พลังของแผ่นดิน -- The power of the Earth, King.


พลังของแผ่นดิน

“พลังของแผ่นดิน”

-----------------

๑. ในหลวงเป็นใคร

๒. ชื่อ “ภูมิพล” มาจากไหน

๓. อะไรทำให้พระองค์มีพลัง

๔. หลักการช่วยเหลือประชาชน



---------------------

๑. ในหลวงเป็นใคร คำถามนี้ สำหรับคนไทย ไม่มีใครตอบไม่ได้ ทุกคนย่อมรู้จักพระองค์ดี แต่ใครที่จะรู้จักดี รู้พระจิตพระองค์ รู้สำนึกในพระมหากรุณาที่ลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณตนดีพอ ถ้าเช่นนั้น เราควรมาทำความรู้จักพระองค์กัน ทำความรู้จักส่วนลึกในพระมหากรุณา และพระเจตจำนงของพระอย่างลึกซึ้ง เพื่อล่วงรู้ไปถึงพระจริยวัตรของพระที่สร้างความซาบซึ้งตรึงหัวใจคนไทย ตลอดจนมาศึกษาเหตุผลเบื้องหลังที่พระองค์ครองราชย์และเป็นพระราชาในดวงใจของคนไทยได้อย่างไร มีอะไรเป็นหลักการอยู่เบื้องหลังภาพของความสำเร็จเช่นนี้

พระองค์เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชนก (กรมหลวงสงขลานครินทร์ กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (หม่อมเจ้าสังวาร) พระนามเดิมว่า “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช” ทรงมีชื่อเล่นว่า “เล็กหรือ พระองค์เล็ก” นอกจานี้ พระองค์ยังมีพระนามเรียกอื่นๆ เช่น ในหลวง พระเจ้าแผ่นดิน พระราชา จากประชาชนคนไทย

พระองค์ประสูติเมื่อ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ ที่รพ.เมานท์ออเบอร์น รัฐเมสซาชูเซตต์ สหรัฐอเมริกา เมื่อพระชนมายุได้ ๕ พรรษา เสด็จกลับประเทศไทย จากนั้น ก็เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่เมืองโลซานน์ ปีพ.ศ.๒๔๗๘ เพื่อศึกษามหาวิยาลัยเมืองโลซานน์ แผนกวิทยาศาสตร์ ปีพ.ศ.๒๔๘๑ ก็เสด็จกลับประเทศไทย จนกระทั่งปีพ.ศ.๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืน คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กราบบังคมทูลอัญเชิญ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงมีพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดีจักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” ซึ่งในขณะนั้น มีพระชนมาพุเพียง ๑๙ พรรษา เท่านั้น จากนั้นก็เสด็จไปศึกษาต่อจนสำเร็จสาขารัฐศาสตร์

ต่อมา ๕ พฤษภาคม ปีพ.ศ. ๒๔๙๓ ได้รับพระบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง และได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการเป็นสัจวาจาว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม”

ต่อมา ๒๒ ตุลาคม ปีพ.ศ. ๒๔๙๙ พระองค์ ก็เสด็จทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร ปฏิบัติพระศาสนกิจ เป็นเวลา ๑๕ วัน ได้รับฉายาว่า “ภูมิพโล ภิกขุ” และ ๒ ปีต่อมา พระองค์ได้ทรงย่างเหยียบทุกภูมิภาคของประเทศไทย เมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๒ เป็นต้นมา จนมีคำกล่าวที่ว่า ทุกหนทุกแห่งบนผืนแผ่นดินไทยที่รอยพระบาทได้ประทับลง ได้ทรงขจัดทุกข์ยากนำความผาสุกและทรงยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎร ไพร่ฟ้า ประชาชน ให้ดีขึ้นด้วยพระปัญญาธิการ พร้อมด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงอุทิศพระองค์ เพื่อประโยชน์สุขของราษฎรและเพื่อความเจริญพัฒนาของประเทศชาติตลอดระยะเวลา โดยมิได้ทรงคำนึงประโยชน์สุขส่วนพระองค์เลย ทุกภูมิภาคทรงประจักษ์ในปัญหาของราษฎรเป็นอย่างดี ทรงดั้นด้นไปยังที่ต่างๆ อย่างไม่ย่อท้อพระทัยในชนบท ที่เห็นประชาราษฎร์ดำรงชีวิตด้วยความยากจน ลำเค็ญ และด้อยโอกาส ได้ทรงพระวิริยะอุตสาหะหาทางแก้ปัญหาตลอดพระชนมายุของพระองค์ นี่คือ ภาพที่พระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย เพื่อประชาชนไทยทุกคน และนี่คือ พลังของแผ่นดินที่สะเทือนไปทั่วทุกภาค

๒. ชื่อ “ภูมิพล” มาจากไหน พระนามนี้มีที่มา เมื่อสมัยที่พระองค์พระราชสมภพคือ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ณ รพ.เมานด์เออเบอร์น รัฐเมสซาชูเซตต์ สหรัฐอเมริกา เวลา ๐๘.๔๕ น. จากนั้น ๓ ชั่วโมง สมเด็จพระพันวัสสา อัยยิกาเจ้า (ย่า) ได้เข้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๗) และขอพระราชทานนาม พระองค์จึงประทานพระนามว่า “ภูมิพล อดุลเดช” จึงถือว่า ชื่อนี้ ๑) มาจากพระราชบิดา ๒) ร.๗ พระราชทานนามให้และ ๓) มาจากคำว่า กำลังแผ่นดิน

เมื่อทรงเจริญวัยเติบโตพระราชมารดา (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ได้กล่าวถึง ความหมายของพระนามนี้ไว้ว่า “อันที่จริง เธอก็ชื่อ ภูมิพล ที่แปลว่า กำลังของแผ่นดิน แม่อยากให้เธออยู่กับดิน” ต่อมาพระองค์มีพระราชปรารภถึงสิ่งที่สมเด็จพระบรมราชชนนีเคยรับสั่งว่า "เมื่อฟังคำพูดนี้แล้วก็กลับมาคิด ซึ่งแม่ก็คงจะสอนเรา และมีจุดมุ่งหมายว่า อยากให้เราติดดินและอยากให้ทำงานให้ทำงานแก่ประชาชน"

ส่วนพระนามคำว่าปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาจาก “ปรมินทร์” (ปรม+ อินทร์) หมายถึง ผู้เป็นใหญ่“มหา” แปลว่า ใหญ่ “ภูมิพล” (ภูมิ+ พล) กำลังของแผ่นดิน ชื่อหลัง “อดุลยเดช” (อดุลย+ เดช) แปลว่า ผู้มีกำลังของแผ่นที่มีอำนาจที่หาที่เปรียบไม่ได้

๓. อะไรทำให้พระองค์มีพลัง คำว่า “พลัง” เกิดมาจากหลายอย่างเช่น เกิดจากพลังของจักรวาลที่ระเบิดขึ้นมาในครั้งปฐมกาล เกิดมาจากดวงอาทิตย์ เกิดมาจากการโคจร เกิดมาจากแรงดึงดูด แรงผลัก แรงต้าน เกิดมาจากธรรมชาติ ลม น้ำ การเคลื่อนที่ของวัตถุ เกิดมาจากพลังกล เกิดมาจากพลังร่างกายของสิ่งมีชีวิต และเกิดมาจากพลังทางจิตใจ (เจตจำนง)

ส่วนพลังที่เกิดขึ้นในพระองค์ เกิดมาจากอุดมคติต่างๆ เช่นในพระพุทธศาสนา เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิราช ในพระจักวัตติสูตร ที่กล่าวว่า ๑) พระเจ้าจักรพรรดิชื่อว่า “ทัฬหเนมิ” เป็นผู้ปกครองที่ทรงธรรมในแผ่นดิน ที่มีมหาสมุทรเป็นขอบเขตและมีอาณาจักรที่มั่นคงด้วยแก้ว ๗ ประการคือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว คหบดีแก้ว และปริณายกแก้ว ส่วนในธรรมราชสูตรกล่าวว่า พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงอาศัยธรรม สักการะธรรม เคารพธรรม นอบน้อมธรรม เชิดชูธรรม ยกย่องธรรม มีธรรมเป็นใหญ่

๒) หลักธรรมที่ทำให้พระราชาเป็นใหญ่หรือมีพลัง ประกอบด้วย ๑) ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการคือ ทาน ศีล บริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน และความเที่ยงธรรม ๒) จักวัตติราช ๑๒ ประการคือ ๑. อนฺโตชนสฺมึ พลกายสฺมึ ควรอนุเคราะห์คนในราชสำนักและคนภายนอก ให้มีความสุข ไม่ปล่อยปละละเลย ๒. ขตฺติเยสุ ควรผูกไมตรีกับประเทศอื่น

๓.อนุยนฺเตสุ ควรอนุเคราะห์พระราชวงศานุวงศ์ ๔.พฺราหฺมณคหปติเกสุ ควรเกื้อกูลพราหมณ์ คหบดี และคฤหบดีชน คือเกื้อกูลพราหมณ์และผู้ที่อยู่ในเมือง ๕. เนคมชานปเทสุ ควรอนุเคราะห์ประชาชนในชนบท ๖.สมณพฺราหฺมเณสุ ควรอนุเคราะห์สมณพราหมณ์ผู้มีศีล ๗.มิคปกฺขีสุ ควรจักรักษาฝูงเนื้อ นก และสัตว์ทั้งหลายมิให้สูญพันธุ์ ๘.อธมฺมการปฏิกฺเขโป ควรห้ามชนทั้งหลายมิให้ประพฤติผิดธรรม และชักนำด้วยตัวอย่างให้อยู่ในกุศลสุจริต ๙.อธนานํ ธนานุปฺปทานํ ควรเลี้ยงดูคนจน เพื่อมิให้ประกอบการทุจริต กุศลและอกุศลต่อสังคม ๑๐.สมณพฺราหฺมเณอุปสงฺกมิตฺวา ปญฺหาปุจฺฉนํ ควรเข้าใกล้สมณพราหมณ์ เพื่อศึกษาบุญและบาปกุศล และอกุศลให้แจ้งชัด ๑๑.อธมฺมราคสฺส ปหานํ ควรห้ามจิตมิให้ต้องการไปในที่ที่พระมหากษัตริย์ไม่ควรเสด็จ ๑๒.วิสมโลภสฺส ปหานํ ควรระงับความโลภมิให้ปรารถนาในลาภที่พระมหากษัตริย์มิควรจะได้

๓) ราชสังคหวัตถุ ๔ คือ ๑. สะสะเมธัง ความที่ทรงพระปรีชาในการบำรุงธัญญาหารให้บริบูรณ์ ๒. ปุริสะเมธัง ความที่ทรงพระปรีชาในการสงเคราะห์บุรุษที่ประพฤติดี ๓. สะสะมาปะลัง ความที่ทรงพระปรีชาในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของราษฎร ๔. วาจาเปยยัง การตรัสพระวาจาที่อ่อนหวานแก่ชนทุกชั้น โดยควรแก่ฐานะ ๔) พรหมวิหาร ๔ คือ ๑. เมตตา คือ ทรงพระเมตตาต่อประชาราษฎร ๒. กรุณา คือ พระมหากรุณาประชาชนทุกหมู่เหล่า ๓. มุทิตา คือ ความปีติยินดีต่อประราษฎรทั้งปวง เมื่อมีความสุข ๔. อุเบกขา คือ ความหนักแน่น เที่ยงธรรมในพระทัยต่อความลำบาก ยากจนต่อประชาชนคนไทยที่หารอโอกาสช่วยเหลือ นอกจากนั้นยังถืออคติ ๔ คือ ไม่ลำเอียงกับกลุ่มใดๆ และทรงศีล ๕ ตลอดจน และได้เสด็จไปสนทนาธรรมกับพระอริยสงฆ์ทั่วประเทศเพื่อศึกษาธรรมด้วย

๔) พระองค์ได้ทรงศึกษาประวัติศาสตร์ราชจารีตประเพณีโบราณของทุกๆ ระบบกษัตริย์ โดยเฉพาะต้นตระกูลของพระพุทธเจ้า พระเจ้าอโศกมหาราช ราชาณาจักรสุโขทัย ราชาณาจักรสมัยอยุธยา กรุงธนบุรี และอาณาจักราชวงศ์จักรี เป็นแน่แท้ เนื่องจากกษัตริย์ดังกล่าว ล้วนอาศัยหลักการพระพุทธศาสนาในการปกครองประชาราษฎร์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะพระเจ้าอโศก ยุคสุโขทัย (พระยาลิไท) อยุธยา (พระไตรโลกนาถเจ้า) และยุคต้นรัตนโกสินทร์ (ร. ๑-๕) ถือว่า เป็นรูปแบบการปกครองแบบธรรมราชเป็นหลัก

ดังนั้น พระทัยของพระองค์ที่เปี่ยมด้วยพระคุณ และธรรมอันประเสริฐของพระองค์ล้วนได้รับจากพระพุทธศาสนาและพระราชาที่เป็นต้นแบบที่เป็นอุดมคติในพระองค์และได้กลายมาเป็นพลังของพระองค์โดยแท้

๖) ได้มาจากพระราชมารดา (สมเด็จย่า) ที่ได้อบรมสั่งสอน แนะนำมาตั้งแต่ยังทรงพะเยาว์ เช่น สอนให้รู้จักเรื่อง “การให้” สอนให้รู้จัก การประหยัด สมเด็จย่าเคยตรัสกับพระองค์ว่า “ลูกอยากได้จักรยาน ลูกก็ต้องเก็บค่าขนมไว้สิ หยอดกระป๋องวันละเหรียญได้มากค่อยเอาไปซื้อจักรยาน” สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ตรัสเล่าในเรื่องการประหยัด ดังนี้ “ในการประหยัดก็ได้จัดให้มีเงินค่าขนม สัปดาห์ละครั้งตามอายุ และก็ได้ไม่มากนัก แต่ถ้าจะซื้อหนังสือหรือของเล่น ท่านก็บอกว่าถึงวันเกิดจะซื้อให้” นั่นสะท้อนไปถึงหลักธรรมที่สมเด็จย่าได้รับมาสมัยอาศัยอยู่ในย่านวัดอนงคารามมา ถือว่าสมเด็จย่าคือต้นแบบหรือแบบอย่างของในหลวงโดยเฉพาะเรื่องตรงต่อเวลา “ทุกอย่างที่ทำต้องทำตามเวลา...ต้องตรงเวลาและเรื่องการับประทานอาหารก็ต้องเป็นเวลาเหมือนกัน ต้องมีระเบียบในด้านนี้” เป็นต้น

๗) ความยากจนคือ ปัญหาหลักของประเทศไทย สมัยนั้น เพราะประเทศเกษตรกรรม ประชาชนอยู่ห่างไกลความเจริญ บางทีก็แห้งแล้ง ขาดน้ำ ขาดไฟฟ้า ขาดถนน ด้านสาธารณสุข ฯ จนทำให้พระองค์ต้องเสด็จไปเยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์ และทุ่มเทพระวรกายอย่างเหน็ดเหนื่อย นี่คือ พลังแผ่นดินหรือพลังขับอีกแรงที่พระองค์ตั้งพระทัยช่วยเหลือประชาชน อย่างแท้จริง เพื่อเอาชนะความยากจน

๘) ประชาชนคนไทย ที่รักและเคารพพระองค์ ไม่ว่าจะเสด็จไปที่ไหนแห่งใด ประชาชนเข้าเฝ้า ต้อนรับอย่างเนืองแน่น ครั้งหนึ่งที่พระองค์เสด็จกลับไปศึกษา เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะนั่งรถพระที่นั่งผ่านวัดเบญจมบพิธ มีประชนชนคนหนึ่งตะโกนว่า “ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน” ต่อมาพระองค์ได้ตรัสต่อเรื่องว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้” ต่อมาหลังจากนั้น ๒๐ ปี ชายคนที่ตะโกนนี้ ก็ได้เข้าเฝ้าพระองค์ พระองค์ตรัสต่อชายคนนี้ว่า “เราเองนะรึ” พระองค์ตรัสต่อว่า “นั่นแหละทำให้เรานึกถึงหน้าที่ จึงต้องกลับมา” เรื่องนี้ก็สะท้อนได้ชัดเจนว่า ที่พระองค์ทรงมีพลังพระทัยช่วยเหลือประชาชน เพราะเห็นความทุกข์ยากของประชาชนคนไทย เป็นห่วงประชาชน จึงไม่สงสัยเลยว่า มวลมหาชนคนไทยที่มาเข้าเฝ้าหรือแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระองค์ในวันที่ ๕ ธันวาคมทุกที และวันครองราชย์ครบ ๖๐ ปี มีประชาชนแซ่สร้องสรรเสริญพระองค์เป็นล้าน

ฉะนั้น จึงพอกล่าวได้ว่า เหตุผลหรือแรงพลังของแผ่นดิน ที่มีต่อในหลวงนั่นมาจาก ๘ ประการดังที่กล่าวแล้วอย่างแน่นอน

๔. หลักการช่วยเหลือประชาชน ประเทศไทยเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นประเทศเกษตรกรรม ที่ยากจน ซึ่งหลังจากพระองค์เสด็จนิวัติกลับประเทศไทย ปีพ.ศ. ๒๔๙๓ พระองค์ก็เสด็จไปยังท้องถิ่น ชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล เพื่อศึกษาพื้นที่และราษฎร ว่าอยู่กันอย่างไร เพื่อจะได้หาทางช่วยเหลือ ทรงเห็นว่า เขตชนบทยังไม่เจริญ แห้งแล้งกันดาร เป็นป่า เป็นเขาอยู่ ประชาชนขาดโอกาส ขาดความรู้ในการทำมาหากิน ส่วนคนอยู่เขาปลูกฝิ่นขาย ทำลายป่า คนพื้นที่ราบกลับไม่มีน้ำทำเกษตร ความแห้งแล้ง ความยากจน คือ ศัตรูร้ายที่พระองค์ต้องหาทางเอาชนะ คนในเมืองกลับเจอปัญหารถติด ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาการเมือง ปัญหาการศึกษา การทำงาน รายได้ไม่พอ เศรษฐกิจไม่ดี พระองค์จึงหาทางช่วยเหลือตลอดมา โดยการตั้งโครงการต่างๆ และโครงการในพระราชดำริมากมาย เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากชนบทมาหาในเมือง และมีไม่น้อยที่คนกรุงไม่รู้ว่า ในเขตสวนจิตรดาคือ ทุ่งนาสาธิตและโครงการต่างๆ มากมายของพระองค์

เรื่องต้นๆ ที่พระองค์ทรงแก้ไขคือ การเพาะปลูกข้าว ปลูกพืช เลี้ยงปลา สร้างเขื่อน สร้างฝาย เนื่องจากว่า พระองค์มองเห็นประเทศเกษตรกรรม จึงต้องอาศัยน้ำ น้ำไม่มีทำฝนหลวง สร้างเขื่อน ฝาย ขุดบ่อ ป่าไม่มี ให้ปลุกป่า ดินไม่ดี ให้ปลูกไม้ ปลูกหญ้าแฝก น้ำท่วมก็คิดโครงการแก้มลิง ขุดคลองให้ ฯ เรื่องเหล่านี้ คนไทยในเมืองยังไม่รู้ว่าพระองค์ทำอะไรบ้าง เพราะโครงการต่างๆ เริ่มที่ชนบทก่อนเช่น ที่บ้านห้วยยอด ต.หินเหล็กไฟ จ.ประจวบฯ ขยายไปที่อีสาน ๑,๑๑๕ โครงการ ภาคเหนือ ๑,๖๙๑ โครงการ ภาคใต้ ๘๔๖ โครงการ และภาคกลาง รวม ๗๘๑ โครงการ รวมโครงการทั้งสิ้น (ปี ๕๖) คือ ๔,๔๔๗ โครงการ โดยแบ่งเป็นประเภทได้ ๘ ประเภทคือ--

๑) โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ จำนวน ๓,๐๓๑ โครงการ/กิจกรรม

๒) โครงการการพัฒนาด้านการเกษตร ๑๖๕ โครงการ/กิจกรรม

๓) โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม ๑๕๙ โครงการ/กิจกรรม

๔) โครงการพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพ ๓๒๕ โครงการ/กิจกรรม

๕) โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข ๕๕ โครงการ/กิจกรรม

๖) โครงการพัฒนาด้านคมนาคม/การสื่อสาร ๗๗ โครงการ/กิจกรรม

๗) สวัสดิการสังคม/การศึกษา ๓๙๕ โครงการ

๘) โครงการพัฒนาแบบบูรณาการ/อื่นๆ ๒๔๐ โครงการ/กิจกรรม

เมื่อพูดถึงโครงการเด่นๆ หรือเรื่องที่โดดเด่น ที่คนไทยรู้จักกันดีมาตลอดคือ เรื่องน้ำ ดิน ป่า คน เรื่องทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง เรื่องการสร้างเขื่อน ฝาย เรื่องการแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ สร้างสะพาน การพระราชทานสิ่งของแก่ผู้ประสบภัยต่างๆ เรื่องกิจการทางศาสนาและอื่นๆ ในที่นี่จะขอนำเอาหลักการเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาขยาย เพราะเป็นเรื่อง ปากท้อง เศรษฐกิจของราษฎรทั่วไป และจะเชื่อมโยงถึงพระพุทธศาสนาที่พระองค์นำมาประยุกต์ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร จนชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองได้ และสร้างแรงดลให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจและตื่นตัวในทุกวันนี้คือ “เศรษฐกิจพอเพียง”

จากการย้อนไปดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๖ ปี ๒๕๓๐-๓๔ การพัฒนาเศรษฐกิจขยายตัวสูงเฉลี่ยร้อยละ ๑๐.๕ ต่อปี สูงสุดในรอบ ๒๕ ปี ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนเมืองและภูมิภาคขึ้น (ชนบท) ทำให้คนส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรรม ปรับตัวไม่ทันต่อการพัฒนาประเทศที่จะมุ่งไปสู่ยุคอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน ทรัพยากรทางธรรมชาติ เริ่มถูกบุรกรุกทำลายลง ส่งผลให้เกิดภัยตามมาคือ ความแห้งแล้ง ความไม่สมดุลทางธรรมชาติ และนำไปสู่การเกิดปัญหาการพัฒนาประเทศ ด้วยเหตุนี้ การวางแผนพัฒนาและเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๗ จึงต้องปรับใหม่

ในแผนพัฒนา ฯ ที่ ๗ ปี ๒๕๓๕-๓๙ มีสาระสำคัญ ๓ ประการคือ ๑) รักษาอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง ๒) กระจายรายได้ไปสู่ชนบท ๓) เร่งรัดพัฒนามนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมใหม่ และ ๔) แก้กฎหมายให้เป็นธรรมแก่ทุกภาคส่วน ทั้งระบบรัฐวิสาหกิจและภาครัฐ

กล่าวโดยสรุปแผนฉบับนี้ เน้นเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองยุคอุตสาหกรรม แต่ปัญหาคนไทยคือไม่อาจปรับตัวได้ทัน จึงเกิดเงินเฟ้อ ที่ดินแพง ตามมา

ส่วนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ ปี ๒๕๔๐-๔๔ คือ ๑) เน้นพัฒนาคนไทย ให้มีศักยภาพด้านทักษะ และฝีมือ ๒) เน้นพัฒนาสังคม ด้านครอบครัว ชุมชน และวัฒนธรรมให้เข้มแข็ง ๓) เน้นประชาชนคนชนบทให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ๔) เน้นพัฒนาเศรษฐกิจให้รองรับในการพัฒนาคน ๕) เน้นพัฒนาสิ่งแวดล้อม เน้นฟื้นฟู เสริมสร้างและการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อนี้ระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจและกลายเป็นเศรษฐกิจฟุบลงที่ประเทศไทยกลายเป็นปัญหาไปทั่วโลก จนรู้จักกันในนาม “ต้มยำกุ้ง ไครซิส” (Tomyamkung Crisis)

นี่คือ จุดที่ในหลวงตรัสในกระตุ้นให้รัฐบาลได้รู้ในทุกๆ วันที่ ๔ ธันวา ทุกปี ในช่วงนี้ พระองค์เสนอแนวคิดเรื่อง การอยู่แบบพอเพียง ไม่ต้องเป็นเสือตัวที่ห้า ก็อยู่ได้ กระนั้นประชาชนคนไทย ก็ยังดันทุรังที่จะนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่เน้นด้านเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจนได้ แต่ในขณะเดียวกันในหลวงก็ออกมาตรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ประจำเช่นกัน สิ่งที่ตอกย้ำในความสำเร็จของชาวนา ชาวสวนคือ เกิดนักปราชญ์ระดับภูมิภาคมากมาย ที่ได้นำแนวพระราชดำริไปประพฤติจนสำเร็จและพึ่งพาตัวเองได้

จากนั้นมาทางราชการ ทางองค์กรชาวนา จัดตั้งชมรม องค์กรขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อต่อสู้กับระบบเศรษฐกิจแบบมหาภาคของประเทศที่เน้นช่วยเหลือชาวไร ชาวนา ให้หันมาพึ่งพาตัวเอง อย่าไปพึ่งรัฐแบบประชานิยมอย่างเดียว จนเกิดปราชญ์ชาวนาไปทั่งประเทศ ชาวนาเริ่มตื่นตัวในการทำไร่ ทำสวนว่า หันมาทำอย่างพอเพียงกัน และนำแนวคิดทฤษฎีใหม่มาปรับใช้เช่น การปรับดิน กักน้ำ ปลูกป่า ปลูกพืชแบบผสมผสาน มากกว่าพืชเชิงเดี่ยว จนประชาชนเห็นผลในการเอาตัวรอดได้ จนเกิดโครงการพระราชดำริต่างอีกมากมายที่มุ่งเป้าที่ประชาชนเป็นหลัก

ระบบนี้เรียกว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระองค์แนะนำมาหลายปี (ปี ๒๕๑๗) จนเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ระบบเศรษฐกิจไทยแบบในหลวง สามารถสู้กับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ อะไรทำให้พระองค์ประยุกต์ใช้ด้วยหลักทฤษฎีพอเพียงที่เรียกว่า “ปรัชญาพอเพียง” พระองค์ได้แนวคิดนี้มาจากไหน พอวิเคราะห์ได้ดังนี้—

๑) เพราะประเทศไทยคือ ประเทศเกษตรกรรม ชาวนายากจน ขาดอาชีพในการดำรงชีพ และขาดทักษะการพัฒนาเกษตรกรรม จนต้องทำไร่ ทำนา ทำสวนแบบซ้ำๆ มานาน จนดินเสื่อม ดินเสีย เพราะใช้สารพิษ ฉีดยา ส่วนชาวเขา ก็ไปถางป่า ตัดไม้ รุกป่าปลูกพืชเลื่อนลอยต่อไป ไม่หยุด จนเกิดปัญหาทางธรรมชาติเช่น น้ำท่วม แห้งแล้ง เรื่อยมา เป็นเหตุให้พระองค์ต้องหาทางแก้ไข ด้วยการแนะนำให้ปลูกป่า และหาพืช หาอาชีพให้ทำ

๒) พระองค์คงทราบดีว่า ประเทศของพระองค์คือ ประเทศเกษตรกรรม ไม่ใช่อุตสาหกรรม พระองค์จึงทรงคิกหาทางแก้ไขด้วยเรื่อง เกษตรกรรม คือ ทดสอบ ทดลองด้วยพระองค์เองในสวนจิตรดา ในใจกลางกรุงเทพฯ เพราะพระองค์รู้ดีว่า การพึ่งพาตนเองคือ วิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งนี่คือ หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา

๓) ในนิทานชาดกเรื่อง “พระมหาชนก” นี่คือ แรงดลใจพระองค์ในเรื่อง ความอดทนความเพียรพยายาม ต่อสู้กับภัยของประชาชน แม้รัฐไม่เห็น ประชาชนยังไม่เข้า พระองค์ก็สู้พากเพียรต่อ ไม่หยุด จนกระทั่งเห็นผล โดยเฉพาะเรื่องเกษตร การรื้อฟื้นพืชไม้ ให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งพระองค์ได้แนะนำการรื้อฟื้นมะม่วงที่ประชาชนโค่น ในเรื่องพระมหาชนก ๙ วิธีคือ
๑) เพาะเม็ดมะม่วง (Culturing the seeds )
๒) ถนอมราก (Nursing the roots)

๓) ปักชำกิ่ง (Culturing the cuttings)
๔) เสียบยอด (Grafting)

๕) ต่อตา (Bud-grafting)

๖) ทาบกิ่ง (Splicing the branches)
๗) ตอนกิ่งให้ออกราก (Layering the branches)
๘) รมควันต้นที่ไม่มีลูก (Smoking the fruitless) tree

๙) ทำ ‘ชีวาณูสงเคราะห์’ (Culturing the cells)

จนในวงการเกษตรมีการต่อยอด วิธีการตอน ทาบกิ่งพืช ไม้หลายวิธี

๔) ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงนี้ มาจากแนวคิดในพระพุทธศาสนาเรื่อง มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง ที่หลีกเลี่ยงทางสุดโต่ง ๒ ทางคือ ๑. การเสพสุขมากไป สนใจหมกหมักในกาม จนมืดมน ๒. การทรมานตน การเบียดเบียนตนจนเป็นทุกข์ จนไม่สนใจความดี ความสมดุลของกายเลย พระพุทธเจ้าจึงแนะนำทางสายกลางให้

นี่คือ แนวคิดที่ในหลวงนำมาปรับใช้จนกลายเป็นทางสายกลางในประเทศ ที่สุดโต่ง ๒ ทางคือ ๑. ประเทศไทยเดิมเป็นเกษตรกรรมแบบสุดโต่ง คือ ยากจน แห้งแล้ง ซ้ำซาก ๒. พอประเทศถูกนักการเมืองกระตุ้น และนำพาประเทศจะไปเป็นยุคอุตสาหกรรม จนทำให้เศรษฐกิจของประเทศล่มจม กลายเป็นวิกฤติไปทั่วโลก ดังนั้น ในหลวงจึงเสนอแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจแบบพอเพียง นี่คือแนวคิดทางสายกลางของคนไทย ที่ถูกจริตพื้นเพประเทศไทย และถือว่าพระองค์คือ กษัตริย์แห่งเกษตร อย่างแท้จริง

๕) วิเคราะห์ เนื้อหา หลักการในแนวคิดของในหลวงที่ว่า ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ว่าสัมพันธ์กับหลักพุทธศาสนาอย่างไร และเป็นพื้นฐานไปสู่การพัฒนาความพอเพียงอย่างไร

หลักการทฤษฎีใหม่ ๓ ห่วง คือ ๑) มีภูมิคุ้มกัน คือ มีพื้นฐาน มีหลักการ มีต้นทุน ในการเป็นอยู่ของตนเอง ไม่ใช่หวังหรือ ไปยืมธนาคารทั้งๆ ที่ไม่กิจการรองรับ นี่คือ พื้นฐานหรือต้นทุนตนเอง หากจะมองในรูปธรรมคือ มีที่อยู่อาศัย มีศีลธรรม มีสติปัญญา นั่นเอง ๒) มีเหตุผล หมายถึง กิจกรรมที่ทำ จะต้องมีหลักการ มีเหตุ มีผลรองรับ ที่สอดคล้องกันด้วย เช่น ทำนาต้องรู้จัก ผืนนา ที่ดิน ต้นกล้า การดูแล ศัตรูข้าว และราคาขาย พอประมาณ เป็นต้น ๓) พอประมาณ คำนี้เป็นคำที่ชัดเจนดีคือ ไม่สุดโต่ง ไม่หวัง ไม่ฝันเกินไป ขอแค่เรายืนอยู่ได้ เลี้ยงครอบครัวตัวเองอยู่นั่นคือ พอเพียง พอประมาณ แต่ถ้าจะกินความกว้างไปถึงระดับประเทศคือ ไม่เป็นหนี้ต่างชาติ ช่วยเหลือประชาชนได้ เลี้ยงคนในประเทศได้นั่นคือ ความพอเพียง พอประมาณ

ส่วนหลักการ ๒ เงื่อนไข คือ ๑) ความรอบคอบ หมายถึง การรอบรู้ในกิจนั้นๆ เช่น ปลูกพืช ต้องเข้าใจพืช รู้จักพืช เข้าใจความต้องการของพืช คือ คิดก่อนทำ ทดลองก่อนใช้ เหมือนพระองค์ที่ทดลองก่อนในสวนจิตรดา เพื่อมิให้เกิดผลเสียแก่ตนและคนอื่น ๒) ความรอบรู้ ระมัดระวัง หมายถึง การเอาใจใส่ การศึกษาหาความรู้ และยังต้องมีศีลธรรม คุณธรรมประคับประคองจิตใจด้วยเช่น ความซื่อสัตย์ สติ ปัญญา แบ่งปัน เป็นต้น

ภาพรวม ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไขคือ หลักการและหลักธรรมที่พระองค์ประยุกต์ใช้ในการช่วยเหลือประชาชนนั่นเอง

๖) หากจะวิเคราะห์เจาะใจลึกๆ ของพระองค์ ผู้เขียนเชื่อว่า พระมหาปัญญา และพระมหาเมตตา และพระมหาวิสุทธิ์ ของพระองค์ย่อมสะท้อนถึงคุณชาติของพระองค์ในการเข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริง กล่าวคือ พระองค์ได้เน้นย้ำความเป็นธรรมชาติสากล ที่มวลสรรพสัตว์ทั้งหลายจะได้พึ่งพิงนั่นคือ ดิน คือ แผ่นดินของโลกและของประเทศที่ต้องมีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเพาะปลูกให้เกิดอาหาร เลี้ยงตนเองได้ เพราะทุกสรรพสิ่ง ต้องอิงดินเป็นหลัก น้ำ คือ พลังที่เกื้อกูลต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย น้ำคือ ตัวเชื่อมสัมพันธ์ที่สมดุลทุกสิ่ง พระองค์ตรัสว่า

“ปัญหาเรื่องภัยแล้งนี้ ดูจะเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ หมู่นี้ก็พูดกันอย่างขวัญเสียว่า อีกหน่อยจะต้องปันส่วนน้ำ หรือแม้แต่จะต้องตัดน้ำประปา อันนี้สำหรับกรุงเทพฯ ฉะนั้น ต้องหาทางแก้ไขเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ได้วางแผนมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ถ้าหากว่าได้ปฏิบัติ ตามแผนนั้นๆ แล้ว วันนี้ก็ไม่ต้องพูดถึงการขาดแคลนน้ำ โครงการโดยเฉพาะนั้นก็มี แล้ว โครงการนั้นได้ยืนยันมาเมื่อเดือนที่แล้ว เมื่ออยู่ที่นราธิวาสได้วางโครงการ ที่แม้จะยังไม่แก้ ปัญหาปีนี้หรือปีหน้า แต่ถ้าทำอย่างดี ในประมาณ ๕ หรือ ๖ ปี ปัญหาน้ำขาดแคลนใน กรุงเทพฯ จะหมดไปโดยสิ้นเชิง” หรือตรัสว่า “หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ไม่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้... จึงเกิดโครงการฝนหลวง เขื่อน และฝายมากมาย เพื่อสิ่งเดียวคือ น้ำ หรือถ้ามีมากก็ต้องการจัดการเสีย

ต่อมาเรื่อง ป่า ก็เป็นส่วนที่สร้างสิ่งแวดล้อม ให้ดิน และน้ำเกื้อกูลกัน โดยเฉพาะชาวเขา ชาวดอย ที่ตัดป่า เพาะปลูกพืชเลื่อนลอย พระองค์ก็แนะนำให้เพาะปลูกพืชอื่น จนกลายเป็นโครงการเพาะปลูกบนดอยต่างๆ มากมาย

นี่คือ “พระมหาธิคุณ” และ “พระมหาอัจฉริยภาพ” ที่พระองค์มองเห็นประเทศไทย และประชาชนคนไทย ที่อยู่ภายใต้พระบาทของพระองค์ หรือการดูแลราษฎรของพระองค์ ที่ทรงเข้าถึง เข้าใจ จนพัฒนาประเทศไทยได้ถึงเพียงนี้

๗) การปกครองของพระองค์ มิได้ปกครองแบบใช้อำนาจ แต่ใช้หลักธรรม คือ ใช้หลักการ ทำความเข้าใจ เข้าถึง เพื่อนำไปสู่การพัฒนา ที่ยั่งยืน และมั่นคง เพื่อให้สายเลือดไทย ที่ต่างคิด ต่างทัศนะ มิให้เกิดความแตกต่าง แตกความคิดไป จนฆ่ากันตาย พระองค์ตรัสถึงเรื่อง “ความรู้” ที่เกิดจากแก่นธรรมของพระพุทธศาสนามาแนะนำพร่ำสอนให้รู้จักเหตุผล ตรัสเรื่อง “ความรัก” ที่เป็นแก่นแท้ของคำสอนศาสนาคริสต์ ที่ยึดมั่น ฉันท์พี่น้องกันทั่วโลกมาใช้ มาเป็นเครื่องผูกรักกัน เพื่อนำไปสู่”ความสามัคคี” อันเป็นคำสอนของศาสนาอิสลาม ที่รักกัน ดั่งพี่น้องกันทั่วโลก

หลักคำสอนเหล่านี้ พระองค์ได้นำมาจากประชาชนคนไทย ศาสนา และสภาพความเป็นอยู่ของประเทศไทย ตลอดถึงพระประสงค์ พระทัยของพระองค์ ที่ทรงแลเห็นประโยชน์ของคนไทย ดั่งที่พระองค์ได้กล่าวก่อนขึ้นครองราบว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

นี่คือ พระมหากษัตริย์ที่ทรงคุณอันประเสริฐแก่ราษฎรไทยและชาวโลก ที่สรรเสริญพระคุณของพระองค์ อย่างซาบซึ้งใจในวันนี้

คำสำคัญ (Tags): #พลังของแผ่นดิน
หมายเลขบันทึก: 619738เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2016 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ธันวาคม 2016 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับความรู้นี้จ้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท