ทฤษฎีทางสังคม


ทฤษฎีสังคม (Social Theory)

ความหมายของทฤษฎี คือ คำอธิบายสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือเรื่องหนึ่งเรื่องใดสำหรับนักวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีจะต้องเป็นคำอธิบายตามหลักเหตุผลแสดงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆของสิ่งนั้นอย่างมีระบบจนสามารถพยากรณ์สิ่งนั้นในอนาคตได้

ดังนั้น ความหมายของทฤษฎีสังคม คือ คำอธิบายเรื่องของคนและความสัมพันธ์ระหว่างคนตามหลักเหตุผล และความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆของคน หรือระหว่างคนต่อคน คนต่อกลุ่ม คนต่อสภาพแวดล้อม อย่างมีระบบจนสามารถพยากรณ์ได้

ทฤษฎีสังคมตามความหมายดังกล่าว จึงมีขอบเขตกว้างขวาง เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับคนแต่ละบุคคล กลุ่มคน ความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างๆรวมไปถึงคำอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ข้อสำคัญนั้นจะต้องเป็นไปตามหลักเหตุผล มีระบบระเบียบพอที่จะเป็นฐานในการพยากรณ์เรื่องทำนองเดียวกันในอนาคตได้ Jame Miley “โดยทั่วไป ความพยายามที่จะอธิบายส่วนหนึ่งส่วนใดของสังคม (Social life) ถือได้ว่าเป็นทฤษฎีสังคม” และ Henry P Fairchild ให้ความหมายว่า “ทฤษฎีสังคม คือ การวางนัยทั่วๆไปหรือข้อสรุปที่ใช้ได้ทั่วไป เพื่ออธิบายปรากฏการณ์สังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง”

ทฤษฎีทางสังคมกับแนวคิดทางสังคม มีความคล้ายคลึงกัน แต่ไม่เหมือนกัน ดังนี้

ประการแรก ทฤษฎีทางสังคมเป็นคำอธิบายเรื่องเกี่ยวกับคน หรือความสัมพันธ์ระหว่างคน ซึ่งเป็นการรู้ระดับหนึ่งที่ยังไม่ถึงขั้นอธิบาย

ประการที่สอง ทฤษฎีทางสังคม แสดงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆของคนหรือระหว่างคนต่อคนอย่างมีระบบ แต่ความคิดทางสังคมไม่กำหนดว่าต้องเป็นเช่นนั้น

ประการที่สาม ทฤษฎีทางสังคมมีความสามารถพยากรณ์อนาคตได้ แต่ความคิดทางสังคมไม่ถึงขั้นนั้น

ประการที่สี่ ทฤษฎีทางสังคมอาจมีรูปของข้อความที่เตรียมไว้สำหรับการพิสูจน์ด้วยข้อมูลประจักษ์ ทฤษฎีทางสังคมอาจมีทั้งที่เคยตรวจสอบด้วยข้อมูลประจักษ์ หรือยังไม่เคยผ่าน แต่ได้มีการเตรียมหรือมีลักษณะที่พร้อมจะให้พิสูจน์

กล่าวโดยสรุป ทฤษฎีสังคม คือ คำอธิบายปรากฏการณ์สังคมอย่างใดอย่างหนึ่งตามหลักเหตุผล โดยแสดงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของปรากฏการณ์สังคมนั้น จนสามารถที่จะ พยาการณ์ปรากฏการณ์สังคมในอนาคตได้ ทฤษฎีสังคมมีความหมายกว้างเป็นทฤษฎีของจิตวิทยา ซึ่งอาจหมายถึงเรื่องของคนแต่ละคนก็ได้ (Psychology studies human interaction of individuals) หรืออาจหมายถึงทฤษฎีรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจของคนหลายคนที่เกี่ยวข้องกัน หรืออาจหมายถึงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ อันเป็นเรื่องของคนหลายคนกับวัตถุในการผลิตการจำหน่ายจ่ายแจกผลิตภัณฑ์และบริการในการอุปโภคบริโภคได้ และอาจเป็นทฤษฎีสังคมวิทยา เป็นเรื่องของรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์หรืออาจจะเป็นทฤษฎีของมานุษย์วิทยาเป็นเรื่องของคนที่มีแบบแผนการคิด การกระทำหรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทฤษฎีทางสังคมจึงคล้ายกับแนวคิดทางสังคม ที่เกี่ยวข้องกับคนและความสัมพันธ์ระหว่างคน รวมทั้งระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีความแตกต่างกันที่ทฤษฎีเป็นข้อความที่เป็นไปตามหลักเหตุผล มีระบบและพยากรณ์ปรากฏการณ์ในอนาคต

ความหมายของทฤษฎีสังคมวิทยา (Sociological Theory)

ความหมายของทฤษฎี สังคมวิทยาอาจมีได้ทั้งความหมายอย่างกว้าง หรือความหมายอย่างแคบเจาะจง ทฤษฎีสังคมวิทยาทุกทฤษฎีจะต้องมีลักษณะพื้นฐานเดียวกับทฤษฎีสังคม คือ ต้องเป็นคำอธิบายปรากฏการณ์สังคมตามหลักเหตุผล มีระบบและพยากรณ์ได้ ตัวอย่างทฤษฎีสังคมอย่างกว้าง คือ ทฤษฎีเชิงสังคมวิทยามหภาพ (Grand Theroies) ซึ่งเป็นทฤษฎีเชิงบรรยายความ หากจะพิสูจน์ความจริงก็ต้องนำมาเขียนใหม่ จัดรูป กำหนดสังกัปให้มีจำนวนพอสมควร แสดงความสัมพันธ์ระหว่างสังกัป แล้วจึงสามารถพิสูจน์ได้ ทฤษฎีสังคมอย่างแคบ คือ ทฤษฎีสมัยใหม่ยังไม่มีจำนวนน้อย มีข้อความกระทัดรัดชัดเจนพิสูจน์ได้ด้วยหลักฐานประจักษ์เต็มที ตัวอย่าง ถ้ามีคนตั้งแต่สองคนหรือมากกว่ามีการกระทำระหว่างกัน ถ้าเขาสามารถพูดคุยกัน เข้าใจกัน ถ้าการกระทำนั้นยืนยาวเป็นเวลา 15 นาที หรือนานกว่านั้นแล้ว กลุ่มขนาดเล็กแบบซึ่งหน้า (face-to-face) ก็เกิดขึ้น ทฤษฎีแบบนี้มีสังกัปจำนวน แสดงความสัมพันธ์ระหว่างสังกัปและคนตามหลักเหตุผล มีระบบสามารถทำนายเหตุการณ์ข้างหน้าได้ ความหมายของทฤษฎีสังคมวิทยาจึงหมายถึง คำอธิบายปรากฏการณ์สังคมตามหลักเหตุผล แสดงความสัมพันธ์ ระหว่างองค์ประกอบของปรากฏการณ์นั้นอย่างมีระบบ จนสามารถพิสูจน์ความจริงนั้นได้

ทฤษฎีสังคมวิทยา เป็นทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่อาศัยลักษณะของความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นหลักในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม

ประเภทของทฤษฎีสังคมวิทยา

Jack Gibbs แบ่งประเภทโดยยึดรูปลักษณะของทฤษฎีเป็นหลัก โดยแบ่งทฤษฎีสังคมวิทยาออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทสูตรหรือทางการ (form) ประเภทรูปแบบบรรยาย (discursive exposition)

Jonathan Turner แบ่งทฤษฎีสังคมวิทยาออกเป็นสำนักคิด (schools) 4 สำนักคิด คือ ทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่นิยม ทฤษฎีขัดแย้ง ทฤษฎีปริวรรต และทฤษฎีสัญลักษณ์ พร้อมกับสำนักคิดที่กำลังก่อสร้างตัวอีกสำนักหนึ่ง คือ ปรากฏการณ์นิยม

Nicholas Timasheff ใช้วิธีผสมระหว่างสำนักคิดกับประวัติความเป็นมาของความคิดหรือทฤษฎีที่เกิดขึ้นตามลำดับเวลาในประวัติศาสตร์

Paul Reynolds แบ่งทฤษฎีตามเนื้อหาของความเป็นวิทยาศาสตร์ แบ่งทฤษฎีออกเป็น 3 ประเภท คือ กฎ (set-of-laws) สิ่งที่พิสูจน์ว่าเป็นความจริงแล้ว (axiomatic form) และกระบวนการตามเหตุ (causal process form)

Poloma แบ่งทฤษฎีสังคมวิทยาตามลักษณะของเนื้อหาออกเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทธรรมชาติวิทยาหรือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Naturalistic or Positivistic Theory) ประเภทมนุษย์ธรรมชาติหรือการตีความ (Humanistic or interpretative Theory) และประเภททฤษฎีประเมินผล (Evaluation Theory)

หมายเลขบันทึก: 615793เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2016 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2016 11:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท