​หลักธรรมกับเด็กรุ่นใหม่ (สโมสรนิสิตคณะเทคโนโลยี)


เลือกจัดกิจกรรมในชุมชนอันคุ้นเคยของนิสิต ใช้ประเด็นศีล 5 และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นโจทย์เพื่อให้ง่ายต่อการซึมซับและต่อยอด เพราะทั้งสองประเด็นต่างล้วนเป็นส่วนหนึ่งในวิถีการเรียนรู้ในกลุ่มนักเรียนชั้นประถมปีที่ 4-6 อยู่แล้ว




โครงการปลูกฝังหลักธรรมเด็กรุ่นใหม่ที่ดำเนินการโดยสโมสรนิสิตคณะเทคโนโลยี ณ โรงเรียนบ้านสร้างแก้ว ตำบลเชียงยืน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สะท้อนถึงการที่นิสิตได้ออกไปจัดกิจกรรมบริการสังคมผ่านกิจกรรมหลักอันสำคัญ 2 กิจกรรมใหญ่ๆ คือการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่อง “ศีล 5” แก่นักเรียนและการบำเพ็ญประโยชน์ต่อโรงเรียนและชุมชนด้วยการทาสีกำแพงโรงเรียน

โจทย์หลักของการขับเคลื่อนครั้งนี้มาจากสภาวะที่นักเรียนกำลังถูกคุกคามจากภัยอันหลากหลายของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องปัญหายาเสพติดและปัญหาทักษะชีวิตในมิติต่างๆ ประกอบกับเมื่อปีที่ผ่านมาโรงเรียนประสบอัคคีภัย ส่งผลให้สถานที่บางส่วนยังไม่ได้รับการซ่อมแซมและปรับปรุงให้แล้วเสร็จ ดังนั้นคณะทำงานจึงมุ่งที่จะนำหลักธรรมที่ว่าด้วย “ศีล 5” (เบญจศีล) และ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” (3 ห่วง 2 เงื่อนไข) เข้าไปบ่มเพาะเป็นต้นทุนชีวิตหรือภูมิต้านทานแก่นักเรียน รวมถึงการบริการสังคมด้วยการปรับภูมิทัศน์โรงเรียนผ่านการทาสีกำแพงที่เป็นผลพวงของอัคคีภัย




กิจกรรมครั้งนี้แบ่งฐานการเรียนรู้เรื่องศีล 5 ออกเป็นฐานๆ จำนวน 5 ฐาน ภายในฐานจะประกอบด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับศีลแต่ละข้อในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” มีทั้งการบรรยาย อธิบาย บอกเล่าและการเรียนรู้ผ่านกระบวนการถามตอบและเกมที่สนุกสนาน โดยมีของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ แจกพอเป็นสีสัน รวมถึงการใช้สื่อเพื่อสร้างความรู้และแรงบันดาลใจแก่นักเรียนเพิ่มเติม เช่น ไวนิลและอินเทอร์เน็ต นอกจากนั้นก็หนุนเสริมด้วยกิจกรรมกีฬาและนันทนาการ พร้อมกับแบ่งกลุ่มสู่กิจกรรมการทาสีกำแพงโรงเรียนร่วมกัน




กิจกรรมข้างต้นสะท้อนถึงการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเชิงกระบวนการและการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เป็นการเรียนรู้ที่ไม่เพียงก่อให้เกิดองค์ความรู้ในเรื่องศีล 5 อย่างเดียว หากแต่หมายถึงการเกิดทักษะและทัศนคติต่อเรื่องหลักธรรมและมุมมองการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ เพราะในทางกระบวนการเรียนรู้ได้พยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์จริงในชีวิตประจำวันและสังคมเข้ามาเป็นกรณีศึกษา เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจและเห็นภาพที่เป็นรูปธรรม มิใช่การกระตุ้นให้เกิดจินตนาการอันไกลดพ้นจากโลกแห่งความจริง





เช่นเดียวกับกิจกรรมกีฬาและนันทนาการก็ล้วนแล้วแต่เสริมหนุนเข้ามาเพื่อเพิ่มพูนทักษะชีวิตไปในตัวอย่างเนียนๆ บ่มเพาะทัศนคติและทักษะของการใช้ชีวิตและทำงานร่วมกันแก่น้องๆ นักเรียน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่พยายามสื่อสารให้นักเรียนได้ตระหนักถึงประเด็นคุณธรรมจริยธรรมที่เกี่ยวกับการพึ่งพาสามัคคีและแบ่งปันสิ่งดีๆ ต่อกัน หรือแม้แต่กิจกรรมการทาสีกำแพงโรงเรียนก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน เพราะเป็นการบ่มเพาะเรื่องคุณธรรมจริยธรรมในประเด็นจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิดและการรับผิดชอบต่อทรัพยากรของส่วนรวมควบคู่กันไป




ภายใต้ข้อจำกัดด้านเวลาที่ถูกขับเคลื่อนเพียง 1 วัน (วันที่ 28 สิงหาคม 2559) ย่อมเป็นคำถามสำคัญว่ากิจกรรมดังกล่าวประสบความสำเร็จกี่มากน้อยกันแน่ กิจกรรมครั้งนี้เป็นแบบ “ตูมเดียว” หรือ “ผักชีโรยหน้า” หรือไม่ นี่คือคำถามและข้อสังเกตที่ชวนคิดตามอยู่มากโข

ข้อเท็จจริงที่สำคัญมากๆ คือ คณะทำงานชุดนี้เป็น “ชุดใหม่” หรือ “ใหม่ถอดด้าม” จากวิถีโครงการคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ อย่างแท้จริง กล่าวคือ ในอดีตสโมสรนิสิตคณะเทคโนโลยีจะมีกลุ่มนิสิตเฉพาะกลุ่มที่ทำงานเรื่องดังกล่าวนี้โดยตรงและขับเคลื่อนกันมาต่อเนื่องในแต่ละปีการศึกษา เป็นการขับเคลื่อนที่ทำให้เห็นภาพของการสร้างงานและสร้างคนอย่างน่าชื่นชม ในบางปีทำงานแบบ “ดุ่มเดี่ยว” เฉพาะกลุ่มจิตอาสา ขณะที่บางปีดูเหมือนจะแอบอิงและบูรณาการอยู่กับทีมคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิต มีทั้งที่ขับเคลื่อนอยู่ภายในคณะและที่เป็นหมู่บ้าน ซึ่งมีประเด็นการทำงานหลักๆ คือการจัดการเรื่องขยะและสิ่งแวดล้อม รวมถึงประเด็นคุณธรรมของเด็กนักเรียนโดยใช้โรงเรียนและชุมชนเป็นฐานการขับเคลื่อนในแบบเรียนรู้คู่บริการ





ดังนั้นภายใต้ข้อจำกัดของการสร้างทีมใหม่โดยไม่ได้นำชุดความรู้เดิมมาเคลื่อนขยับ หรือแม้แต่การไม่มีระบบและกลไกของการผ่องถ่ายงานในระดับองค์กร จึงกลายเป็นอุปสรรคและปัญหาในการทำงานครั้งนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

กระนั้นก็ต้องชื่นชมว่าคณะทำงานชุดนี้สามารถฝ่าวิกฤตดังกล่าวมาได้อย่างน่ายกย่องด้วยปัจจัยหลายประการ เป็นต้นว่า เลือกจัดกิจกรรมในชุมชนอันคุ้นเคยของนิสิต ใช้ประเด็นศีล 5 และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นโจทย์เพื่อให้ง่ายต่อการซึมซับและต่อยอด เพราะทั้งสองประเด็นต่างล้วนเป็นส่วนหนึ่งในวิถีการเรียนรู้ในกลุ่มนักเรียนชั้นประถมปีที่ 4-6 อยู่แล้ว

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดแกร่งที่พบประจำในทุกปีการศึกษาในชุดทำงานในสังกัดคณะเทคโนโลยีก็คือกระบวนการประเมินผลที่เป็นรูปธรรมที่บูรณาการระหว่างเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างลงตัว รวมถึงมีวิธีการอันหลากหลายในการประเมินผลทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการผ่านเครื่องมือสำคัญๆ เช่น แบบสอบถาม การสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์ ภาพถ่าย ซึ่งการประเมินก็มีทั้งก่อนกิจกรรมและหลังกิจกรรม ทำให้เห็นองค์ประกอบอันเป็นบริบทพื้นฐานของนักเรียนได้เป็นอย่างดีผ่านข้อคำถามสำคัญๆ เช่น

  • นักเรียนเคยได้เข้าร่วมโครงการให้ความรู้เรื่องศีล 5 หรือไม่
  • นักเรียนเคยเข้าเว็บดูเกี่ยวกับศีล 5 หรือไม่
  • นักเรียนมีความรู้เรื่องศีล 5 หรือไม่
  • นักเรียนทำกิจกรรมอะไรบ้าง (กีฬา อ่านหนังสือ เล่นดนตรี จิตอาสา)




การประเมินผลการเรียนรู้ดังกล่าว ไม่ได้ประเมินแค่นักเรียนเท่านั้น แต่ยังมีการประเมินผลการเรียนรู้ในกลุ่มคณะทำงานที่เป็นนิสิตทั้งภาพรวมและรายบุคคลอย่างน่าชื่นชม ผ่านกระบวนการสำคัญๆ เช่น ประชุมถอดบทเรียน การเขียนผลการเรียนรู้ผ่านบัตรคำจากนั้นจึงนำมาประมวลในภาพรวมร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง ทั้งในประเด็นกระบวนการทำงานและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในตัวตนของแต่ละคน เรียกได้ว่ากิจกรรมครั้งนี้มีการประเมินทั้งผู้ให้และผู้รับ (ผู้จัด-ผู้เข้าร่วม) ก็ไม่ผิด




ถึงแม้การขับเคลื่อนครั้งนี้ดูจะมีจุดอ่อนในเรื่องของการผ่องถ่ายงานระหว่างชุดเก่ากับชุดใหม่จนต้องขับเคลื่อนในแบบเร่งด่วน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคณะทำงานก็ได้ทุ่มเทสุดความสามารถอย่างน่ายกย่อง สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าภายใต้เวลาอันแสนจำกัดได้อย่างน่าทึ่ง นับตั้งแต่การ “รวมทีม” แล้ว “เลือกพื้น” ผูกโยงไปสู่การจัดการเรียนรู้ระหว่างนิสิตกับนักเรียน ออกแบบกิจกรรมโดยใช้ประเด็นง่ายๆ ใกล้ๆ ตัวเป็นหัวใจหลัก ทำการบูรณาการฐานการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนเข้าด้วยกัน หรือกระทั่งการฝึกให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองผ่านอินเทอร์เน็ตและสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวอย่างสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับการประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรมทั้งต่อนักเรียนและนิสิต

สิ่งเหล่านี้ถือว่าได้นิสิตเพียรพยายามทำอย่างสุดความสามารถแล้ว คงเหลือแต่การติดตามหนุนเสริมว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ต่อนักเรียนและนิสิตอย่างไรบ้าง

หรือแม้แต่การหวนกลับมาทบทวนถึงโจทย์การทำงานในรั้วมหาวิทยาลัยอีกสักครั้งก็เป็นเรื่องท้าทายและน่าสนใจไม่แพ้กัน


เสียงจากนิสิต



ยอมรับว่าเป็นงานใหม่ของพวกเรา เลยไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนก่อนดี สิ่งที่ต้องทำจำเป็นต้องต่อยอดจากงานเดิมหรือไม่ ซึ่งเราไม่มีข้อมูลเหล่านี้ จึงต้องคิดใหม่ทำใหม่ในเวลาอันจำกัด แต่ก็ทุ่มเทกันเต็มที่ โดยเลือกจัดกิจกรรมในชุมชนของตัวเองก่อน เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ พอจัดแล้วก็พอจะมองออกว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นได้ช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับพวกเราเอง รวมถึงเป็นการให้โอกาสแก่เด็กๆ ในหลายๆเรื่อง เช่น ฝึกการกล้าคิดกล้าแสดงออก รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่นและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม สามารถแยกแยะในสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำได้ และที่สำคัญคือเด็กๆ มองเห็นภาพที่จะนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันของตนเอง เพราะเป็นเรื่องที่เรียนและพบเจอจริงๆ ในแต่ละวันอยู่แล้ว


ฐิจิกานต์ ภักดิ์สอนิสิทธิ์
ชั้นปีที่3 สาขาสัตวศาสตร์
คณะเทคโนโลยี





หมายเหตุ

ภาพ/ต้นเรื่อง : ฐิจิกานต์ ภักดิ์สอนิสิทธิ์ และสโมสรนิสิตคณะเทคโนโลยี
เรียนเรียง : พนัส ปรีวาสนา (1 พฤศจิกายน 2559)

</span>

หมายเลขบันทึก: 619513เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2016 15:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ธันวาคม 2016 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาให้กำลังใจคนทำงานจ้าา

ชื่นชมนะ

ขอบพระคุณ คุณมะเดื่อ ที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ

ช่วงนี้ รับพระราชทานปริญญาบัตร

ยุ่งๆ และวั่นๆ หน่อยครับ

แต่ก็ยังพอมีพลังในการทำงาน เหมือนเคยมา

เพียงแต่โรยราไปตามอายุอานามครับ 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท