Workshop การเรียนรู้สู่ KM&R2R เครือข่ายยโสธร (1/2560)


Workshop การเรียนรู้สู่ KM&R2R เครือข่ายยโสธร (1/2560)

การจัดการเรียนรู้อย่างเป็นทางการรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 4 โดยกระบวนการเรียนรู้นำเทคนิคและทักษะทางการจัดการความรู้หรือ KM เข้ามาเป็นเครื่องมือ รุ่นนี้มีน้องใหม่เกือบทั้งหมด และแต่ละคนที่เข้ามาร่วมต่างมีความกระตือรือร้น active กันมากพอสมควร

ตั้งข้อสังเกตกับตนเองว่า ... สิ่งดีดีที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากสายธารของผู้นำและหัวหน้าตึกต่างๆ ที่สนับสนุนและผลักดันการนำ R2R มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนางาน และเรื่องของ R2R นี้เป็นสิ่งที่คุ้นเคยและเนียนเข้าไปในวิถีของคนทำงานพอสมควร หกปีแรกของการใช้เทคนิคของความไม่เป็นทางการ (Informal) และเมื่อทุกอย่างถึงพร้อมในสี่ปีหลังเป็นต้นมาก็ขยับขึ้นมาทำเป็นทางการ (Formal) เป็นรูปร่างอย่างชัดเจน ...

แม้ว่าการทำเช่นนี้อาจจะใช้เวลานาน แต่การขับเคลื่อนที่ต่อเนื่องมั่นคงก็สะท้อนให้เห็นอณูของการเติบโตอย่างงดงามทางปัญญาของชาวยโสธร...มีเมล็ดพันธุ์ที่งดงามเกิดขึ้นส่งผ่านกันอยู่ตลอดเวลา

"เดินเข้ามาโรงพยาบาลยโสธร มีความรู้สึกไม่เหมือนไปที่โรงพยาบาลอื่น มีความรู้สึกอบอุ่นบอกไม่ถูก" เป็นคำบอกเล่าที่สะท้อนออกมาจากคุณพ่อท่านหนึ่งที่ลูกสาวเป็นนักวิจัยอาวุโสทำงานในสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน และคุณพ่อมีโอกาสได้มาใช้บริการที่โรงพยาบาลเราและมาต่อเนื่องตามนัดทุกครั้ง

"พี่เดินไปที่แผนกผู้ป่วยนอกจะไปยืนรออาจารย์ พี่ว่าบรรยากาศโรงพยาบาลเย็นๆ และอบอุ่น" ...เป็นคำพูดของพี่พยาบาลหลายท่านจากจังหวัดสุรินทร์ที่เดินทางมารับเพื่อไปเป็นวิทยากร

เพียงประโยคเล็กน้อยสั้นๆ แต่ถือเป็นกำลังใจอย่างมาก...

คำชื่นชมบอกเล่านับตั้งแต่ศูนย์เปลไปจนถึงแผนกต่างๆ สะท้อนถึงใจคนทำงาน แม้ว่าอาจจะไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซนต์ แต่เสียงสะท้อนที่แว่วมาทางด้านดีงามก็ทำให้รู้สึกมีกำลังใจ

กระบวนการเรียนรู้ R2R ในสองวันคือ 25-26 ตุลาคม ที่ผ่านมาจึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่เราต่างทำร่วมกันเพื่อค้นหามิติของปัญหาหรือช่องว่างจากการทำงานที่สามารถนำมาแก้ไขด้วยกระบวนการวิจัย

เป้าหมายของการเรียนรู้ในสองวันนี้คือ ...

วันแรก ...เน้นในเรื่อง "คุณค่าและความหมายของการทำ R2R" ในทัศนะส่วนตัวมีความคิดความเชื่อในเรื่องการสร้างสัมมาทิฐิหรือความคิดเห็นที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในใจผู้คน เพราะเมื่อในใจเกิดความคิดที่ถูกต้องความมั่นคงและยั่งยืนในการทำสิ่งนั้นๆ ก็จะตามมา

วันที่สอง...เน้นในการค้นหาปัญหาหรือประเด็นที่ยังสามารถพัฒนาต่อไปได้อีก และสามารถนำไปสู่การตั้งคำถามการวิจัย (GAP--> Research Question)

ในสองวันนี้ไม่มีการบรรยาย แต่ใช้รูปแบบของการตั้งคำถามหรือประเด็นที่นำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Share&Learning) แบบใช้สุนทรียสนทนา (Dialogue) มาเป็นเครื่องมือและมีการสะท้อนคิดเป็นระยะ(Reflection) และสรุปพร้อมถอดบทเรียน (AAR = After Action Review)

ผู้ที่เข้าร่วมเรียนรู้ ...มีพยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ ผู้ช่วยเหลือคนไข้ และน้องๆ จากหน่วยจ่ายกลาง บรรยากาศของการเรียนรู้เต็มไปด้วยความอบอุ่นและคุ้นเคย ไม่ส่งความรู้สึกของความแปลกแยก ผลลัพธ์ที่ได้จากการเรียนรู้สองวันนี้เกินความคาดหมาย ไม่ได้ใช้พลังกระตุ้นเยอะดำเนินไปอย่างสบายๆ ไม่เครียด พี่พยาบาลท่านหนึ่งลุกขึ้น AAR ให้ฟังว่า "แรกๆ กังวล แต่เมื่อมาเรียนแล้วมีความสุข ไม่ยากอย่างที่คิด" เพียงเท่านี้ก็รู้สึกเป็นกำลังใจแล้วสำหรับคนทำกระบวนการ

สิ่งที่แตกต่างเพิ่มขึ้นจากการทำกระบวนการครั้งก่อนๆ คือ... การเชิญชวนพี่ผู้ช่วยฝ่ายการพยาบาลด้านวิชาการ (พี่นิด-คุณฐิรพร) และพี่หัวหน้าตึกศัลยกรรมหญิง (พี่เต้) มาช่วยในช่วงเกลาคำถามการวิจัยให้ชัด และก็เช่นเคย R2R Facilitator หรือคุณอำนวย R2R ที่มีอารมณ์ขันและมองโลกในแง่บวก "น้องโย๋-คุณชลภัสสร" ...ก็ยังคงช่วยทดแรงและร่วมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี

...

25-26 ตุลาคม พ.ศ.2559





คำสำคัญ (Tags): #km#r2r#KM&R2Rยโสธร
หมายเลขบันทึก: 617584เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2016 07:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2016 07:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท