ทานข้าวไม่ได้แปลว่ากินข้าว : การให้ค่า เวลา การตีตราความถูกผิดในสังคมไทย


ทานข้าวไม่ได้แปลว่ากินข้าว : การให้ค่า เวลา การตีตราความถูกผิดในสังคมไทย

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (26/4/2559)

คำว่า "ทานข้าว" ไม่ได้แปลว่ากินข้าวแต่แปลว่า "ให้ข้าว"

"ทาน" ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ ปี 2554 แปลว่า การให้, มักใช้ประกอบท้ายคำอื่น เช่น ธรรมทาน วิทยาทาน; สิ่งที่ให้ มักหมายถึงเงินหรือสิ่งของที่คนให้แก่คนยากจน ดังนั้นการใชัคำว่า "กินข้าว" จึงเป็นการใช้ที่ถูกต้องแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ "ทานข้าว"

วินทร์ เลียววาริณได้พูดถึงกรณีนี้โดยยกความคิดเห็นของ รงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนนามอุโฆษที่เน้นมากว่า วลี "ทานข้าว" ไม่มีในภาษาไทย มีแต่ "กินข้าว"

จะใช้คำว่า "แดกข้าว" ก็ได้ แต่ต้องในกรณีที่กินเยอะ กินอย่างตะกละ กินอย่างเกินขนาด พจนานุกรมฉบับเดียวกันบอกมาเช่นนั้น แม้จะฟังไม่สุภาพแต่ก็ยังมีความหมายถูกกว่าคำว่า "ทานข้าว"

จะให้สวยงามตามท้องเรื่องก็ใช้คำว่า "รับประทานอาหาร" ไปเลยก็ได้

แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังมองและยอมรับว่า "ทานข้าว" คือสิ่งที่ถูกต้องมากกว่า "กินข้าว" และคือคำสุภาพมากกว่า "แดกข้าว"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เรื่องบางเรื่องที่คนส่วนใหญ่มองว่าถูก แท้จริงแล้วอาจเป็นสิ่งผิดก็ได้ แต่เราก็ยังทำเป็นปิดหูข้างหนึ่ง ปิดตาข้างหนึ่งยอมรับมันว่ามันเป็นสิ่งถูกอยู่ดี

ดังนั้นทุกวันนี้สิ่งที่เรามองว่าถูกต้องอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องจริง ๆ เสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับการให้ค่า ช่วงเวลา และการตรีตราของสังคมมากกว่าความเป็นจริง เช่นคำว่า "ทานข้าว คือคำพูดที่สุภาพกว่า "กินข้าว" หรือ "แดกข้าว"

เรายินดีที่จะทำตาม ๆ กันในสิ่งผิด เพราะสังคมส่วนใหญ่มองว่าเป็นสิ่งถูก แต่เรากลับไม่กล้ายอมรับในสิ่งที่ถูกเพียงเพราะสังคมส่วนใหญ่มองว่าผิด หรือเข้าใจว่ามันถูกยกตัวอย่างคำว่า

อนุญาติ ที่ถูกคือ อนุญาต

สถิตย์ ที่ถูกคือ สถิต

มุขตลก ที่ถูกคือ มุกตลก

สังเกตุ ที่ถูกคือ สังเกต

ปล้นสดมภ์ ที่ถูกคือ ปล้นสะดม

ทะนุทะนอม ที่ถูกคือ ทะนุถนอม

ประดิษฐ์ประดอย ที่ถูกคือ ประดิดประดอย

ที่ตลกที่สุดคือ ถ้าใครก็ตามเห็นต่างกับความคิดหรือความเชื่อของเรา เรามักมองว่าคนนั้นผิด ที่ตลกกว่า เรากลับไม่สามารถยอมรับในสิ่งที่เราผิดในขณะที่แท้จริงแล้วมันคือสิ่งที่ถูก

ประเด็นสำคัญที่สุด อะไรกันแน่ที่จะตีความว่าสิ่งไหนถูกหรือผิด อยู่ที่วิจารณญาน เหตุผล หลักฐาน หรือความงมงายส่วนตน หรือแท้จริงแล้ว ไม่มีสิ่งใดถูกหรือสิ่งใดผิด ไม่มีขาวไม่มีดำ ทุกสิ่งล้วนเป็นสีเทา

เอาเข้าจริง ๆ กาลเวลาและยุคสมัยก็สามารถเปลี่ยนถูกเป็นผิดและผิดเป็นถูกได้เช่นกัน ยกตัวอย่างอักขระวิธีของคนไทยในยุคก่อน สมัยจารึกบนหิน จารบนใบลาน เขียนในสมุดบุด หรือพิมพ์ด้วยหมึก อันเกิดจากหลายปัจจัยเช่น การคัดต่อกัน การเขียนตามการออกเสียง ความผิดเพลาดจากการเรียงพิมพ์ หรืออักขรวิธีสมัยนิยม ทั้งมวลก็ทำให้ขียนผิดแปลกไปจากปัจจุบันได้เช่น

คำ ๆ เดียวเขียนได้หลายแบบ และมีการใช้ตัวอักษรนำต่างกันเช่น ตัว ว. กับ พ. สุวรรณ กับ สุพรรณ ตัว บ. กับ ป. บุตร กับ ปุตร

การใช้ตัวสะกดหรือควบกล้ำเช่น จกก อ่านว่า จัก นกกรยน อ่านว่า นักเรียน

ตัวสะกดและวรรณยุต์ เช่น พ่ อ่านว่า พ่อ หรือ พ่ยู่ อ่านว่า พ่ออยู่ หรือ เสดจ อ่านว่า เสด็จ หรือ เปน อ่านว่า เป็น

การออกเสียงของแต่ละทัองถิ่นเช่น งัว อ่านว่า วัว หมาก เป็นมะ มลาก เป็น มาก

ยิ่งตัวธรรมล้านนาหรือธรรมอีสาน คำคำเดียวเขียนได้หลายแบบ หรือ ประโยคหนึ่งสามารถเขียนให้สั้นได้ คำคลาสสิกที่ชอบยกตัวอย่างคือ "ตูตีเต่าตาย" ท่านใดสนใขลองไปค้นดูเถิด

จากกรณีที่ยกมา อาจารย์ผู้สอนวิชาอ่านจารึกของผมบอกว่า ไม่มีกฎตายตัวนักสำหรับเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับผู้อ่านหรือผู้ถอดความ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบท

แต่จะเอามันสุดแบบตั้งใจพร้อมบังคับเปลี่ยนจาก "ถูก" เป็น "ผิด" ต้องอักขระวิถีสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2485) สมัยนั้ ตั้งใจหลายด้านเลย ทั้งตัดตัวอักษรออกจากระบบเช่น ฎ ฏ ฑ ฒ ณ ศ ษ ฬ ญ รวมถึงตั้งใจเปลี่ยนอักขระวิธีใหม่ จึงทำให้การเขียนออกในรูปประหลาด ๆ เช่นคำว่า กระซวงสึกสาธิการ ประกาสนัยบัตร สแดง วุทธิ

ไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่คนไม่กี่คนก็ทำให้สิ่งที่เคยถูกกลายเป็นผิดได้ อีกทั้งยังบังคับให้คนอื่นผิดตามได้อีกด้วย แสดงว่าถ้าเขียนแบบนั้นในยุคนั้นก็กลายเป็นไม่ผิดไปเลย

จากตัวอย่างที่ยกมาจะเห็นว่าการเขียนผิดหรือถูกจึงหาอะไรมาตัดสินยากนัก เพราะวันหนึ่งที่เคยว่าถูก แต่ผ่านไปอีกวันหนึ่งก็กลายเป็นผิดได้ หาอะไรจีรังยั่งยืนไม่

#ที่สำคัญ แม้รูปแบบ รูปร่างจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ความหมายก็ไม่ควรเปลี่ยนแปลงตาม เช่น การกินข้าว ไม่ควรจะเป็นทานข้าวเช่นกัน

แถมท้าย (อาจเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว แต่อยากนำเสนอ) เรื่องขำขันในวงโต๊ะอาหาร เป็นขำขันเรื่องแรกที่ตีพิมพ์ในประเทศไทย โดยคุณเอนก นิวิกมูลเป็นผู้นำลงไว้ในหนังสือ "เกล็ดสนุกชาวสยาม" เป็นเรื่องในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ ฉบับภาษาไทย (หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย ของหมอลับเลย์) วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2408 เล่มที่ 1 ชื่อเรื่องว่า "ความเตือนอันอ่อน" ดังนี้ครับ

ครั้งก่อนมีขุนนางผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ได้นั่งร่วมกินข้าวกับคนมากมายในปราสาท ในวงมีชายคนหนึ่งที่ชอบพูดมากร่วมด้วย ชายพูดมากนั้นเวลาพูดแต่ละครั้งก็ยกมือไปมาตามคำที่พูด ขุนนางผู้ใหญ่ทนไม่ได้จึงบอกกับชายคนนั้นว่า "มือของท่านเป็นเครื่องรำคาญใจของข้าพเจ้านัก" ชายผู้นั้นจึงบอกว่า "ขอรับกระผม คนแน่นนัก เกล้ากระผมไม่รู้จะเอาไว้ที่ไหนดี" ขุนนางจึงตอบว่า "ถ้าอย่างนั้นก็ยัดไว้ในปากของท่านเสียเถิด"

สุดท้ายนี้ใครมีประเด็นแนะนำเรื่องคำ การใช้คำ หรือความหมายของ กินข้าว ทานข้าว แดกข้าว ผมยินดีน้อมรับครับ

เอกสารประกอบการเขียน

วินทร์ เลียววาริณ. (2558). เขียนไปให้สุดฝัน. กรุมเทพฯ : 113.

วิโรจน์ ผดุงสุนทรารักษ์. (2547).อักษรไทยและอักษรขอมไทย. กรุงเทพฯ : รามคำแหง.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. กรุงเทพฯ : ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์.

รูปภาพเอกสารสมัยจอมพลแปลก พิบูลย์สงคราม จาก reurnthai.com (ค้นเมื่อ 25 เมษายน 2559).

หมายเลขบันทึก: 605696เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2016 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2016 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

..ทุกอย่าง..เปลี่ยนไป..ตาม..วาระ..โอกาศ..เหมือนภาษา..ที่จริง..ก็..ไม่น่า..จะใช้..คำว่าผิดถูก..มาตัดสิน..หากเข้าใจได้ตรงกัน..จะแดก กิน..ทาน..(ก็ได้กินเข้าไปได้เหมือนปากท้องที่ต้องการ..อากัปกริยานี้ของ..สัตว์ผู้มีความหิว..ในสากลโลก..นะ..ยายแอบคิดน่ะ..)

"คน..มันคิด..ต่าง..เห็นต่าง..ทำต่าง"..แม้ว่าจะเดินอยู่บนเส้นทางชีวิตเดียวกัน..และมันเป็นเช่นนั้นเอง..๕

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท