รสวรรณคดีไทย


รสวรรณคดีไทย

หมายถึง รสของความไพเราะในการใช้ถ้อยคำให้เกิดความงดงามและเกิดอารมณ์แบ่งเป็น ๔ รส ดังนี้

๑) เสาวรจนี เป็นรสของการชมความงาม ชมโฉม พร่ำพรรณาและบรรยายถึงความงาม ของตัวละคร สถานที่ หรือธรรมชาติ เช่น

ทนต์แดงดั่งแสงทับทิม เพริศพริ้มเพรารับกับขนง

เกศาปลายงอนงามทรง เอวองค์สารพัดไม่ขัดตา

(อิเหนา)

๒) นารีปราโมทย์ เป็นรสของการแสดงความรักผ่านการเกี้ยวและโอ้โลม เช่น

ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน

แม้นเกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา

แม้นเนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา

แม้นเป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา เชยผกาโกสุมปทุมทอง

เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่ เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง

จะติดตามทรามสงวนนวลละออง เป็นคู่ตรองพิศวาสทุกชาติไป

(พระอภัยมณี)

๓) พิโรธวาทัง เป็นรสของการแสดงความโกรธแค้นโดยการใช้คำตัดพ้อต่อว่า เหน็บแนม ส่อเสียด ประชดประชัน กระทบกระเทียบ และด่าว่าอย่างรุนแรง เช่น

ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ ฟังจบแค้นคั่งดังเพลิงไหม้

เหมือนดินประสิวติดกับเปลวไฟ ดูดู๋เป็นได้อีวันทอง

จะว่ารักข้างไหนไม่ว่าได้ น้ำใจจะประดังเข้าทั้งสอง

ออกนั่นเข้านี่มีสำรอง ยิ่งกว่าท้องทะเลอันล้ำลึก

จอกแหนแพเสาสำเภาใหญ่ จะทอดถมเท่าไรไม่รู้สึก

เหมือนมหาสมุทรสุดซึ้งซึก น้ำลึกเหลือจะหยั่งกระทั่งดิน

อิฐผาหาหาบมาทุ่มถม ก็จ่อมจมสูญหายไปหมดสิ้น

อีแสนถ่อยจัญไรใจทมิฬ ดังเพชรนิลเกิดขึ้นในอาจม

รูปงามนามเพราะน้อยไปหรือ ใจไม่ซื่อสมศักดิ์เท่าเส้นผม

แต่ใจสัตว์มันยังมีที่นิยม สมาคมก็แต่ถึงฤดูมัน

มึงนี่ถ่อยยิ่งกว่าถ่อยอีท้ายเมือง จะเอาเรื่องไม่ได้สักสิ่งสรรพ์

ละโมบมากตัณหาตาเป็นมัน สักร้อยพันให้มึงไม่ถึงใจ

ว่าหญิงชั่วผัวยังคราวละคนเดียว หาตามตอมกันเกรียวเหมือนมึงไม่

หนักแผ่นดินกูจะอยู่ไย อ้ายไวยมึงอย่านับว่ามารดา

(ขุนช้างขุนแผน)

๔) สัลลาปังคพิไสย เป็นรสของการคร่ำครวญ หรือโศกเศร้า อันเนื่องมาจากการพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก เช่น

ว่าพลางทางชมคณานก โผนผกจับไม้อึงมี่

เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา

นางนวลจับนางนวลนอน เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา

จากพรากจับจากจำนรรจา เหมือนจากนางสการะวาตี

แขกเต้าจับเต่าร้างร้อง เหมือนร้างห้องมาหยารัศมี

นกแก้วจับแก้วพาที เหมือนแก้วพี่ทั้งสามสั่งความมา

(อิเหนา)

หมายเลขบันทึก: 624978เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2017 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มีนาคม 2017 17:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท