บทเรียนเรื่องการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเอง


การปฏิบัติงานในฐานะนักวิชาการอิสระที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับอนุญาตตั้งแต่ปีพ.ศ. 2556 และเมื่อได้มารับหน้าที่เลขาธิการของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ องค์กรวิชาชีพใหม่ล่าสุดตามกฎหมายวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. 2556 ดิฉันได้ทบทวนและตั้งคำถามกับตนเองอย่างสม่ำเสมอ คำถามที่ใส่ใจค้นหาคำตอบจากประสบการณ์ในระยะสองปีนี้คือการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) จึงขอนำมาทบทวนเป็นบทเรียนการทำงานทางสังคมสงเคราะห์

จากงานประจำสู่ชีวิตเสรีและการทบทวนบทเรียน

การลาออกจากงานประจำเป็นความท้าทายใหม่ของชีวิตที่เต็มไปด้วยความฝันสู่ความเป็นอิสระ ทำงานวิชาการและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้คนที่สนใจงานสังคมสงเคราะห์ มีรายได้พอเลี้ยงชีวิตอยากทำอะไรก็ทำ ไม่อยากทำก็ปฏิเสธไป ไม่มีเป้าหมายอะไรพิเศษ ในช่วงแรกยังคงค้นคว้าประเด็นที่สืบเนื่องจากการที่เคยสอนไว้ในสถาบันการศึกษา เช่นความรู้เรื่องการประเมินและเครื่องมือการปฏิบัติงานสำหรับนักสังคมสงเคราะห์ การอบรมเรื่องการจัดการรายกรณี ( Case Management ) การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิง การเขียนรายงานการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ ( Case Review ) การถอดบทเรียนและการเขียนหลักสูตรอบรมให้กับหน่วยงานต่างๆพร้อมกับการอาสาสมัครช่วยงานสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์และการใช้ชีวิตกับครอบครัวเป็นความท้าทายใหม่แต่ยังคงมีวิถีเดิมที่เต็มไปด้วยงาน.....เต็มหัวสมองที่มองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ผ่อนคลายชีวิตตามที่ใจปรารถนา

ความเป็นมาของการทบทวนตนเองผ่านการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงนั้นเริ่มต้นจากข้อสงสัยเกี่ยวข้องกับคนอื่นไม่ใช่ตนเอง สงสัยว่าเพราะอะไรนักสังคมสงเคราะห์จึงไม่เข้าสู่การเป็นผู้มีใบประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ทั้งๆที่ในช่วงแรกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์กำหนดบทบาทหลักที่จะนำพานักสังคมสงเคราะห์เข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียนและรับอนุญาตเป็นนักสังคมสงเคราะห์ภายในเวลาสี่ปีตามที่บทเฉพาะการของพระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. 2556ได้อนุโลมไว้ สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์จึงมีภารกิจในการอบรมผู้ที่จบวุฒิอื่นแต่ปฏิบัติหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์อยู่ก่อนวันที่มีข้อบังคับของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ การขอรับการประเมินมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับนักสังคมสงเคราะห์เพื่อเป็นเส้นทางสู่การขึ้นทะเบียนและรับอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ต่อมาสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ได้จัดสอบภาคข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์เป็นอีกเส้นทางสำหรับกลุ่มนักสังคมสงเคราะห์น้องใหม่ที่ปฏิบัติงานภายหลังที่ข้อบังคับสภาวิชาชีพมีผลบังคับใช้หรือพี่นักสังคมสงเคราะห์ผู้มากประสบการณ์ก็สามารถเลือกเส้นทางการสอบภาคข้อเขียนได้เช่นเดียวกัน แม้ว่ามีว่ามีวิธีการที่หลากหลายนักสังคมสงเคราะห์อีกบางส่วนยังคงติดอยู่กับคำถาม “มีใบประกอบวิชาชีพแล้วก็ไม่เห็นมีการเปลี่ยนแปลงอะไร หรือได้อะไรแล้วจะเข้าร่วมเส้นทางสู่ใบประกอบวิชาชีพให้เหนื่อยยากทำไม”

การตกหลุมอยู่ในหลุมดำของคำถามที่ไม่ได้ทำให้งานที่รับผิดชอบสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างง่ายดายนั้นทำให้อารมณ์ขุ่นมัวและเบื่อหน่ายผสมโรงกับงานที่เปรียบเสมือนแม่บ้านของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ที่ต้องละเอียดลออกับงานกฎระเบียบ ข้อบังคับ งานที่ต้องเกี่ยวโยงกับระบบราชการซึ่งไม่พิศสมัยที่อยากจะเรียนรู้เท่าใดนักจึงเป็นเหตุให้ตั้งคำถามกับตัวเอง “ฉันลาออกมาจากงานประจำเพื่อมาใช้ชีวิตอิสระ ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ได้เดินทางท่องเที่ยว ดูแลสุขภาพ ไม่อยากทำตัวเป็นเครื่องจักรทำงานหนักตอบสนอง KPIอย่างไร้ชีวิตชีวาได้แล้วแต่ไฉนฉันจึงมารับงานแม่บ้านที่ไม่ถนัดและแวดล้อมด้วยผู้คน กฎระเบียบ ข้อบังคับที่สร้างอารมณ์เชิงลบให้กับตัวเอง”

เส้นทางการค้นหาคำตอบที่จะลดทอนความเบื่อหน่ายและสร้างสุขกับการปฏิบัติงานนั้นเกิดขึ้นจากน้องสาวที่พูดถึงการอบรมที่ “บ้านดิน” เชียงใหม่ว่าเป็นหลักสูตรที่เปลี่ยนมุมมองของชีวิตการทำงานไปพร้อมกับการดูแลสุขภาพด้วยกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้เข้าอบรมและกระบวนการกลุ่มปันประสบการณ์ การกระตุ้นเร้าจิตสำนึกและการคิดเชิงวิพากษ์ จนดิฉันกลายเป็นแฟนคลับของหลักสูตรอบรมต่างๆของบ้านดินที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม”

หลักสูตรที่สร้างให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสำหรับตนเองนั้นชื่อหลักสูตรการให้บริการปรึกษาเพิ่มเสริมพลังอำนาจตามแนวสตรีนิยมที่มีกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญว่า “ผู้ให้บริการปรึกษาต้องมีความเข้าใจสี่ส่วนที่สำคัญและเชื่อมโยงกันคือหนึ่งส่วนหัวซึ่งเป็นเรืองของความรู้ ความเข้าใจและการคิดวิเคราะห์ในเรื่อง บริบทสังคม ระบบและโครงสร้างในสังคม สองหัวใจเป็นเรื่องของความรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก สามมือซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติและการเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเองและการปันประสบการณ์ในกระบวนการกลุ่มกับเหล่าสมาชิกบนพื้นที่แห่งความปลอดภัย ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และสี่ความมั่นคงภายในซึ่งหมายถึงการรู้ตัวและรู้จักตนเองที่รวมถึงการพัฒนาจิตใจ จิตวิญญาณ ปัญญา ความรักความเมตตา และการดูแลสุขภาพกายใจและจิตวิญญาณของคนทำงานเอง” การเรียนรู้ในหลักสูตรนี้ทั้งในฐานะผู้เข้ารับการอบรมและต่อมาเป็นกระบวนกรฝึกหัดตลอดระยะเวลาเกือบสองปีจนกระทั่งจบหลักสูตรแล้วก็ยังคงเป็นกระบวนกรฝึกหัดด้วยว่ายังคงเรียนรู้ตนเอง เรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในจิตใจและจิตวิญญาณของตนเองนั้นไม่สิ้นสุดเพราะใจที่แปรเปลี่ยนและยังไม่เข้าสู่ภาวะความเป็นอิสระที่แท้จริงของชีวิต

จากข้อสงสัยที่มีต่อผู้อื่นแปรเปลี่ยนมาเป็นมุมมองที่มีต่อการรู้จักตนเองและเรียนรู้โลกทัศน์ในใจตนบทเรียนบทแรกจึงเกิดขึ้นด้วยตระหนักว่าการศึกษาที่เน้นแต่เรื่องนอกตัว เรื่องคนอื่น เรื่องทางกายภาพโดยขาดมิติความมั่นคงทางใจหรือจิตวิญญาณนั้นยิ่งทำให้ตนเองขาดความละเอียดอ่อน แข็งกร้าว พอกพูนด้วยอัตตา ยึดมั่นถือมั่นในอำนาจของตน ตัดสินผิดถูกชั่วดีด้วยฐานคติของตนเอง แบ่งแยกทุกอย่างเป็นส่วนเสี้ยวเพื่อง่ายแก่การวิเคราะห์และทำความเข้าใจตามพื้นฐานความเชื่อของทฤษฎีที่ตนยึดถือนั้นไม่สามารถจะแก้ไขหรือขัดเกลาตนเองให้มีความอ่อนโยนหรือให้อภัยตนเองและผู้คนที่แวดล้อมได้

การฟังด้วยหัวใจแห่งความเมตตา เป็นคำตอบที่ตนเองได้รับเมื่อเริ่มฝึกฝนกระบวนการเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน อันที่จริงในฐานะนักวิชาการก็เคยสอนการฟังอย่างลึกซึ้งมาแล้ว เคยอ่านงานเขียนของผู้รู้หลายท่านเรื่องการฟังด้วยหัวใจมาแล้วแต่มันติดอยู่แค่การจดจำและคิดวิเคราะห์ ไม่เคยได้ฝึกฝนและนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของตนเอง ผลของการฟังตามหลักการและเทคนิคข้างล่างนี้จึงไม่ได้รับรู้และเข้าไปอยู่จิตใจของตนเอง

  • ฟังอย่างมีสติ ฟังด้วยหัวใจ ไม่ได้ใช้แค่หูในการฟังเท่านั้น แต่ใช้หัวใจของตนเองด้วย
  • ฟังอย่างไม่ตัดสิน (หรือถ้าจะตัดสินก็เท่าทันหรือเห็นว่าเรากำลังตัดสินอยู่) ไม่ได้ฟังเพื่อตัดสินว่าอะไรถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่
  • ฟังเพื่อร่วมรับรู้ความรู้สึกของผู้พูด เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน อยากจะเข้าไปค้นหาความคิด ความรู้สึก หรือความต้องการที่เขาพูด
  • ฟังเพื่อรับรู้ถึงความรู้สึก ความต้องการของกันและกัน(ตัวเองและอีกฝ่าย) ฟังความคิดของอีกฝ่ายที่อยู่ในจุดยืนที่ต่างจากเรา
  • ฟังและรับรู้ว่าเรากับเขาก็ต่างเป็นคนเหมือนกัน
  • ฟังเพื่อให้เห็นอคติที่เกิดขึ้นในใจของเรา

เมื่อฝึกฝนการฟังด้วยหัวใจอย่างต่อเนื่องสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ตนเองตกใจมากเพราะเห็นอคติที่เกิดขึ้น

รัก-ชอบคนที่เห็นเหมือนหรือมีความคิดคล้ายๆกับเรา สิ่งที่เราเห็นด้วย เกลียด โกรธ ไม่อยากฟัง คนที่เห็นต่างจากเรา ฟังแล้วพบว่าใจของเราที่แปรเปลี่ยนไปทุกครั้งที่เราได้ฟัง เมื่อฟังใครสักคนด้วยหัวใจ ใจของเราก็จะเปิด มีพื้นที่ในหัวใจให้คนอื่นๆและตัวเองมากขึ้นๆ การฟังด้วยหัวใจ มีคุณประโยชน์กับทั้งคนฟังและคนเล่าเรื่อง เป็นพื้นที่แห่งความไว้วางใจ ที่ทั้งสองฝ่ายสร้างขึ้นมาร่วมกัน คนที่ได้รับการรับฟังจะได้ระบายความอึดอัด ความคิดความรู้สึกโดยที่เขาจะไม่รู้สึกว่าถูกตัดสิน ยอมรับเขาได้ตามที่เขาเป็น บางครั้งเขาอาจจะเห็นทางออกได้ด้วยตัวเอง เพราะมีคนฟังเขาด้วยหัวใจ สิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นกับตนเองในฐานผู้รับฟังคือความแปรเปลี่ยนจากความแข็งกร้าวเป็นความอ่อนโยน ความละเอียดอ่อนและซึมซับพื้นที่แห่งความเมตตาในใจตนมากขึ้น เกิดปัญญาเป็นรางวัลของการฟังด้วยหัวใจ

บทเรียนบทที่สองหากจะบอกว่าทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์กันนั้น การฟังด้วยหัวใจก็ย่อมสัมพันธ์ยึดโยงกับสติรู้ตัว การฝึกฝนรับรู้กายและใจผ่านประสบการณ์การปฏิบัติโยคะเป็นอีกบทเรียนที่เพิ่มพูนความมั่นคงภายในที่เป็นฐานรากสำคัญของชีวิตคนทำงานกับความทุกข์ยากของผู้คนที่เปราะบางซึ่งต้องมีความอดทน ความเพียรพยายาม การมีสติรับรู้ตนเองอย่างซื่อตรงและสุขภาพกายที่แข็งแรง โยคะเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการฝึกฝนตนเองที่มีเป้าหมายในการพัฒนากาย อารมณ์ และบุคลิกภาพสู่ความสงบ สมดุลทั้งในใจตนเองและสิ่งแวดล้อม การฝึกฝนโยคะทำให้มีสติรับฟังและโอบอุ้มอารมณ์ความรู้สึกของมวลมิตรผู้ทุกข์ทนได้ดีเช่นเดียวกับทำให้ผู้ฝึกฝนเท่าทันอารมณ์ความคิดของตนเองมากขึ้น

การฝึกฝนการฟังด้วยหัวใจแห่งความเมตตาและการฝึกโยคะเป็นการสร้างฐานรากของความมั่นคงทางจิตวิญญาณซึ่งได้จากการทบทวนฝึกฝนเรียนรู้ซ้ำๆหลายครั้งด้วยความอดทนและตั้งมั่น จนเกิดความซื่อสัตย์ต่ออารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ละวางตนเอง เคารพและเข้าใจคุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ตระหนักถึงความแปรเปลี่ยน ความไม่แน่นอนของธรรมชาติซึ่งทำให้ความเป็นตัวตนเล็กลง เรียนรู้และมีสติปัญญามากขึ้น เกิดความอ่อนน้อมถ่อมตนและกลับมาใส่ใจกับคนรอบข้างมากขึ้น มีความสุขเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากความมั่นคงภายในจิตใจตนเอง

บทเรียนที่สามเป็นบทเรียนที่ตอกย้ำความเชื่อมั่นต่อการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่สามารถสร้างองค์ความรู้ให้กับเจ้าของประสบการณ์เป็นความรู้ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจมากกว่าการหยิบยืมความรู้มาจากผู้รู้ท่านอื่น ทำให้ผู้ที่เรียนรู้มีพลังอำนาจเพิ่มขึ้นจากการเป็นผู้สร้างและตีความประสบการณ์ของตนเองเป็นความรู้ จากประสบการณ์เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ทบทวนและสะท้อนคิดภายในกลุ่มกัลยาณมิตร บนพื้นที่แห่งความปลอดภัย กลุ่มเรียนรู้มักได้องค์ความรู้ที่เสริมสร้างพลังและคุณค่าในตนเอง ความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้คนในกลุ่มสนทนาทำให้เราวิพากษ์และต่อยอดการเรียนรู้ได้อย่างตรงไปตรงมาและซื่อสัตย์ต่อตนเองซึ่งเป็นพลังคุณค่าที่เสริมสร้างความมั่นคงภายในได้อย่างสงบแต่ทรงพลัง

บทเรียนที่สี่เป็นการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มกัลยาณมิตรที่มีหัวใจของการแบ่งปันและรับรู้ทุกข์สุขและสร้างความพื้นที่เสรีแห่งความแตกต่างทว่ายอมรับอย่างซื่อตรง ปราศจากอคติ และรับรู้เท่าทันความเป็นจริงของชีวิต กลุ่มกัลยาณมิตรเหล่านนี้จะทำตนเปรียบเสมือนกระจกเงาที่สะท้อนคิดให้เพื่อนได้มีปัญญาที่พอกพูนขึ้น การที่คนเราเก็บกดอารมณ์เชิงลบไว้นานๆโดยไม่มีพื้นที่ให้ระบายออกนั้นเป็นการเพาะเชื้อความรุนแรงไว้ในตนแต่หากมีคนที่ไว้ใจรับฟังอย่างไม่ตำหนิไม่พิพากษาเป็นกระจกเงาให้เพื่อนผู้ทุกข์ได้ทบทวนตนเองนับเป็นการช่วยเหลือที่หาได้ยากในปัจจุบันที่ผู้คนมีหัวใจเป็นเครื่องจักรกลคิดวิเคราะห์ พิพากษา ตีตราคนอื่นๆตลอดเวลา การมีกลุ่มกัลยาณมิตรรับฟังด้วยหัวใจแห่งความเมตตาจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างการเรียนรู้และเติมพลังความเข้มแข็ง

บทเรียนที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นยืนยันว่าการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) เริ่มจากการใคร่ครวญวิพากษ์ประสบการณ์เรียนรู้ของตนเองที่เน้นความรู้จากภายนอกมาสู่เน้นการเปลี่ยนแปลงสู่ความเข้าใจใหม่ ในระดับจิตใจ และจิตวิญญาณ การยอมรับถึงความจริงของความเปลี่ยนแปลง อันมีเหตุมีปัจจัยเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียว เกิดความไว้วางใจ เกิดความรัก และพร้อมที่จะเปิดรับและมุ่งมั่นสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องด้วยการค้นหาทางเลือกและการวางแผนการกระทำใหม่จนกลายเป็นเนื้อเดียวกันของชีวิต ณ ปัจจุบัน ( Jack Mezirow) http://www.lifecircles-inc.com/Learningtheories/humanist/mezirow.html

จากบทเรียนส่วนบุคคลสู่บทเรียนวิชาชีพ

การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นเนื้อเดียวกันของชีวิต ณ ปัจจุบันนั้นทำให้ผู้เขียนดำเนินชีวิตได้อย่างสงบนิ่งอย่างมากขึ้นแม้ยามมีคลื่นอารมณ์ความรู้สึกผันผวนเข้ามาปะทะก็สามารถรับรู้และจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นอย่างอ่อนโยน ไม่เกรี้ยวกราดหรือเก็บกดให้เป็นตะกอนความทุกข์สะสมเหมือนที่ผ่านมา มีปัญญาแก้ไขปัญหาและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

การให้บริการปรึกษาเพิ่มเสริมพลังอำนาจตามแนวสตรีนิยมเป็นหลักสูตรแรกที่ผู้เขียนได้ฝึกฝนใช้เทคนิคการเรียนรู้จากประสบการณ์และตระหนักถึงพลังคุณค่าของการเรียนรู้แนวนี้ ขณะนี้ได้พยามจัดรูปแบบการอบรมการเรียนรู้จากประสบการณ์ในหลักสูตรการประเมินและเครื่องมือการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ และหลักสูตรอื่นๆ ในช่วงทดสอบการใช้เทคนิคการเรียนรู้นี้เป็นความสุขและความท้าทายใหม่ของผู้เขียนที่คาดว่าจะมีหลักสูตรที่ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้พัฒนาการคิดวิเคราะห์ วิพากษ์ การรับรู้และเท่าทันอารมณ์ความรู้สึก และความสามารถในการปฏิบัติได้จริงบนพื้นฐานของจิตวิญญาณของการเรียนรู้

ท้ายนี้ขอขอบคุณกัลยาณมิตรมวลหมู่เพื่อนร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้และขอบคุณอาจารย์อวยพร เขื่อนแก้วและทีมงานแห่งศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม จังหวัด เชียงใหม่ รวมทั้งแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ ( สสส.)

หมายเลขบันทึก: 604633เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2016 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2016 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท