เจาะลึกภารกิจผลิตสื่อดั้งเดิม


สื่อดั้งเดิมหมายถึงสื่อที่มีมานานมากแล้ว เช่น สิ่งพิมพ์ รายการวิทยุ ที่ยังคงความสำคัญไม่น้อยไปจากสื่อใหม่ หรือ New Media

 

 

 

ในระหว่างปรับจัดโครงสร้างภายในงานที่ฉันรับผิดชอบมอบหมาย ฉันพบว่ามีงานสำคัญที่ต้องดำเนินไปเป็นกิจวัตรประจำ หมุนวนในสัปดาห์ แต่รู้สึกดีมาก ๆ ที่เป็นงานของทีม ฉันมักจับเปรียบเทียบภาระหน้าที่นี้กับช่วงเวลาที่มีอยู่ก่อนหน้า ที่เป็นการทำงานเกือบจะเบ็ดเสร็จในคนเดียว สำหรับสิ่งพิมพ์ต่อเนื่องสักชื่อหนึ่งของหน่วยงาน รายการวิทยุรายสัปดาห์หรือรายวัน การดูแลงานเว็บไซต์ด้านประชาสัมพันธ์ หรือการวางแผนและผลิตสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์สำหรับงานกิจกรรมที่มีมาตามรายปีหรือสะดวก แต่มาอยู่ ณ จุดนี้ คนเดียวไม่จำเป็นต้องเก่งไปทั้งหมด (ในที่สุดฉันได้เรียนรู้เป็นเป็ด และพร้อมติดปีกบินตามฝูง)

 

 

 

 


 

 

ภารกิจสำคัญของหน่วยงานด้านประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการผลิตสื่อดั้งเดิมที่มีมานานนับจากการเริ่มต้นก่อตั้งมหาวิทยาลัย นั้นได้แก่สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข่าวสารให้กับกลุ่มเป้าหมายของสถาบัน ในยุคแรกเริ่มมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าได้มีการผลิตสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง ชื่อ วารสาร มช. ปริทรรศน์ รายปักษ์ (เดือนละสองครั้ง) และขยับเป็นรายเดือน นำเสนอข่าวความเคลื่อนไหว ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน เช่น ข่าวบุคลากรการต้อนรับอาคันตุกะที่มาเยือนมหาวิทยาลัย กิจกรรมทางการศึกษา การให้ทุน ประชุม อบรม สัมมนา และดูงาน เป็นต้น พัฒนาการของงานผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย และความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน มีการทดลองรูปแบบสิ่งพิมพ์ใหม่ ๆ ปรับ กำหนดเวลาการเผยแพร่ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน จนกระทั่งมาลงตัวที่สิ่งพิมพ์หลัก ๆ 2 ชื่อ คือ ข่าวสารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รายสัปดาห์ และข่าวสารทองกวาว รายเดือน (ต่อมาปรับเปลี่ยนเป็นรายสองเดือน) ส่วนสื่อวิทยุ ที่มหาวิทยาลัยของฉันมีสถานีวิทยุเป็นของมหาวิทยาลัยเอง ทำให้ภารกิจหลักของการทำงานด้านประชาสัมพันธ์ ต้องดำเนินการ และรายการวิทยุที่รับผิดชอบโดยงานประชาสัมพันธ์ใหญ่ของมหาวิทยาลัยก็ได้มีมานานมากแล้วเช่นกัน คือ รายการวิทยุเรื่องน่ารู้กับมหาวิทยาลัย ออกอากาศวันละ 1 ครั้ง/เรื่อง รวม 5 เรื่องต่อสัปดาห์ และรายการวิทยุที่เป็นเครื่องมือสื่อสารของผู้บริหารโดยตรงอีกสัปดาห์ละ 1 เรื่องราว

นับเป็น 4 ภารกิจสื่อหลัก สำคัญอันดับต้นของการทำหน้าที่นักประชาสัมพันธ์ เพื่อสนับสนุนบทบาทการเป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสาร (Press Center) เพื่อเผยแพร่นโยบายการบริหาร กิจกรรมการดำเนินงานที่สอดคล้องตามวิสัยทัศน์ พันธกิจทุกด้านของมหาวิทยาลัย แก่คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งบรรดานักศึกษาเก่าผู้สนใจ สื่อมวลชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้ได้ทราบถึงการดำเนินกิจกรรมของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ขณะเดียวกันสิ่งดังกล่าวได้ถูกนำไปต่อยอดการดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ อีกมากมาย ได้แก่ สื่อบุคคล สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (เว็บไซต์ แบนเนอร์ Social Media) และสื่อเฉพาะกิจ

แต่ทำอย่างไรให้งานเดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

ฉันเริ่มปักหมุดที่งานเอกสารข่าวรายสัปดาห์เป็นอันดับแรก และค่อยๆ ตามรื้อระบบงานในสื่อหลักที่เหลือ

...ในการดำเนินงานผลิตข่าวสารเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ให้ทันกับการเป็นเอกสารข่าวรายสัปดาห์ จึงมีวงจรการทำงานเอกสารข่าวรวม 52 รอบใน 1 ปี ฉันถอดสมการกระบวนการทำงานออกมาเป็น Flow chart งาน และเมื่อใดที่นั่งพิจารณาโครงสร้าง ก็ทำให้มองเห็นลู่ทางในการขยายต่อยอดงานในแต่ละกล่องหน้าที่ ทำให้มองเห็นโอกาสของคนทำงานในทีมแต่ละคน ๆ ที่จะสามารถพัฒนาตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในงานใดงานหนึ่งได้ด้วย ฉันใช้เวลาทดสอบการมอบหมายงานเพื่อหาคนเหมาะสมในงานแต่ละภารกิจ ก่อนจะปักคนนั้นลงงานที่มั่นใจในคุณภาพผลงาน ฉันคิดว่าฉันมาถูกทางแล้ว เพราะบทเฉลยของโจทย์หลังจากการทำหน้าที่นี้ต่อมาอีก 3 ปี ทำให้ฉันสามารสร้างโมเดลการทำงาน (PRCMU Model) ให้เป็นเหมือนกับพิมพ์เขียวของหน่วยงานของเราเอง

ถึงเวลาเปลี่ยน “ฉัน” เป็น “เรา” แล้วค่ะ

หมายเลขบันทึก: 611097เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2016 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2021 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท