ปลูกต้นไม้ตามรอยพ่อ วิถีเกษตรพอเพียงของชาวบ้านหินกอง อำนาจเจริญ


ปลูกต้นไม้ตามรอยพ่อ

วิถีเกษตรพอเพียงของชาวบ้านหินกอง อำนาจเจริญ


บ้านหินกอง ตำบลนาหว้า อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากร 1,281 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนา ไร่มันสำปะหลัง ยางพารา รวมถึงพืชระยะสั้นอย่างแคนตาลูปและแตงโม ซึ่งเป็นสินค้าที่สร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้าน ที่ทำให้ชาวบ้านมีเงินหมุนเวียนต่อปีเฉลี่ยมากกว่า 10 ล้านบาท

ความโชคดีของชาวบ้านหินกองคือการมีแหล่งน้ำต้นทุน ทั้งอ่างเก็บน้ำห้วยหินลับและอ่างเก็บน้ำห้วยหินกอง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยหินกองที่มีชลประทานระบบท่อซึ่งชาวบ้านสามารถปล่อยน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำแบบไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ ทำให้ไม่มีต้นทุนการผลิตจากค่าไฟฟ้า อย่างไรก็ตามด้วยการทำเกษตรเชิงเดี่ยวและเน้นผลผลิตจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านประสบปัญหาด้านสารเคมีทางการเกษตร ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งและเสียชีวิตจำนวน 5 ราย และยังพบว่ามีชาวบ้านหลายรายป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ จนทำให้ชุมชนต้องร่วมกันวิเคราะห์เพื่อหาทางออก

สมัย ชูวงศ์กำนันตำบลนาหว้ากล่าวว่า “ถึงแม้ชาวบ้านจะมีรายต่อปีจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการลงทุนสูงเช่นกัน เพราะการทำเกษตรเพื่อเน้นผลผลิตจะต้องใช้สารกระตุ้นตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมสังเกตได้จากจำนวนสัตว์ตามไร่นาทุกวันนี้ไม่ค่อยมี และที่น่ากังวลมากก็คือที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากการใช้สารเคมีเพราะป่วยเป็นโรคมะเร็ง” กำนันตำบลนาหว้ากล่าว

ด้วยสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านหินกองร่วมกันวิเคราะห์เพื่อหาทางออก โดยมีโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ด้วยเกษตรอินทรีย์ บ้านหินกอง ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ถือเป็นโครงการที่เข้ามาช่วยกระตุ้นให้ชาวบ้านมาร่วมกันทำกิจกรรมและค้นหารูปแบบในการเผชิญปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการจัดตั้งสภาผู้นำชุมชนซึ่งเป็นสภาชาวบ้านที่รวมเอากลุ่มจิตอาสาในชุมชนมาร่วมทำงาน ในที่สุดก็เกิดรูปแบบการทำเกษตรที่หลากหลายที่ชาวบ้านคิดว่าเป็นแนวทางให้ชุมชนปฏิบัติร่วมกัน

พชรพล สุกรี หนึ่งในแกนนำที่ร่วมทำโครงการกล่าวว่า “เรามีกติกาที่สภาผู้นำชุมชนร่วมกันคิดอย่างเช่น ในกติกาข้อหนึ่งที่เขียนไว้ว่าครัวเรือนต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการจะต้องปลูกพืชปลอดสารพิษในบริเวณบ้านหรือตามไร่นาอย่างน้อย 9 ชนิด อย่างน้อยชนิดละ 9 ต้น ซึ่งตอนนี้มีชาวบ้านที่เข้าร่วมเป็นครัวเรือนต้นแบบกว่า 100 หลังคา และอนาคตเรากำลังผลักดันให้เกิดตลาดอินทรีย์ในชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านมีที่ขาย นับเป็นการสร้างกระแสทำให้ชาวบ้านลดการใช้สารเคมีและปลูกพืชกินเอง รวมถึงเป็นการสร้างรายได้จากการขายพืชเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ดีแทนที่จะรอเงินจากการขายพืชเชิงเดี่ยวอย่างเดี่ยว”

และสิ่งที่ถือเป็นความสำเร็จในโครงการที่ทำให้ชาวบ้านมีความภูมิใจร่วมกันคือ การร่วมกันปลูกป่าชุมชน รวมถึงการทำเกษตรพอเพียงที่ถือเป็นแนวพระราชดำริที่องค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงวางแนวทางเอาไว้ สมพร ป้อมหิน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหินกองและเป็นหนึ่งในแกนนำที่ร่วมทำโครงการกล่าวว่า “จากการปรึกษาหารือทำให้ชาวบ้านตกลงกันว่าจะปลูกป่าชุมชน เพราะในบริเวณหมู่บ้านมีที่ดินของแขวงทางหลวง ซึ่งเป็นที่ว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ดังนั้นพวกเราจึงคิดกันว่าน่าจะใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์โดยการปลูกป่า แต่ความพิเศษของป่าที่นี่คือการปลูกพืชแซมระหว่างรอต้นไม้โต ซึ่งพืชที่ปลูกก็เป็นพืชที่กินและขายได้ ถือเป็นการดึงชาวบ้านเข้ามาร่วมสร้างป่าและให้ทุกคนมีรายได้ไปในตัว โดยจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านที่อยากปลูกและเน้นผู้ที่ไม่มีที่ทำกินเป็นหลัก ปัจจุบันมีสมาชิกที่ปลูกป่าจำนวน 52 ราย”

การร่วมกันปลูกป่าและทำเกษตรพอเพียงของชาวบ้านหินกอง นับเป็นกิจกรรมตามแนวพระราชดำริที่องค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงวางแนวทางเอาไว้ นับเป็นความภูมิใจร่วมกันของชาวบ้านที่นี่ ที่สำคัญสิ่งที่ชาวบ้านร่วมกันทำคือแนวทางสำคัญ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชุมชนจากการทำพืชเชิงเดี่ยวที่มาพร้อมสารเคมีสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้หันมาทำพืชอินทรีย์มากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 617514เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2016 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2016 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

-สวัสดีครับ

-ตามมาชื่นชมกิจกรรมดี ๆ ของชาวบ้านหินกองครับ

-ขอตามรอยพ่อครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท