บริหารสถานศึกษาโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา


บริหารสถานศึกษาโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา

School Administration by Educational Innovation and Technology

สกานต์ ผลประมูล1


บทนำ

ประเทศไทยจะยังคงประสบสภาวการณ์และบริบทของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยง ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อาทิ กระแสการเปิดเศรษฐกิจเสรี ความท้าทายของเทคโนโลยีใหม่ ๆ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรง ประกอบกับสภาวการณ์ด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ในปัจจุบันยังคงประสบปัญหาในหลายด้าน เช่น ปัญหาการผลิต ปัญหาทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขัน คุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นต้น

ปัญหาการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology) หรือ ICT ยังไม่ทั่วถึง กระจุกตัวอยู่ในเมือง และมีราคาค่อนข้างสูง ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยและยังคงเผชิญกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนั้น การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานและ ICT อยู่ในระดับต่ำและมีข้อจำกัด ยังไม่สามารถพัฒนาต่อยอดได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ด้านบุคลากรและการบริหารจัดการ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศยังขาดประสิทธิภาพ

บุคลากรทางการศึกษายังขาดความรู้และต้องได้รับการพัฒนาในเรื่องความรู้ด้านภาษา ความรู้ด้านคุณภาพการศึกษา ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการจัดการศึกษา (Educational Innovation and Technology) และรวมถึงการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา (School Administrator) ให้มีประสิทธิภาพ โดยพัฒนาความรู้ด้านการจัดการศึกษาตามมาตรฐานสากลให้เป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล (World-Class Standard School) เพื่อส่งผลสู่การบริหารจัดการสถานศึกษาโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิผล
บนสภาพปัจจุบันปัญหาและความบนคาดหวังของสังคม เพื่อพัฒนาเยาวชนให้เป็นพลโลกอย่างมีคุณภาพ

ผู้บริหารกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี

การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีของผู้บริหารสถานศึกษา ต้องใช้องค์ความรู้ทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาแตกต่างไปจากแนวทางของผู้ปฏิบัติ ผู้บริหารต้องมีความรู้และความเข้าในทั้งในด้านเทคนิคและทฤษฎีที่ใช้อ้างถึง เมื่อมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ อีกทั้งต้องรู้เท่ากันกับกลวิธีต่างๆ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ มิฉะนั้นผู้บริหารอาจจะถูกหลอกและถูกมองว่าไม่มีความรู้ ทำให้ความศรัทธาที่มีต่อผู้บริหารลดลง การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีของผู้บริหารต้องเริ่มจากตัวผู้บริหาร เริ่มจากจิตสำนึก เจตคติและการยอมรับเทคโนโลยี ต่อไปจึงเริ่มทำความเข้าใจในความสำคัญของเทคโนโลยีที่ทั่วโลกยอมรับว่าสามารถจะทำให้การบริหารวิชาการมีทั้งประสิทธิภาพ (Efficiency) และประสิทธิผล (Effectiveness)

ประสิทธิภาพ (Efficiency)

การได้ผลผลิตสูงขึ้น โดยไม่ต้องมีการลงทุนเพิ่ม ในด้านการศึกษา หมายถึงนักเรียนหรือนักศึกษา สามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามกำหนดของหลักสูตร ไม่ลาออกกลางคัน หรือเรียนเกินเวลา ล่าช้ากว่ากำหนด อีกทั้งการเพิ่มจำนวนของผู้สำเร็จการศึกษาโดยไม่กระทบกระเทือนถึงงบประมาณและอัตรากำลังแต่อย่างใด ความ สามารถในการจัดการให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด เป็นฝีมือของผู้บริหารสถานศึกษา

ประสิทธิผล (Effectiveness)

ผลผลิตได้ตรงตามความต้องการหรือตรงตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ ในด้านการศึกษา คือ ผู้สำเร็จการศึกษามีคุณภาพตรงตามที่ตลาด แรงงานต้องการ ตรงตามความมุ่งหมายของหลักสูตรที่ให้มีความสามารถในการนำความรู้ ทักษะ และนิสัยการทำงาน ตลอดจนกรรมวิธีในการจัดการไปใช้ได้ หรือนำไปประกอบอาชีพที่แต่ละคนได้ศึกษามา

การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา จะเป็นส่วนสำคัญของการบริหารงานวิชาการ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารสถานศึกษา ทั้งนี้เพราะจุดมุ่งหมายของสถานศึกษา คือ การจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และมาตรฐานของสถานศึกษาจะเป็นที่ยอมรับมากน้อยเท่าใด จะอยู่ที่งานวิชาการ ซึ่งประกอบไปด้วยงานด้านหลักสูตรและการสอน ความสามารถของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนกิจกรรมด้านวิชาการ รวมทั้งการวิจัย การวัดและประเมินผล การนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานวิชาการ มักเรียกรวมๆ ว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษา โดยมีศาสตร์ของการนำเทคโนโลยีมาใช้ เรียกว่า “เทคโนโลยีการศึกษา” ซึ่งจะกล่าวถึงการนำเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างให้เกิดสถานการณ์ของการเรียนรู้ที่ดี (Conditions of Learning) เอื้ออำนวยต่อความ สามารถในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล อีกทั้งยังทำให้เกิดผลหลักของการบริหารวิชาการทางด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล อีกด้วย

นวัตกรรมกับเทคโนโลยี

เรามักจะได้ยินคำว่า “นวัตกรรม” คู่ไปกับคำว่า “เทคโนโลยี” อยู่บ่อยๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองคำนี้ นวัตกรรมจะให้ความหมายโดยตัวของรากศัพท์เองหมายถึง สิ่งใหม่ๆ ที่นำมาใช้ โดยเฉพาะถ้าเป็นนวัตกรรมการศึกษา ก็จะหมายถึง สิ่งใหม่ๆ ที่นำมาใช้ ซึ่งอาจจะเป็นทั้งในรูปของเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สามารถจับต้องได้ และเทคนิควิธี หรือระบบที่นำมาใช้กับการจัดการเรียนการสอน หรือการดำเนินธุรการเกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งนวัตกรรมนั้นยังต้องมีการตรวจสอบและทดลองใช้จนเป็นยอมรับถึงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลที่เกิดขึ้นจากการใช้นวัตกรรมนั้น แล้วนำไปใช้ หรือนำไปปฏิบัติจนเป็นปกติวิสัย “นวัตกรรม” ก็จะกลายเป็น “เทคโนโลยี” นั่นหมายถึง ถ้านวัตกรรมใดยังไม่ได้รับการยอมรับเป็นปกติวิสัย โดยทั่วไปแล้วก็ยังจะไม่เป็นเทคโนโลยี เมื่อคอมพิวเตอร์ได้ถูกนำเข้ามาใช้ประกอบการเรียนการสอนในระยะเริ่มต้น ถือเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาอย่างหนึ่ง แต่เมื่อใดได้มีการค้นคว้าศึกษาและวิจัยผลของการใช้ประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ จนเป็นยอมรับอย่างกว้างขวาง การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาจึงเป็นเทคโนโลยีทางการศึกษาในปัจจุบัน

ความสำคัญของเทคโนโลยี </p>

การให้ความสำคัญของเทคโนโลยีของผู้บริหารมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป จากการให้ความสำคัญของครูผู้สอนหรือฝ่ายปฏิบัติการ การมองความสำคัญของครูผู้สอนให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพของกระบวนการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเทคโนโลยีมีส่วนสร้างเสริมสถานการณ์หรือลดภาระงานของครูผู้สอน ทำให้ครูมีเวลาที่จะคิดกิจกรรมวิชาการเพื่อพัฒนามากขึ้น ในส่วนของผู้บริหาร นอกจากจะเข้าใจลึกซึ้งถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ดีได้แล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น

1. การดำเนินนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

รัฐบาลประชาธิปไตยใช้นโยบายเปิดประเทศเข้าสู่ระบบเสรี การติดต่อระหว่างกันทำให้มีการใช้เทคโนโลยี และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ประชาชนพอใจกับการใช้เทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวก และช่วยแก้ปัญหาของบุคคลและสังคม หรือของประเทศได้ และรัฐบาลเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาประเทศถึงระดับมาตรฐานสากล และภายใน ประเทศได้มีการวางแผนการศึกษา เพื่อให้สัมพันธ์กับแบบของการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพาณิชยกรรม
เป็นต้น การใช้เทคโนโลยี จึงเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจเสรีของประเทศไทย

2. การผลักดันของธุรกิจ

ความต้องการในการขายเทคโนโลยีในรูปแบบของวัสดุและอุปกรณ์ จากบริษัทผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย โดยการใช้วิธีทางการตลาดแบบต่างๆ ที่แยบยล อีกทั้งใช้การประชาสัมพันธ์และโฆษณาให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้เครื่องมือและเครื่องใช้ในด้านการศึกษา

3. การปรับตัวเพื่อเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในทางการศึกษา

โดยการตระหนักถึงความสำคัญของการใช้เพื่อการจัดการเรียนการสอน การวิจัยทางการศึกษาได้อภิปรายผลซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงประเด็นของการเพิ่มคุณภาพของการเรียนการสอนด้วยการใช้สื่อการสอน จะสังเกตได้จากแผนการสอนในปัจจุบัน มีช่องสำหรับให้กรอก อุปกรณ์หรือสื่อการสอน ที่นำมาใช้ในการสอนในแต่ละคาบหรือแต่ละแผนอีกด้วย

4. ราคาที่ลดลงและมีแนวโน้มจะลงลงของวัสดุและอุปกรณ์การศึกษา

ทำให้สถานศึกษาสามารถจัดหามาใช้ได้ ปัจจุบันโรงเรียนทุกระดับสามารถใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนการสอนได้ ซึ่งในอดีตจะมีไว้โรงเรียนขนาดใหญ่ๆ หรือมหาวิทยาลัย เพื่อการศึกษาและวิจัยระดับสูงเท่านั้น

5. เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถนำมาผสมผสานหรือประยุกต์ใช้กับงานได้หลายอย่าง

คอมพิวเตอร์ ซึ่งแต่เดิมจะนำมาใช้เฉพาะการคำนวณตัวเลขและสูตรทางคณิตศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ ในการผลิตขนาดใหญ่ หรือการวิจัยขนาดใหญ่ แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีประเภทนี้ สามารถนำมาใช้กับงานการศึกษาได้เป็นอย่างดี และการประยุกต์ก็ไม่ซับซ้อนหรือมีราคาสูงมากนัก

วิสัยทัศน์ของผู้บริหารสถานศึกษา </p>

เมื่อผู้บริหารสถานศึกษา มองเทคโนโลยีเพื่อจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับการศึกษา ผู้บริหารจะต้องมองถึงประโยชน์ ความคุ้มค่า ความเป็นไปได้ และมีการกำหนดขั้นตอนในการนำมาใช้ โดยพิจารณาถึงสิ่งที่มีอยู่แล้ว ทั้งในและนอกระบบของสถานศึกษา และสิ่งที่จะเกิดขึ้น
ทั้งในระนอกระบบของสถานศึกษา ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เป็นความสามารถของผู้บริหารที่จะมีสายตาที่ยาวไกล มองเห็นภาพของความสัมพันธ์ในการใช้เทคโนโลยี ทั้งที่เป็นอยู่และในอนาคต เพื่อการกำหนดยุทธวิธีดำเนินงานเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง บรรลุถึงสิ่งที่หวัง และตั้งใจให้เกิด หรือที่เรียกว่า “วิสัยทัศน์” ของการใช้เทคโนโลยี ในสถานศึกษาแต่ละแห่ง ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ดังนั้นผู้บริหารจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ ถ้าขาดวิสัยทัศน์แล้ว การใช้ใช้เทคโนโลยีจะไร้ทิศทาง และจะก่อให้เกิดความสูญเสียมากกว่าผลที่ควรจะได้รับ ถ้าย้อนอดีตถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในสถานศึกษา จะพบเห็นความสูญเสียของการนำเทคโนโลยีมาใช้ จนทำให้เกิดเจตคติที่ไม่ดีต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ และถูกประนามว่าเป็นความสูญเสียและสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ สาเหตุหนึ่งน่าจะเกิดจากผู้บริหารของสถานศึกษาเหล่านั้น ยังไม่มีวิสัยทัศน์ทางด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้ และผู้บริหารเหล่านั้นส่วนมากไม่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยี การยอมรับจากใจจึงไม่เกิดขึ้น การนำเทคโนโลยีมาใช้จึงเป็นลักษณะของการถูกสั่งให้ใช้มากกว่า การเห็นความสำคัญหรือประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยี และถ้าเป็นลักษณะนี้ต่อไป ความสูญเสียและสิ้นเปลืองไม่คุ้มค่า ก็จะเกิดขึ้นตลอดไปในระบบของการศึกษา

การสร้างวิสัยทัศน์ ให้เกิดขึ้นกับผู้บริหารสถานศึกษาในการใช้เทคโนโลยีนั้น ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีความด้านเทคโนโลยี ย่อมมีความได้เปรียบมากกว่าของผู้บริหารที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเลย การสร้างความยอมรับและวิสัยทัศน์ย่อมยากลำบากมากขึ้น ถึงแม้ว่าวิสัยทัศน์กับเจตคติทางด้านเทคโนโลยีจะคนละอย่าง แต่ก็น่าจะมีส่วนสัมพันธ์กันในด้านของการยอมรับ ผู้บริหารสถานศึกษาต้องเริ่มปรับตัวปรับใจกล้าที่จะใช้ และยอมรับประโยชน์ของเทคโนโลยีเสียก่อน ความกลัวเทคโนโลยีส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่รู้ ถ้าต้องการขจัดความกลัวต้องศึกษาเรื่องของเทคโนโลยีให้เข้าใจ จนมีความรู้สึกไม่กลัว และสามารถจะเป็นเพื่อนกับเทคโนโลยีได้ ลักษณะเช่นนี้ จะเกิดขึ้นกับผู้บริหารที่มีอายุช่วงของการพัฒนาทางด้านคอมพิวเตอร์มากๆ ถ้าเป็นผู้บริหารที่มีอายุในช่วงของการพัฒนาคอมพิวเตอร์เป็นส่วนมาก ถือเป็นนักบริหารร่วมสมัย การสร้างเจตคติยอมรับเทคโนโลยีคงเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าการเริ่มปรับตัวเพื่อยอมรับและเข้าใจเทคโนโลยีเป็นก้าวแรก ต่อไปควรจะมองถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านที่จะเกี่ยวข้องกับการศึกษา การทำการศึกษา แนวโน้มการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาของโลก จะทำให้เกิดภาพของการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีในอนาคตขึ้น แล้วใช้วิจารณญาณ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ และสร้างสรรค์ให้เกิดลักษณะที่เหมาะสมกับสถาน ศึกษาที่ตนเองบริหารอยู่

การบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา </p>

ปัจจุบันเป็นยุคของไทยแลนด์ 4.0 ก้าวเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล (Digital) เป็นยุคของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (The Age of Information Technology) เป็นยุคของการใช้ข่าวสารข้อมูลที่รวดเร็วและถูกต้องเที่ยงตรง อีกทั้งในปริมาณมากเพียงพอที่จะใช้เป็นฐานข้อมูลในการตัดสินใจ เพื่อความได้เปรียบในเชิงของการแข่งขันในโลกของเสรีนิยม ผู้ใดที่มีข้อมูลมากหรือรู้มาก ก็จะได้เปรียบคู่แข่งขัน เทคโนโลยีในปัจจุบัน สามารถส่งผ่านข้อมูลต่างๆ ได้รวดเร็วไปในที่ไกลๆ และในปริมาณมากๆ เพราะการพัฒนาระบบการสื่อสารด้วยดาวเทียม ทำให้เทคโนโลยีด้านคมนาคมก้าวหน้าไปมาก และพร้อมแล้วในปัจจุบัน ที่รองรับการส่งผ่านข้อมูลต่างๆ จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง หรือสร้างเครือข่าย (Networks) ของการติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้

นอกจากเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม (Telecommunication Technology) เทคโนโลยี ด้านคอมพิวเตอร์ (Computing Technology) ยังได้รับการพัฒนาควบคู่ไปกับเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคมอีกด้วย ปัจจุบัน คอมพิวเตอร์สามารถนำมาช่วยงานการเรียนการสอน เรียกว่า คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction) หรือ CAI และคอมพิวเตอร์ช่วยจัดการเรียนการสอน (Computer-Managed Instruction) หรือ CMI เราสามารถนำคอมพิวเตอร์เหล่านี้เชื่อมโยงกันเป็นข่ายงาน (Networks) ขึ้นในสถาบันการศึกษาเอง ผ่านสายเคเบิลเรียกว่าเป็นระบบ Local Area Networks หรือ LAN นอกจากนั้น ยังสามารถเชื่อมโยงกับคอมพิวเตอร์จากแหล่งอื่นๆ เป็นข่ายงานได้ทั่วโลก ผ่านระบบการสารที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีคมนาคมที่มีอยู่ การพัฒนาประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ ด้วยด้วยราคาที่ลดลง ทำให้การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสร้างเป็นข่ายงาน (Networks) ของการศึกษา ซึ่งลักษณะของภูมิศาสตร์แตกต่างกันจะไม่เป็นข้อจำกัดของโอกาสทางการศึกษาอีกต่อไป

เทคโนโลยีทั้งสองประเภทดังกล่าว จะยังไม่สามารถทำให้เกิดวิสัยทัศน์ของการใช้เทคโนโลยีในสถานศึกษาได้เต็มที่ เพราะยังขาดเทคโนโลยีอื่นๆ อีกอย่างน้อย 2 เทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีทางด้านฐานข้อมูล (Data-Based Technology) และเทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational Technology) ในส่วนของเทคโนโลยีฐานข้อมูล ซึ่งจะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเก็บไว้ในรูปของ Digital Code ซึ่งคอมพิวเตอร์สามารถจะเรียกออกใช้และให้บริการได้ การเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบในรูปของ Digital Code นี้ จะเป็นแหล่งที่ใช้สำหรับการค้นคว้าอ้างอิง หรือเรียกใช้เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจของผู้บริหาร การเริ่มต้นทำการเก็บข้อมูลให้ทันสมัยในคลังข้อมูลนั้น เป็นวิธีการที่ต้องใช้เวลาและความสามารถในการวิเคราะห์ระบบงาน เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ฐานข้อมูลนั้นมีมากมายหลายประเภท ทั้งแบบที่ถาวร คงที่ และแบบที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามลักษณะของข้อมูลใหม่ที่เข้ามา ตลอดจนแบบที่ใช้ซื้อขาย และแบบให้เช่าเวลาใช้ การพัฒนาการของเทคโนโลยีฐานข้อมูลกำลังได้รับการเอาใจใส่และสนใจอย่างมาก เพราะข้อมูลเหล่านี้คือปัจจัยสำคัญของยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ว่าเราจะมีเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่เป็นช่องทางของการติดต่อ และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่สามารถเชื่อมต่อการรับส่งและแปลค่าของข้อมูลให้เป็นไปตามความต้องการดีเลิศเพียงใดก็ตาม ถ้าไม่มีฐานข้อมูลที่ดีแล้ว คุณค่าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีโทรคมนาคมก็จะลดลงไปอย่างสิ้นเชิง ฐานข้อมูลในปัจจุบันจะพบเห็นได้ในหลายรูปแบบ ทั้งในรูปของสื่อบันทึกข้อมูล (Data Storage Media)
ในรูปแบบเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ต (Internet Access) บรรจุเอาสาราณุกรม (Encyclopedia) ไว้ทั้งชุด หรือ เฉพาะสาขาวิชา เช่น ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ การศึกษา เป็นต้น หน่วยงานในสถานศึกษาต้องปรับตัวเพื่อรับการพัฒนาของเทคโนโลยีเหล่านี้ ได้แก่ ห้องสมุดดิจิทัล ศูนย์วิทยบริการ และศูนย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งส่วนมากจะอยู่ภายในการดูแลของผู้บริหารฝ่ายวิชาการเป็นส่วนมาก

เทคโนโลยีที่กล่าวถึงหลังสุดนี้ ไม่ใช่หมายความว่าจะให้ความสำคัญน้อยสุด (Last but not Least) เพราะว่าในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในสถานศึกษานั้น ไม่ว่าจะใช้เพื่อประโยชน์ทางด้านการเรียนการสอน ซึ่งเป็นภารกิจหลักของสถานศึกษาแล้ว การนำเทคโนโลยีในรูปของ “ระบบ” เพื่อนำมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีในรูปของเครื่องมือยังต้องให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไป
กว่ากัน การบริหารและการจัดการด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ จะส่งผลกระทบถึงระบบของการทำงาน ตลอดจนระบบของการบริหารอีกด้วย ผลการศึกษาและวิจัยต่างๆ ได้ข้อสรุปจนเป็นที่ยอมรับแล้วว่า เทคโนโลยีทางการศึกษาสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล ลดข้อจำกัดและเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กว้างขวางขึ้น

ถ้าพิจารณาจากรูปแบบของการบูรณาการเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เทคโนโลยีโทรคมนาคม เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีฐานข้อมูล และเทคโนโลยีการศึกษา จะเห็นว่าในอนาคต การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะมากขึ้น สถานศึกษาแต่ละแห่งมีการเตรียมพร้อมกับสภาวะการณ์ ทั้งในด้านของคุณภาพบุคลากรที่มีอยู่ สถานที่ หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และงบประมาณ เพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ลักษณะของการบริหารจัดการจะถูกบังคับให้กระจายอำนาจออกไปตามกลไกหรือระบบของมัน เรียกว่า Decentralization ไม่ว่าจะด้วยความต้องการหรือไม่ต้องการ ผู้บริหารในปัจจุบันพที่จะยายามดึงอำนาจไว้ส่วนกลางก็ตาม อิทธิพลของเทคโนโลยีเหล่านี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบบริหารการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต

บทสรุป </p>

สถานศึกษามีอิสระในการตัดสินใจ ทั้งในส่วนของบุคลากร งบประมาณ ทำให้เกิดความคล่องตัวและเปิดโอกาสให้พัฒนาได้เอง ทั้งนี้ต้องมีขั้นตอนในการปรับเปลี่ยนตามจังหวะและเวลาที่เหมาะสม อิทธิพลของเทคโนโลยีในยุคสารสนเทศ การก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เข้าสู่ระบบดิจิทัล ระบบบริหารสถานศึกษาที่เป็นอยู่ จะต้องใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้น และการบริหารจะกระจายอำนาจมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ การเรียนการสอนด้วยระบบเครือข่าย (Networks) จะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมโลกตามแนวคิดของการเข้าสู่การเป็นสากล (Internationalization) หรือสังคมในสภาพที่เรียกว่า “โลกานุวัตร” (Globalization) สิ่งเหล่านี้ วิสัยทัศน์ที่ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความเข้าใจตรงกัน และคิดหาทางให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ให้สอดประสานกับแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีของโลกปัจจุบัน

--------------------------


บรรณานุกรม

กฤษมันต์ วัฒนารงค์ (2536). การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาระดับสูง, พัฒนาเทคนิคศึกษา. ปีที่ 6, ฉบับที่ 8 (ต.ค. 2536), หน้า 3-7, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2558). ทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12, สืบค้นเมื่อ 3 ธันวาคม 2559, จาก http://www.nesdb.go.th.

สำนักบริหารงานมัธยมศึกษาตอนปลาย (2555). แนวทางการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนมาตรฐานสากล ฉบับปรับปรุง, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ.

</p>

หมายเลขบันทึก: 619631เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2016 20:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2016 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท