สร้างแผนที่คนดี คุณธรรมนำฯ


                (รายงานพิเศษ โดย บูรพา โชติช่วง ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2549 หน้าที่ 26)

                รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เตรียมจัดทำนโยบายยุทธศาสตร์ตั้งทิศทางใหม่ของสังคมไทย โดยใช้พื้นฐานความสมานฉันท์ของคนไทยทุกกลุ่มเป็นตัวตั้ง ทั้งยึดแนวทางเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม เพื่อสังคมไทยที่ดีงาม นายแพทย์ประเวศ วะสี กล่าวถึงแนวทางดังกล่าว ได้ให้ทรรศนะดังนี้ 

                เมื่อครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี คิดว่าทุกอย่างมาจากฉันคนเดียว เคยเตือนท่านแล้วเมื่อปี 2544 ระวังท่านจะตกโครงสร้างมรณะ เขียนรูปให้ดูด้วย ถ้านายกฯ ใช้อำนาจ 1 ไม่ได้ผล 2 อำนาจอื่นมันตีกลับ แล้วท่านนายกฯ จะต้องตกโครงสร้างมรณะ วิธีการที่ดีควรเปิดพื้นที่ทางสังคมและพุทธิปัญญาให้กว้างขวาง แต่ท่านก็ไม่สนใจ แต่ขณะนี้มันเปิดแล้ว หมายถึงนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ เปิดท้องฟ้าให้สว่าง 

                เป็นแนวทางเสริมสร้างสุขภาพบ้านเมืองของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งแต่เดิมจะเห็นว่าทิศทางเดิมตั้งคำถามไปว่า ทำอย่างไรถึงจะรวยก็จะเห็นว่าคนทำสารพัดอย่าง ค้าเด็ก ค้าผู้หญิง ค้ากำไร สิ่งแวดล้อม นับวันเอากำไรเกินควร จนเกิดคอร์รัปชัน กลายเป็นปัญหาแก้ความยากจนไม่ได้ เพราะมีการเอาเปรียบคนอ่อนแอตลอดเวลา 

                แต่ตอนนี้เราต้องมาตั้งคำถามใหม่ความดีคืออะไร?” ช่วยกันคิด ถ้าตอบได้ช่วยกันตอบ ไม่ใช่ทุกคนไม่รู้ ทุกคนรู้ เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความมีน้ำใจ เหล่านี้เป็นต้น 

                รัฐบาลนี้กำลังตั้งทิศทางประเทศใหม่ โดยใช้ความดีคืออะไร เท่าที่ทราบนายกมีความมุ่งมั่นให้หลายกระทรวง ทั้งกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ กระทรวงกีฬาฯ สำนักนายกฯ และอีกหลายกระทรวง รวมไปถึงสถาบันการศึกษา สื่อมวลชน เชิญมาระดมความคิดกับทิศทางสังคมที่ดีงาม อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของคนไทย 

                นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ได้พูดถึง 3 ยุทธศาสตร์ที่ผ่านมา ผมขอเพิ่มเติมรายละเอียดย่อๆ ลงไป เพื่อให้เห็นรูปธรรมมากขึ้น 

                ยุทธศาสตร์ที่ 1 สังคมไม่ทอดทิ้งกัน เมื่อประกาศเป็นนโยบายแล้วสามารถทำได้ทั้งประเทศภายใน 3 เดือน เพราะเครื่องมือเรามีอยู่แล้ว เงินทองมีอยู่แล้ว ยกตัวอย่างให้ฟัง ในสังคมจะมีคนที่ถูกทอดทิ้ง คนจน คนแก่ คนบ้าบอ ลูกกำพร้า เห็นได้ทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์มีอยู่ตลอด แต่ที่จริงแล้วในประเทศเรามีอาหารอย่างเพียงพอ และส่งออกด้วย 

                เมื่อมองท้องถิ่น เรามีตำบลประมาณ 7,000 ตำบล หมู่บ้านกว่า 70,000 หมู่บ้าน และในตำบลมี อบต. มีประชาคม มีวัด มีโรงเรียนประจำในแต่ละตำบล สมมติว่าตำบลมีจำนวนประชาคม 10,000 คน เราสำรวจภายใน 2 อาทิตย์จะรู้ว่าในตำบลนั้นมีใครถูกทอดทิ้ง 

                ตรงนี้เรามีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขายินดีจะจ่าย 37.5 บาทต่อหัว เมื่อรวมคน 10,000 คนก็เท่ากับ 375,000 บาท อบต.เองยินดีสมทบ 100,000 บาท ตรงนี้ได้มีการพูดคุยกับ อบต.แล้ว เขายินดี ทั้งหมดเป็นเงินเกือบ 500,000 บาท โรงพยาบาลชุมชนยังสมทบอีก และกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ที่จะช่วยเบื้องต้นสำหรับคนที่ถูกทอดทิ้งในตำบล 

                นอกจากนี้ ถ้าคนในสังคมมีสปิริตพอ สามารถเป็นอาสาสมัคร หรือรัฐบาลประกาศเป็นนโยบาย ให้นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจช่วยกัน คนหนึ่งใช้เวลา 2 อาทิตย์ต่อปีเป็นอาสาสมัคร โดยไม่คิดวันลา เพื่อมาช่วยดูแลคนจน คนพิการ และอีกร้อยแปดคนที่ถูกทอดทิ้ง อย่างนักเรียนอาชีวะ พวกเขาทำประโยชน์ในสังคมได้ เมื่อเขาทำก็เกิดความภาคภูมิใจตัวเอง แต่เสียอย่างเดียวคนไทยชอบดูถูกมองเขาไม่มีเกียรติ 

                ยุทธศาสตร์ที่ 2 ความเข้มแข็งของชุมชน ท้องถิ่น และประชาสังคม ไม่มีประชาธิปไตยประเทศไหนที่ปราศจากความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น แต่ประชาธิปไตยของเรายึดเอาส่วนกลาง ลองไปดูประเทศอื่นๆ ท้องถิ่นต้องแข็งแรง อย่างอเมริกาเมื่อแรกตั้งประเทศ ต้องให้ท้องถิ่นเข้มแข็งก่อน จะเห็นว่ามีคำว่า ยูไนเต็ดสเตท คำว่า สเตทคือท้องถิ่น ถ้าเราไม่กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ศีลธรรมก็ไม่มีวันเกิด 

                เรามีพระบาทพระเจ้าอยู่หัว เรามีพระพุทธศาสนามานาน ถามว่า ทำไมศีลธรรมเสื่อม เพราะว่าสัมพันธ์เราเป็นทางดิ่ง ระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้ไม่มีอำนาจ สังคมใดที่เป็นทางดิ่ง เศรษฐกิจจะไม่ดี การงานจะไม่ดี และศีลธรรมจะไม่ดี ฉะนั้นทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความเสมอภาค 

                ที่จะลงมือทำได้เลย คือ แต่ละจังหวัดเรามีผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯ ต้องทำงานร่วมกับประชาสังคม แล้วพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งจังหวัด แต่การพัฒนาที่ผ่านมาเอากรมเอาสำนักเป็นตัวตั้ง ซึ่งกรมบูรณาการไม่ได้ เพราะกรมเล่นเป็นเรื่องๆ เช่น กรมข้าว กรมน้ำ กรมดิน ฉะนั้นตอนนี้ต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ช่วยให้บูรณาการได้ และแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กันได้ ทั้งความยากจน รักษาสิ่งแวดล้อม เรื่องวัฒนธรรม ศีลธรรม ฉะนั้นผู้ว่าฯ และกระทรวงต้องทำงานเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ 

                ยุทธศาสตร์ที่ 3 สังคม คุณธรรม เช่น การศึกษา ควรนำเอาคุณธรรมนำความรู้ แต่เดิมการศึกษาเอาความรู้นำคุณธรรม ขณะนี้ทราบว่าคุณวิจิตร ศรีสะอ้าน รมว.ศึกษาธิการ จะมีการปรับใหญ่หันมาใช้คุณธรรมนำความรู้อีกเช่นกัน เรามีองค์กรศาสนา มีวัดกว่า 30,000 แห่ง ถ้าไปส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรศาสนาก็จะทำให้สังคมมีคุณธรรมมากขึ้น ซึ่งต้องมีการจัดการ 

                พระบางรูป ท่านอาจจัดการไม่เป็น ก็ต้องเอาคนอื่นมาช่วย อาจมาจากคนในชุมชนที่เข้มแข็ง หรือคนนอก ทำวัดให้สะอาด ให้ร่มรื่น มีหลวงปู่สอนกรรมฐาน เพราะเดี๋ยวนี้คนเครียดมากขึ้นจากการทำงาน เมื่อเขาจะกลับบ้าน ก็จะได้แวะไปวัด ไปไหว้พระ นั่งกรรมฐาน จิตใจได้สงบ และวัดควรจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุ เพราะจะเหงาเมื่อเวลาอยู่บ้านคนเดียว ลูกหลานมัวแต่ยุ่งธุรกิจ เมื่อวัดจัดกิจกรรมผู้สูงอายุ พอเช้ามาลูกหลานพาพ่อแม่มาฝากไว้ที่วัด เย็นมารับกลับ 

                ทั้งหมดขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการ ถ้าจัดการเป็นจะเกิดประโยชน์มากมาย บางเรื่องรัฐบาลจัดการไม่เป็น บางเรื่องเอ็นจีโอจัดการไม่เป็น คนที่จัดการเป็นคือนักธุรกิจ ลองนึกภาพดูถ้ามีนักธุรกิจเพื่อกิจการส่งเสริมศาสนาจริง จะช่วยให้วัดและชุมชนมีการจัดการที่ดี ซึ่งขณะนี้มีอยู่แล้วที่เขาพร้อมให้ความร่วมมือ 

                อาสาสมัครและสื่อสาร ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะขยายความดี ถ้าเราไปสอนให้คนทำดี อันนี้ถือว่ายากมาก แต่เมื่อคิดให้ดีความดีมีอยู่แล้ว พ่อก็ใช่ แม่ก็ใช่ คนรอบตัวเราก็ใช่ แต่ก็ไม่มีคนรู้ ฉะนั้นความดีมีอยู่ในพื้นที่ทุกตารางเมตร แล้วเราจะทำอย่างไร เราต้องไปหา และในที่นี้เรามีโรงเรียนกว่า 30,000 โรง ทำโครงการแผนที่คนดีขึ้นมาสิ วัดทุกวัด ชุมชนทุกแห่งทำแผนที่คนดี ที่สุดเราก็จะไปเจอ บางท่านเป็นครู เป็นพระ เป็นชาว บ้าน ข้าราชการ นักธุรกิจแล้วแต่ ก็จะรู้ว่ามีคนดีอยู่ในชุมชน 

                คือเดิม เราไม่มองของดีที่เรามีอยู่ ถ้ามีการทำแผนที่คนดีทั้งแผ่นดิน แล้วเอามาศึกษากันจะรู้ว่าเกิดพลังมหาศาล เดี๋ยวนี้เราศึกษาแต่คนทำชั่ว ใครไปข่มขืนใคร ใครไปฆ่าใคร แต่ความดีมีอยู่เยอะกลับไปค่อยปรากฏทางหน้าสื่อ อย่างที่ไต้หวันมีมูลนิธิคุนจื่อจี๋ มีสถานีโทรทัศน์ของเขาเอง แพร่ภาพ 24 ชั่วโมง ใครทำอะไรดี ใครช่วยใคร นำมาออกอากาศให้เห็น นี่เรียกว่ายุทธศาสตร์การศึกษาของเขา เพื่อขยายความดี ซึ่งบ้านเรามีสถานีโทรทัศน์ แต่ไม่ค่อยนำเสนอ 

                เมื่อมองแนวทางเสริมสร้างสุขภาพบ้านเมืองของรัฐบาลนี้ ดูมีเวลาน้อย ฉะนั้นเราทุกคนในสังคมไทยต้องช่วยกัน เรื่องนี้จะมีการระดมความคิดเห็นกัน มีสื่อประมาณ 100 คน ผู้ทรงคุณวุฒิประมาณ 100 คน และทุกสาขาอาชีพเข้าร่วม ที่ตึกสันติไมตรีในวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2549 นี้ เรามาช่วยกันเพื่อความสงบสุขสังคมไทยที่ยั่งยืน 

                หมายเหตุ นายแพทย์ประเวศ วะสี ให้ทรรศนะแนวทางเสริมสร้างสุขภาพบ้านเมือง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2549 ภายหลังการประชุมคณะกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงวัฒนธรรม

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

17 พ.ย. 49
คำสำคัญ (Tags): #การพัฒนาสังคม
หมายเลขบันทึก: 60708เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2006 18:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท