สานฝันคนสร้างป่า : กล้าคิด กล้าวิเคราะห์ และกล้าเปลี่ยนแปลง (หน้างาน)


สะท้อนถึงการ “พัฒนาโจทย์บนความต้องการของชุมชน” แบบมีส่วนร่วมที่นิสิตต้องทำการบ้านให้รอบคอบมากยิ่งขึ้น โดยต้องคิดวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้รอบด้านให้ได้มากที่สุด และที่น่าสนใจอีกประเด็นก็คือความกล้าในการที่จะปรับเปลี่ยนแผนงานกิจกรรมบนฐานของการมีส่วนร่วม เพราะถ้าไม่มีศิลปะและเหตุผลในการพูดคุยกับชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่า “ดีไม่ดี-ค่ายคงล่ม”


จากบันทึกก่อนหน้านั้น (สานฝันคนสร้างป่า : "รับน้อง" สร้างสรรค์บนฐาน "เรียนรู้คู่บริการ") ผมยังมีเรื่องที่อยากจะเล่าต่ออีกสักเรื่องสองเรื่อง

โดยเฉพาะการรับมือกับสถานการณ์เฉพาะกิจหน้างานที่ไม่อาจรู้ล่วงหน้ามาก่อน เพราะนี่คือทักษะอันสำคัญของการใช้ชีวิต รวมถึงการเป็นหัวใจสำคัญที่ “กิจกรรมนอกหลักสูตร” (กิจกรรมเสริมหลักสูตร : กิจกรรมนอกชั้นเรียน) พึงปรารถนาบ่มเพาะให้มีในตัวตนของนิสิต




เดิม-ชมรมสานฝันคนสร้างป่า ออกแบบกิจกรรมว่าด้วยการบริการสังคม 2 กิจกรรม กล่าวคือ จัดทำ “โป่งเทียม” ไว้ในพื้นที่อันเป็นรอยต่อของชุมชนกับพื้นที่ป่าในการกำกับของศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าห้วยกุ่มและการจัดทำ “ฝายชะลอน้ำ” (ฝายแม้ว) ไว้ในเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ

จากคำบอกเล่าของแกนนำค่าย/แกนนำชมรมฯ ยืนยันตรงกันว่า เบื้องต้นเจตนาอยากทำฝายชะลอน้ำไว้ในพื้นที่ของชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ในห้วงของการพูดคุยกันนั้น แกนนำชุมชนยืนยันว่าอยากให้ทำโป่งเทียมเสียมากกว่า

ด้วยเหตุนั้น นิสิตจึงกลับมาขบคิดกันในองค์กร ก่อนที่จะตัดสินใจ “ไปค่าย” บนความต้องการของชุมชน







วันจริง : วิเคราะห์ซ้ำ เปลี่ยนกิจกรรมกันหน้างาน

เอาเข้าจริงๆ ยากยิ่งไม่ใช่ย่อยกับการที่จะสามารถทำงานได้ตรงตามแผนที่วางไว้ ซึ่งค่ายครั้งนี้ก็เผชิญปัญหาเช่นนี้เหมือนกัน โชคดีที่พวกเขากล้าคิด กล้าวิเคราะห์ และกล้าเปลี่ยนแปลง ! และเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์อย่างน่าชื่นใจ

กล่าวคือ .....

ชุดเตรียมค่ายมุ่งหน้าฝังตัวในชุมชนตามครรลองของค่ายอาสาฯ ครั้นพอได้สัมผัสจริงกับสถานการณ์ในชุมชน กลับพบว่าจุดที่จะทำ “โป่งเทียม” นั้นสุ่มเสี่ยงอยู่หลายเรื่อง เป็นต้นว่า เป็นพื้นที่ทับซ้อน หรือคาบเกี่ยวระหว่างชุมชนกับพื้นที่ป่าของศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าห้วยกุ่ม ซึ่ง ณ วันที่ไปสำรวจค่าย นิสิตพบเจอแต่เฉพาะชุมชน แต่ไม่ได้เชื่อมโยงไปยังเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงไม่หยั่งลึกข้อมูลที่ว่าด้วยเรื่องพื้นที่ทับซ้อน –

ด้วยเหตุนี้ นิสิตจึงเปิดใจคุยกับชุมชนอีกรอบ เพราะเกรงว่า หากทำโป่งเทียมขึ้น ณ จุดที่ว่านั้น เกรงจะเป็นเสมือนหลุมพรางล่อสัตว์ออกมาเข้าทางปืนของผู้มีเจตนาไม่ดี ลำพังไม่มีโป่งเทียม สัตว์ป่าก็ออกมากินน้ำแถวนี้ อีกทั้งแถวนี้ก็มีไร่สวนจำนวนมาก ซึ่งก็ล่อตาล่อใจสัตว์ป่าอยู่แล้ว !





มองในมุมนี้- ผมเห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างที่สุด อีกทั้งต้องขอชื่นชมนิสิตชุดเตรียมค่ายเป็นอย่างยิ่งที่หาญกล้าที่จะวิเคราะห์ สังเคราะห์ วิพากษ์ รวมถึงการกล้าเปิดเวทีหารือกับชุมชนอย่างบริสุทธิ์ใจ รวมถึงการเชื่อมประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาร่วมคลี่คลายร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

ในที่สุด – นิสิตและชุมชนก็เห็นพ้องที่จะละทิ้งการทำโป่งเทียมในเขตรอยต่อชุมชนกับป่าสงวน โดยหันกลับมาทำฝายชะลอน้ำในชุมชนเหมือนเดิม ส่วนโป่งเทียมให้เข้าไปทำในเขตศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าห้วยกุ่มแทน...




ผมว่าตรงนี้แหละน่าสนใจ เนื่องจากได้สะท้อนถึงการ “พัฒนาโจทย์บนความต้องการของชุมชน” แบบมีส่วนร่วมที่นิสิตต้องทำการบ้านให้รอบคอบมากยิ่งขึ้น โดยต้องคิดวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้รอบด้านให้ได้มากที่สุด และที่น่าสนใจอีกประเด็นก็คือความกล้าในการที่จะปรับเปลี่ยนแผนงานกิจกรรมบนฐานของการมีส่วนร่วม เพราะถ้าไม่มีศิลปะและเหตุผลในการพูดคุยกับชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่า “ดีไม่ดี-ค่ายคงล่ม” เป็นแน่

ครับ-เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเอามากๆ ผมจะไม่ขอลงรายละเอียดมากในประเด็นเหล่านี้ เอาเป็นว่า นี่คือบทเรียนของการสำรวจค่ายและพัฒนาโจทย์ของงานค่ายอาสาฯ ที่ต้องทำการบ้านและลงลึกถึงข้อมูลให้มากที่สุด รวมถึงชุดความรู้ที่ว่าด้วยการปรับแต่งความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้ค่ายสามารถเดินต่อได้ ไม่ใช่คุยกันไม่เคลียร์ จนค่ายไม่สามารถเกิดขึ้นได้ !






เรียนรู้แบบมีส่วนร่วม : หัวใจของการทำงานค่าย

ภายหลังการหารือร่วมกับภาคฝ่าย หรือเรียกเป็นทางการว่า “ปรับความคาดหวัง” เสร็จสิ้นแล้ว ชาวบ้านก็พานิสิตเดินลัดเลาะสำรวจทางน้ำเพื่อชี้ยุทธศาสตร์ของการทำฝายฯ พร้อมๆ กับการให้ความรู้ถึงนิเวศวัฒนธรรมทั้งหมดที่เกี่ยวโยงกัน เพื่อให้มั่นใจว่าฝายชะลอน้ำที่จัดทำขึ้นจะสามารถเกิดประโยชน์ได้จริงต่อชุมชน ผืนป่า และสัตว์ป่า รวมถึงเทคนิคของการทำฝายชะลอน้ำ การหนุนเสริมอุปกรณ์ ช่วยเป็นลำเลียงทรายไปยังจุดทำฝายร่วมกับนิสิต ฯลฯ

เช่นเดียวกับการเข้าไปทำโป่งเทียมในเขตศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าห้วยกุ่ม จำนวน 4 จุด นิสิตก็ได้เจ้าหน้าที่นั่นแหละเป็น “พี่เลี้ยง” หรือกระทั่ง “เจ้าภาพร่วม” เริ่มตั้งแต่การชี้จุด การให้ความรู้เรื่องป่าและสัตว์ป่า ควบคู่ไปกับการให้ความรู้เรื่องแนวทางของการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่า ตลอดจนการช่วยเหลือเรื่องอุปกรณ์และพาหนะในการเดินทางเข้าสู่ยุทธศาสตร์ของการทำโป่งเทียม

นอกจากนั้นยังให้ความรู้แก่นิสิตเกี่ยวกับการทำโป่งเทียมเพิ่มเติม ซึ่งนิสิตบางคนอาจรู้แล้ว แต่หลายๆ คนยังไม่รู้ เช่น การทำโป่งเทียวนั้น ห้ามฉีด หรือชโลมกายด้วย “น้ำหอม” ทุกยี่ห้อ เพราะเมื่อมีเหงื่อแล้ว เหงื่อจะผสมกับน้ำหอมแล้วไหลย้อยลงในบริเวณที่ทำโป่ง ทำให้มีกลิ่นติดอยู่ตรงนั้น ส่งผลให้สัตว์ป่า “ผิดกลิ่น” และไม่เข้ามา “กินโป่ง”

เรียกได้ว่า “ทำแล้วเสียของ” ดีๆ นั่นเอง






เปิดใจกลางทาง : ถักทอวันเวลาที่เหลืออยู่ให้ดีที่สุด

ค่ายนี้ ไม่ได้ “เปิดใจ” ในวันสุดท้ายเหมือนค่ายทั่วไป หากแต่เปิดใจกันระหว่างทางก็ว่าได้ เพียงเพราะต้องการให้แต่ละคนได้รับรู้เรื่องราวของกันละกันบน “บริบท” อันเป็น “หน้างาน” จริงๆ ร่วมกัน เพราะต้องการให้นิสิตได้ใช้เวลาที่เหลือในค่ายปรับแต่งตัวเอง เปิดใจรับฟังผู้อื่น เปิดใจรับรู้ความเป็นตัวตนของเพื่อน และนำเข้าสู่การถักทอสายสัมพันธ์ในวิถีค่าย มิใช่รอวันสุดท้ายแล้วเปิดเปลือยความรู้สึกตัวเอง ซึ่งบางทีแยกย้ายจากค่ายแล้วอาจยุ่งยากต่อการสานสร้างมิตรภาพกันได้อีก จนในที่สุดก็เลือนหายไปตามกระแสธารกาลเวลา

ว่าไปแล้ว- ผมว่าตรงนี้สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ การเปิดใจกลางทางเช่นนี้ก็คือการ “สรุปงาน” (AAR) ระหว่างทางที่น่าสนใจ เสมือน “ตีเหล็กในห้วงที่กำลังร้อนๆ” เพราะจะช่วยให้สามารถแก้ไข หรือต่อยอดสิ่งดีๆ ในห้วงเวลาที่อยู่ของค่ายได้อย่างทรงพลัง ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ได้ทั้งคนและงานไปพร้อมๆ กัน...




นี่อาจจะหมายถึงรูปแบบค่ายที่ไม่ตายตัว – ใช่ครับ ผมว่าอะไรๆ ไม่ตายตัว ทุกอย่างในวิถีค่ายอาสาไม่มีสูตรสำเร็จ ทุกอย่างล้วนสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ขอแค่ชัดเจนว่า ...

  • คิดอะไร ปรับเพราะอะไร ปรับอย่าไร”
  • จากนั้นต้องไม่ลืมที่จะ “ติดตาม” ว่า..”เมื่อปรับเปลี่ยนแล้ว ก่อเกิดมรรคผลเช่นใด เป็นไปตามวัตถุประสงค์กี่มากน้อย” เท่านั้นเอง

ส่วนจะมีการเปิดใจ (สรุปบทเรียน) ในวันสุดท้าย หรือกลับจากค่ายแล้วมาสรุปกันที่มหาวิทยาลัยอีกรอบก็ไม่ผิด ยิ่งทำซ้ำบ่อยๆ ยิ่งดี เพราะจะช่วยให้เกิดการตกผลึกทางความคิดและความรู้ หรือกระทั่งทักษะและทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ในฐานะของนิสิต-นักกิจกรรม-พลเมืองของสังคม



เหนือสิ่งอื่นใด

ผมไม่รู้จะปิดประเด็นค่ายนี้อย่างไร แต่ที่แน่ๆ ค่ายนี้ตอบโจทย์เรื่องการเรียนรู้กิจกรรมนอกหลักสูตร (กิจกรรมเสริมหลักสูตร : กิจกรรมนอกชั้นเรียน) ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ค่ายครั้งนี้ โดยส่วนตัวผมมองว่านิสิตได้เรียนรู้และเกิดทักษะหลายๆ ประการในสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ไม่อาจล่วงรู้ หรือคาดเดาล่วงได้เป็นอย่างดี ทั้งการคิดวิเคราะห์ การวิพากษ์ การตัดสินใจ การสื่อสารสร้างสรรค์ การประนีประนอม การวางแผน การลงมือทำแบบมีส่วนร่วม ฯลฯ

เช่นเดียวกับประเด็นของการสำรวจค่ายที่ต้องหยั่งให้ลึกถึงประเด็นอันเป็นโจทย์ หรือปัญหาที่นิสิตชาวค่ายฯ ปรารถนาที่จะเป็นส่วนหนึ่งกับการจัดกิจกรรมบริการสังคมในแบบ “ค่ายเรียนรู้คู่บริการ” ซึ่งการเป็น “อาสาสมัคร” (จิตอาสา-จิตสาธารณะ) ต้องเรียนรู้และไปให้ถึง หรืออย่างน้อยก็ไปให้ได้ไกลที่สุดเท่าที่จะไปได้

ผมให้กำลังใจ นะครับ




แหล่งข้อมูล

  • ประสานงาน/กองกิจการนิสิต : รุ่งโรจน์ แฉล้มไธสงค์ เยาวภา ปรีวาสนา
  • โครงการสานฝันสานสัมพันธ์น้องพี่สามัคคีคืนป่า ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 15-19 ธันวาคม 2558 ณ บ้านน้ำทิพย์ ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ. โดยชมรมสานฝันคนสร้างป่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
หมายเลขบันทึก: 604145เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2016 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2016 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

Salute to all students involved.

They dared to change the world, and dared to be changed by the real world.

สมัยผมเรียน ได้มีโอกาสเข้าค่ายลักษณะนี้บ่อยมาก ส่วนตัว ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ทั้งทักษะการใช้ชีวิต การทำงานร่วมกับคนอื่น การเสียสละ การอดทน และการแก้ไขปัญหา และอื่น ๆ ทักษะเหล่านี้ ไม่อาจเกิดได้จากการเรียนการสอนในห้องเรียน ปัจจุบัน ผม เห็นการทำค่ายน้อยลงไป ดังนั้น จึงขอชื่นชมในการสร้างกิจกรรมนี้ ในใจ อยากจัดค่ายสิ่งแวดล้อมสัญจรเช่นกัน แบบค้างคืนในพื้นที่เลย เด็ก ๆ จะได้มีทักษะของการใช้ชีวิตที่สมบูรณ์ขึ้นครับ

ชอบกิจกรรมแบบนี้มากครับ...

ที่อาจารย์แสดงมาถูกต้องทุกอย่าง การทำงานของนิสิตต้องพิจารณาถึงการมีส่วนร่วม บทบาทหน้าที่ ผลงานของทุกฝ่าย มิให้มีผลกระทบในทางไม่ดีต่อหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใด แม้แต่ชาวบ้าน ที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ก็คำนึงถึงเรื่องต่างๆ เหล่านี้ตลอด

สนใจเรื่องการทำโป่งเทียมมากครับ เป็นความรู้ใหม่ที่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งเช่นกัน อาจารย์มีข้อมูลที่เขียนไว้บ้างหรือเปล่าครับ

ขอบคุณมากครับ

ให้ความหวังสดใสไปยาวไกล .... เพื่อสังคมไทย

ทำไป ปรับไป เรียนรู้ไป .... ไม่สิ้นสุดนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท