ความไม่เคยพอในชีวิต


ขณะที่ผมกำลังนั่งจัดการโจ๊กลงกระเพาะในช่วงเช้า ระหว่างนั้น เปิดการบรรยายของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ไปด้วย โน๊ตบุ๊คบนโต๊ะทำงานอาจจะมีเสียงดังไม่มาก แต่เพียงพอที่จะได้ยินเนื้อหาจากการบรรยายนั้น การเปิดแบบนี้ คาดหวังว่า เทวดา นางฟ้า เจ้าบ้าน เจ้าอาคาร จะได้ฟังร่วมด้วย (บ้าไปแล้ว เราเชื่อในสิ่งที่ไม่เห็นได้อย่างไร...แท้จริง ผมก็ไม่เคยเห็นตัวอะมีบ้า เหมือนกัน) แต่ก็ไม่น่าจะรบกวนเพื่อนที่มาทำงาน เพราะกว่าจะมีใครมาก็เลย ๐๘.๓๐ น.ไปแล้ว ยกเว้นแม่บ้านที่มาก่อน ๐๗.๐๐ น.

ผมสงสัยในหลายเรื่องที่พระสายปฏิบัติอย่างหลวงพ่อพุธ ฐานิโยได้พูดถึง ความสงสัยดังกล่าวเช่น จริงหรือสมาธิมีอยู่? ถ้ามีอยู่ มีอยู่อย่างไร? ปัญญาที่เราเรียนจากตัวหนังสือกับปัญญาที่พระสายปฏิบัติเหล่านี้กล่าวถึง อันใดคือปัญญากันแน่? การอยู่กับปัจจุบัน จะทำให้เราหมดสิ้นทุกข์ได้จริงหรือ? เราจะมองเห็นสิ่งต่างๆที่เราไม่เคยเห็นจริงหรือ? ฯลฯ ความคิดหนึ่งก็ผุดขึ้นมาว่า "นี่กระมัง คือความไม่เพียงพอในชีวิต"

สมัยที่ยังไม่ได้กินมังคุด เฝ้าสงสัยว่ารสของมังคุดเป็นอย่างไร แต่ได้ชิมเนื้อมังคุด จึงรู้ว่ารสเป็นอย่างไร แต่ก็เท่านั้น เมื่อยังไม่ได้เรียนปริญญาตรี ได้แต่เฝ้ามองคนจบปริญญาตรีว่า เก่งจัง เมื่อเรียนจบแล้วก็เท่านั้น สมัยสอนอยู่ในโรงเรียนมัธยมก็เฝ้าแต่ไถ่ถามว่า คนที่ไปสอนระดับปริญญาตรีนั้นเก่งจัง แต่เมื่อไปสอนระดับปริญญาตรีก็พบว่า "เท่านั้น" ความอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร น่าจะคือความไม่เพียงพอในชีวิต เมื่อเดินไปถึง นึกว่าเราจะเพียงพอ แต่ก็ไม่เพียงพออยู่ดี บนโลกใบนี้มีอีกหลายเรื่องที่เราไม่รู้ เราชื่นชมและเฝ้าไถ่ถามถึงมัน แต่เมื่อเดินไปถึง แรกๆก็ตื่นเต้นกับมัน สุดท้าย "ไม่มีอะไร" จะพบว่า เราใช้เวลากับความไม่เพียงพอในชีวิตเป็นจำนวนมาก แล้วเราก็ทิ้งข้อค้นพบนั้นเพื่อเดินไปสู่ความไม่เพียงพออื่น เราก็ยังคงแสวงหาสิ่งนั้นไม่เรื่อย อ.ประมวล พูดให้ฟังหลังจากวางงานที่สังคมชื่นชมทั้งหมดลง เมื่อก่อนทำงานเพื่อสังคม นึกว่าจะเป็นหนทางแห่งความสุข แต่วันนี้มาพบว่า เสียเวลาอยู่นาน (ปัจจุบันวางธุรกิจทั้งหมด หันหน้าปฏิบัติธรรม) ผมเถียงในใจว่า อาจไม่ใช่ความเสียเวลา หากแต่เป็นบันไดให้เรียนรู้ เพราะถ้าไม่มีการเรียนรู้จากที่ผ่านมา เราคงเปรียบเทียบอดีตกับสิ่งที่พบในปัจจุบันได้ว่า สิ่งใดเหมาะสมกับตัวเรา จริงอยู่ การวางสิ่งต่างๆทางสังคมลง แล้วหันมาพัฒนาทางจิต อาจเป็นแนวคิดที่สังคมมองว่า "เห็นแก่ตัว" หากสังเกตโดยละเอียด การที่สังคมมองอย่างนั้นก็เพราะสังคมเห็นแก่ตัวเช่นกัน คือเห็นแก่ตัวของสังคม ที่จะร่วมกันช่วยทำให้สังคมดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การละวางสิ่งต่างๆทางสังคมลง แล้วหันหน้าเรียนรู้ปรากฎการณ์ทางจิต อาจจะมองว่าเป็นความเห็นแก่ตัว แต่ถ้าคนๆนั้นสามารถพัฒนาตนไม่ให้เบียดเบียนใคร ไม่เบียดเบียนตัวเอง แม้แต่ความคิด น่าจะคือการช่วยเติมเต็มสังคมได้ในช่องว่างหนึ่ง

ในชีวิตของเราทุกคน น่าจะมีเวลาคนละไม่มากนัก ยิ่งใกล้ ๖๐ ปี ยิ่งน้อยไปเรื่อยๆ มันเป็นสิ่งที่น่าคิดว่า เรากำลังแสวงหาสิ่งใด สิ่งที่เราพบแล้วคือสิ่งที่ใช้สำหรับเราแล้วหรือไม่ ถ้าสิ่งที่พบคือความใช่ เราก็น่าจะหยุดอยู่เพียงเท่านั้น แต่ปัญหาคือ มีสิ่งให้เราต้องสงสัยอย่างไม่จบสิ้น

นี่คือความคิดระหว่างนั่งฟังบรรยายของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ซึ่งไม่ใช่เนื้อหาของการบรรยาย แต่เป็นความคิดที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นที่อยากบันทึกไว้ ณ ที่นี้

หมายเลขบันทึก: 628566เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2017 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2017 08:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

"ความคิด..ท่านพุทธทาส..เปรียบไว้ว่า เสมือน วัวพันหลัก.."..เจ้าค่ะ..

เมื่อยังไม่รู้มักสงสัย พอได้รู้ทำให้กระจ่างแจ้ง เข้าใจขึ้น

ถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่ดีครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท