AAR ของการจัดกระบวนการเรียนรู้ R2R


เมื่อไรถ้าเราขับเคลื่อน R2R เพื่อต้องการความเป็นเลิศทางการวิจัยจากการทำ R2R นั่นแสดงว่ากระบวนการเริ่มไปยัดเยียดความทุกข์ให้กับเขาแล้ว นอกจากจะทุกข์จากงานประจำแล้วยังจะต้องมาทุกข์จากการทำ R2R เพิ่มเข้าไปอีก


สายธารแห่งการเรียนรู้

เวลาที่จัดกระบวนการเรียนรู้ข้าพเจ้ามักจะเริ่มต้นมอง "ต้นน้ำ--->สายธาร--->ปลายน้ำ" กระบวนการเรียนรู้ควรลื่นไหลเป็นดั่งสายธาร

บนฐานของการจัดการความรู้และกระบวนการเรียนรู้ ควรมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและความคิดเห็นที่ถูกต้องในเรื่องที่เรากำลังเรียนรู้ พูดง่ายๆ ก็คือ มีแรงบันดาลใจและทัศนคติที่ถูกต้องกับเรื่องที่กำลังเรียนรู้

Phase I หรือต้นน้ำ:

นำมาซึ่งความตื่นรู้และเกิดแรงบันดาลใจ ต่อความเข้าใจในเรื่องการนำ R2R มาต่อยอดพัฒนางาน

เป็นการให้ความหมายผ่านตัวผู้เรียนเอง สะท้อนถึงการรับรู้ ตีความ และความเข้าใจของผู้เรียนที่มีต่อ R2R ว่ามีคุณค่า มีความหมายอย่างไรต่อคนทำงานโดยที่ข้าพเจ้าไม่ต้องบรรยายหรืออธิบายมากแต่อาศัยเรื่องราวต้นแบบผ่านวีทีอาร์เปิดให้ผู้เรียนชม ใช้เทคนิคการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Share&Learning) มาเป็นเครื่องมือในกิจกรรม

จากนั้น...กระบวนการนำมาสู่การทำความเข้าใจในงานตนเองและสะท้อนออกมาเพื่อใคร่ครวญและช่วยกันมอง โดยเฉพาะหากเป็นคนนอกที่ไม่เคยได้เข้าไปสัมผัสอาจมองเห็นอะไรที่ต่างออกไปช่วยสะท้อนคืนข้อมูลกลับสู่กันระหว่างกันได้

ซึ่งเทคนิคที่ข้าพเจ้านำมาใช้คือ สุนทรียสนทนา (Dialogue) เป็นการทำความรู้จักตนเอง รู้จักกันและกันผ่านการเล่าเรื่องความสำเร็จในงาน (success story sharing) ข้าพเจ้ามีความเชื่อว่าการที่คนเราได้พูดเรื่องความสำเร็จมันทำให้หัวใจนี้ชุ่มช่ำมีกำลังใจและมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนเองได้ทำผ่านมา จากนั้นค่อยค้นหาอุปสรรคหรือ GAP ที่ยังมีเหลืออยู่

จาก GAP ที่มองเห็นเลือก/ตัดสินใจนำ GAP ที่ต้องอาศัยกระบวนการหรือวิธีการทางวิจัยมาแก้ไข

อยู่ในวิสัยที่คนหน้างานแก้ไขได้...จากนั้นก็นำมาสู่กระบวนการเรียนรู้การตั้งคำถามการวิจัย(Research Question) โดยอาศัยเทคนิค PICO เข้ามาช่วย

Please II หรือห้วงน้ำระยะที่สอง ;

"การเปลี่ยนแปลงและเชื่อมต่อ"... จากระยะที่หนึ่งข้าพเจ้าจะทิ้งระยะห่างประมาณหนึ่งเดือนเป็นช่วงเวลาที่คนหน้างานหรือผู้เรียนกลับไปทำความเข้าใจในงานตนเองให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น GAP ที่มองเห็นอาจจะไม่ใช่เมื่อย้อนกลับไปทบทวนและใคร่ครวญในงาน ความรู้ที่ปรากฎในการเรียนรู้เฟสแรกจะไปตกผลึกมากขึ้นเมื่อกลับไปสู่สถานการณ์จริง...

ระยะห่างหนึ่งเดือนการกลับมาเจอกันคล้ายมาสะท้อน...ทบทวน ใคร่ครวญและเพื่อให้การก้าวย่างชัดเจนและมั่นคงขึ้น จากนั้นกระบวนการเรียนรู้ก็จะก้าวไปสู่การค้นหากิจกรรมที่จะแก้ไขหรือพัฒนา GAP ที่เจอ(Intervention) ภายใต้การเรียนรู้แบบช่วยเหลือกัน(collaboration) ผ่านเทคนิค Share&Learning ซึ่ง Intervention ที่ได้ออกมาอาจเป็นเพียงตุ๊กตาที่ถูกร่างขึ้นมา...และค่อยไปทำให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น

จากนั้นค่อยมาเรียนรู้และทำความเข้าใจว่าในงาน R2R ครั้งนี้จะใช้รูปแบบการวิจัยแบบไหนจึงจะเหมาะสม และส่วนมากข้าพเจ้ามักจะไม่พูดแบบหว่านแหแต่จะเจาะจงลงไปเลย เมื่อได้เห็นคำถามการวิจัยจากเฟสแรกแล้วพอจะคาดเดาได้ว่าน่าจะมีรูปแบบการวิจัยแบบไหน

จากประสบการณ์การเรียนของตนเองที่ผ่านมาและจากการทำวิจัย นักวิจัยจะค่อยๆไต่ความรู้ความเข้าในเรื่องระเบียบวิธีวิจัย(Research Methodology)ผ่านการลงมือทำวิจัยในแต่ละเรื่อง ดังนั้นจึงดูเหมือนเป็นความสูญเปล่าถ้าหากเราจำพร่ำสอนแต่ทฤษฎีแบบทั้งหมดพอนำไปสู่การปฏิบัติจริงผู้เรียนกลับทำไม่ได้และไม่เข้าใจ ไม่สามารถดึงข้อมูล(Data) จากทฤษฎีมาสู่การปฏิบัติได้...แต่ถ้าเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้แบบ"เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ" (Learning by Doing)แล้วผู้เรียนจะมีความเข้าใจลึกซึ้งและสามารถเชื่อมโยงการปฏิบัติของตนเองไปเทียบเคียงกับทฤษฎีชัดเจนขึ้น

Please III หรือห้วงน้ำระยะที่สาม ;

กิจกรรมที่ได้ออกแบบขึ้น(Intervention)ในเฟสที่สอง ข้าพเจ้าเชื่อว่าระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือนจะนำไปสู่การได้ทดลองใช้ในสถานการณ์จริงในหน้างาน มองเห็นความเป็นไปได้หรือมองเห็นสิ่งที่จะต้องเพิ่มเติม เรียนรู้กันแบบของจริงเลย...เมื่อกลับมาสู่การเรียนรู้ระยะที่สามก็มาช่วยกันในกลุ่มสะท้อนและปรับปรุงให้เหมาะสม แม้ว่าในกลุ่มจะมีบริบทหน้างานที่แตกต่างกัน แต่กระบวนการเรียนรู้ผ่านเทคนิคแลกเปลี่ยนเรียนรู้(Share&Learning) จะช่วยเติมเต็มระหว่างกันได้

เมื่อการออกแบบกิจกรรมชัดเจนลงตัว ในระยะที่สามนี้ก็จะมาเรียนรู้ถึงการจะวัดผลว่าสิ่งที่เราสร้างสรรค์ขึ้นนี้ใช้ได้หรือไม่ ...การเรียนรู้ที่หลีกเลี่ยงภาษาวิจัยจะช่วยลดความกดดันของนักพัฒนางานได้ดีมาก ซึ่งสิ่งนี้ข้าพเจ้าได้ทดลองและพิสูจน์การจัดกระบวนการมาตลอด ๑๐ ปีของการขับเคลื่อน R2R

มาถึงระยะนี้จะสนุก...เพราะส่วนใหญ่นักวิจัยหน้าใหม่หรือผู้ที่ไม่คุ้นเคยในการทำวิจัยมักจะมาหลงทาง...เป้าหมายการทำวิจัยแบบหนึ่ง กิจกรรมออกแบบมาอีกทาง วัดผลไปอีกทาง หรืออาจเรียกว่ามาตกม้าตายในตอนจบ....

การเรียนรู้ข้าพเจ้าใช้วิธีการเรียนรู้ผ่านการดูวีทีอาร์ จากนั้นให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่มถึง...คำถามการวิจัย วัตถุประสงค์ รูปแบบและการวัดผลจากเรื่องในวีทีอาร์... การเรียนรู้ผ่านงานคนอื่นในทางจิตวิทยาดูเหมือนจะลื่นคล่องและเห็นชัดเจนกว่าการมองงานตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์มักเห็นคนอื่นชัดกว่าการมองเห็นตนเอง...

และเมื่อเรียนรู้ผ่านงานคนอื่นแล้วก็ย้อนกลับมาเชื่อมโยงในงานของตนเอง

หลายครั้งต่อหลายครั้งที่ข้าพเจ้าได้ทดสอบเทคนิคการเรียนรู้เช่นนี้พบว่า ผู้เรียนมีทักษะและเกิดความมั่นใจและเข้าใจที่จะออกแบบเครื่องมือวัดผลของตนเองชัดเจนขึ้น

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Share&Learning)และการสะท้อนกลับภายในกลุ่ม(Reflection)ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจในระดับลึกซึ้งมากขึ้น

ที่สุดของการเรียนรู้ในเฟสนี้ คือ การฝึกฝนการเขียน...แม้ว่างานอาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบแต่การร่างภาพของการเขียนไว้...เพื่อที่จะได้ไม่ไปโหลดในช่วงท้ายมากนัก ในส่วนของการเขียนข้าพเจ้าจะยังไม่เคี่ยวเข็ญถึงความเป็นเลิศเพราะมีความคิดความเชื่อในเรื่องศักยภาพและพัฒนาการในแต่ละคนว่ามีพร้อม การไม่กดดันนำมาซึ่งความเป็นอิสระและสร้างสรรค์(ข้าพเจ้าเชื่อเช่นนั้น) แต่มีการกำหนดเป้าหมายของงานชัดเจนว่าจะมีสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมสะท้อนถึงการเรียนรู้

Please IV หรือปลายน้ำ ;

เมื่อถึงระยะนี้ข้าพเจ้าคาดหวังถึงพลังแห่งการตื่นรู้และปิติที่ได้เกิดจากการลงมือตลอดระยะเวลา ๓-๔ เดือนที่ผ่านมา... คนทำงานประจำเกิดความรู้สึกว่า การทำวิจัยในงานประจำไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวหรือยากกว่าที่คิด...

เป้าหมายการจัดกระบวนการเรียนรู้ข้าพเจ้าไม่ต้องการความเลิศจากการทำวิจัย แต่ปรารถนาที่จะให้คนหน้างานเกิดทักษะ เกิดปัญญาและที่สุดมีปิติสุขจากการได้ลงมือแก้ไขปัญหาหน้างานอย่างเป็นระบบ ปราศจากอารมณ์และความคิดด้านลบ

ความลึกซึ้งของการทำวิจัยจะถูกสั่งสมและเพิ่มพูนความลึกซึ้งดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ

เมื่อไรถ้าเราขับเคลื่อน R2R เพื่อต้องการความเป็นเลิศทางการวิจัยจากการทำ R2R นั่นแสดงว่ากระบวนการเริ่มไปยัดเยียดความทุกข์ให้กับเขาแล้ว นอกจากจะทุกข์จากงานประจำแล้วยังจะต้องมาทุกข์จากการทำ R2R เพิ่มเข้าไปอีก

ในปลายทางแห่งสายธารการเรียนรู้นี้ ข้าพเจ้าใช้เทคนิคการนำเสนอเพื่อนำไปสู่การใคร่ครวญและสะท้อน (Reflection) ถ้าเรามีเป้าหมายชัดเจนความอิ่มในใจจะปรากฏเมื่อผู้เล่ามาเล่าถึงผลงานของตนเอง ...แต่ถ้าจัดกระบวนการผิดการนำเสนอจะกลายเป็นการจับผิด ตำหนิ และกดดันความสร้างสรรค์และปิติสุขจะหดหายไป...

เฟสสุดท้ายนี้ถ้าเปรียบแล้วก็จะคล้ายการเริ่มปล่อยมือให้คนหน้างานกลับไปพัฒนางานประจำด้วยตัวของเขาเอง อย่างที่เขารู้สึกว่าเขาเป็นผู้สร้างความรู้นั้นขึ้นมา...ความเป็นเลิศในผลงานวิจัยอาจจะเป็นที่ต้องการของโลกและสังคม แต่ในขณะเดียวกันความสุขอันละเมียดละไมจากการบ่มเพาะปัญญานี้ก็ยังคงเป็นที่ต้องของการของผู้คนหมู่มากที่กำลังเผชิญกับความทุกข์ในการทำงานเช่นกัน

ข้าพเจ้าออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในเฟสนี้เพื่อสร้างพลังความสุขอันปราณีตให้เกิดขึ้นเพื่อหล่อเลี้ยงใจคนทำงานมากกว่าที่จะเคียวเข็ญผลงานที่มุ่งไปสู่รางวัล...

สิบปีของการจัดกระบวนการเรียนรู้...ผ่านไป

ปีที่ ๑๑ และอีกต่อๆ ไป ข้าพเจ้าพบว่ามีหลายประเด็นที่ข้าพเจ้าจะนำมาเติมเต็มการเรียนรู้ของผู้คน อาทิเช่น...การสะท้อนข้อมูลที่พร้อมด้วยการตีความ...การให้ความหมายที่ลึกซึ้ง ไปพร้อมกับการวิเคราะห์ความรู้ที่เกิดขึ้นในทุกๆ การจัดกระบวนการ

รวมถึงการสกัดชุดความรู้ออกมาเป็นระบบมากกว่าที่ผ่านมา

การเนียน IT เข้าไปผสานอย่างไรให้เหมาะสมกับผู้คนหมู่มากที่อาจมีความเลื่อมล้ำในการใช้ IT ซึ่งข้าพเจ้าเองต้องทำความหมายความเข้าใจในตนเองว่า IT ในที่นี้จะตีกรอบขอบเขตในระดับไหนได้บ้างเพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ และความลึกซึ้งของ KM

...

๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕

คำสำคัญ (Tags): #r2r#km#ha#dialoguebook#haforum17
หมายเลขบันทึก: 603332เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2016 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มีนาคม 2016 16:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท