลงานตัวเองมากกว่าว่าเขาจะพัฒนาผลงานอะไร ทำเพื่อใคร ประโยชน์คืออะไรบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กสามารถนำไปใช้ต่อในอนาคตได้ นอกจากเด็กได้หลักคิดแล้ว เขายังได้เรื่องการทำงานเป็นทีม การอยู่ร่วมกับคนอื่น ซึ่งถือว่าเป็นคุณลักษณะของคนรุ่นใหม่ที่น่าจะสนับสนุนให้เกิดขึ้น”


น.ส.ภาดา โพธิ์สอาด (พี) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพพัฒนาต่อยอดผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งนี้ได้เปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้เยาวชนสายไอทีที่มีฝันสร้างสรรค์ผลงาน ไปสู่ผู้ใช้จริง….เริ่มจาก .ส.ภาดา โพธิ์สอาด (พี) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว “การมาเข้าค่ายครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ทำให้หนูได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เพิ่มเติมทักษะและประสบการณ์บางอย่างที่เคยเรียนมาให้เข้าใจมากขึ้น อย่างเช่น ในคลาสของ UI /UX เป็นบรรยายกาศที่ให้ทั้งความสนุก ทำให้เรามองเห็นในมุมของ User มากขึ้น หรือการวางแผนในการพัฒนาผลงานของเราให้ทันในเวลาที่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งมันดีกว่าการนั่งฟัง หรืออ่านจากหนังสือ ได้พูดคุยกับทีมอื่นๆ ได้เห็นมุมมองใหม่จากคนอื่นเพื่อนำไปพัฒนาผลงานของเรา หนูจึงคิดว่าค่ายนี้เป็นค่ายที่ให้ทั้งความรู้ และโอกาสสำหรับคนที่มี Passion มีฝันอยากทำผลงานไปสู่ผู้ใช้จริงได้”


น.ส.ทรินันท์ คงนคร (แพ็ม) นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง

ส่วน น.ส.ทรินันท์ คงนคร (แพ็ม) นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้เข้าร่วมค่ายครั้งนี้ กล่าวว่า “รู้สึกดีใจที่มีโอกาสการเข้าค่ายครั้งนี้ เพราะเป็นเด็กต่างจังหวัด ตอนแรกก็คิดว่าคงไม่ได้มาแน่ๆ แต่เราก็แอบหวังนิดๆว่าจะได้มา แต่พอได้เข้ามาแล้วก็พยายามเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ที่เรียนแต่ละครั้งไปให้มากที่สุด ซึ่งก่อนหน้าที่จะได้มานั้น หนูทำโครงงานที่ไม่เป็นระบบ แต่ในค่ายได้สอนให้เรารู้ว่าขั้นตอนการทำงานจะต้องเริ่มจากอะไร จัดการอย่างไร ผู้ใช้คือใคร งานของเราไปช่วยแก้ปัญหาอะไร หรือเรื่องการทำงานเป็นทีมก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะทั้งหมดนี้จะช่วยให้งานของเราเดินไปตามเป้าหมาย รวมไปถึงเรื่องเทคนิคการนำเสนอผลงาน ทำอย่างไรให้งานของเราดูน่าสนใจและคนจดจำได้ ค่ายนี้จึงเป็นการรวมตัวของคนเล็กๆที่มีฝันเหมือนกันที่เดินไปด้วยกัน”

อาจารย์พัชรา พงศ์มานะวุฒิ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง

ด้าน อาจารย์พัชรา พงศ์มานะวุฒิ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง กล่าวว่า “เป็นนี้เป็นปีที่ 3 ที่เราสนับสนุนให้เด็กมาร่วมโครงการนี้ เพราะครูเล็งเห็นว่างานเด็กที่พัฒนาขึ้นมาแล้ว ไม่ได้เป็นโครงงานที่วางอยู่เฉยๆแต่ โครงการนี้เขาให้โอกาสเยาวชนไอทีที่มีฝันพัฒนาผลงานไปถึงมือผู้จริงในสังคมได้เด็กที่มาเข้าร่วมค่ายก็จะได้ความรู้ และประสบการณ์ที่ต่างจากในห้องเรียน ทำให้เด็กเข้าใจงานตัวเองได้ชัดขึ้น สำหรับครูแล้วก็มองเห็นว่ากระบวนการสอนในค่ายของโครงการต่อกล้าฯมีประโยชน์มากที่เราจะดึงเทคนิคต่างๆไปปรับเรื่องการเรียนการสอนในห้องเรียน เช่น เราสามารถดึงศักยภาพ และความกล้าของเด็กออกมาได้ อย่างเด็กบางคนที่ไม่ค่อยกล้าพูด แต่ในตัวเขามีความคิด มีไอเดียดีๆอยู่เยอะ แต่เมื่อนำกิจกรรมเหล่านี้เสริมเข้าไปในการสอน ทำให้เขากล้าที่จะแสดงความคิดเห็นออกมา หรือการจำลองสถานการณ์ให้เด็กคิดและลงมือแก้ปัญหาจริงๆ มันก็ทำให้เขามองเห็นงานตัวเองชัดขึ้น เพราะฉะนั้นเด็กก็จะเรียนได้อย่างมีความสุข ซึ่งผลลัพธ์จากสองปีที่ผ่านมาเด็กนักเรียนที่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฯ เขาก็สามารถเป็นตัวแทนของครูได้ สามารถช่วยให้คำปรึกษาเรื่องเทคนิค หรือคำแนะนำในการพัฒนางานแก่เพื่อนๆและรุ่นน้อง”

นี่อาจเป็นโครงการดีๆอีกโครงการหนึ่งที่แบ่งปันพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่เสริมศักยภาพการพัฒนาผลงานด้านนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวแต่ยังได้ติดอาวุธทางปัญญาเรื่องอื่นๆที่มีความจำเป็นสำหรับ “นักสร้างสรรค์นวัตกรรม และเทคโนโลยีรุ่นใหม่” ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และมีใจพร้อมที่จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหา ช่วยพัฒนาให้กับชุมชน สังคม จนถึงระดับประเทศในอนาคตอันใกล้

………………………………………………………………………………..

ติดตามรายละเอียดของโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ และโครงการอื่นๆของเยาวชนได้ที่ https://www.scbfoundation.com/ หรือแฟนเพจเฟสบุค https://www.facebook.com/SCBFOUNDATION/



ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท