ครูเพื่อศิษย์ BP ประจำปี ๒๕๕๙ : ครูสุกัญญา มะลิวัลย์ "จิตตปัญญาแนะแนว"


วันที่ ๒๒-๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๙ CADL สำนักศึกษาทั่วไป จัดเวทีพูนพลังครู (อีสาน) ครั้งที่ ๑ ชื่อเดิมคือ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ประจำปี ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ ๓ ปีนี้เปลี่ยนชื่อและเริ่มถือฤกษ์ใหม่ หลังจากที่ได้ไปเรียนรู้จากเวทีพูนพลังครูจากส่วนกลางที่มูลนิธิสยามกัมมาจลจัดขึ้น

ผมเขียนบันทึกเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้แลกเปลี่ยนไว้ที่นี่ และเขียนถึงครูเพื่อศิษย์ BP ประจำปีนี้ ท่านแรกไว้ที่นี่ เชิญผู้สนใจอ่านและประสานเรียนรู้กับท่านได้ครับ บันทึกนี้เกี่ยวกับประสบการณ์ที่เป็น BP ครูเพื่อศิษย์ ประจำปีนี้ท่านที่ ๒ ครับ คุณครูสุกัญญา มะลิวัลย์ ครูสอนวิชาแนะแนวโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม โรงเรียนเดียวกับครูเพื่อศิษย์ BP คนแรก คุณครูเพ็ญศรี ใจกล้า ผู้นำทางปัญญาของครูเพื่อศิษย์อีสาน ....

ทำไม CADL เลือกครูกุ้ง เป็นครูเพื่อศิษย์ BP ประจำปี ๒๕๕๙ นี้?

หากอยากรู้ว่าโรงเรียนใดมีครูเพื่อศิษย์หรือไม่ ให้สังเกตดูว่า มีลูกศิษย์กลับมาหาครูคนใดเพราะใครหรือไม่ หากใช่...ที่นั่นมีครูผู้ให้ด้วยความจริงใจ ครูเพื่อศิษย์ที่อุทิศตนแด่ศิษย์โดยไม่มีเงื่อนไข ลูกศิษย์ก็จะเก็บครูคนนั้นไว้ในใจเสมอ เมื่อเหมาะเวลาพวกเขาจะหาโอกาสกลับมาตอบแทนแน่นอน ... แต่แน่นอนเช่นกันครับ...สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายเลย...

จากการติดตามกระบวนการเรียนรู้ของครูเพ็ญศรี ใจกล้ามานาน (ดูผลงานลูกศิษย์รุ่นล่าสุดของท่านในการอนุรักษ์ป่าโคกหนองคอง ได้ที่นี่) ผมตีความความสำเร็จที่สุดของทีมงานท่าน ๓ ประการ คือ ๑) เปลี่ยนวิธีเรียนของนักเรียนได้สำเร็จ ๒) สร้างรายวิชาค้นคว้าอิสระ (IS1-2-3) ได้สำเร็จ (โรงเรียนอื่นๆควรจะพัฒนากระบวนการเรียนการสอนของตนเองจนกลายมาเป็นรายวิชาแบบนี้ครับ) และ ๓) ความสำเร็จในการปลูกฝังจิตสำนึกรักท้องถิ่นบ้านเกิดและจิตอาสา จนนิสิตนักศึกษากลับมารวมตัวกันทำประโยชน์ข้างต้น

ปี ๒๕๕๙ นี้ เป็นปีแรกที่อดีตนักเรียนโรงเรียนเชียงยืน รวมตัวกันกลับไปจัดค่าย "สานฝันปันประสบการณ์ครั้งที่ ๑" (อ่านได้ที่นี่) แสน (ธีระวุฒิ ศรีมังคละ นิสิตแกนนำเด็กดีมีที่เรียนฯ) บอกในบันทึกของเขาว่า ค่ายนี้เกิดจากความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยแท้ ทั้งผู้บริหาร ครู รุ่นพี่ที่มาเป็นประธานค่าย (บอล อภิรักษ์ เส็งไธสง) รุ่นพี่ชื่อนัท และเพื่อนในกลุ่มฮักนะเชียงยืน (แซม) เป็นต้น

Cr. แสน - ธีระวุฒิ ศรีมังคละ

คำถามคือ ระบบ กลไก หรือปัจจัยอะไร? ทำให้นิสิตนักศึกษากลุ่มนี้กลับมารวมกันทำประโยชน์เพื่อรุ่นน้องของโรงเรียนเก่า เพราะพวกเขาคิดเองทำเองไหม? คำตอบคือใช่... ทำไมล่ะ? อะไรตรึงติดอยู่ภายในล่ะที่ทำให้ใจ "ผุดบังเกิด" ความคิดนั้นขึ้นมาและมีพลังมากพอต่อความสำเร็จนี้... ผมมั่นใจว่าเป็นเพราะครูผู้ปลูกฝังและบ่มเพาะอุดมการณ์เหล่านี้ไว้ ... ใครล่ะ? ก็ครูเพ็ญศรี ใจกล้า รองฯ ธีระพงษ์ - ครูปราณี นามเชียงใต้ และอีกคนที่ขาดไม่ได้ก็คือ ครูกุ้ง (สุกัญญา มะลิวัลย์) ครูเพื่อศิษย์ BP ของเราปีนี้นั่นเองครับ...

ครูกุ้งเป็นคนตัวเล็ก พูดจาอ่อนหวานด้วยเสียงบางแหบนิดๆ ใน"หนังสือเล่มเล็กของครูกุ้ง" ท่านไม่ได้เปิดเผยความเป็นมาของตนเองมากนัก ดังนั้นหากอยากรู้ว่าทำไมครูกุ้งเลือกมาเป็นครู คงต้องติดต่อสนทนากับท่านดูตามสมควรนะครับ สิ่งที่น่าจะเป็นปัจจัยให้แตกต่างจากครูแนะแนวท่านอื่น คือนอกจากจะทำหน้าที่ครูสอนในโรงเรียนแล้ว ทุกวันพุธตอนบ่าย ครูกุ้งจะไปทำงานด้านการสอบสวน(หรือให้ปรึกษา) เกี่ยวกับปัญหาเยาวชนหญิงที่ศาลจังหวัดมหาสารคามด้วย บ่อยครั้งที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูกุ้ง จะได้ยินตัวอย่างสดๆ จากเรื่องจริง ... ผมตีความว่าสิ่งนี้สำคัญและส่งผลให้การยกตัวอย่างของครูกุ้งมีพลังมากกว่าครูทั่วไปที่ใช้ตัวอย่างจากความรู้มือสอง

BP ของครูกุ้งคือการนำเอาหลัก "จิตตปัญญาศึกษา" มาบูรณาการกับความรู้และทักษะด้าน "จิตวิทยา" ที่ท่านศึกษามา มาใช้ในการออกแบบและดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้น "กระบวนการฐานใจ" ดังจะได้อธิบายในบันทึกนี้ ... ผมสะท้อนว่า กระบวนการเรียนรู้ของครูกุ้ง เป็นองค์ประกอบสำคัญต่อความสำเร็จข้างต้น เพราะกิจกรรม "ฐานใจ" ช่วยเติมเต็มการปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนด้วย "หลักสูตร 3PBL" ของครูเพ็ญศรี (มาเน้นทักษะในศตวรรษที่ 21) ที่เน้นพัฒนานักเรียนด้าน "ฐานกาย" และ "ฐานคิด"

ครูแนะแนว

ครูกุ้งเปรียบนักเรียนเหมือนผ้าขาวบริสุทธิ์ โรงเรียนเหมือนโรงย้อมผ้า แต่ละสาระวิชาเหมือนต่างสีต่างชนิด ความแตกต่างของชนิดผ้าคือปัญหาสำคัญที่ครูต้องใส่ใจรายบุคคล ต้องไม่ "ตรีตรา" ตัดสินโดยไม่ฟังเหตุผล หยุดวิธีพร่ำบ่นแบบเดิมๆ ครูกุ้งบอกว่า

"...ครูทุกคนก็เคยเป็นเด็กนักเรียนมาก่อน สิ่งใดที่นักเรียนกระทำ สื่งที่นอกลู่นอกทาง ผิดระเบียบวินัย การกระทำที่ผู้ใหญ่มองผิดหูผิดตา มักจะมองเป็นสิ่งไม่ดี มีครูสักกี่คนที่เข้าไปถามเหตุผล สำหรับครูแนะแนวแล้ว ทุกพฤติกรรมย่อมมีเหตุผล การพูดคุยการซักถามทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียน ได้เข้าใจในการกระทำมากขึ้น บางครั้งทำให้ครูได้เรียนรู้วิธีคิด วิธีการดำเนินชีวิตของนักเรียนมากขึ้นในมุมที่ต่างออกไป ...หากครูไม่ “ตีตรา” พฤติกรรมที่คาดหวังว่านักเรียนจะต้องได้จะต้องเป็นในสิ่งที่ครูอยากให้เป็นแล้ว การเรียนการสอนที่ย้ำแต่เนื้อหาแล้วครูบอกว่า “ยังสอนไม่จบ สอนไม่รู้จักจำ” แล้วโทษที่สมองของนักเรียน คงจะหมดไป ... "

ครูกุ้งมองว่า การทำงานเป็นครูแนะแนวเป็นเหมือนการปิดทองหลังพระฯ แม้เพื่อนครูหลายคนจะไม่เข้าใจและไม่ตระหนัก หลายคนเห็นเป็นเพียงการสอนเรื่องการศึกษาหรือวิชาชีพ หรือมีไว้เพื่อช่วยนักเรียนที่มีปัญหาเท่าานั้น แต่ท่านก็ไม่พยายามที่จะอธิบาย แต่จะเพียรใช้เวลาที่มีคัดแยกและค้นหารอยสี ผืนผ้าที่มีตำหนิ และเร่งหาวิธีแก้ไขรอยตินั้นก่อนจะฝังแน่นติดผ้าจนแก้ไม่ได้ต่อไป

"...สำหรับครูแนะแนว เปรียบเป็นผู้คัดแยกผ้าที่แต่งแต้มสีสันต่างๆ ส่งตามที่ผ้าเหล่าต้องการหากผ้าผืนใด มีตำหนิ สีผิดเพื้ยน ต้องแก้ไข ปรับปรุงก่อนรอยตำหนิหรือสีผิดเพื้ยน จะเป็นคราบฝังแน่น ติดผ้าไปตลอด..."

วิชาแนะแนว

วิชาแนะแนว ครูกุ้งใช้ชื่อว่า "รายวิชากิจกรรมแนะแนว" จัดการเรียนการสอน ๑๘ สัปดาห์ต่อภาคเรียน สัปดาห์ละ ๑ คาบ ๆ ละ ๕๐ นาที มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะ ๓ ประการ ได้แก่ ๑) เข้าใจ รัก และเห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น ๒) สามารถวางแผนการศึกษา อาชีพ และแผนการดำเนินชีวิตในสังคมได้ และ ๓) สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม อยู่ร่วมกันผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

แรงบันดาลใจในการนำจิตตปัญญาศึกษา มาใช้พัฒนานักเรียนของครูกุ้ง

ครั้งหนึ่ง ตอนกำลังศึกษาปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการศึกษาและการให้คำปรึกษา ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะที่กำลังฝึกอบรมที่ทางภาควิชาจัดขึ้น ในหัวเรื่อง "การเรียนรู้ด้วยใจน้อมนำ...อย่างใคร่ครวญ" (กับอาจารย์มนตรีและอาจารย์ประสาท) ครูกุ้งเกิดความประทับใจในกระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษา ประทับใจในเสียงระฆังญี่ปุ่น เสียงดังกังวานจับใจทำให้ครูกุ้งระลึกถึงความหลังครั้งหนึ่งที่เคยอยากเป็นจิตรกร ความชื่นชอบในงานศิลปะ ความทรงจำที่ลืมไป ผุดหวนคืนกลับมา และตกผลึกกับตนเอง ... นั่นคือจุดเปลี่ยนภายในที่ทำให้ตกผลึกในใจครูกุ้ง ตามที่ท่านเขียนไว้ในหนังสือเล่มเล็ก

  • "จุดหนึ่งเล็ก ๆ ของการเปลี่ยนแปลงภายใน อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิต"
  • ไม่มีคำพูดใด หรือการสั่งสอนใด จะสามารถทำให้ใครเป็นคนดีได้ หากเขาไม่นำเอาไปคิดไตร่ตรอง และนำมาปฏิบัติ

เหตุการณ์นั้นทำให้ครูกุ้งประทับใจใน "กระบวนการเรียนรู้ฐานใจ" และเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำเอาจิตตปัญญาศึกษามาเป็นหัวเรื่องในวิทยานิพนธ์ของตนเอง และนำมาใช้ในการทำงานครูแนะแนวจนเกิดการสอนแนะแนวแนวใหม่ในวันนี้

จิตตปัญญาศึกษากับการพัฒนานักเรียน

หลักจิตตปัญญาศึกษา ที่ครูกุ้งนำมาใช้ แสดงได้ดังแผนภาพที่ แสน (ธีระวุฒิ ศรีมัลคละ) ถอดบทเรียนไว้ดังภาพ

และท่านอธิบายไว้ดังนี้ว่า กระบวนการจิตตปัญญาศึกษา หมายถึง กระบวนการเรียนรู้หรือกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมกระบวนการเกิดการเรียนรู้พินิจ ผ่านประสบการณ์ตรงประกอบด้วย 3 ลักษณะ ดังนี้

  • การรับรู้อย่างลึกซึ้ง หมายถึง การฟังด้วยความตั้งใจเก็บรายละเอียดสิ่งที่ฟังอย่างลึกซึ้งด้วยจิตที่ตั้งมั่น การฟังทั้งหมดไม่ได้มุ่งเน้นให้ตีความหมาย และไม่มีการตัดสินว่าชอบหรือไม่ชอบ

  • การพิจารณาอย่างใคร่ครวญ หมายถึง การเปิดรับสิ่งต่างๆ ด้วยความใส่ใจอย่างลึกซึ้งโดยไม่ตัดสินทำความเข้าใจและตระหนักรู้สามารถเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งกับตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม

  • การเฝ้ามองเห็นตามที่เป็นจริง หมายถึง การทำจิตใจให้สงบ มีสติและสมาธิเกิดการหยั่งรู้ด้วยตนเอง

ดังนั้นกระบวนการวิชาแนะแนว ในแต่ละคาบเริ่มต้นด้วยการฝึกให้นักเรียนฟังให้เป็น โดยครูเล่าเรื่องชวนคิด นิทานคุณธรรม ส่วนบางสัปดาห์นักเรียนเล่าข่าวประจำวัน โดยให้นักเรียนช่วยกันเล่า วิเคราะห์ข่าว เรื่องเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถามคำถามชวนคิดให้นักเรียนสะท้อนความรู้สึก ลำดับต่อมาสอนเนื้อหาตามหลักสูตรวิชาแนะแนว เช่น ทำแบบทดสอบความสนใจในอาชีพ แบบสำรวจบุคลิกภาพ เพศศึกษา ดูคลิปวีดีโอ เรื่องเล่าที่เชื่อมโยงการเหตุการณ์ปัจจุบัน บางครั้งให้ดูคลิปรายการโทรทัศน์ย้อนหลังที่น่าสนใจ ท้ายชั่วโมงให้นักเรียนลองสะท้อนความรู้สึก ได้รับความรู้จากสิ่งที่เรียนมาอะไรบางกิจกรรม ให้นักเรียนสะท้อนตัวตนของนักเรียน บางกิจกรรมสะท้อนภาพรวมเป็นรายกลุ่มกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาจะสอดแทรกในส่วนการฝึกการฟังนักเรียนสะท้อนความรู้สึก ครูจะให้นักเรียนวิพากษ์เล่ามากกว่าการวิจารณ์หรือหาคนถูกหรือคนผิด ไม่ตัดสินหรือกล่าวโทษ

หลักการโดยสรุปมี ๓ ขั้นตอนหลัก ได้แก่ ๑) ฝึกให้ "ฟังเป็น" ๒) ฝึกให้ "คิดเป็น" และ ๓) ฝึกให้เห็นตามเป็นจริง วิธีการมี ๓ ขั้นตอน ได้แก่ ๑) ให้ฝึกฟัง ด้วยเทคนิคหรือสื่อที่หลากหลาย เช่น เล่าเรื่อง เล่าข่าว ให้ดูคลิป เป็นต้น ๒) ให้ฝึกคิดวิเคราะห์ พิจารณาด้วยใจใคร่ครวญ เรียนรู้อารมณ์ ความรู้สึก และกระบวนการของจิตใจตนเอง และ ๓) เปิดโอกาสให้แสดงทัศนคติ สะท้อน "ความเห็น" (ไม่ใช่เพียงความคิด) ภาพประกอบและรายละเอียดมีอธิบายไว้ในหนังสือเล่มเล็ก

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าทั้งหมดนี้ ยังไม่สามารถแสดงหรือสะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยในความสำเร็จของครูกุ้งในฐานะทีมงานของทีมเชียงยืนที่นำความสำเร็จมาสู่ลูกศิษย์ เพราะสิ่งสำคัญคือ "กระบวนการเรียนรู้" ยิ่งเป็น "กระบวนการเรียนรู้ฐานใจ" ที่ครูกุ้งใช้แล้ว เช่น กิจกรรมด้านล่างนี้ ที่ครูกุ้งนำกิจกรรมในเวทีพูนพลังครูเพื่อศิษย์ (อีสาน) ที่ผ่านมา คงต้องให้ครูกุ้งไปลองนำทำกิจกรรมให้ดูล่ะครับ





ขอบูชาคุณครูเพื่อศิษย์อีสานทุกท่านครับ ผมเองในฐานนะเพื่อนร่วมอุดมการณ์ จะหาทางประสานให้งานของท่านขยายออกไปให้มากที่สุดครับ



หมายเลขบันทึก: 612166เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2016 08:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2016 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท