เศรษฐกิจสร้างสรรค์ กับศตวรรษที่ 21 : ความเชื่อมโยงกับทุนทางปัญญา


แนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ กระบวนการหรือกิจกรรม (Process or Activity) ที่เกิดจากปัจจัยด้าน “ทุนทางปัญญา” หรือ “องค์ความรู้” และ ปัจจัยด้าน “ทักษะการประยุกต์นำความคิดสร้างสรรค์ หรือองค์ความรู้นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเชิงพาณิชย์” และเกิดการต่อยอดสู่การสร้าง “ความแตกต่าง” ที่ส่งผลต่อการ “สร้างมูลค่า” และการ ”สร้างคุณค่า” (พิริยะ ผลพิรุฬห์, 2556) กล่าวได้ว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นยุทธศาสตร์ที่เกิดจากความต้องการนำจินตนาการสร้างสรรค์ของมนุษย์มายกระดับเป็นสินค้าชั้นเลิศ (ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ : TCDC, มปป. : ออนไลน์) ทั้งนี้ มีผู้ให้นิยามของ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ไว้หลากหลาย ดังนี้

นิยามของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Definition)

John Howkins (อ้างถึงใน เสาวรภย์ กุสุมา ณ อยุธยา, 2553) ได้ให้นิยามของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไว้อย่างกระชับว่าเป็น “การสร้างมูลค่าที่เกิดจากความคิดของมนุษย์”

ศูนย์กลางความสร้างสรรค์ของโลก” (World Creative Hub) (อ้างถึงใน คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ : TCDC, 2552) ได้ให้ความหมายของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ว่าเป็น “เศรษฐกิจที่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมที่มีรากฐานมาจากความคิดสร้างสรรค์ของบุคคล ทักษะความชํานาญ และความสามารถพิเศษ ซึ่งสามารถนําไปใช้ประโยชน์ในการสร้างความมั่งคั่งและสร้างงานให้เกิดขึ้นได้โดยที่สามารถสั่งสมและส่งผ่านจากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่ด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา”

องค์กรความร่วมมือเพื่อการค้าและการพัฒนา UNCTAD (United Nation Conference on Trade and Development)(อ้างถึงใน เสาวรภย์ กุสุมา ณ อยุธยา, 2553) ได้ให้ความหมายของ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ในบริบทของการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจไว้ว่า “เป็นแนวความคิดในการพัฒนาและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้สินทรัพย์ที่เกิดจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์”

องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) (อ้างถึงใน สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2552) ได้อธิบายถึงองค์ประกอบของอุตสาหกรรมในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นบริบทของทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights) ว่า “ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและศิลปะทั้งหมด ทั้งในรูปสินค้าและบริการที่ต้องอาศัยความพยายามในการสร้างสรรค์งาน ไม่ว่าจะเป็นการทําขึ้นมาโดยทันทีในขณะนั้นหรือผ่านกระบวนการผลิตมาก่อน”

Department for Culture Mediaand Sport ของประเทศสหราชอาณาจักร : DCMS, 1998 (อ้างถึงใน พิริยะ ผลพิรุฬห์, 2556) ได้ให้ความหมายของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ว่าเป็น “จุดเริ่มต้นของการใช้ความคิดสร้างสรรค์, ทักษะ, และพรสวรรค์ส่วนบุคคลเพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างความมั่งคั่งและการสร้างงานจากการใช้ประโยชน์ในเชิงของทรัพย์สินทางปัญญา”

ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC, 2559) ได้ให้นิยามเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้และนวัตกรรม เพื่อสร้างความโดดเด่นและความสามารถในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ความหมายของ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” คือ กระบวนการหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้พื้นฐานของสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม (Cultural Asset-Based) ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) นวัตกรรม (Innovation) หรือเทคโนโลยี ในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ (Commercialization) หรือคุณค่าเพิ่มทางสังคม

แผนภาพแสดงความหมายอย่างง่ายของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (อาคม เติมพิทยาไพสิฐ, 2554 : ออนไลน์)

สำนักนายกรัฐมนตรี (2554) ได้ให้นิยามของ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ.2554 ไว้ว่า “เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ การสร้างสรรค์งาน และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม และเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่” (สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2554 : ออนไลน์) และได้ให้นิยาม ไว้ใน ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ.2556 ไว้ว่าเป็น “การพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ทรัพย์สินทางปัญญา และการศึกษาวิจัย ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ ในการผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ หรือคุณค่าทางสังคม” (สำนักนายกรัฐมนตรี, 2556)


สรุปนิยามของเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ผู้เขียนสรุปนิยามของ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ได้ว่า เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่เกิดจากฐานความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ อันเกิดขึ้นจาก ปัจจัยด้านทุนทางปัญญา อันได้แก่ องค์ความรู้ ทักษะ การคิดวิเคราะห์ ผสานกับแรงบันดาลใจ ความสุขในการทำงาน วัฒนธรรม สั่งสมและก่อเกิดเป็นนวัตกรรม อันนำไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้

องค์ประกอบและขอบเขตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์

John Howkins (อ้างถึงใน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ, 2554 : ออนไลน์) ได้อธิบายแกนหลักของ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ว่าประกอบด้วย กลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือสื่อความหมายใหม่ๆ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเรื่องของวัฒนธรรมเท่านั้น อันก่อให้เกิดอุตสาหกรรมที่เป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ และสนับสนุนให้เกิดเป็น “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์” เป็นผลให้เกิดระบบนิเวศของการสร้างสรรค์ที่หลากหลาย อันประกอบด้วย ทรัพยากรในท้องถิ่น และระบบสังคมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ดังแผนภาพ

John Howkins (อ้างถึงใน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ, 2554 : ออนไลน์)

ทั้งนี้ การแบ่งกลุ่มของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับสากล ยังมีความแตกต่างกัน โดยมีรูปแบบจำแนกเป็น 2 แนวคิดหลัก(พิริยะ ผลพิรุฬห์, 2556) ได้แก่


กลุ่มเศรษฐกิจสรา้งสรรค์ที่แยกประเภทตามชนิดสินค้า/บริการ

สหราชอาณาจักรได้กำหนดให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประกอบด้วย 13 ประเภทอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) ได้แก่

1) โฆษณา (Advertising)

2) สถาปัตยกรรม (Architecture)

3) งานศิลปะและโบราณวัตถุ (Art 8 NIDA Economic Review and Antiques)

4) งานฝีมือ (Craft)

5) งานออกแบบ (Design)

6) แฟชั่น (Fashion)

7) ฟิล์มและวีดีโอ (Film and Video)

8) ซอฟต์แวร์/เกมส์ (Leisure Software)

9) เพลง (Music)

10) ศิลปะการแสดง (Performing Arts)

11) สิ่งพิมพ์ (Publishing)

12) ซอฟต์แวร์และบริการทางด้านคอมพิวเตอร์(Softwareand ComputerServices)

13) โทรทัศน์และวิทยุ (TV and Radio)

นอกจากนี้ ที่ประชุมองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conferenceon Trade and Development: UNCTAD) ประชุมครั้งที่ 11 ณ ประเทศบราซิล ในปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ.2543) ได้จำแนกประเภทของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็น 4 กลุ่มได้แก่

1) กลุ่มมรดก (Heritage)

2) กลุ่มศิลปะ (Arts)

3) กลุ่มสื่อ (Media)

4) กลุ่มงานสร้างสรรค์และออกแบบ (Functional Creation)

กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่แยกตามประเภทกิจกรรมการผลิตและห่วงโซ่การผลิต

กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่จำแนกตามลักษณะนี้ มีหลักในการจำแนกตามวัฒนธรรม ได้แก่ แบบ Symbolic Texts Model, แบบขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO), แบบศิลปะ (Concentric Circle Model) หรือตามระดับของความเข้มข้นของการใช้ลิขสิทธิ์ เช่น แบบขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO)

สำหรัขอบเขตและการแบ่งกลุ่มของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) กำหนดขอบเขตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทย ยึดตามรูปแบบขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และรูปแบบของ UNESCO โดยได้ จำแนกประเภทอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ออกเป็น 4 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก และ 15 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ได้แก่

1) มรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) ได้แก่ งานฝีมือและหัตถกรรม, การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ, การ แพทย์แผนไทย และอาหารไทย

2) ศิลปะ (Arts) ได้แก่ ศิลปะการแสดง และ ทัศนศิลป์

3) สื่อสมัยใหม่ (Media) ได้แก่ ภาพยนตร์และวีดีทัศน์, การพิมพ์, การกระจายเสียงและดนตรี

4) งานสร้างสรรค์และออกแบบ (Functional Creation) ได้แก่ การออกแบบแฟชั่น, สถาปัตยกรรม, การโฆษณา และซอฟต์แวร์


การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสรา้งสรรค์ของรัฐบาลไทย

รัฐบาลไทย สมัยที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เปิดตัวนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ในปี พ.ศ.2552 และในปี พ.ศ.2553 ได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ พ.ศ.2553 (กระทรวงพาณิชย์, 2554) ต่อมา สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในปี พ.ศ.2554 ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ.2554 (สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2554 : ออนไลน์) นอกจากนี้ การพัฒนาประเทศตามระยะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งพัฒนามาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 โดยใน ฉบับที่ 11 ได้มุ่งเน้นให้ “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” มีการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้วยฐานความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ บนพื้นฐานการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจบนฐานความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญา ภายใต้ปัจจัยสนับสนุนที่เอื้ออำนวยและใช้ระบบการแข่งขันที่เป็นธรรม มุ่งปรับโครงสร้างการค้าและการลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสาขาบริการที่มีศักยภาพ พัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมฐานความรู้เชิงสร้างสรรค์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ควบคู่ไปกับการปฏิรูปกฎหมายและกฎ ระเบียบต่างๆ และบริหารจัดการเศรษฐกิจส่วนรวมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เป็นฐานเศรษฐกิจของประเทศที่เข้มแข็งและขยายตัวอย่างมีคุณภาพ และใช้การสร้างฐานทางปัญญาเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้กับคนและสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2555 : ออนไลน์) รัฐบาลไทย ในสมัยที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ยังได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ.2556 (สำนักนายกรัฐมนตรี, 2556) แต่ภายหลัง ในปี พ.ศ.2558 กองทุนดังกล่าวถูกยุบเลิกตามมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2557 โดย ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ.2556 พ.ศ.2559 (ในสมัยที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และกำหนดให้ภารกิจด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปเป็นภารกิจของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) (สำนักนายกรัฐมนตรี, 2559)

ตารางเปรียบเทียบการจัดประเภทอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ

(สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2552 : 24)

DCMS : Department for Culture Mediaand Sport ของประเทศสหราชอาณาจักร

Symbolic Texs : การจำแนกตามวัฒนธรรม

Concentric Circle Model : การจำนกตามศิลปะ

WIPO : องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

UNCTAD : องค์กรความร่วมมือเพื่อการค้าและการพัฒนา

UNESCO/UIS : องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ

NESDB : การจัดประเภทของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย


พิริยะ ผลพิรุฬห์ (2556) ได้วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างแรงงาน/องค์กรในระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Industrial Economy), ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-Based Economy) และระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ไว้ในงานวิจัยเรื่อง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับการพัฒนาประเทศไทย” ในมิติความมุ่งมั่นและพลังขับเคลื่อน โดยอธิบายว่า พัฒนาการของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม จากเดิมที่การทำงานขับเคลื่อนด้วยปัจจัยด้านฐานทรัพยากร แรงงาน เครื่องจักร และเงินทุน แบบเน้นผลิตครั้งละจำนวนมาก ในยุคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Industrial Economy) ที่บุคลากรอยู่ในสภาพการต้องเชื่อฟังและขยันหมั่นเพียรตามคำสั่งของนายจ้างโดยเน้นใช้แรงงาน ต่อมาพัฒนาเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-Based Economy) ที่เน้นให้แรงงานใช้ความรู้ ทักษะ และสติปัญญา (Knowledge and Intelligence) ของบุคลากรมากขึ้น เน้นความเร็ว (Speed) และการสร้างมูลค่าเพิ่ม Value Added) แต่ยังคงถูกกระตุ้นด้วยเงินทุนและตัวชี้วัด แต่ในที่สุด แต่ละอุตสาหกรรมต้องแข่งขันกันที่ ความคิดริเริ่ม (Initiative) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และความสามารถเฉพาะตน (Unique) แรงงานและองค์กรในระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงมีความแตกต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบอื่น ตรงที่มีแรงกระตุ้นและความมุ่งมั่นที่มามากจากพลังขับเคลื่อน (Passion) จากแรงบันดาลใจ และความสุขของบุคลากรเป็นพลังขับเคลื่อนพันธกิจ

จากแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และพัฒนาการอุตสาหกรรมรูปแบบต่างๆ แสดงให้เห็นว่า ความรู้ ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญา เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ที่ก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม สามารถสร้างอุตสาหกรรมธรรมดา ให้กลายเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้ ในยุคที่มุ่งเน้นคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ในศตวรรษที่ 21 ที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยฐานความรู้ หรือ สินทรัพย์ทางปัญญา และการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ควบคู่กับความผาสุก จึงเป็นที่มาของการให้ความสำคัญกับการมี “ทุนทางปัญญา” (Intellectual Capital) อันเป็นทุนรูปแบบใหม่ ที่เป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน และไม่ใช่ตัวเงิน แต่สามารถตอบโจทย์ของบริบทของยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในศตวรรษที่ 21 นี้ได้

หมายเลขบันทึก: 612944เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2016 17:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2016 17:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท