ประวัติศาสตร์ของคำเสพสังวาส “เยสสส” (ฉบับ 18+)


คำเสพสังวาสแห่งอุษาคเนย์

ก่อนอื่นข้าพเจ้าต้องกล่าวคำขอโทษผู้อ่านทุกท่านว่า มิได้มีเจตนาใดๆ ทั้งสิ้นที่จะเขียนถึงเรื่องบัดสีบัดเถลิง ของธรรมชาติพื้นฐานระหว่าง ผู้บ่าวผู้ชื่นชอบการแบกไถ กับ ผู้สาวผู้เป็นเจ้าของนาผืนกว้างแห่งลุ่มอุษาคเนย์ แม้อารมณ์จะเพรียกหาถึงเพียงใด เพราะข้าพเจ้าพึงเดียงสาพอตัว แม้ว่าสำเร็จการอุดมศึกษาจากสายสำนักเถรวาทที่เคร่งครัดในกฎระเบียบ ว่าเรื่องพรรค์นี้ไม่ควรนำมาเปิดเผยต่อหน้าธารกำนัล เป็นเรื่องที่ควรกระทำและดำเนินท่วงทำนองของคู่รักสองต่อสอง ในสถานที่อันอบอุ่นและรโหฐานเพียงเท่านั้น

เมื่อเขียนถึงคำเสพสังวาสร่วมเมถุน จึงเป็นความยากเย็นอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงการกล่าวอ้างถึงคำไทยสมัยนิยมว่า “เยสสส” หรือคำไทยสมัยเก่ากว่าว่า “เย็ด” เพราะแม้แต่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็เคยอธิบายอย่างตรงไปตรงมาไว้ในเรื่อง “หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว เอาผัวเอาเมียแบบบ้านๆ” ซึ่งบรรยาย ณ ห้องเจ้าพระยา 2 โรงแรมริเวอร์ไรน์เพลส เซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2556 และถูกรวบรวมเรียบเรียงโดยสำนักข่าวประชาไท คัดมาในส่วนที่เกี่ยวข้องว่า

“ส่วนคำที่หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์หรือคำว่า “เย็ด” ก็เพี้ยนมาจากคำว่า “เฮ็ด” ซึ่งมีความหมายว่า “ทำ” การเย็ดกัน จึงเปรียบเสมือนกิจกรรมหนึ่งของคนโบราณ และที่สำคัญคือ ในวัฒนธรรมดังกล่าว หญิงเป็นฝ่ายเลือกผู้ชายอีกด้วย เหตุที่ไทยมีวัฒนธรรมที่ผู้หญิงต้องเข้ามาอยู่บ้านผู้ชายเพราะเรารับวัฒนธรรมมาจากจีน พรหมจรรย์ (virginity) ไม่มีความสำคัญในสังคมโบราณ แต่เริ่มมีความสำคัญเมื่อรับวัฒนธรรมพราหมณ์ ฮินดูเข้ามา เช่นในประกอบอาหารเพื่อพิธีกรรมทางศาสนา ต้องให้ผู้หญิงพรหมจรรย์เป็นคนทำเท่านั้น วัฒนธรรมเช่นนี้ทำให้ผู้หญิงที่เสียพรหมจรรย์แล้วจึงถูกมองเป็น “ผู้หญิงชั่ว” ”

ข้าพเจ้าได้พยายามสืบค้นที่มาเบื้องหลังของคำนี้ จากคำออสโตรนีเซียนสายอินโดนีเซียและคำไท-ไตดังนี้

ในภาษาของชาวอินโดนีเซียมีคำและความหมายออกอย่างตรงตัวในคำว่า “ayut อ่านว่า อายุต” แปลว่าการร่วมรัก ร่วมเพศ หรือภาษาชาวบ้านว่าเอากัน ซึ่งเข้าใจว่าเป็นคำเก่าพื้นถิ่น เพราะปรากฏคำและความหมายสืบต่อใกล้เคียงอีกหลากหลายคำ โดยอ้างจากพจนานุกรมภาษาอินโดนีเซีย Kamus Besar Bahasa Indonesia 2012 เช่นคำว่า

“buyut อ่านว่า บุยุต” แปลว่าแม่ที่สืบเชื้อมาจากรุ่นยาย หรือเหลนที่สืบเชื้อลงไปจากชั้นหลาน ถ้าเติมคำต่อท้ายเป็น “buyutan อ่านว่า บุยุตัน” แปลว่ามักชอบคิดฟุ้งซ่านเพราะว่าเป็นคนแก่เฒ่า หรือถ้าเติมหน้าต่อหลังเป็น “bebuyutan อ่านว่า เบอบุยุตัน” จะแปลว่าการสืบต่อสายพันธุ์ลงไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน หรือแปลว่าเนิ่นนานเต็มที

“buyut” ยังหมายถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือสถานที่เคารพบูชากราบไหว้ก็ได้

“denyut อ่านว่า เดินยุต” แปลว่าการเคลื่อนตัวขึ้นและลงอย่างเป็นจังหวะ

“gayut อ่านว่า กายุต” แปลว่าการแขวนและแกว่งตัวไปมา

“geduyut อ่านว่า เกอดุยุต” แปลว่ายืดหยุ่น หรือถุงใส่ของห้อยๆ

“gelayut อ่านว่า เกอลายุต” แปลว่าการแกว่งตัวไปมา และการห้อยแขวนโตงเตง

“hanyut อ่านว่า ฮันยุต” แปลว่าถูกพัดพาไปไกล หมดไป เคลื่อนไป

“kenyut อ่านว่า เกินยุต” แปลว่าการดูดหรือดวดให้ของเหลวไหลเป็นสายออกมา

“layut อ่านว่า ลายุต” แปลแบบเดียวกับ “geduyut” อย่างหนึ่ง และแปลว่าการเชื่อมสายร้อยเรียงในอีกอย่าง

“lenyut อ่านว่า เลินยุต” แปลว่าการนั่งฝันล่องลอย

“luyut อ่านว่า ลุยุต” แปลเหมือน “geduyut”

“nyunyut อ่านว่า ญุนยุต” แปลว่าดึงยืดให้ยาวๆ การดูดเป็นสาย หรือการเคลื่อนขึ้นลงเป็นจังหวะก็ได้

“nyut อ่านว่า ญุต” แปลเหมือน “denyut”

“renyut อ่านว่า เรินยุต” แปลเหมือน “denyut”

“runyut อ่านว่า รุนยุต” แปลว่ายับย่น หรือเหี่ยวแห้ง เป็นต้น

แล้วยังมีคำเพื่อนพ้องในอีกคำว่า “lanjut อ่านว่า ลัน(จ)ยุต” ซึ่งแปลว่าแก่เฒ่า ความยืดยาว สูงล้ำ ยาวนาน และทนทานไม่หมดสิ้น

จะสังเกตได้ว่าคำทั้งหลายที่ยกขึ้นมาข้างบนนี้ต่างมีความหมายนามธรรมร่วมกันว่า “บางสิ่งสืบสายต่อกันเป็นทอดๆ จากแก่ไปอ่อน ยืดยาวออกไปไม่หมดง่าย มีความยืดหยุ่นหดตัวและขยายตัวได้ มีการแกว่งตัวโตงเตงไปมาเมื่อถูกแขวนลอย มีการชักขึ้นลง หรืออีกนัยยะว่า ชักเข้าชักออกอย่างเป็นจังหวะ”

เป็นกลุ่มภาษา “–yut” ที่มีรูปคำและความหมายสอดคล้องกลมกลืนเป็นอย่างดีกับคำและความหมายว่า “เยสสส” ของพวกไทย ซึ่งเป็นคำแสดงอาการหรือปฏิกิริยาโต้ตอบกันระหว่างเครื่องเพศผู้กับเครื่องเพศเมียอย่างชัดเจน ในลักษณะชักเข้าและชักออกอย่างเป็นจังหวะ เป็นท่วงท่าท่วงทำนองที่สอดรับขับขานกันไปมาจนกว่าจะถึงฝั่งฝันทั้งสองฝ่ายในตอนท้ายสุด

เมื่ออ้างอิงคำสืบค้นในภาษาไท-ไตที่จัดทำไว้โดย พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ในปี 2552 ไม่พบการกล่าวถึงคำเสพสังวาสของพวกไท-ไตโดยตรงแต่อย่างใด แต่ถึงอย่างนั้นก็พบคำคลับคล้ายเป็นอย่างมากกับความหมายในชั้นนามธรรมของภาษา “–yut” เขียนในภาษาอังกฤษว่า “stretch out” (เหยียด) และ “stretch” (ยืด) ดังนี้

Stretch outStretch

พวก Siamese เรียก “jiətDL1”“jɯ:tDL2

พวก Bao Yen เรียก “jetDS1”“jɯ:tDL2 –i”

พวก Cao Bang เรียก “jiətDL2”“ɲutDL2

พวก Lungchow เรียก “ji:tDL1

พวก Shangsi เรียก “jitDL1

และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ได้ว่า “*ʔjiətD”“*ɲɯ:tD

ถึงตอนนี้ข้าพเจ้าจึงค่อนข้างมั่นใจว่าคำของพวกไท-ไตว่า “เหยียด” และ “ยืด” มีความเป็นมาร่วมเหล่ากอกับคำ “–yut” ของพวกออสโตรนีเซียนผ่านอินโดนีเซีย ในความหมายว่าบางสิ่งยืดยาวออกไป

นอกจากนั้นยังคาดว่าเป็นคำในกลุ่มเดียวกับคำไทยอื่นๆ ว่า “ยุด” ในความหมายว่ายื้อยุดฉุดกระชาก คำว่า “ยื้อ” ในความหมายว่าแย่งยื้อระหว่างกันไปมา คำว่า “เยื้อ” ในความหมายว่ายาวนาน คำว่า “ยอด” ในความหมายว่าส่วนสูงสุด และคำว่า “ยวด” ในความหมายว่าเป็นที่ยิ่งไปกว่ายอด

โดยเฉพาะคำหลังว่า “ยวด” นี้ อาจารย์และผู้รู้ผู้ศึกษาภาษาศาสตร์เชิงประวัติหลายท่านตีความว่าคือคำเดียวกับคำว่า “yue – เยว่” ซึ่งเขียนในภาษาอังกฤษว่า “to go beyond (any limitation)” (ขออ้างอิงจากจำนงค์ ทองภิรมย์ และ Qvintvs Didivs G+)

สุดท้ายแต่ยังคงไม่ท้ายถึงที่สุด ด้วยความระทึกในห้วงอารมณ์แบบขาดตอนบ้างไม่ขาดตอนบ้าง ข้าพเจ้าขอเสนอประวัติความเป็นมาของคำเสพสังวาส “เยสสส” ไว้เป็นทางเลือก ที่อาจแตกต่างจากคำความหมายของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ไปบ้าง หากทั้งนี้ทั้งนั้นเต็มไปด้วยความเคารพเป็นที่ตั้ง

และในบทเพลงลา ข้าพเจ้าขอเสนอฉากจบ ด้วยคำเรียกใหม่แทนคำว่า “เยสสส” ที่หลายคนฟังแล้วระคายหูเป็นยิ่งนัก เพื่อให้เกิดความรื่นรมย์ฟังเบาสบายและไม่หยาบโลน ในคำเก่าดั้งเดิมว่า “ayut – อายุต” มา ณ ที่นี้

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 21 กันยายน 2559

หมายเลขบันทึก: 616188เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2016 07:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2017 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท