โลกทุนนิยม การล่าอาณานิคม นโปเลียน และโทรเลข


ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ

นบ. (จุฬา) ,M.sc. Telecom Management (ธรรมศาสตร์) and Ph.D. Criminology and criminal justice (จุฬา)


 

 

 

 

 


 

โลกทุนนิยม การล่าอาณานิคม นโปเลียน โทรเลข มันเกี่ยวไรกัน ผมว่ามันเกี่ยวกันนะครับ แต่อธิบายคงยาว จิบเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ไปคุยไปเรื่อยดีกว่านะครับ
 

โลกทุนนิยม (Capitalism) อย่าไปคิดไรมากครับ คือโลกปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่นี่เอง มันลำบากยากเข็ญ มันแร้นแค้น ปากกัดตีนถีบ เพื่อ...ตัวอยู่รอด??? แต่คนบางกลุ่มสุขสบายกินแต่ของดีๆ นอนเต็มอิ่ม ไม่ต้องทำงานมีเงินทองให้ลูกหลานใช้ชั่วชีวิต

ชนชั้นทางสังคมยังคงมีอยู่ ทุกอณูมีความไม่เท่าเทียม เพียงแต่เปลี่ยนจากการแบ่งชนชั้นวรรณะ ที่เชื้อชาติกำเนิด และศักดินาต่างๆ มาเป็น “เงิน”


 

ยุคนักล่า (Hunting Age)

เป็นยุคแรกของมนุษย์ก่อนการปฏิวัติเกษตรกรรม การล่านั้นไม่เพียงล่าสัตว์ แต่รวมถึงล่าทรัพยากร เพราะทรัพยากรจะเป็นสิ่งที่สร้างความร่ำรวย “Resource Driven Value Added”

แต่เดิมในโบราณนั้น คนเราแยกกันทำกิน แยกกันครอบครองทรัพยากรของโลกกันไป มีพื้นที่ของตนทำกิน และต่างก็ต้องการใช้ทรัพยากรอื่นที่จำเป็น จึงต้องแลกเปลี่ยนทรัพยากรกัน เช่น นาย ก. ปลูกผัก นาย ข. เลี้ยงหมู นาย ค. ปลูกข้าว และ นาย ง. มีเกลือ ต่างก็เก็บทรัพยากรของตนที่เพียงพอต่อกรบริโภคแล้ว เอาทรัพยากรที่เหลือไปแลกเปลี่ยนทรัพยากรอื่นในสัดส่วนที่พอเหมาะ จนทุกคนบริโภคทรัพยากรของโลกได้พอดีแฮปปี้กันไป

ก็เป็นไปได้ บางคนมีข้าวมากๆๆๆ แต่ชอบกินแต่หมู ก็สามารถเอาข้าวที่เก็บไว้พอกินได้สองปี ไปแลกหมูมาเก็บไว้ได้ ข้าวยังเหลือก็ไปแลกเกลือมาเก็บได้อีก แลกผักได้อีกเยอะ ใครมีทรัพยากรมากน่าจะแลกนั่นแลกนี่ได้เยอะแยะ เรียกว่ารวยนะ เอาทรัพยากรที่ตนมีอยู่ไปแลกทรัพยากรคนอื่นเขาเรียกว่า “Barter trade” การแข่งขันสำหรับคนที่มีทรัพยากรอย่างเดียวกันคือ “คุณภาพของทรัพยากร” เกลือหนึ่งตันหรือข้าวหนึ่งเกวียนจะเอาไปแลกหมูได้หนึ่งตัวนั้น ข้าวกับเกลือในทุกๆ เจ้าแทบจะไม่แตกต่างกัน แต่หมูนั้นหากตัวอ้วนผิวสวยสีเนื้อดี ย่อมเป็นที่ต้องการกว่า คนอื่นจะอยากได้หมูของเขามากกว่า ดังนั้นทรัพยากร (Resource) จะเป็นตัวทำให้เศรษฐกิจโต

วิวัฒนาการต่อมา มนุษย์เรารู้จักใช้เงิน (Money) สร้างวัตถุที่เป็นสิ่งสมมติมาใช้แลกเปลี่ยนทรัพยากรของตนเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรอื่น ไม่ต้องแบกหมูไปตลาดเพื่อแลกเกลืออีกต่อไป ไม่ต้องเข็นข้าวเป็นตันๆ ไปแลกทองคำ เงินจำนวนหน่วยเท่าใดสามารถแลกเปลี่ยนเป็นหมูได้กี่กิโล แลกข้าวได้กี่กระสอบก็ว่ากันไป ดังนั้นเงินจึงกล่าวพอสรุปอย่างหยาบๆ แต่เชิงอุดมคติได้ว่า “เงิน” เป็นตัวแทนทรัพยากรบนโลกนี้ที่มีจำกัดของมนุษย์


 

แล้วถ้าเรามองให้แคบลง หยิบกิ่งไม้ขีดเส้นรอบวงพื้นที่ๆ หนึ่ง เล็กๆ บนโลก เราจะเห็นว่าคนรวยที่สุดคือคนที่ครองทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในพื้นที่นั้นไว้มากที่สุด แล้วถ้าคนๆ นั้นลุกขึ้นมาหาเสียงเลือกตั้ง (คิๆ) แล้วบอกว่า จะทำทุกคนในพื้นที่นั้นให้รวยอย่างเขา คุณจะเชื่อหรือไม่? แน่นอนเป็นไปได้ แต่ผู้พูดต้องนำทรัพยากรที่เขามีอยู่มาแจกจ่าย แบ่งปันผู้อื่น ใช่ครับ เขาจะจนลงเพื่อให้คนอื่นรวยขึ้น คำถามก็คือ คุณเชื่อมั๊ย? หรือถ้าเขาไม่เลือกวิธีนั้น ไม่อีกทางหนึ่งเขาจะต้องทำทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ทำให้มันมีมูลค่ามากขึ้นกว่าเดิม (Value Added) จากที่ข้าวหนึ่งตันแลกหมูได้หนึ่งตัว ข้าวหนึ่งตันต้องแลกหมูได้ห้าตัว นี่สิถึงรวยขึ้นจริง

ในช่วงกลางสมัยอยุธยา เคยมีคนประเมินว่า ราวปี พ.ศ. 2143 (ค.ศ. 1600) กรุงศรีอยุธยามีประชากรประมาณ 300, 000 คน นับว่าเป็นมหานครขนาดใหญ่ของโลก

 

 

 

ส่วนในฝั่งยุโรปได้มีการก่อตั้ง บริษัท อิงลิช อีสต์ อินเดีย จำกัด และในเดือน เมษายน พ.ศ. 2144 บริษัท อิงลิช อีสต์ อินเดีย จำกัด ได้ส่งกองเรือพาณิชย์ 4 ลำ ที่เต็มไปด้วยสินค้า และทองคำ ไปยังอินเดียตะวันออกเป็นครั้งแรก ปีกว่าเรือทั้งสี่ลำกลับมาพร้อมกับพริกไทย และสินค้าจำนวนหนึ่ง เรื่องราวของดินแดนอันไกลโพ้น และทรัพยากรมากมายที่อังกฤษไม่มี คือโอกาสทางธุรกิจ อีกสองปีต่อมา บริษัท อิงลิช อีสต์ อินเดีย จำกัด ได้ส่งเรือทั้ง 4 ลำไปอินเดียอีกครั้งหนึ่ง ขากลับเรือสูญหายไปหนึ่งลำในทะเล อีกลำหนึ่งล่มลูกเรือได้รับการช่วยเหลือแต่เกือบเสียชีวิตทั้งหมด เหลือเรือมาถึงอังกฤษเพียงสองลำ ซึ่งบรรทุกสินค้า เต็มไปด้วย พริกไทย กานพลู และลูกจันทร์เทศ อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนในบริษัท อิงลิช อีสต์ อินเดีย จำกัด จากการเดินเรือทั้ง 2 ครั้งนี้ทำกำไรได้มากถึงร้อยละ 95 ของการลงทุนทั้งหมด

 

 

 

ทุนนิยมในยุคนั้น เป็นการค้นพบวิธีการหาอัตราผลตอบแทนที่มากกว่าการค้าขายปกติมากๆ จากที่มนุษย์เริ่มเปรียบเทียบทรัพยากรแบบเดียวกัน อย่างไหนจะมีคุณภาพมากกว่ากัน แต่การเดินเรือทางไกลมากๆ ในครั้งนั้น เป็นการเบิกโลกทุนนิยมด้วยการค้นหาทรัพยากรในพื้นที่ห่างไกล และต้องผจญภัยด้วยความยากลำบาก ทำให้สินค้าจากอินเดียมาขายที่อังกฤษส่งผลให้มีกำไรที่สูงมาก นอกจากเป็นสินหายาก (Supply) หากมีความต้องการ (Demand) ยิ่งมาก สินค้าดังกล่าวก็ราคาแพงส่งผลให้ผู้ค้ามีกำไรที่สูงมาก รวยมากนั่นเอง

หากมองเชิงก้าวหน้า ถ้าเรือพาณิชย์เดินทางกลับมาเร็วล่ะ? จาก 18 เดือนเป็น 1 เดือน แล้วถ้ามี บริษัทอื่นๆ สักร้อยบริษัท ต่างมุ่งหน้าลงทุนออกเรือเดินทางไปอินเดียเหมือนกันหมด สินค้าอินเดียก็จะกลายเป็นทรัพยากรที่ไม่ได้หายากอีกต่อไป หนำซ้ำประเทศข้างเคียงในยุโรป เช่น สเปน ฮอลันดา ได้ข่าวก็อยากทำธุรกิจนี้บ้าง เรือสินค้าในยุคนั้นจึงถูกดัดแปลงด้วยการติดปืนใหญ่ เพื่อสกัดกั้นคู่แข่งเหมือนที่เราเห็นในภาพยนตร์นั่นเอง

ระยะทาง และความยากลำบากในการผจญภัยพื้นที่ห่างไกล เป็นตัวสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรในยุคนั้น อย่างไรก็ตามแม้มนุษย์เริ่มรู้จักใช้เงินแทนทรัพยากรแล้วก็ แต่พอเริ่มค้าขายยังต่างแดนย่อมเกิดความไม่น่าเชื่อถือในเงินสกุลนั้นๆ มูลค่าของทรัพยากรย่อมไม่คงที่ จึงมีการเกิดคำว่า “หลักทรัพย์” ขึ้นมาเพื่อประกันความมั่นคงทางมูลค่าของทรัพยากร เราจึงเห็นการใช้คำศัพท์ว่า “Securitized” คือการหาทรัพยากรที่มีความมั่นคงน่าเชื่อถือในมูลค่าเหมือนกันทุกแห่งบนโลกน่ารักของเรา นั่นแหละครับที่มาของ “ทองคำ” โชคดีที่ทองคำหายากพอกันทั่วโลก ทองคำจึงกลายเป็นหลักทรัพย์ที่สำคัญของเศรษฐกิจในยุคนั้น ไปประเทศไหนก็ยินดีให้แลกเปลี่ยนกับสินค้า สมัยโบราณเรือพาณิชย์เดินทางกันทั่วโลกล่มจมอยู่ใต้ท้องทะเลมากมาย ว่ากันว่าเรือจมมากกว่าเรือเดินทางสำเร็จ บนเรือเหล่านั้นก็มีทองคำที่ถูกทำให้อยู่ในรูปของเหรียญเล็กๆ เพื่อใช้แลกเปลี่ยนสินค้าได้ทั่วโลกจมอยู่ใต้มหาสมุทรเช่นกัน

 


 

 

“กำไร” ที่เกิดจากการหาวิธีการที่ทำให้ทรัพยากรที่เรามีอยู่มี “มูลค่า” สูงขึ้นหรือที่เรียกว่า “Value Added” การเดินเรือของ อิงลิช อีสต์ อินเดีย กล่าวได้ว่าหากพวกเขามีทองคำอยู่ 1 ก้อน สามารถแลกเปลี่ยนทรัพยากรได้มากมาย แล้วใช้มันไปในกิจกรรมเดินเรือไปซื้อของที่อินเดียกลับมาขาย ทองคำของเขาจะเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ก้อนเลยทีเดียว “กำไร” เป็นสิ่งที่เปลี่ยนกระบวนทัศน์ของมนุษย์ที่เป็นพ่อค้า จากสมัยโบราณมนุษย์เราแยกย้ายกันบริหารทรัพยากรของโลกแค่พออยู่พอกินเหลือก็แลกเปลี่ยนเกื้อกูลกัน กลายเป็นหาวิธีการ “สะสม” ทรัพยากรให้เกินตัว “กำไร” กลายเป็นสิ่งแรงจูงใจ (Motivation) ให้มนุษย์คิดค้นกระบวนการหาวิธีบริหารทรัพยากรที่ตนมีอยู่ให้มากขึ้น เกิดเป็นแรงปรารถนาขึ้นใหม่ในจิตใจสิ่งนั้นเรียกว่า “ความมั่งคั่ง” แต่ความมั่งคั่งอย่างที่ผมเกริ่นเมื่อตอนต้น หากเงินหมายถึงตัวแทนทรัพยากรบนโลกมนุษย์ มนุษย์คนไหนจะมั่งคั่งได้เราต้องหาวิธีแย่งชิงทรัพยากรมาเก็บไว้ที่ตัวมากที่สุด!! ทุกวิถีทาง

ปัจจุบันนี้เงินแต่ละสกุลในโลกของเรา ก็ยังเป็นสิ่งที่เป็นตัวแทนทรัพยากรของโลกอยู่เช่นเดิมครับ ทุกสกุลเงินตรา เขาจะต้องมีทรัพยากรของโลกหนุนหลังเพื่อรับประกันว่ามันมีมูลค่าจริง เช่น เงินบาทของเรา 100 บาท ว่ากันว่ารัฐต้องมีทองคำเก็บไว้ถึงร้อยละ 80 มูลค่าเงิน 100 บาทแต่ละใบของเรา ที่เหลือก็เป็นพันธบัตรรัฐบาลไทยหรือต่างประเทศ และหลักทรัพย์อีกหลายอย่าง ตามพระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2501 มาตรา 30 การนำทรัพยากรมาเก็บไว้ของรัฐเพื่อรับประกันมูลค่าธนบัตรนี้เรียกว่า “ทุนสำรองเงินตรา” ยกเว้นบางประเทศบิดเบือนกลไกดังกล่าวได้ เช่น ดอลล่าร์ สหรัฐ บางครั้งสามารถพิมพ์ออกมาใช้จ่ายได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องมีทุนสำรองทั่วโลกก็เชื่อถือว่าชำระหนี้ได้

การเดินเรือของ อีสต์ อินเดีย ได้รับการลงทุนจากชนชั้นสูงมากมาย ตั้งแต่ ราชวงศ์ ขุนนาง นักลงทุนชาวลอนดอน ความเสี่ยงสูงจากเรือที่จม และระยะทางอันไกลโพ้น ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรมีมูลค่าสูง รูปแบบการลงทุนจึงเริ่มซับซ้อนขึ้น เริ่มมีวิธีการกระจายความเสี่ยงให้ผู้ลงทุนหนึ่งรายไม่จำเป็นต้องลงทุนทั้งหมดในเรือลำเดียว แต่กระจายความเสี่ยงไปในเรือหลายลำ และให้ผลตอบแทนกำไรตามสัดส่วนที่ลงทุนในเรือแต่ละลำ สุดท้ายในปี พ.ศ. 2231 บริษัท อิงลิช อีสต์ อินเดีย ให้เปิดให้ซื้อขายหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในกรุงลอนดอน

 

 

 


 

นอกจากอังกฤษแล้วหลายประเทศในยุโรปก็ได้เห็นช่องทางในการสร้างความมั่งคั่งจาก “กำไร” ที่ได้จากการหาทรัพยากรในพื้นที่ห่างไกลมาค้าขายรวมทั้ง ฮอลันดา โปรตุเกส ก็เริ่มส่งเรือพาณิชย์ออกไปไกลจนมาถึงสยาม อย่างที่เราพอทราบในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา การต่อสู้ทางทะเลของเหล่าเรือพาณิชย์ที่ติดปืนใหญ่ ขยายขีดความสามารถออกไปจนกลายเป็นการเพิ่มพูนทักษะทำสงครามทางเรือ และเริ่มมีทหารติดสอยห้อยตามเรือพาณิชย์ ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นเรือรบอันเกิดจากการแสวงหาความมั่งคั่ง และความมั่งคั่งจากทุนนิยมเหล่านั้น ก็ได้สร้างให้บรรดาประเทศในยุโรปมีศักยภาพทางกองทัพเรือก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

การกระทบกระทั่ง ข้อพิพาทต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย มีการสู้รบแย่งชิงบ้านเมืองกันไปมาหลายครั้ง แต่ที่สำคัญก็คือการแย่งชิงทรัพยากร ฝ่ายที่รบชนะจะเป็นเจ้าของทุกอย่างในประเทศที่แพ้ เป็นอาณานิคมของผู้ชนะ รวมถึงทรัพยากรทั้งหมดของประเทศอาณานิคมด้วย คราวนี้ไม่ต้องค้าขายกับมันละ เรียกแบบหยาบคายว่าปล้นนั่นแหละ การทำสงครามเพื่อแย่งชิงดินแดน พื้นที่แหล่งทรัพยากรจึงแผ่อิทธิพลไปทั่วโลกรวมทั้งเอเชียในการต่อมา

 

 

หลายประเทศในยุโรปเริ่มส่งเรือสำรวจ (Expedition) เดินทางไปทั่วโลก บนเรือมีทั้งนักวิทยาศาสตร์ จิตกร นักดนตรี ทหาร แพทย์ นักการทูต เรียกว่าหาข้อมูลก่อนสร้างเรื่องเพื่อแผ่ขยายลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism) ออกไปยังส่วนต่างๆ ของโลก เพื่อครอบครองและปกครองประเทศหรือดินแดนที่อ่อนแอกว่า ซึ่งมีหลายลักษณะและหลายรูปแบบ เช่น การได้รับสิทธิพิเศษ (Concession) ในด้านการค้า หรือการได้รับสัมปทานใช้ทรัพยากร (ขูดรีดให้หมดตัวเบย) หรือการจัดตั้งเขตอิทธิพล (Sphere of Influence) ที่ประเทศมหาอำนาจจะควบคุมเศรษฐกิจและจัดสรรทรัพยากรบางส่วนหรือทั้งหมด การจัดตั้งเขตเช่า (Leasehold) คือการบังคับเช่าดินแดนบางส่วนในระยะยาว คือไปยึดเขาไอ้ตูดหมึก เขาไม่มีทรัพยากรก้ให้เขาจ่ายค่าเช่าว่างั้น และวางอำนาจปกครองเองเหนือรัฐบาลกลาง การจัดตั้งดินแดนในอารักขา (Protectorate) โดยเข้าควบคุมเหนือประเทศ แต่ยอมให้ประมุขของประเทศนั้นมีสิทธิ์ปกครองตนเอง ทว่าภายใต้การควบคุมดูแลของผู้ยึดครอง และการผนวกดินแดน (Annexation) เรื่องของเรื่องก็เรื่องทรัพยากรอีกนั่นแหละวุ่นวายแท้หนอ


 

ลัทธิจักรวรรดินิยมในอดีตกาล แบ่งออกเป็น 2 สมัยคือ ยุคเก่า และยุคใหม่ ซึ่งยุคเก่านั้นเกิดขึ้นเมื่อกว่า 2,000 ปีมาแล้ว โดยการวางอำนาจแล้วใช้กำลังทหารเข้ายึดครองดินแดนที่อ่อนแอกว่า เช่น การสร้างจักรวรรดิกรีก โรมัน อัสซีเรีย เปอร์เซีย และออตโตมัน เป็นต้น

ในยุคจักรวรรดินิยมต่อมาก็เกิดยุคทุนนิยมขึ้น ต้องการแสวงหา “กำไร” มากๆ ก็เกิดจักรวรรดินิยมยุคใหม่ เมื่อหลายประเทศในยุโรปเริ่มทำการสำรวจและการค้นพบ ภาษาปะกิตเขาเรียกว่า Age of Exploration and Discovery โดยมีลักษณะของการแสวงหาดินแดนโพ้นทะเล เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า การแสวงหาทรัพยากร และการระบายพลเมือง

 

 

 

โลกมันก็วุ่นวายเช่นนี้เรื่อยๆ เป็นร้อยปีต่อมา สงครามของบรรดาชาวยุโรปทวีความรุ่นแรงและยุ่งเหยิงมากขึ้น มีการปฏิวัติรูปแบบการปกครองในหลายประเทศ มีการโค่นล้มกษัตริย์ และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองในหลายรูปแบบ รวมถึงระบอบประชาธิปไตย ช่วงเวลาดังกล่าวทำให้หลายชาติในเอเชียยังไม่เคยตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของยุโรป ถ้าไม่นับศรีลังกาที่ตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ตั้งแต่ พ.ศ. 2048 ด้วยลัทธิจักรวรรดินิยม มิใช่เหตุที่เกิดจากทุนนิยมจวบจน พ.ศ. 2300 อินเดียก็ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษจากการแบ่งชิงกับฝรั่งเศส และดัชต์ แม้ความโลภของทุนนิยมได้ครอบงำชาวยุโรป และมองเห็นโอกาสธุรกิจเป็นร้อยปีแล้วก็ตาม

การแย่งชิงทรัพยากรในอินเดียระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจากบริษัทที่ทำธุรกิจการค้าของทั้งสองประเทศกลายเป็นกองทัพมาทำสงครามกันซะงั้น และรบกันในหลายพื้นที่รวมทั้งอเมริกา โดยเฉพาะในยุโรปจนบานปลายหลายประเทศสู้รบด้วยกัน

 

 

 

ส่วนในอินเดียนั้น จนราว พ.ศ. 2300 โรเบิร์ต ไคลฟ์ (Robert Clive) ผู้นำบริษัท อีสต์ อินเดีย ทำสงครามมีชัยชนะเหนือกษัตริย์แห่งเบงกอลแห่งอินเดียในการศึกที่ เพลสเซย์ (Battle of Plassey พ.ศ. 2300) อันเป็นชัยชนะครั้งสำคัญซึ่งนำไปสู่การเริ่มต้นของยุคใหม่ในประวัติศาสตร์อินเดีย ซึ่งเป็นยุคที่อังกฤษเข้าปกครองอินเดียอย่างไม่เป็นทางการ และในขณะที่อินเดียยังคงสถานภาพมีอธิปไตยของตนเองแต่เพียงในนามนั้น จักรพรรดิของอินเดียก็มีฐานะเป็นหุ่นเชิดของอังกฤษเท่านั้น และบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะไร้ขื่อแป บริษัท บริติช อินเดีย ตะวันออก ก็ก้าวขึ้นสู่บทบาทตำรวจปราบปรามการจลาจลวุ่นวายในอินเดียอย่างเต็มตัว

 

 

 

จนในที่สุด อินเดีย ก็เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ลัทธิอาณานิคมอย่างเป็นทางการ อังกฤษสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียขึ้นเป็น "จักรพรรดินีแห่งอินเดีย (Empress of India)" ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1870

ผู้อ่านลองจิตนาการดูสิครับ ความมั่งคั่งทำให้ บริษัท บริติช อีสต์ อินเดีย จากที่เป็นองค์กรธุรกิจการค้า แต่ความรวยนั้นทำให้มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงในโลกทุนนิยม บริษัทธุรกิจที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ เดิมทีมีความสนใจเบื้องต้นอยู่ที่การทำผลกำไรให้ได้เท่านั้น แต่ในเวลานั้นกลับกุมชะตาชีวิตมนุษย์นับร้อยล้านคน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งวิถีชีวิต และวัฒนธรรมกับประเทศอาณานิคมอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกันฝ่ายอำนาจรัฐก็เข้าควบคุมธุรกิจ โดยรัฐสภาอังกฤษได้ผ่านกฎหมายหลายฉบับออกมาในปี พ.ศ. 2316 ถึง พ.ศ. 2321 กฎหมายที่ได้ให้อำนาจแก่รัฐสภาในการควบคุมนโยบายต่างๆ ของบริษัท บริติช อีสต์ อินเดีย และมีอำนาจในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงสุดของบริษัท ซึ่งรู้จักกันในชื่อตำแหน่ง ว่า "ผู้สำเร็จราชการเมืองขึ้น (governor-general)"

 

 

 

บริษัท บริติช อีสต์ อินเดีย ได้เข้าปกครองอินเดียทั้งหมด กษัตริย์พื้นเมืองอินเดียบางส่วนถูกบีบให้ยอมสวามิภักดิ์ ยอมรับความเป็นเจ้าอาณานิคมของอังกฤษ ขณะที่บางส่วนราชวงศ์พื้นเมืองยังคงปกครองบ้านเมืองของตนอยู่ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของอังกฤษ

อีกสิบปีต่อมาทางฝรั่งเศสย่ำแย่ แม้จะมีกองทัพที่แข็งแกร่ง และพระเจ้าหลุยส์ก็ทำสงครามตลอดเวลา จน พ.ศ. 2332 บ้านเมืองจลาจลภายใน ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทรุดหนัก ประชาชนหิวโดยแร้นแค้นที่สุด บริหารเศรษฐกิจไม่ดีก็อยู่ในโลกทุนนิยมลำบาก ราคาขนมปังที่สูงขึ้น หลังจากการเก็บเกี่ยวธัญพืชให้ผลไม่ดีหลายปีติดต่อกัน แม้บางส่วนเกิดจากสภาพอากาศผิดปกติ ภัยธรรมชาติจากภูเขาไฟ ราคาอาหารที่สูงขึ้นส่งผลภาวะเงินเฟ้ออย่างแรง และระบบการขนส่งที่ไม่เพียงพอต่อการส่งสินค้าอาหารปริมาณมากจากพื้นที่ชนบทไปยังศูนย์กลางประชากรขนาดใหญ่

อีกสาเหตุหนึ่งคือ การล้มละลายอย่างสิ้นเชิงของรัฐ จากค่าใช้จ่ายในการศึกสงครามที่ผ่านมาจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามปฏิวัติอเมริกาของฝรั่งเศส ภาระของสังคมที่เกิดขึ้นจากสงครามรวมถึงหนี้สงครามมหาศาล ซึ่งการณ์ยิ่งเลวร้ายลงจากการสูญเสียดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสในทวีปอเมริกาเหนือ และแพ้อังกฤษในอินเดีย ระบบบริหารการเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ และล้าสมัยของฝรั่งเศสไม่สามารถจัดการกับหนี้สาธารณะได้ ซึ่งบางส่วนเกิดขึ้นจากภาระของระบบการเก็บภาษีอากรที่ไม่เพียงพอ และไม่มีโอกาสยึดครองทรัพยากรใหม่ ส่งผลให้นอกจากไม่มี “กำไร” แล้วประเทศยังขาดทุนหนัก อดีตผู้นำซึ่งเป็นนักรบไม่เข้าใจการนำพาชาติในยุคทุนนิยมครอบงำ และการสืบทอดราชบัลลังก์ตามเชื้อสายทำให้ได้ผู้นำอ่อนแอ และเอาเปรียบทางชนชั้น ในที่สุดกองทัพ และประชาชนได้ลุกฮือยึดอำนาจจากกษัตริย์หลุยส์ที่ 16

ในปี พ.ศ. 2332 นโปเลียน โบนาปาร์ต (ภาษาฝรั่งเศสเขียนงี้ Napoléon Bonaparte) ขณะนั้นเป็นร้อยโท ได้เฝ้าดูประชาชนบุกทำลายพระราชวังตุยเลอกีในปารีสบ้านเมืองเกิดกลียุค นโปเลียนหนีความวุ่นวานกลับมาบ้านเก่า พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกประหาร และเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่กลับกลายเป็นการเกิดสงครามหลายฝ่ายแย่งชิงอำนาจกัน เป็นสงครามกลางเมือง

 

 

นโปเลียน วัยหนุ่มเป็นนักแต่งนิยายโรแมนติก มีความจำเป็นเลิศ รูปร่างสันทัดสูงไม่ถึง 170 เซนติเมตร เขาถนัดใช้สติปัญญามากกว่าพละกำลัง เขาถูกส่งตัวให้เข้าร่วมทำสงครามหลายครั้ง เริ่มแสดงผลงานยึดเมืองสำคัญๆ ในฝรั่งเศสกลับคืนมาได้ ด้วยความจำเป็นเขาทำการรบโดยปราศจากการมีผู้บังคับบัญชาอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้เขาสามารถคิดค้นกลยุทธ์ในการรบได้หลากหลายไม่อยู่ในกรอบเดิมทำให้ได้รับชัยชนะมากขึ้น ผลงานโดดเด่นมากขึ้นเรื่อย

เพื่อเป็นรางวัลที่สามารถการนำกองพลปืนใหญ่ปราบกบฏฝ่ายฝักใฝ่ราชวงศ์ได้ นโปเลียนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพนำกองกำลังไปยึดอิตาลีกลับคืนมาจากออสเตรีย กองกำลังของเขาขาดแคลนทั้งยุทโธปกรณ์และเสบียงคลัง ทหารและตัวเขาอดมื้อกินมื้อ แต่งตัวซอมซ่อ แต่เขาก็ได้ฝึกฝนนายทหารในบังคับบัญชาด้วยความขะมักเขม้น และสามารถนำทัพเข้าปะทะกับกองกำลังของออสเตรียที่มีจำนวนมากกว่า และมียุทโธปกรณ์พร้อมกว่าได้

 

 

 

ในการรบหลายต่อหลายครั้ง นโปเลียนเป็นผู้นำทัพด้วยตนเอง นโปเลียน เป็นนายทหารฝีมือฉกาจ ซึ่งมีผู้กล่าวถึงเขาว่า “อยู่ทุกหนทุกแห่งและมองเห็นทุกอย่าง ว่องไวดุจสายฟ้าแลบ และโจมตีดุจสายฟ้าฟาด” สิ่งนี้มาจากอาวุธลับบางอย่างของเขาที่ทำให้มีชัยเหนือข้าศึก เหตุการณ์ที่ประเทศอิตาลีนี้เอง ที่ทำให้นโปเลียนได้ตระหนักถึงพลังอำนาจของตน รวมทั้งสถานการณ์ที่เขาเป็นต่อ เขาเป็นจ้าวแห่งสนามรบเช่นเดียวกับในทุก ๆ ที่

เขาเป็นที่เคารพนับถือของผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยความสามารถในการวางแผน การบัญชาการ ความกล้าหาญ และความเลือดเย็น


 

Napoleon’s Secret weapon

ตลอดการสู้รบที่อิตาลี่ในช่วงเวลานั้น นโปเลียน ได้ใช้ระบบสื่อสารทางไกล ระบบแรกของโลกที่เรียกว่า “โทรเลข” (Telegraph) ที่คิดค้นโดย Claude Chappe

คำว่า “โทรเลข” หรือมาจากศัพท์ Telegraph หมายถึงการส่งอักขระทางไกล (ผู้เขียนแปล) วิธีการที่ คล้อด เชปป์ (Claude Chappe) ใช้ในการสื่อสารระยะไกลนั้นเริ่มแรกใช้สัญญาณธงที่ฝรั่งเขาเรียกว่า “Semaphore”

 

 

 

คล้อด เชปป์ (Claude Chappe) เป็นนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17 คล้อด เชปป์ ได้คิดค้นวิธีการส่งสัญญาณธงแทนตัวอักษร ด้วยการติดตั้งชิ้นส่วนไม้ที่ปรับเปลี่ยนรูปร่างได้คล้ายสัญญาณธงไว้บนหอคอย โดยใช้กลไกของระบบรอกมาช่วยในการเปลี่ยนรูปแบบชิ้นส่วนไม้ดังภาพตัวอย่าง

 

 

ในปี พ.ศ. 2335 คล้อด เชปป์ ได้สร้างสถานีทวนสัญญาณจำนวน 15 สถานี และสาธิตการส่งครั้งแรกจาก ปารีส ถึงลิลล์ (Lile) ระยะทางถึง 120 ไมล์ เลยทีเดียว โดยสถานีทวนสัญญาณจะห่างกันประมาณ 20 ไมล์ และใช้กล้องส่องทางไกลในการอ่านสัญญาณ ครั้งแรก คล้อด เชปป์ เรียกมันว่า “Tachygraph” แปลว่านักเขียนที่ว่องไว ต่อมาเพื่อนเขาได้แนะนำว่าน่าจะแปลว่านักเขียนระยะไกลนะ (Far writer) จึงค่อยๆ เรียกมาเป็น Telegraph ในที่สุด

 

คล้อด เชปป์

 

 

 

 

 

 

 

 


 

นโปเลียน ได้นำระบบการสื่อสารทางไกลนี้ ไปประยุกต์ใช้ในทางทหาร ทำให้เขาเป็นนักรบที่มีชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกคนหนึ่ง ซึ่งแนวทางการวางแผนรบของกองทัพอื่น จะวางแผนแบ่งการโจมตีแต่ละกอง แล้วออกรบ แต่ นโปเลียน มีระบบการสื่อสารทางไกล เมื่อออกสู่สนามรบแล้วเขาเห็นแผนการรบของศัตรูแล้ว เขาสามารถวิเคราะห์ปรับแผนรับมือ แล้วสื่อสารปรับขบวนทัพได้ตลอดเวลา นอกจากการสื่อสารในกองทัพแล้ว เขายังสื่อสารได้ถึงรัฐบาลในปารีสอีกด้วย

 


 

 

นโปเลียน ได้วางระบบสื่อสารโทรเลขไว้มากมายหลายเส้นทางในยุโรป โดยที่ คล้อด เชปป์ เฝ้าตรอมใจว่าเขาถูกขโมยความคิดไป ฝรั่งใช้คำว่า Plagiarized จนกระทั่งปี พ.ศ. 2348 เขาอัตวินิบาตกรรมตนเองด้วยการกระโดดตึกเป็นการประท้วง นโปเลียน

กรรมวิธีการส่งสัญญาณธงของเขาเป็นที่นิยมใช้แพร่หลายในฝรั่งเศสอย่างรวดเร็ว และได้เปิดให้บริการรับส่งข้อความแก่สาธารณชนทั่วไป ในปี พ.ศ. 2367

ต่อมาในปี พ.ศ. 2389 รัฐบาลฝรั่งเศสได้เปิดให้บริการโทรเลขไฟฟ้าแบบมีสาย และในที่สุดโทรเลขแบบสัญลักษณ์ธง ของ คล้อด เชปป์ ก็ได้สิ้นสุดการให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2395

 

 

 

 

สมัชชาการปฏิวัติแห่งชาติฝรั่งเศส เริ่มกังวลกับความนิยมชมชอบ นโปเลียน ของประชาชนทีมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สมัชชาการปฏิวัติแห่งชาติฝรั่งเศสก็ไม่ต่างอะไรกับการโค่นล้มกษัตริย์ได้แล้ว เอาอำนาจอธิปไตยมาปกครอง ซึ่งบ้านเมืองก็ไม่ได้มีทีท่าว่าเจริญขึ้น ซ้ำยังย่ำแย่ลง นโปเลียน ถูกมอบหมายให้นำทัพไปยังดินแดนอันไกลโพ้น ด้วยการยึดอียิปต์เพื่อตัดเส้นทางการค้าของอังกฤษและอินเดีย นโปเลียน รุกคืบได้ครอบครองดินแดนในอียิปต์มากขึ้น แต่ความสัมพันธ์กับสมัชชาการปฏิวัติแห่งชาติฝรั่งเศสไม่ดีขึ้น เขาจึงสละตำแหน่งแม่ทัพเข้าตีอียิปต์แล้วกลับฝรั่งเศส ประชาชนชื่นชมเขาเยี่ยงวีรบุรุษ ส่วนผู้มาแทน นโปเลียน นั้น ก็พ่ายศึกในอียิปต์สูญเสียทหารนับหมื่น

นายพล นโปเลียน วัยสามสิบหลังจากแก่กล้าการสงคราม เขาเริ่มแตกฉานทางการเมือง สมัชชาการปฏิวัติแห่งชาติฝรั่งเศส ไม่ได้นำพาชาติรอดไปไหน การปฏิวัติที่ผ่านไร้ความหมาย กลุ่มที่ภักดีกษัตริย์เริ่มเข้มแข็ง หลายฝ่ายยังคิดแย่งชิงอำนาจ

 

 

 

นโปเลียน นายพลหนุ่มได้คิดการใหญ่ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจ สมัชชาการปฏิวัติแห่งชาติฝรั่งเศส เขาประกาศเจตนาอยากให้มีการปกครองโดยผู้แทนราษฎรที่มากประชาชน

เขาใช้วิธีปกครอง โดยกงสุล และพัฒนาฝรั่งเศสในหลายด้าน ทั้งการศึกษาประชาชน กระบวนการยุติธรรม ระบบราชการ และการคลัง รวมทั้งรวบรวมขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณขึ้นมาใหม่

 

 

 

เขาดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ของฝรั่งเศส ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2342 (ค.ศ. 1799) และได้เริ่มออกรบขยายอาณาจักรเริ่มที่บุกยึดออสเตรีย สวิส เนเธอร์แลนด์ สเปน สวีเดน แคว้นเวสต์ฟาเลียในประเทศเยอรมนีและเมืองเนเปิลส์ในประเทศอิตาลี

ในที่สุดเขายิ่งใหญ่จนสถาปนาตนเองขึ้นเป็น “จักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส” ระหว่างปี พ.ศ. 2347 (ค.ศ. 1804) ถึง พ.ศ. 2357 (ค.ศ. 1814) ภายใต้พระนามว่า นโปเลียนที่ 1 ผู้มีชัยชนะ และปกครองดินแดนส่วนใหญ่ของทวีปยุโรป และได้แต่งตั้งให้แม่ทัพและพี่น้องของเขาขึ้นครองบัลลังก์ในราชอาณาจักรยุโรปหลายแห่งด้วยกัน และสร้างระบบศักดินาให้เหล่าบริวารของเขา
 

 

 

 

ภายหลังจักรพรรดิ นโปเลียน ผู้ยิ่งใหญ่ได้มีความคิดว่า ต้องล้มสหราชอาณาจักรให้ได้ ความสงบจึงจะเกิดอย่างสมบูรณ์ จึงวางแผนโจมตีอังกฤษ แต่อังกฤษเป็นประเทศมีมีราชนาวีแข็งแกร่งที่สุด นโปเลียน ทัพเรือแตกพ่ายแพ้ศึก

นโปเลียน เปลี่ยนมาขยายอาณาจักรเพื่อความมั่งคั่งแห่งทรัพยากร โดยบุกรัสเซีย เขายกทัพกว่า 500,000 นาย บุกรัสเซีย แต่ถูกลวงให้บุกเข้าไปเรื่อยๆ หลายเดือนด้วยกัน จนในที่สุดฤดูหนาวอันแสนโหดร้ายเข้ามาเยือนกองทัพอันยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ทัพ นโปเลียน เหลือถอยกลับมาเพียงประมาณ 10,000 คนเท่านั้น

 

 

 

จากนั้นบรรดาประเทศในยุโรป ได้รวมกันเป็นพันธมิตรยกมาตีซ้ำฝรั่งเศส ทั้ง สหราชอาณาจักร รัสเซีย ปรัสเซีย และออสเตรีย กรุงปารีสถูกตีแตก ลูกน้องทรยศเหล่าจอมพลบังคับให้ นโปเลียน สละราชบัลลังก์ นโปเลียน ดื่มฝิ่นผสมน้ำปริมาณมาก เพื่อปลิดชีวิตตน แต่เขาไม่ตาย นโปเลียน ถูกเนรเทศ ถูกอังกฤษคุมขัง และป่วย จนสวรรคตในที่สุด เมื่อวัย 51 ปี หนึ่งมหาบุรุษของโลกที่มีชีวิตอันแสนโลดโผนยิ่งใหญ่ที่สุดผู้หนึ่ง

 

 

 

 

เมื่อสิ้นยุคจักรพรรดิ นโปเลียนที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2357 ระบบโทรเลขของ ซามูเอล มอร์ส ได้รับความนิยมแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วในยุโรป กอรปกลับผลแห่งการสงครามอันหนักหน่วงของยุโรป ส่งผลให้ศักยภาพกองทัพเรือหลายประเทศในยุโรปมีประสิทธิภาพสูง พร้อมกับระบบการสื่อสารทางไกลที่เรียกว่า “โทรเลข” เริ่มมีความก้าวหน้า กล่าวได้ว่ามีการวางสายโทรเลขไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จากทั่วยุโรปไปจนถึงเอเชียอาคเนย์ และสหรัฐอเมริกา มีการวางเคเบิลใต้น้ำแล้ว บรรดาเรือสำรวจ (Expedition) เดินทางเก็บข้อมูลทรัพยากรทั่วโลก และรายงานผลการสำรวจทรัพยากรกลับไปยังยุโรปกลับ

 

 

 

กองทัพเรือของมหาอำนาจยุโรปอันมีศักยภาพสูง ถูกบัญชาการด้วยการรับส่งข้อมูลด้วยการพายเรือเล็กขึ้นฝั่งรับส่งโทรเลขจากสถานีบนบก เพื่อเข้ายึดดินแดนอันห่างไกล และโลกก็ก้าวเข้าสู่การล่าอาณานิคม

ปี พ.ศ. 2402 สยามได้รู้จักโทรเลขเครื่องแรก จากการถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจากคณะทูตปรัสเซีย

 

 

 

ส่วนการล่าอาณานิคมของอังกฤษ และฝรั่งเศสได้เริ่มมาประชิดกรุงสยาม มหาอำนาจต้องการจัดฉาก หาเรื่องพิพาทกับสยามมาโดยตลอดเพื่อยึดเมือง

ราวปี พ.ศ. 2422 สยามต้องเผชิญหน้ากับเรือปืนอังกฤษอันมีชื่อเสียงแสนเกรียงไกรเป็นครั้งแรก เนื่องด้วยมีการกล่าวโทษพระปรีชากลการขุนนางหนุ่มรูปงามผู้ฝ่าม่านประเพณีแต่งงานกับ แฟนนี่ น็อกซ์ ลูกสาวกงสุล อังกฤษ ว่ากระทำความผิด

จึงโปรดฯ ให้คณะ “เคาน์ซิล ออฟสเตท” (สภามนตรี) สอบสวน และสภามนตรีสอบสวนได้ความว่าพระปรีชากลการมีพฤติกรรมทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวงอันเป็นข้อหาทุจริตในยุคนั้น จึงถูกจับกุมคุมขังพร้อมโซ่ตรวน

โทมัส ยอร์จ น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ ได้เข้าพบสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเพื่อเกลี้ยกล่อมให้ปล่อยตัวพระปรีชากลการแต่ไม่สำเร็จ จึงได้ข่มขู่ว่าพระปรีชากลการ ซึ่งเป็นสามี แฟนนี่ น็อกซ์ อันหมายถึงเป็นลูกเขยกงสุลอังกฤษ ตัวแทนพระราชินีแห่ง สหราชอาณาจักร การกระทำเช่นนี้ของสยามกับลูกเขยกงสุลอังกฤษ จึงเสมือนเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระราชินีแห่งอังกฤษเช่นกัน หากไม่ปล่อยพระปรีชากลการโดยไม่มีเงื่อนไขตนจะส่งเรือปืนอังกฤษที่ประจำการอยู่ฮ่องกงมาถล่มกรุงเทพ ข่าวนั้นได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วประชาชนแตกตื่นเสียขวัญ ร้านค้าปิดเงียบ โรงสีปิดกิจการ ประชาชนคิดว่าเข้าทางอังกฤษที่จ้องหาข้อพิพาทเพื่อยึดเมืองอยู่แล้ว

 

โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ กงศุลอังกฤษ

 

 

โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ กงศุลอังกฤษ

โทมัส ยอร์จ น็อกซ์ ฝากจดหมายโดยเรือชื่อ “บางกอก” ไปยังสิงคโปร์ เพื่อให้สิงคโปร์โทรเลขไปยังฮ่องกงเพื่อเรียกเรือรบมากรุงเทพ เวลานั้นยังไม่มีโทรเลขติดต่อกรุงเทพกับฮ่องกงโดยตรง สยามจึงพอมีเวลาวางแผนว่าจะดำเนินการอย่างไร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมอบหมายให้ เคาน์ซิล ออฟ สเตท หารือว่าจะดำเนินการอย่างไร คณะที่ปรึกษาทูลเกล้าฯ ให้ส่งราชทูตพิเศษไปอังกฤษเพื่อเจรจากับสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียโดยตรง จึงทรงพระกรุราโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาภาสกรวงศ์ เป็นราชทูตและจมื่นสราภัยสฤษดิ์การ (ต่อมาเป็นจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี) เป็นอุปทูต

คณะทูตเดินทางโดยเรือยนตร์ไปถึงสิงคโปร์ ได้ปรึกษากับพระยาอัษฎางค์ กงสุลสยามประจำสิงคโปร์ลงความเห็นว่า เดินทางไปลอนดอนคงไม่ทันการณ์จึงลงความเห็นว่าให้ใช้ “โทรเลข” โทรข้ามมหาสมุทรไปยัง พระสยามธุรพาหะ (มร. เค เมซัน) กงสุลสยามประจำราชสำนักอังกฤษ ให้รายงานความจริงให้รัฐบาลอังกฤษทราบ และเจรจาเรียกเรือรบกลับ จากนั้นคณะทูตดังกล่าวก็ออกเดินทางไปยังกรุงลอนดอน

ระหว่างนั้นเรือรบอังกฤษได้เดินทางมาถึงปากน้ำกรุงเทพฯ โทมัส น็อกซ์ต้อนรับผู้บังคับการเรืออย่างดี เขาแสดงความห่วงในครอบครัวน็อกซ์ เพราะข่าวของพระปรีชากลการ และกงสุลอังกฤษถูกตีพิมพ์ไปทั่วโลก สยามคล้ายกับตกอยู่ในภาวะคล้ายสงคราม ด้วยมีเรือรบของต่างชาติเข้ามาลอยขวางลำน้ำ ก็พอดีโทรเลขฉบับชี้เป็นชี้ตายของประเทศสยาม จากรัฐบาลอังกฤษส่งถึงผู้บัญชาการเรือให้เรียกเรือรบกลับที่ตั้ง และยกเลิกปฏิบัติการ ความสงบสุขก็กลับคืนสู่สยามอีกครั้ง คณะทูตดังกล่าวเมื่อเดินทางถึงกรุงลอนดอนได้เจรจากับรัฐบาลอังกฤษจนเรียก โทมัส น็อกซ์ กลับอังกฤษด้วย

พระปรีชากลการถูกตัดสินประหารชีวิต และนำตัวไปสำเร็จโทษที่ปราจีนบุรีในปี พ.ศ. 2422 ริบราชบาตรเป็นของแผ่นดิน รวมทั้งทรัพย์สินที่เป็นบ้านริมเจ้าพระยาตกเป็นของหลวง และถูกนำมาใช้เป็น “ไปรสนียคาร” ที่ตั้งกรมไปรษณีย์โทรเลขแห่งแรก เมื่อ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426

 

 

 

 

 


 

หมายเลขบันทึก: 618999เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2016 18:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2021 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท