วันหยุด (Holiday)


ปฏิทินสากลที่ใช้กันทั่วไปในประเทศไทยอยู่ทุกวันนี้ การกำหนดวันในปฏิทินในแต่ละปี จะกำหนดตามปฏิทินเกรกอเรียน (Gregorian calendar) ซึ่งเป็นปฏิทินตามสุริยคติ (Solar calendar) จากเดิมแต่ละประเทศกำหนดวันตามความเชื่อหลักของประเทศตน เช่น ไทยยึดตามปฏิทินทางจันทรคติ (Lunar calendar) จีนและญี่ปุ่นยึดตามปฏิทินจันทรสุริยคติแบบจีน (Chinese lunisolar calendar) ส่วนประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ก็ยึดตาม ปฏิทินฮิจญ์เราะหฺ อันเป็นปฏิทินทางจันทรคติของศาสนาอิสลาม เป็นต้น ส่วนประเทศทางตะวันตกยึดตามปฏิทินจูเลียน ก่อนจะมีการเปลี่ยนมาเป็นปฏิทินเกรโกเรียนในท้ายที่สุด หลังสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 ได้ทรงประกาศใช้

ถึงแม้จะเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินสากล แต่การใช้ศักราชของแต่ละประเทศยังแตกต่างกันออกไป เช่น ไทยใช้พุทธศักราช ทั้งนี้เพราะไทยได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือและเป็นศาสนาประจำชาติแต่บนปฏิทินจะใช้พุทธศักราชร่วมกับคริสตศักราชเพื่อให้อ้างอิงและสื่อสารกับสากลประเทศที่ใช้คริสตศักราช ทั้งนี้เนื่องจากหลายประเทศในตะวันตกใช้คริสศักราช รวมทั้งในการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศในปัจจุบันก็นิยมอ้างอิงตามคริสศักราช ประเทศมุสลิมซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามใช้ฮิจญ์เราะหฺศักราชตามอิทธิพลที่ได้รับจากศาสนาอิสลาม เป็นต้น

ตามปฏิทินเกรกอเรียนในหนึ่งปีปฏิทินจะมี 365 หรือ 366 วันโดยแบ่งเป็น 12 เดือน แต่ละเดือนมี 30 หรือ 31 วันยกเว้นเดือนกุมภาพันธ์ที่อาจมี 28 วัน หากปีใดเป็นปีอธิกสุรทิน เดือนกุมภาพันธ์ที่จะมี 29 วันซึ่งจะทำให้ปีนั้นมี 366 วันซึ่งจะเวียนมาทุกๆ 4 ปี นอกจากนี้ในหนึ่งปีจะมีสัปดาห์ 52 สัปดาห์ โดยแต่ละสัปดาห์มีวัน 7 วัน คือวันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ วันเสาร์และวันอาทิตย์ โดยเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าวันจันทร์ถึงวันศุกร์จะเป็นวันที่หน่วยงานรัฐหรือราชการเปิดทำการรวมทั้งเป็นวันทำงานตามปกติ (Weekday หรือ Working Day) ของหน่วยงานเอกชนทั่วไปด้วย ส่วนวันเสาร์และวันอาทิตย์จะเป็นวันที่หน่วยงานรัฐหรือราชการ รวมทั้งหน่วยงานเอกชนส่วนใหญ่หยุดทำการ เนื่องจากเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ (Weekend หรือ Holiday) แต่อาจจะมีบางองค์กรหรือบางหน่วยงานที่เปิดทำการในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ด้วย นอกจากนี้วันในปฏิทินของแต่ละประเทศยังกำหนดให้มีเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญๆ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา วัฒนธรรมประเพณี ประวัติศาสตร์ ชาติ บุคคลสำคัญ หรือกำหนดตามสากลนิยม เช่น ในประเทศไทยมีการการกำหนดวันบนปฏิทินโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับทางศาสนาพุทธ อันเป็นศาสนาประจำชาติ อย่างการกำหนดวันที่ตรงกับขึ้นหรือแรมแปดค่ำ และวันที่ตรงกับขึ้นหรือแรมสิบห้าค่ำบนปฏิทินเป็นวันพระ เป็นต้น การกำหนดวันบนปฏิทินยังมีวันที่เป็นวันที่เกี่ยวข้องกับการเกิดเหตุการณ์สำคัญทางศาสนาซึ่งส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับศาสนาที่คนส่วนใหญ่ในประเทศนับถือ อย่างเช่นในประเทศไทยจะมีการกำหนดวันสำคัญทางพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา ไว้ในปฏิทินของประเทศไทย เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าวันวิสาขบูชายังกำหนดไว้บนปฏิทินของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ เช่น พม่า ลาว กัมพูชา เป็นต้น การกำหนดวันบนปฏิทินยังมีการกำหนดวันที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมประเพณีสำคัญๆไว้ด้วย เช่น ในประเทศไทยมีวันสงกรานต์ วันพืชมงคล ซึ่งในวันดังกล่าวมักมีการจัดกิจกรรม พิธีและงานรื่นเริง จึงเรียกกันอีกอย่างว่าวันนักขัตฤกษ์ (Festival Day) อันหมายถึงวันที่มีการจัดงานรื่นเริงตามธรรมเนียมตามฤดูกาล (นักขัตฤกษ์ หมายถึงฤกษ์ที่ขึ้นกับการโคจรของดวงจันทร์ว่าผ่านดาวนักษัตร หมู่ใดหมู่หนึ่งใน ๒๗ หมู่ รวมถึงฤกษ์ที่ขึ้นกับการโคจรของดวงดาว ในสุริยจักรวาลว่าผ่านดาวนักษัตรหมู่ใดหมู่หนึ่งใน ๒๗ หมู่, เรียกงาน ที่จัดขึ้นตามนักขัตฤกษ์ว่า งานนักขัตฤกษ์, เรียกวันที่มีงานนักขัตฤกษ์ว่า วันนักขัตฤกษ์) นอกจากนี้ในบางประเทศที่มีคนเชื้อสายจีนหรือมีประเพณีความเชื่อแบบจีนแพร่หลาย อาจมีการกำหนดวันที่เกี่ยวกับความเชื่อหรือประเพณีของคนเชื้อสายจีนไว้ในปฏิทินด้วย เช่น วันตรุษจีน เป็นต้น ส่วนวันสำคัญที่บางวันกำหนดขึ้นตามวันที่มีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ เช่น บางประเทศ กำหนดให้มีวันชาติ หรือวันประกาศเอกราช (Independent Day) เช่น วันชาติของสหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงกับวันที่ 4 กรกฎาคมของทุกปี ส่วนวันชาติลาวตรงกับวันที่ 2 ธันวาคมของทุกปี วันสำคัญที่กำหนดขึ้นตามวันที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือองค์กรสำคัญของชาติ เช่น วันปิยมหาราช (King Chulalongkorn Day) ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรณคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งตรงกับวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี วันฉัตรมงคล ซึ่งเป็นวันที่รําลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชซึ่งตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี วันมหิดลอันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กันยายนของทุกปีนอกจากนี้วันสำคัญตามสากลบางวันยังถูกใส่ไว้ในปฏิทินของบางประเทศ ซึ่งอาจเป็นวันที่ประเทศนั้นๆให้ความสำคัญตามสากล เช่น วันเด็กแห่งชาติ วันครู วันแรงงาน เป็นต้น วันสำคัญต่างๆเหล่านี้ มักมีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องต่อการจัดกิจกรรม พิธี การเฉลิมฉลองหรือการปฏิบัติตนในวันดังกล่าวของประชาชนในประเทศนั้นๆ เช่น ชาวไทยพุทธมักนิยมทำบุญเข้าวัดในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หรือชาวคริสต์ในหลายประเทศมีการจัดงานเฉลิมฉลองในวันคริสมาส เป็นต้น หรือในวันสงกรานต์ของชาวไทนก็มักนิยมจัดงานรื่นเริง มีการรดนำดำหัว เป็นต้น

วันสำคัญบางวันบางวันของแต่ละประเทศอาจจะกำหนดให้เป็นวันหยุดประจำชาติ (National Holiday) ของประเทศนั้นๆ เพื่อเป็นการให้ความสำคัญแก่วันดังกล่าวมากกว่าวันอื่นๆ โดยวันหยุดประจำชาติ อาจกำหนดจากวันสำคัญทางศาสนา วันสำคัญทางวัฒนธรรมประเพณี วันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หรือเกี่ยวกับชาติหรือบุคคลสำคัญ รวมทั้งบางวันอาจเป็นวันที่มีความสำคัญในทางสากล โดยวันหยุดของแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมประเพณีและลักษณะเฉพาะของประเทศนั้นๆ อันเป็นการสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับศานสนาและวัฒนธรรมประเพณีที่แต่ละชาตินั้นต้องการยกฐานะให้มีความสำคัญมากกว่าวันอื่นๆ อันเนื่องมากจากศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีนั้นสะท้อนถึงอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของชาติ และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริมไม่ให้ศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีสูญหายไปกับกาลเวลา กับทั้งปลูกฝังและสร้างความนิยมให้แพร่หลาย ทั้งนี้เพราะในวันสำคัญต่างๆดังกล่าว จะมีการจัดกิจกรรมและพิธีที่ให้คนในชาติได้ร่วมกันทำกิจกรรมร่วมกัน อันเป็นการหล่อหลอมคนในชาติเข้าไว้ด้วยกัน สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในสังคม (Social solidarity) ผ่านวันหยุดและกิจกรรมรวมทั้งพิธีต่างๆที่จัดขึ้นในวันหยุดนั่นเอง

คำว่าวันหยุดในภาษาไทย ตรงกับคำว่า Holiday ในภาษาอังกฤษ ทั้งนี้รากศัพท์ของคำว่า Holiday มาจากคำว่า Holy ซึ่งหมายถึง ศักดิ์สิทธิ์ กับคำว่า Day หมายถึง วัน ดังนั้นรากศัพท์ที่แท้จริงของคำว่า Holiday มาจากคำว่า Holy Day ซึ่งหมายถึงวันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งก็หมายถึงวันทางศาสนานั่นเอง โดยวัน Holiday เดิมทีจะเป็นวันที่กำหนดขึ้นเพื่อให้บุคคลทั่วไปงดเว้นจากการทำภาระกิจการงานที่ทำประจำเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมหรือพิธีทางศาสนา (Observance Activities) เนื่องจากวันดังกล่าวมักเป็นวันที่ตรงกับเหตุการณ์สำคัญทางศาสนา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าในประเทศนั้นๆคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอะไร ก็จะกำหนดให้มีวันหยุดตรงกับวันสำคัญทางศาสนานั้นๆ เช่น ประเทศไทยซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นวันหยุดทางศาสนา (Non-Secular หรือ Religious Holiday) ทุกคนจึงสามารถหยุดงานในวันดังกล่าวเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาได้ ต่อมาคำว่า Holiday ถูกใช้ในแง่ความหมายถึงวันหยุดอื่นๆที่ไม่ใช่วันหยุดทางศาสนาด้วย (Secular หรือ Non-Religious Holiday) ซึ่งอาจเป็นวันหยุดตามประเพณีซึ่งมักมีการจัดพิธีรื่นเริ่งอย่างวันสงกรานต์ บางครั้งเรียกวันหยุดแบบนี้ว่าวันหนุดนักขัตฤกษ์ (Festival Holiday) นอกจากนี้วันหยุดที่ไม่ใช่วันทางศาสนาอาจเป็นวันหยุดที่เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ วันหยุดที่เกี่ยวข้องกับบุคคลของชาติ และวันหยุดตามสากลนิยม โดยปัจจุบัน วันหยุดหรือ Holiday หมายถึงวันที่ถูกกำหนดตามขนบธรรมเนียมประเพณี (Traditional Holiday) หรือตามกฎหมายที่รัฐประกาศให้เป็นหยุด (Official Holiday) โดยวัตถุประสงค์ของการกำหนดให้มีวันหยุดในปัจจุบันก็เพื่อให้บุคคลทั่วไปงดเว้นจากการทำภาระกิจการงานที่ทำประจำ เพื่อสามารถใช้เวลาที่ว่างเว้นในวันที่หยุดจากการทำงานประจำไปทำกิจกรรมที่ตนเองต้องการ แต่เนื่องจากโดยส่วนใหญ่วันหยุดเหล่านี้มักตรงกับวันสำคัญทางศาสนาหรือวัฒนธรรมประเพณีของชาติ ดังนั้นในวันหยุดดังกล่าวจึงมักมีการจัดกิจกรรมหรือพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับวันนั้นๆด้วย เพื่อให้ผู้คนในชาติได้ใช้เวลาในวันหยุดเพื่อร่วมกิจกรรมและพิธี ดังนั้นในวันหยุดดังกล่าว คนที่หยุดงานก็นิยมเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวันหยุดดังกล่าวด้วย เช่น หากเป็นวันหยุดเนื่องจากวันสำคัญทางศาสนาหรือประเพณีสำคัญ วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อต้องการให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาหรือประเพณี (Religious observances) ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลูกฝัง ทำนุบำรุงรักษาหรือส่งเสริมให้ศาสนาหรือประเพณีนั้นๆ มีสถานะที่มั่นคงในสังคมของประเทศนั้นๆ นอกจากนี้วันหยุดบางวันอาจกำหนดเป็นวันหยุดทั่วไปที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับศาสนาหรือประเพณี แต่อาจกำหนดให้เป็นวันหยุดเพื่อให้เป็นวันที่บุคคลทั่วไปได้หยุดทำภารกิจการงานที่ทำประจำเพื่อใช้เวลาดังกล่าวไปพักผ่อนหย่อนใจ หรือทำกิจกรรมนันทนาการ (Recreation) เพื่อผ่อนคลายจากความเครียดจากการทำภารกิจประจำ เช่น วันหยุดสุดสัปดาห์ (Weekend) นอกจากนี้วันหยุดบางวันยังเป็นการกำหนดให้เป็นวันหยุดเนื่องจากตรงกับวันที่มีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับชาติหรือบุคคลสำคัญของชาติเกิดขึ้นซึ่งไม่เกี่ยวกับศาสนาหรือประเพณี เช่น วันปิยมหาราช วันแม่หรือวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ วันพ่อหรือวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือวันชาติของบางประเทศ เป็นต้น วันหยุดบางวันยังเป็นวันที่กำหนดขึ้นมาตามสากลที่ประเทศนั้นๆเห็นว่ามีความสำคัญและควรกำหนดให้เป็นไปตามสากล เช่น วันขึ้นปีใหม่ (New Year’s Day) วันแรงงาน (Labor Day) เป็นต้น

ปัจจุบันสามารถแบ่งประเภทของวันหยุดได้เป็นดังนี้

  • วันหยุดสุดสัปดาห์ (Weekend holidays) เป็นหยุดตามปกติซึ่งมักตรงกับวันเสาร์อาทิตย์ โดยในบางประเทศอาจมีวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ไม่ตรงกับวันเสาร์อาทิตย์ ได้แก่ ประเทศส่วนใหญ่ในตะวันออกกลาง และบางประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิลาม ซึ่งมักจะมีวันหยุดสุดสัปดาห์ตรงกับวันศุกร์และเสาร์ เช่น อิรัก ซาอุดิอารเบีย อียิปต์ เป็นต้น ส่วน อิหร่าน มีวันหยุดของสัปดาห์ตรงกับวันศุกร์ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ชาวมุสลิมได้มีโอกาสทำพิธีละหมาดประจำสัปดาห์หรือญุมุอะหฺ (Jumu'ah prayers ) ซึ่งตรงกับวันศุกร์
  • วันหยุดประจำชาติ (National holidays หรือ Public holidays) เป็นวันที่รัฐกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการประจำทุกปี ซึ่งส่วนใหญ่มักกำหนดตามวันสำคัญต่างๆ ตามวัฒนธรรมประเพณีของชาตินั้นๆ หรืออาจตั้งตามสากลนิยม โดยสามารถจำแนกการกำหนดวันหยุดได้ดังนี้
  • วันหยุดชดเชย (Substitution holidays) คือวันที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดชดเชย เนื่องจากวันหยุดประจำชาติตรงกับวันหยุดสุดสับปดาห์
  • วันหยุดพิเศษ (Special holidays) เช่น วันหยุดที่รัฐบาลประกาศให้หยุดเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งกำหนดให้เฉพาะบางปีเท่านั้น เช่น สมัยก่อนมีการประกาศวันหยุดในวันที่มีการเลือกตั้ง หรือปัจจุบันมีการประกาศให้วันที่คั่นระหว่างวันหยุดแห่งชาติกับวันหยุดสุดสัปดาห์เป็นวันหยุดเพิ่ม เช่น หากวันหยุดตรงกับวันอังคาร ทางรัฐอาจประกาศให้วันจันทร์ ซึ่งคั่นระหว่างวันหยุดเสาร์อาทิตย์ กับวันที่เป็นวันหยุดแห่งชาติ ให้เป็นวันหยุดพิเศษ เพื่อเพิ่มวันหยุดให้ติดต่อกัน โดยอาจมีเหตุผลทางเศรษฐกิจ เช่น ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อให้ประชาชนได้ใช้เวลายาวหยุดยาวในการการท่องเที่ยว เป็นต้น
  • วันหยุดเฉพาะภูมิภาค (Regional holidays) วันหยุดที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันหยุดของท้องถิ่นหรือภูมิภาคนั้นหรืออาจให้ท้องถิ่นหรือภูมิภาคนั้นสามารถกำหนดวันหยุดประจำท้องถิ่นของตนเองได้ เช่น อินเดียมีวันหยุดเฉพาะภูมิภาค เนื่องจากพื้นที่ที่กว้างขวางและความหลากหลายทางศาสนา วัฒนธรรมและประเพณีซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆซึ่งรัฐปละประชาชนในท้องถิ่นอาจต้องการกำหนดให้มีวันหยุดที่ตรงกับวันสำคัญทางศาสนาและประเพณีของท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนได้เข้าร่วมพิธีและกิจกรรมที่จัดขึ้นเฉพาะของท้องถิ่นนั้น เช่น วัน Vijaya Dashami ที่เป็นวันหยุดของรัฐ Assam, Bihar, Kerala, Odisha, Telangana, Tripura, Skkim, และ Dussehra หรือวัน Ayudha Puja ที่เป็นวันหยุดของรัฐ Karnataka และ Tamil Nadu ของอินเดีย เป็นต้น
  • วันหยุดเฉพาะของบางกลุ่มหรือบางองค์กร วันหยุดประเภทนี้ต่างจากวันหยุดเฉพาะภูมิภาค เพราะเป็นการหยุดเฉพาะบางองค์กรเท่านั้น ซึ่งบุคคลที่เป็นสมาชิกของกลุ่มหรือองค์กรนั้นๆ จะสามารถหยุดงานในวันดังกล่าวได้ เช่น วันแรงงานของไทยซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันหยุดของเฉพาะหน่วยงานเอกชนเท่านั้น (Private sector holiday) แต่หน่วยงานรัฐไม่ได้หยุดทำการในวันดังกล่าว วันหยุดกีฬามหาวิทยาลัย วันหยุดปิดภาคการเรียนประจำปี วันหยุดประจำปีธนาคาร วันหยุดที่เป็นการลาพักร้อน เป็นต้น

วันหยุดประจำชาติโดยทั่วไปจะเป็นวันที่หน่วยงานของรัฐหยุดทำการในวันดังกล่าว (Government sector holiday) รวมทั้งหน่วยงานเอกชนก็มักจะกำหนดให้เป็นวันหยุดตามหน่วยงานของรัฐด้วย ยกเว้นบางวันเท่านั้นที่หน่วยงานของเอกชนไม่ได้หยุดตามหน่วยงานรัฐ เช่น วันพืชมงคล หรือวันเข้าพรรษา ที่เป็นวันหยุดของหน่วยงานราชการ แต่หน่วยงานเอกชนมักไม่ได้หยุดในวันดังกล่าว

นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งวันหยุดตามแบบของการกำหนดวันในปฏิทินได้เป็น 2 แบบ คือ

1. วันหยุดที่กำหนดวันที่แน่นอน (Fixed date holidays) ซึ่งมักจะไม่ได้กำหนดตามจันทรคติ โดยวันหยุดแบบนี้จะมีการกำหนดวันที่แน่นอนในแต่ละปี ทำให้วันที่ตรงกันทุกปี เช่น วันหยุดในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ (New Year Day) ที่ตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี หรือวันจักรี (Chakri Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี เป็นต้น

2. วันหยุดที่ไม่กำหนดวันแน่นอน (Floating date holidays) โดยแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ

  • กำหนดวันตามจันทรคติ (Lunar System Holiday) ซึ่งวันที่กำหนดให้หยุดมักจะเปลี่ยนไปในแต่ละปี เนื่องจากต้องใช้การคำนวณตามจันทรคติ โดยมักจะเป็นวันที่เกี่ยวกับศาสนาและประเพณีที่คำนวณตามจันทรคติ เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันพืชมงคล เป็นต้น ส่วนวันสงกรานต์ถึงแม้จะเป็นวันหยุดราชการตามประเพณีแต่กำหนดวันที่แน่นอนทุกปีตามวันปฏิทินคือ 13-15 เมษายนของทุกปี
  • กำหนดวันตามวันใดวันหนึ่งของสัปดาห์ที่แน่นอนในเดือนใดเดือนหนึ่ง เช่น สหราชอาณาจักรกำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนพฤษภาคม (First Monday in May) เป็นวันหยุดที่เรียกว่า May Day Bank Holiday เป็นต้น
หมายเลขบันทึก: 616151เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2016 15:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2016 15:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท