ครูพันธุ์บ้า แห่งบ้านนาโหนด


เพราะเชื่อว่าคนทุกคน มีความเป็นคนเท่ากัน เพราะเชื่อว่าคนทุกคนมีความแตกต่าง เพราะเชื่อว่าในความแตกต่าง คนทุกคนมีศักยภาพ และเชื่อว่าศักยภาพของคนทุกคนสามารถพัฒนาได้ ผ่านความเป็นแม่นอกเหนือความเป็นครู

เพราะเชื่อว่าคนทุกคน มีความเป็นคนเท่ากัน

เพราะเชื่อว่าคนทุกคนมีความแตกต่าง

เพราะเชื่อว่าในความแตกต่าง คนทุกคนมีศักยภาพ

และเชื่อว่าศักยภาพของคนทุกคนสามารถพัฒนาได้

ผ่านความเป็นแม่นอกเหนือความเป็นครู


ครูจิรารัตน์ ล่องจ๋าหรือที่ชาวบ้านรู้จักกันดีในนาม ครูเขียวปากหมา ครูพันธุ์บ้าแห่งบ้านนาโหนด ครูเขียวเกิดและเติบโตที่บ้านนาโหนด และเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนวัดสวนพล


แน่ไม่แน่ดูเอา แม่ของครูเขาเป็นอดีตกำนันแหนบทองคำคนแรกของจังหวัดนครศรีธรรมราช และจากที่ครูเขียวเรียนจบปริญญาตรีและโทด้านสังคมศาสตร์ ก็ได้สอบบรรจุที่อำเภอเชียรใหญ่

จนกระทั่งปี 2533เกิดปัญหาในครอบครัว ครูเขียวได้หย่าร้างกับสามี ครูเขียวจึงตัดสินใจย้ายกลับมาที่บ้านเกิด

ในปี2534 การเป็นครูช่วงแรกก็ไม่ต่างจากครูทั่วไปคือสอนไปตามหน้าที่สอนในหลาย ๆวิชา และก็ไม่เคยได้สอนวิชาสังคมตามที่ได้เรียนมา จนกระทั่งพบว่าลูกชายคนแรกมีความผิดปกติเกิดขึ้น คือเป็นออทิสติก ครูเขียวหันมาศึกษาหาความรู้อย่างจริงจังในเรื่องของการดูแลและจัดการศึกษาเพื่อเด็กพิเศษ ลองผิดลองถูกอยู่หลายปี

จนกระทั่งสามารถพัฒนาให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้น สามารถเรียนและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ จากเด็กที่ครูไม่ยอมรับ เด็กที่เป็นภาระสังคม จนเรียนจบมีงานทำและดูแลตัวเองได้

ครูเขียวพบว่าในโรงเรียนวัดสวนพลมีเด็กพิเศษอยู่หลายคนและหลายประเภท เช่น สมาธิสั้น เรียนรู้ช้า บกพร่องทางการได้ยิน พิการร่างกาย พิการซ้ำซ้อน ออทิสติก ด้วยความเชื่อและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองทำให้เชื่อว่า คนทุกคนล้วนแตกต่าง คนทุกคน ล้วนพัฒนาได้ตามศักยภาพของแต่ละคน ครูเขียวจึงเริ่มเข้าไปพูดคุยแนะนำกับพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ


หลายครั้งที่โดนต่อว่าและไม่ยอมรับของพ่อแม่ ครูเขียวใช้ความพยายามอยู่นานกว่าที่พ่อแม่จะยอมรับและส่งลูกมาให้ครูเขียวดูแลอย่างจริงจัง

การทำงานเพื่อเด็กพิเศษเริ่มเกิดขึ้นในปี 43 ครูเขียวได้ไปอบรมเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กพิเศษ ซึ่งเป็นคนเดียวในโรงเรียนที่ได้รับการอบรม และต้องกลับมาดูแลเด็ก ๆ พิเศษทั้ง 9 คนที่กระจายอยู่ในชั้นเรียนต่าง ๆ ตั้งแต่ชั้น ป. 1 ถึง ป. 6

ในขณะที่ครูคนอื่น ๆ ยังไม่เข้าใจและไม่ยอมรับว่าทำไมต้องให้ความสำคัญกับเด็กพิเศษที่มีจำนวนเพียงไม่กี่คน ครูเขียวยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเด็กพิเศษกลุ่มนี้ต่อไป


นอกจากการทำหน้าที่สอนเด็กปกติในชั่วโมงเรียนแล้ว หลังเลิกเรียนเด็กพิเศษทั้ง 9 คน จะมารวมกันที่ห้องเรียนพิเศษที่ครูเขียวจัดเตรียมสื่อการเรียนการสอนเฉพาะความพิการของแต่ละคน การสอนของครูเขียวไม่ได้มุ่งเน้นด้านวิชาการมากนัก แต่มุ่งเน้นวิชาชีวิตตามความถนัดและศักยภาพของแต่ละคน


หลังจากที่สังเกตและพบว่าเด็กแต่ละคนมีความสามารถด้านไหน เช่น บางคนถนัดวาดรูป ทำงานประดิษฐ์ ร้องเพลง ครูเขียวจะส่งเสริมและพัฒนาเด็กตามความถนัด รวมทั้งขอความร่วมมือจากครูประจำชั้นให้ช่วยสนับสนุนส่งเสริม จนสามารถพาเด็กไปแข่งขันและได้รางวัลทั้งระดับภาคและระดับประเทศอย่างมากมาย



แม้ว่าจะทุ่มเทให้กับเด็กอย่างเต็มที่ในเวลาเรียน แต่ครูเขียวกลับรู้สึกว่ายังไม่เพียงพอกับการพัฒนา จึงเปิดศูนย์การเรียนรู้ห้องเรียนนอกเวลาขึ้นที่บ้านของครูเขียว ทุกวันเสาร์ตั้งแต่เช้าจนเย็น ที่นี่จะเต็มไปด้วยเด็กพิเศษทั้งในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง รวมไปถึงเด็กปกติ ศิษย์เก่า ชาวบ้านที่เรียกว่าแม่อาสา และพี่อาสา จะมาทำกิจกรรมร่วมกับเด็กพิเศษ เช่น การสอนทำงานประดิษฐ์ ทำอาหาร สอนรำ สอนอ่านเขียน


รวมไปถึงการออกไปทำประโยชน์เพื่อสังคม เช่น การทำฝาย ปั่นจักรยานเก็บขยะในหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านมาช่วยครูเขียวด้วยความเต็มใจไม่มีค่าจ้าง บางครั้งก็มีขนม ของกินติดไม้ติดมือมาฝากเด็ก ๆ ในช่วงเดือนเมษายนจะมีการจัดค่ายใหญ่ภาคฤดูร้อน เพื่อให้ด็ก ๆ ได้มาใช้เวลาว่างร่วมกันในช่วงปิดเทอมจะมีทั้งเด็กพิเศษ เด็กปกติ จากหลายพื้นที่รวมทั้งแม่อาสา พี่อาสา ศิษย์เก่ามารวมตัวกันหลายสิบคน เพื่อมาทำกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกัน








ครูเขียวจะคิดหากิจกรรมมาให้เด็ก ๆ ได้คิด ได้ทำอยู่สม่ำเสมอ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นที่กิจกรรมเพื่อสังคม เป็นการบ่มเพาะการมีส่วนร่วมทำงานเพื่อสังคม รวมถึงดึงเด็ก ๆ ในชุมชนมาทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ให้ใช้เวลาหมดไปกับการเล่นเกมส์หรือมั่วสุม



เพราะเด็กส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัวที่แตกแยก อยู่กับตายาย ซึ่งไม่ค่อยมีเวลาดูแล ที่บ้านครูเขียวทุกคนได้เรียนฟรี กินฟรี มีคนดูแล ครูเขียวไม่เพียงแต่ช่วยดูแลเด็กพิเศษแต่ยังรวมไปถึงการเป็นที่ปรึกษาทุกเรื่องให้กับทุกคนที่เข้ามา แม้ว่าจะเป็นคนพูดจาโผงผาง ตรงไปตรงมา แต่ชาวบ้านก็รู้ว่านั่นคือความหวังดีที่ครูเขียวมีให้อย่างจริงใจกับทุกคน







การทำงานที่ผ่านมาแม้ว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารหลาย ๆ คนที่ผ่านมา แต่ครูเขียวใช้หัวใจและความตั้งใจจริงพิสูจน์การทำงานจนเป็นที่ยอมรับและศรัทธาของคนในชุมชนตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านสิ่งของ ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ครูเขียวยังคงเดินหน้าทำงานเพื่อเด็กกลุ่มนี้ต่อไป เพราะพวกเขายังรอความรัก ความเมตตาและความเข้าใจจากครู และจะทำจนกว่าจะถึงวันที่ร่างกายหมดเรี่ยวแรงลง

สุรา ๑ ป้าน

หมายเลขบันทึก: 625903เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2017 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2017 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท