ลาน BBL มือใหม่หัดขับ : เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (ภัทรเวท บัวระบัด)


สรุปแล้วชุมชนก็มาช่วยเหมือนกัน แต่ไม่เยอะเหมือนที่ตั้งเป้าไว้ มาช่วยทำอาหารและนึ่งข้าวเหนียวมาสมทบ ทางโรงเรียนก็จัดเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้และจัดหาสีมาสมทบประมาณ 4,000 บาท รวมถึงให้คำแนะนำด้านการทำงาน เช่น การลงสีทางสี การให้ความรู้เรื่องความหมายของสี รูปแบบของลาน BBL ซึ่งเป็นการแนะนำและทำงานแบบมีส่วนร่วม แต่ไม่ได้ทำให้เราอึดอัดและทำงานหนักจนเกินไป





เดิมก่อนที่จะมาเป็นโครงการ ‘พัฒนาอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมโรงเรียนบ้านโพนงาม’ ผมและเพื่อนๆ มองว่าสภาพชุมชน และโรงเรียนรอบๆ มหาวิทยาลัยของเราต่างมีสภาพที่ขาดแคลน ยังต้องการความช่วยเหลืออยู่อีกมาก แต่ทำไมชมรมส่วนใหญ่พากันทำโครงการออกไปช่วยพัฒนาโรงเรียนบนเขา หรือโรงเรียนในต่างจังหวัดไกลๆ ทั้งที่ชุมชนและโรงเรียนรอบข้าง ‘มมส’ ก็ยังต้องการโอกาสอยู่อีกมาก ด้วยเหตุนี้กลุ่มเราจึงตั้งปณิธานว่าต้องทำให้บ้านเราเข้มแข็งก่อน ถ้าบ้านเราเข้มแข็งแล้วค่อยต่อยอดไปที่อื่น

ด้วยเหตุนี้ผมและเพื่อนๆ จึงแบ่งทีมออกสำรวจพื้นที่สองเส้นทางใหญ่ๆ เส้นทางแรกคือจากขามเรียงไปยังบ้านดอนมัน และอีกเส้นคือบ้านดอนหน่อง (ตำบลขามเรียง) มายังบ้านโพนงาม (ตำบลคันธารราษฎร์) จากนั้นก็นำข้อมูลมาหารือกันภายในกลุ่ม เพื่อหาข้อสรุปว่าจะเลือกพื้นที่ใดเป็นพื้นที่จัดกิจกรรม





ผลการหารือ- เราเลือก ‘โรงเรียนบ้านโพนงาม’ (ตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม)เพราะเมื่อเทียบกับอีกชุมชนแล้วที่นี่ดูจะขาดแคลนมากกว่า อีกทั้งเห็นว่ามีกิจกรรมที่พอจะต่อยอดได้ ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นก็เป็นกิจกรรมที่ชมรมพืชศาสตร์ในสังกัดคณะเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยมหาสารคามเคยมาจัดไว้คือสนามตะกร้อ แปลงเกษตร ลาน BBL

ผมและเพื่อนๆ ลงมาดูพื้นที่ด้วยตนเอง 3 ครั้ง เป็นการพบปะพูดคุยสอบถามความต้องการโดยตรงกับคณะครูในโรงเรียนและจากนั้นก็เข้าพบหารือกับผู้ใหญ่บ้าน แกนนำชาวบ้าน และอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะตรงตามความต้องการของชุมชนและจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีเมื่อต้องมาทำกิจกรรมกันจริงๆ




และนี่คือส่วนหนึ่งจากคำพูดของผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโพนงาม (อาจารย์สมชัย บุญลอด) ที่บอกกับเราในวันที่ไปสำรวจพื้นที่ว่า

‘... โรงเรียนบ้านโพนงามเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีบุคลากร 3 คน นักเรียนก็อยู่ในภาวะที่ยากจน วันนี้ก็รู้สึกยินดีและดีใจมากที่ทางนิสิตจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ลงมาสำรวจความต้องการของโรงเรียนว่าอยากทำอะไร ขาดเหลืออะไร และจะได้พัฒนาร่วมกัน เพราะโรงเรียนขนาดเล็กก็ไม่มีงบประมาณในการบริหารจัดการมากพอ ...’



อาจารย์สมชัย บุญลอด : ผู้อำนวยการ


เดิมตอนที่เรามาดูพื้นที่ ผมและเพื่อนคิดว่าจะทำการทาสีอาคารอเนกประสงค์และจัดมุมอ่านหนังสือให้ดูดีขึ้น แต่พอหารือกับทางโรงเรียนและชุมชน กลับกลายเป็นว่าโจทย์ที่ชุมชนต้องการคือการ ‘ตีเส้นสนามตะกร้อ’ และ ‘ลาน BBL’ เมื่อกลับมาวิเคราะห์ดูทั้งในเรื่องงบประมาณและเวลา ผมและเพื่อนๆ จึงตัดกิจกรรมเกี่ยวกับห้องสมุดและการอ่านออกไป โดยตั้งชื่อโครงการว่า ‘พัฒนาอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมโรงเรียนบ้านโพนงาม’






จริงๆ แล้วโจทย์ของชุมชนไม่ได้สอดคล้องกับความรู้และทักษะที่พวกผมมีเลย ในกลุ่มไม่มีใครเรียน ‘วิทย์กีฬา’ พอที่จะรู้ว่าสนามกว้างยาวเท่าไหร่ สีของเส้นสนามต้องเป็นสีอะไร และไม่มีใครเรียนมาในสายศึกษาศาสตร์ ไม่มีใครเรียนสายศิลปกรรม ไม่มีสายสถาปัตยกรรมฯ หรือวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนใหญ่มาจากคณะการบัญชีและการจัดการ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง คณะเทคโนโลยี และคณะนิติศาสตร์ แต่ก็ตกลงว่าจะทำตามที่ชุมชนต้องการ

ดังนั้นจึงเริ่มจากการกระจายงานและมอบหมายหน้าที่ให้แต่ละคนได้ทำ โดยเฉพาะการศึกษาค้นคว้าผ่านอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับขนาดของสนามตะกร้อและรูปแบบของ BBL ส่วนผมก็สอบถามพี่ที่รู้จักซึ่งท่านก็รับราชการครูอยู่แล้ว เพื่อให้มีความรู้เพิ่มเติมในการที่จะทำเรื่อง BBL






การทำงานในระยะแรกมีปัญหาเรื่องการนัดประชุมและการสำรวจลงพื้นที่ เพราะเรียนต่างคณะกัน ว่างไม่ค่อยตรงกัน จึงใช้วิธีสร้างกลุ่มใน ‘เฟชบุ๊ค’ ขึ้นมาเพื่อรองรับการติดต่อสื่อสารกันภายในกลุ่ม รวมถึงการหารือในเรื่องงบประมาณที่ต้องลงขัน

ส่วนกรณีความร่วมมือของเพื่อนๆ นั้นเกือบทั้งหมดสามัคคีกันดีมาก มีเพียงคนถึงสองคนเท่านั้นที่มาบ้างไม่มาบ้าง มาๆ หายๆ ติดต่อได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เป็นเรื่องจิตสำนึกของเขาเอง เรียนภาวะผู้นำเขาก็คงต้องพิจารณาตัวเอง ซึ่งในวิชานี้ให้สิทธิ์แต่ละกลุ่มประเมินกันเองด้วย เรื่องนี้ก็จะได้พูดคุยร่วมกันอีกที






ตอนที่เราลงชุมชนเพื่อเก็บข้อมูลและหารือเรื่องรูปแบบกิจกรรมร่วมกับชุมชน เราก็พอรู้อยู่บ้างว่าชุมชนอยู่ในช่วงการเกี่ยวข้าวและชาวบ้านจะต้องจัดบุญกฐิน (วันที่ 5 พฤศจิกายน 2559) จึงอาจจะไม่สะดวกที่จะเข้ามาช่วยกิจกรรมของนิสิตมากเท่าใดนัก จึงได้หารือร่วมกันอีกรอบ โดยชุมชนอยากให้เลื่อนไปอีกสักช่วงหนึ่ง แต่เราก็เลื่อนไม่ได้ เพราะมีเวลาเหลือประมาณ 2-3 สัปดาห์เท่านั้น เพราะต้องเผื่อเวลาไว้ประเมินผลโครงการ นำเสนอผลการดำเนินงานและสอบปลายภาค

จนในที่สุดก็สรุปร่วมกันทั้งนิสิตและชุมชนว่าจะทำวันนี้ (วันที่ 6 พฤศจิกายน 2559) แต่พอทำกันจริงๆ ชาวบ้านก็ไม่ได้ออกมาช่วยมาก เพราะอยู่ระหว่างการเคลียร์สถานที่และพักฟื้นจากบุญกฐิน ส่วนหนึ่งก็ลงทุ่งเร่งเกี่ยวข้าว เด็กนักเรียนก็ติดตามพ่อแม่ไปทุ่งนาและส่วนหนึ่งเดินทางไปทอดกฐินที่บ้านไก่นา ตำบลเสือโก้ก อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม เพราะมีคนที่ไปหมู่บ้านบวชและตั้งวัดใหม่ที่นั่น หลักๆ แล้วผมและเพื่อนๆ จึงทำกิจกรรมกับคุณครูและทีม ‘แม่บ้าน’





สรุปแล้วชุมชนก็มาช่วยเหมือนกัน แต่ไม่เยอะเหมือนที่ตั้งเป้าไว้ มาช่วยทำอาหารและนึ่งข้าวเหนียวมาสมทบ ทางโรงเรียนก็จัดเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้และจัดหาสีมาสมทบประมาณ 4,000 บาท รวมถึงให้คำแนะนำด้านการทำงาน เช่น การลงสีทางสี การให้ความรู้เรื่องความหมายของสี รูปแบบของลาน BBL ซึ่งเป็นการแนะนำและทำงานแบบมีส่วนร่วม แต่ไม่ได้ทำให้เราอึดอัดและทำงานหนักจนเกินไป โดยเฉพาะผู้อำนวยการกับพ่อนักการภารโรงจะอยู่ดูแลเราอย่างใกล้ชิด ส่วนครูท่านอื่นก็ติดเป็นเจ้าภาพกฐินและช่วยงานกฐินที่บ้านเกิดของตนเอง จึงไม่สะดวกที่จะเดินทางมาร่วมในวันนี้





สำหรับการแบ่งฝ่ายการทำงานนั้น กลุ่มพวกเราแบ่งสายงานตามกิจกรรมหลัก คือฝ่ายสนามกีฬาตะกร้อ เน้นตีเส้นสนามกีฬา ฝ่ายลาน BBL เน้นการวาดภาพระบายสี ฝ่ายอาคารอเนกประสงค์ เน้นการทาสีตัวอาคาร ฝ่ายสวัสดิการ เน้นการจัดซื้อสี เตรียมอุปกรณ์และจัดทำอาหารร่วมกับชุมชน ซึ่งฝ่ายหลังนี้เรามอบหมายไปทำงานร่วมกับชุมชนจำนวนแค่ 3 คน ที่เหลือร่วมๆ 17-18 คนจะทำงานในแต่ละฝ่ายที่ตนเองสังกัด




นอกจากกิจกรรมหลักๆ ที่จัดขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2559 พอถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 ผมและเพื่อนในกลุ่มก็เดินทางไปโรงเรียนอีกรอบ ส่วนหนึ่งคือไปจัดกิจกรรมโดยพาน้องนักเรียนได้ลองทดสอบ ‘เรียนและเล่น’ ลาน ฺฺBBL และสนามกีฬาที่จัดทำขึ้น ส่วนหนึ่งก็สอบถามถึงความพึงพอใจจากครูจากนักเรียน นอกจากนั้นก็ออกไปยังหมู่บ้านและวัดโพนพิพัฒน์เพื่อเรียนรู้สภาพทั่วไปของชุมชนเพิ่มเติม โดยการสอบถามก็ไม่ได้ใช้แบบฟอร์มอะไรมาก เป็นการพบปะพูดคุยแบบไม่เป็นทางการและบันทึกเทปเป็นวีดีโอเอามาถอดเทปและทำสื่อเพื่อประกอบการประเมินผลและนำเสนอหน้าชั้นเรียนอีกรอบ




การเรียนรู้สภาพทั่วไปของชุมชนทำให้เห็นเรื่องราวต่างๆ ชัดขึ้น เช่น บ้านโพนงามเป็นหมู่บ้านขนาด 115 ครัวเรือน อาชีพหลักคือการทำนา ในอดีตเมื่อว่างเว้นจากการทำนาทำไร่ก็ออกไปรับจ้างนอกหมู่บ้าน แต่ระยะหลังได้มีการรวมกลุ่มทางอาชีพขึ้นมา เช่น รวมกลุ่มทำขนมพื้นบ้านเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้พิเศษให้กับสมาชิก

แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ปัญหาปากท้องที่เพิ่มขึ้น ทำให้ชาวบ้านวัยทำงานต้องออกไปหางานทำที่กรุงเทพฯ ในตัวเมือง และงานก่อสร้างในมหาวิทยาลัย ทำให้ต้องนำลูกหลานติดตามเข้าไปเรียนในเมืองหรือโรงเรียนที่ใกล้กับที่ที่ตนทำงาน จึงมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ฝากลูกของตนไว้ให้กับปู่ ย่า ตา ยายเป็นคนดูแล ส่งผลให้ภาคเรียนที่ 2/2559 โรงเรียนบ้านโพนงามมีนักเรียนเพียง 21 คน และมีบุคลากรจำนวน 4 ท่าน อีกทั้งบุคลากรทั้ง 4 ท่านเป็นคนต่างชุมชนและมีจำนวนน้อย จึงไม่สามารถดูแลและพัฒนาอาคารสถานที่สิ่งแวดล้อมของโรงเรียนได้อย่างเต็มที่






นอกจากการได้เรียนรู้ข้อมูลชุมชนเพิ่มเติม ยังได้ประเมินความพึงพอใจของครูเพิ่มเติม ดังว่า

“... รู้สึกดีใจที่ลูกๆ ได้ออกมาดูแลน้อง เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่มันเป็นจุดที่สำคัญ ทำให้น้องๆ ได้ฝึกสมาธิในการเล่น ปกติน้องจะเครียดกับการเรียนในห้องให้ได้ตามตัวชี้วัด ตามวัตถุประสงค์ แต่ลูกๆ ได้ออกมาทำในส่วนที่ให้น้องๆ ได้ผ่อนคลาย เสริมสร้างสมาธิให้กับน้องๆ เพราะBBL เป็นตัวที่กระตุ้นสมองให้พัฒนาแบบมหัศจรรย์...” (คุณครูวิไลวรรณ ภารชมภู : ครูชำนาญการพิเศษ)





สรุปแล้วกิจกรรมครั้งนี้เป็นงานใหม่สำหรับผมและเพื่อนๆ อย่างมาก เป็นงานใหม่ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ได้เรียนรู้ด้วยการลงมือทำกันจริงๆ รวมถึงการได้เรียนรู้เรื่องการทำงานกับชุมชน โดยเฉพาะเรื่องวันเวลาที่เหมาะสม และถึงแม้กิจกรรมจะยุติลงแล้ว แต่ผมและเพื่อนๆ ก็ยังจะลงพื้นที่ประเมินผลการใช้ประโยชน์ หรือประเมินผลว่าสิ่งที่ทำไปนั้นทนทานใช้งานได้นานหรือไม่ รวมถึงการจะสื่อสารให้นิสิตคนอื่นได้รับรู้เผื่อสนใจที่จะเข้าไปทำกิจกรรมต่อยอดเหมือนที่กลุ่มของพวกเราได้ทำในครั้งนี้





ภัทรเวท บัวระบัด : ประธานกลุ่ม



หมายเหตุ

เรื่อง : ภัทรเวท บัวระบัด ชั้นปีที่ 2 สาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์
ภาพ : เยาวภา ปรีวาสนา / นิสิตวิชาการพัฒฯานิสิต

หมายเลขบันทึก: 618465เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2016 00:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2016 13:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็นนิสิตทำกิจกรรมให้นักเรียนแล้วชื่นชม

ชอบนิสิตได้ประสบการณ์นักเรียนได้เรียนรู้

อยากเห็นกิจกรรมแบบนี้มากๆเลยครับ

ขอบคุณมากๆครับ

สวัสดีครับ

ดร.ขจิต ฝอยทอง

กิจกรรมโครงการนี้ ผมลงพื้นที่สังเกตการณืและประเมินผลเองสองรอบ ที่ผมชื่นชอบมากก็คือทำแล้วหนุนเสริมการเรียนรู้ของนักเรียได้จริง และชุมชน/โรงเรียนก็มีส่วนร่วมในการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณและกำลังคนในบางส่วน

หลายๆ โครงการประสบปัญหาในทำนองเดียวกัน คือตรงกับฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลลิตในท้องทุ่ง นี่อาจจะเป็นโจทย์หนึ่งที่สะท้อนถึงผลกระทบของการเปิด-ปิดเรียนในระบบประชาคมอาเซียนได้เป็นอย่างดียิ่งครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท