ผ้าขาวเปื้อนหมึก
กานนา สงกรานต์ กานต์ วิสุทธสีลเมธี

ประวัติการศึกษาไทย


ความหมายของการศึกษาการศึกษา (Education) หมายถึง กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อมสังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

ความสำคัญของการศึกษา

กระแสโลกาภิวัตน์(Globalization)

การแข่งขันกับนานาประเทศ

การพัฒนาคนและคุณภาพของคนเป็นทั้งเหตุปัจจัยและ ผลลัพธ์สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ

การศึกษา จึงเป็นรากฐานที่มีความสำคัญที่สุดประการหนึ่งในการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสังคมได้ เนื่องจากการศึกษาเป็นกระบวนการที่ช่วยให้คนได้พัฒนาตนเองด้านต่างๆ ตลอดช่วงชีวิตตั้งแต่แรกเกิด มีการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถด้านต่างๆ ที่จะดำรงชีพและประกอบอาชีพได้อย่างมีความสุขรู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง อันเป็นพลังสร้างสรรค์การพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน

วิวัฒนาการของการศึกษาไทย

1. การศึกษาของไทยสมัยโบราณ (พ.ศ. 1780 - พ.ศ. 2411)

2. การศึกษาของไทยสมัยปฏิรูปการศึกษา (พ.ศ. 2412 - พ.ศ. 2474)

3. การศึกษาของไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2475 - ปัจจุบัน)

การศึกษาของไทยสมัยโบราณ ( พ.ศ. 1781 - พ.ศ. 2411) การศึกษาสมัยนี้เป็นการศึกษาแบบสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีที่มีมากแต่เดิม จำเป็นที่คนไทยในสมัยนั้นต้องขวนขวายหาความรู้จากผู้รู้ในชุมชนต่างๆ

บ้าน - พ่อและแม่

วัง – นักปราชญ์ (ขุนนาง)

วัด - พระ

การศึกษาของไทยสมัยโบราณ ( พ.ศ. 1781 - พ.ศ. 2411)แบ่งออกเป็น

การศึกษาสมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ. 1781 - พ.ศ. 1921)

การศึกษาสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893 - พ.ศ. 2310)

การศึกษาสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2311 –พ.ศ. 2411)

การศึกษาในสมัยสุโขทัย(พ.ศ. 1781 – พ.ศ. 1921)

รูปแบบการจัดการศึกษาในสมัยสุโขทัย แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายอาณาจักร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนทหาร และ ส่วนพลเรือน

ฝ่ายศาสนาจักร เป็นการศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เน้นพระพุทธศาสนาและศิลปศาสตร์

สถานศึกษาในสมัยสุโขทัย

(1) บ้าน

(2) สำนักสงฆ์

(3) สำนักราชบัณฑิต

(4) พระราชสำนัก

วิชาที่สอนในสมัยสุโขทัย

วิชาที่สอน ไม่ได้กำหนดตายตัว พอแบ่งออกได้ดังนี้

  • วิชาความรู้สามัญ สันนิษฐานว่าในช่วงต้นสุโขทัยใช้ภาษาบาลีและสันสกฤตในการศึกษา ต่อมาในสมัยหลังจากที่พ่อขุนรามคำแหงได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เมื่อ พ.ศ. 1826 จึงมีการเรียนภาษาไทยกัน
  • วิชาชีพ เรียนกันตามแบบอย่างบรรพบุรุษ
  • วิชาจริยศึกษา สอนให้เคารพนับถือบรรพบุรุษ การรู้จักกตัญญูรู้คุณการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม และการรู้จักทำบุญให้ทาน ถือศีลในระหว่างเข้าพรรษา
  • วิชาศิลปะป้องกันตัว เป็นการสอนให้รู้จักการใช้อาวุธ การบังคับสัตว์ที่ใช้เป็นพาหนะในการออกศึกและตำราพิชัยยุทธ

การศึกษาในสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893 - พ.ศ. 2310) กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นราชธานีอันยาวนาน 417 ปี

มีความเจริญทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

มีชนชาติต่าง ๆ ในเอเชียเข้ามาติดต่อค้าขายและเข้ามาเพื่อตั้งหลักแหล่งหากิน

ชาติตะวันตกได้เริ่มเข้ามาติดต่อค้าขาย

  • รูปแบบการจัดการศึกษาสมัยกรุงศรีอยุธยาการศึกษาวิชาสามัญ เน้นการอ่าน เขียน เรียนเลข พระโหราธิบดีได้แต่งแบบเรียนภาษาไทย ชื่อ จินดามณี ถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
  • การศึกษาทางด้านศาสนา ชายไทยต้องบวชเรียนเขียนอ่านมาก่อน จึงมีโอกาสได้เป็นข้าราชการ มีนักสอนศาสนาหรือมิชชันนารีได้จัดตั้งโรงเรียนมิชชันนารี เพื่อชักจูงให้ชาวไทยหันไปนับถือศาสนาคริสต์
  • การศึกษาทางด้านภาษาศาสตร์และวรรณคดี
  • การศึกษาของผู้หญิง มีการเรียนวิชาชีพ
  • การศึกษาวิชาการด้านทหาร

สถานศึกษาในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้ยังคงเหมือนกับสมัยสุโขทัยที่ต่างออกไป คือ มีโรงเรียนมิชชันนารี เป็นโรงเรียนที่ชาวตะวันตกได้เข้ามาสร้างเพื่อเผยแพร่ศาสนาและขณะเดียวกันก็สอนวิชาสามัญด้วย

เนื้อหาวิชาที่สอนในสมัยกรุงศรีอยุธยา

  • วิชาสามัญ มีการเรียนวิชาการอ่าน เขียน เลข ใช้แบบเรียนภาษาไทยจินดามณี
  • วิชาชีพ เรียนรู้กันในวงศ์ตระกูล สำหรับเด็กผู้ชายได้เรียนวิชาวาดเขียน แกะสลัก และช่างฝีมือต่าง ๆ ที่พระสงฆ์เป็นผู้สอนให้ ส่วนเด็กผู้หญิงเรียนรู้การบ้านการเรือนจากพ่อแม่สมัยต่อมาหลังชาติตะวันตกเข้ามาแล้วมีการเรียนวิชาชีพชั้นสูงด้วย เช่น ดาราศาสตร์ การทำน้ำประปา การทำปืน การพาณิชย์ แพทยศาสตร์ ตำรายา การก่อสร้าง ตำราอาหาร เป็นต้น
  • ด้านอักษรศาสตร์ มีการศึกษาด้านอักษรศาสตร์ มีวรรณคดีหลายเล่มที่เกิดขึ้น เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ และกำศรวลศรีปราชญ์ เป็นต้น อีกทั้งมีการสอนภาษาไทย บาลี สันสกฤต ฝรั่งเศส เขมร พม่า มอญ และจีน
  • วิชาจริยศึกษา เน้นการศึกษาด้านพระพุทธศาสนามากขึ้น เช่นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงกวดขันในเรื่องการศึกษาหลักธรรมของพระพุทธศาสนามาก มีการกำหนดให้ผู้ชายที่เข้ารับราชการทุกคนจะต้องเคยบวชเรียนมาแล้ว เกิดประเพณีการอุปสมบทเมื่ออายุครบ 20 ปี นอกจากนี้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ทรงให้เสรีภาพไม่กีดกันศาสนา ทรงอุปถัมภ์พวกสอนศาสนา เพราะทรงเห็นว่าศาสนาทุกศาสนาต่างสอนให้คนเป็นคนดี
  • วิชาพลศึกษายังคงเหมือนสมัยสุโขทัย

การศึกษาในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2311 – พ.ศ. 2411)

การจัดการศึกษาในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์

สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นระยะเก็บรวบรวมสรรพตำราจากแหล่งต่าง ๆ ที่รอดพ้นจากการทำลายของพม่า เน้นการทำนุบำรุงตำราทางศาสนา ศิลปะและวรรณคดี

  • สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงฟื้นฟูการศึกษาด้านอักษรศาสตร์ วรรณคดี มีการแต่งรามเกียรติได้เค้าโครงเรื่องมาจากอินเดียเรื่อง รามายณะ ศิลปะ กฎหมาย เช่น กฎหมายตรา3ดวง และหลักธรรมทางศาสนา มีการสังคายนาพระไตรปิฎก
  • สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เริ่มมีชาวยุโรป เช่น ชาติโปรตุเกสเข้ามาติดต่อทางการค้ากับไทยใหม่ หลังจากเลิกราไปเมื่อประมาณปลายสมัยอยุธยา และชาติอื่น ๆ ตามเข้ามาอีกมากมาย เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา เป็นต้น เนื่องจากยุโรปมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เปลี่ยนระบบการผลิตจากการใช้มือมาใช้เครื่องจักร พลังงานจากไอน้ำสามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้นจึงต้องหาแหล่งระบายสินค้า ในสมัยนี้ได้ส่งเสริมการศึกษาทั้งวิชาสามัญ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ จริยศาสตร์ มีการตั้งโรงทานหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ให้การศึกษา
  • สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งเสริมการศึกษาด้านศาสนาเป็นพิเศษ มีการจารึกวิชาความรู้สามัญและวิชาชีพลงในแผ่นศิลาประดับไว้ตามระเบียงวัดพระเชตุพนจนมีผู้กล่าวว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย มีการใช้หนังสือไทยชื่อ ประถม ก กา และประถมมาลา นับเป็นแบบเรียนเล่มที่ 2 และ 3 ต่อจากจินดามณีของพระโหราธิบดี ต่อมานายแพทย์ ดี บี บรัดเลย์ได้นำกิจการแพทย์สมัยใหม่ เช่น การผ่าตัดเข้ามารักษาคนไข้และการตั้งโรงพิมพ์หนังสือไทยเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2379 โดยรับจ้างพิมพ์เอกสารทางราชการเรื่องห้ามสูบฝิ่น จำนวน 9,000 ฉบับ เมื่อปีพ.ศ. 2382
  • สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยนี้ชาวยุโรป และอเมริกันเริ่มเข้ามาติดต่อค้าขายและสอนศาสนา มีการนำวิทยาการสมัยใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้ในเมืองไทยเพิ่มขึ้น และพระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาจึงทรงจ้างนางแอนนา เอช เลียวโนเวนส์ มาสอนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เมื่อ พ.ศ. 2405 จนรอบรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ลักษณะการจัดการศึกษาเป็นแบบเดิมทั้งวัดและบ้าน ในส่วนวิชาชีพและวิชาสามัญ มีอักษรศาสตร์ ธรรมชาติวิทยาหรือวิทยาศาสตร์

สรุป...
การศึกษาของไทยสมัยโบราณ(พ.ศ. 1780 - พ.ศ. 2411 )

ยังเน้นการจัดการศึกษาที่วัดและบ้าน โดยมีหลักสูตรเกี่ยวกับการอ่านและเขียนภาษาไทยทั้งในด้านโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน โหราศาสตร์ และไสยศาสตร์จากอาศัยคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา มาจนกระทั่งในสมัยพระนารายณ์มหาราชเริ่มใช้หนังสือจินดามณีเล่มแรก ต่อมามีประถม ก กา และประถมมาลา ส่วนครูผู้สอนได้แก่ พระภิกษุ นักปราชญ์ราชบัณฑิต พ่อแม่ ช่างวิชาชีพต่างๆ สำหรับการวัดผลไม่มีแบบแผนแต่มักจะเน้นความจำและความสามารถในการประกอบอาชีพจึงจะได้รับการยกย่องและได้รับราชการ

การศึกษาของไทยสมัยปฏิรูปการศึกษา(พ.ศ. 2412 – พ.ศ. 2474)

การศึกษาของไทยสมัยปฏิรูปการศึกษา

มุ่งให้คนเข้ารับราชการและมีความรู้ทัดเทียมฝรั่งแต่ไม่ใช่ฝรั่ง แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้

การศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

การจัดการศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

การศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชดำรัส “ … วิชาหนังสือเป็นวิชาที่น่านับถือและเป็นที่น่าสรรเสริญมาแต่โบราณว่า เป็นวิชาอย่างประเสริฐซึ่งผู้ยิ่งใหญ่นับแต่ พระมหากษัตริย์เป็นต้นมา ตลอดจนราษฎรพลเมืองสมควรและจำเป็นจะต้องรู้เพราะเป็นวิชาที่อาจทำให้การทั้งปวงสำเร็จในทุกสิ่งทุกอย่าง… ”

ปัจจัยที่มีผลในการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้

  • แนวคิดและวิทยาการต่างๆ ของชาติตะวันตก ซึ่งคณะมิชชันมารีได้นำวิทยาการเข้ามาเผยแพร่
  • ภัยจากการคุมคามของประเทศมหาอำนาจ
  • ความต้องการบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามารับราชการ
  • โครงสร้างของสังคมไทยได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีการเลิกทาสและมีการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น
  • การที่พระองค์ได้เสด็จต่างประเทศทั้งในเอเชียและยุโรป ทำให้ได้แนวความคิดเพื่อนำมาปฏิรูปการศึกษาและใช้เป็นแนวทางพัฒนาบ้านเมือง

การจัดตั้งสถานศึกษา

ปี พ.ศ. 2414 จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อฝึกคนให้เข้ารับราชการ มีพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ในขณะนั้นเป็นหลวงสารประเสริฐเป็นอาจารย์ใหญ่ โดยมีการสอนหนังสือไทย การคิดเลข และขนบธรรมเนียมราชการ นอกจากมีการจัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับสอนภาษาอังกฤษในพระบรมมหาราชวัง เกิดจากแรงผลักดันทางการเมืองที่ส่งผลให้ไทยต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อจะได้เจรจากับมหาอำนาจตะวันตก และมีการส่งนักเรียนไทยไปศึกษาวิชาครูที่ประเทศอังกฤษ

การจัดตั้งสถานศึกษา

ปี พ.ศ. 2423 จัดตั้งโรงเรียนสุนันทาลัยในพระบรมมหาราชวังเป็นโรงเรียนสตรี

ปี พ.ศ. 2424 ปรับปรุงโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบให้เป็นโรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก ต่อมาได้กลายเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในปี พ.ศ. 2453 และปี พ.ศ. 2459 ได้ตั้งเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปี พ.ศ. 2425 จัดตั้งโรงเรียนแผนที่และในปี พ.ศ.2427 จัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้นตามวัดในกรุงเทพมหานครหลายแห่ง และแห่งแรก คือ โรงเรียนมหรรณพาราม

ปี พ.ศ. 2432 ตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้น เรียกว่า โรงเรียนแพทยากร ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำหน้าโรงพยาบาลศิริราช ใช้เป็นที่สอนวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2435 จัดตั้งโรงเรียนมูลศึกษาขึ้นในวัดทั่วไปทั้งในกรุงเทพมหานครและหัวเมือง โดยประสงค์จะขยายการศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยให้แพร่หลายเป็นแบบแผนยิ่งขึ้น และตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูเป็นแห่งแรกที่ตำบลโรงเลี้ยงเด็ก ต่อมาย้ายไปอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส

ปี พ.ศ. 2437 นักเรียนฝึกหัดครูชุดแรก 3 คนสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรเป็นครูสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

ปี พ.ศ. 2449 ย้ายโรงเรียนฝึกหัดครู ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดเทพศิริทราวาส ไปรวมกับโรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตก (บ้านสมเด็จเจ้าพระยา) ปรับปรุงหลักสูตรให้สูงขึ้นเป็น โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์สอนหลักสูตร 2 ปี รับนักเรียนที่สำเร็จมัธยมศึกษา

ปี พ.ศ. 2456 ตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูหญิงขึ้นเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย

การบริหารการศึกษา

เมื่อจำนวนโรงเรียนเพิ่มมากขึ้นจึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบ การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก เช่น ปี พ.ศ. 2430 ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งกรมศึกษาธิการโดยโอนโรงเรียนที่สังกัดกรมทหารมหาดเล็กมาทั้งหมด ให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเป็นผู้บัญชาการอีกตำแหน่งหนึ่ง ปี พ.ศ. 2432 รวมกรมศึกษาธิการเข้าไปอยู่ในบังคับบัญชาของกรมธรรมการ และ ปีพ.ศ. 2435 ประกาศตั้งกระทรวงธรรมการ มีเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นเสนาบดี มีหน้าที่ในการจัดการศึกษา การพยาบาล พิพิธภัณฑ์และศาสนา

การจัดแบบเรียนหลักสูตรและการสอบไล่

ปี พ.ศ. 2414 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เรียบเรียงแบบเรียนหลวงขึ้น 1 เล่ม ชุดมูลบรรพกิจ เพื่อใช้เป็นบทหลักสูตรวิชาชั้นต้น

ปี พ.ศ. 2427 กำหนดหลักสูตรชั้นประโยคหนึ่ง โดยอนุโลมตามแบบเรียนหลวงหกเล่ม นับเป็นปีแรกที่จัดให้มีการสอบไล่วิชาสามัญ และมีการกำหนดหลักสูตรชั้นประโยคสอง ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เกี่ยวกับวิชาสามัญศึกษา หมายถึง ความรู้ต่าง ๆ ที่ต้องการใช้สำหรับเสมียนในราชการพลเรือนตามกระทรวงต่าง ๆ

ปี พ.ศ. 2431 กรมศึกษาธิการ จัดทำแบบเรียนเร็วใช้แทนแบบเรียนหลวงชุดเดิม ผู้แต่งคือ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) 1 ชุด มี 3 เล่ม

ปี พ.ศ. 2433 ประกาศใช้พระราชบัญญัติวิชา พ.ศ. 2433 มีผลทำให้หลักสูตรภาษาไทยแบ่งออกเป็น 3 ประโยค หลักสูตรภาษาอังกฤษแบ่งออกเป็น 6 ชั้น

ปี พ.ศ. 2434 ได้แก้ไขการสอบไล่จากเดิมปีละครั้งเป็นปีละ 2 ครั้งเพื่อไม่ให้นักเรียนเสียเวลานานเกินไป

การศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษา

(1) พระบรมราชโชบายในการปกครองประเทศ เพื่อให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยการส่งทหารไปร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 นอกจากนี้พระองค์ทรงสร้างความรู้สึกชาตินิยมในหมู่ประชาชนชาวไทยโดยมีสาระสำคัญของอุดมการณ์ชาตินิยม คือ ความรักชาติ ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และความยึดมั่นในพุทธศาสนา

(2) พระองค์ทรงศึกษาวิชาการจากต่างประเทศ และเมื่อเสด็จกลับมาแล้วพระองค์ได้ทรงนำเอาแบบอย่างและวิธีการที่เป็นประโยชน์มาใช้เป็นหลักในการปรับปรุงการศึกษา เช่น ทรงนำเอาวิชาลูกเสือจากประเทศอังกฤษเข้ามาจัดตั้งกองเสือป่า

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษา

(3) ผลอันเนื่องจากการจัดการศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคนส่วนมากที่ได้รับการศึกษา มีความรู้และแนวคิดเกี่ยวกับการปกครองประเทศในระบอบรัฐธรรมนูญในระบบรัฐสภา จึงมีความปรารถนาจะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตย

(4) ปัญหาอันเกิดจากคนล้นงานและคนละทิ้งอาชีพและถิ่นฐานเดิม มุ่งที่จะหันเข้าสู่อาชีพราชการมากเกินไป

วิวัฒนาการในการจัดการศึกษา

ปี พ.ศ. 2453 ประกาศตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเพื่อฝึกคนเข้ารับราชการตามกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ และต่อมาปี พ.ศ. 2459 ได้ประกาศยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนนี้ ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย

ปี พ.ศ. 2454 ตั้งกองลูกเสือหรือเสือป่าขึ้นเป็นครั้งแรกโครงการศึกษาพ.ศ. 2456 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2458 โดยมุ่งให้ประชาชนมีความรู้ทางด้านการทำมาหาเลี้ยงชีพตามอัตภาพของตน พยายามที่จะเปลี่ยนค่านิยมของประชาชนไม่ให้มุ่งที่จะเข้ารับราชการอย่างเดียว

ปี พ.ศ. 2459 จัดตั้งกองลูกเสือหญิงและอนุกาชาดโรงเรียนกุลสตรีวังหลังและได้จัดตั้งกองลูกเสือหญิงขึ้น เรียกว่า เนตรนารี

ปี พ.ศ. 2461 มีการปรับปรุงและขยายฝึกหัดครูขึ้นโดยโอนกลับมาขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเดิมเป็นแผนกหนึ่งของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน

ปี พ.ศ. 2461 ประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ และ

ปี พ.ศ. 2464ปรับปรุงโครงการศึกษาชาติ โดยวางโครงการศึกษาขึ้นใหม่เพื่อส่งเสริมให้ทำมาหาเลี้ยงชีพ นอกเหนือจากทำราชการ

ปี พ.ศ. 2464 ใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาบังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุ 7 ปี บริบูรณ์หรือย่างเข้าปีที่ 8 ให้เรียนอยู่ในโรงเรียนจนถึงอายุ 14 ปีบริบูรณ์หรือย่างเข้าปีที่ 15 โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน และมีการเรียกเก็บเงินศึกษาพลีจากประชาชนคนละ 1- 3 บาทเพื่อนำไปใช้จ่ายในการจัดดำเนินการประถมศึกษา

การจัดการศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษา

(1) ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นภายในประเทศ

(2) ปัญหาสืบเนื่องจากอิทธิพลจักรวรรดินิยมตะวันตก

(3) ปัญหาสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

(4) ปัญหาสืบเนื่องจากการประกาศใช้กฎหมายการศึกษา คือพระราชบัญญัติประถมศึกษา ทำให้การศึกษาแพร่หลายออกไป แต่ขาดความพร้อมทางด้านงบประมาณการศึกษา

วิวัฒนาการการจัดการศึกษา

(1) ปี พ.ศ. 2473 ยกเลิกการเก็บเงินศึกษาพลีคนละ 1 – 3 บาท จากผู้ชายทุกคนที่มีอายุระหว่าง 16 - 60 ปี โดยใช้เงินจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอุดหนุนการศึกษาแทน

(2) ปี พ.ศ. 2474 ปรับปรุงกระทรวงธรรมการเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศ โดยยุบกรมสามัญศึกษาในตอนนั้น กระทรวงธรรมการจึงมีหน่วยงานเพียง 3 หน่วยคือ กองบัญชาการ กองตรวจการศึกษากรุงเทพ ฯ และกองสุขาภิบาลโรงเรียน

(3) ยกเลิกระเบียบว่าด้วยการควบคุมแบบเรียน

การศึกษาสมัยการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2475 –ปัจจุบัน)

ปัจจัยของไทยที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษา

  • นโยบายการจัดการศึกษาของคณะราษฎร์ ดังจะเห็นได้จากคำแถลงนโยบายของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา พ.ศ. 2475 กล่าวไว้ว่า “….การจัดการศึกษาเพื่อจะให้พลเมืองได้มีการศึกษาโดยแพร่หลาย ก็จะต้องอนุโลมตามระเบียบการปกครองที่ให้เข้าลักษณะเกี่ยวกับแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ หลักสูตรของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจะต้องขยายให้สูงขึ้นเท่าเทียมอารยประเทศ ในการนี้จะต้องเทียบหลักสูตรของนานาประเทศ หลักสูตรใดสูงถือตามหลักสูตรนั้น”
  • การเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง

วิวัฒนาการการจัดการศึกษา

(1) มีการประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว โดยจัดตั้งคณะกรรมการการศึกษาและทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ๆ ให้ตั้งสภาการศึกษา พ.ศ. 2475 ประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ ต่อมามีการปรับปรุงการจัดการศึกษาภาคบังคับจาก 6 ปี เหลือ 4 ปี และประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2479

(2) การมอบให้ท้องถิ่นจัดการศึกษา พ.ศ. 2476 และยกฐานะท้องถิ่นขึ้นเป็นเทศบาลตราพระราชบัญญัติเทศบาลขึ้น และเทศบาลได้จัดการศึกษาอย่างแท้จริงใน พ.ศ. 2478

(3) การปรับปรุงหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบในการจัดการศึกษา

หมายเลขบันทึก: 617188เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 20:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท