ประวัติความเป็นมาของหมอลำคณะเสียงอีสาน นกน้อย อุไรพร


ประวัติความเป็นมาของหมอลำคณะเสียงอีสาน นกน้อย อุไรพร

นกน้อย อุไรพรชื่อจริง ชื่อ อุไร สีหวงศ์ คนทั้งหมู่บ้านพากัน “งึด” พิศวงงงงวย เมื่อรู้ข่าวว่านายสมกับนางผัน ลงทุนขายข้าวสิบกระสอบซื้อวิทยุทรานซิสเตอร์ให้ลูกสาวบางคนก็มาแสดงความชื่น ชมยินดีและถือโอกาสให้อุไรร้องเพลงให้ฟัง แต่บางคนก็พากันจับกลุ่มนินทาว่าร้าย ในทำนองที่ว่า ข้าวจะกินยังไม่ข้ามปี ยังมีกะใจซื้อหาของเล่นของบันเทิงให้ลูกอีก นับตั้งแต่มีวิทยุเป็นของตัวเอง อุไรสามารถร้องเพลงได้มากขึ้น เธอจะขลุกอยู่กับมันตลอดเวลา ยกเว้นตอนไปเรียนหนังสือกับตอนหลับเท่านั้น ไม่ว่าจะล้างถ้วย ล้างจานซักเสื้อผ้า ถูบ้าน อ่านหนังสือ จะต้องมีวิทยุวางไว้ใกล้ตัวจนกลายเป็นอวัยวะอีกชิ้นหนึ่งของ

ชีวิตเด็ก หญิงอุไร สีหะวอ ไปเสียแล้ว มีอยู่วันหนึ่งแม่ใช้ไปหาบน้ำกินจากบ่อกลางทุ่ง เธอก็เอาวิทยุห้อยปลายไม้คานไปด้วย เมื่อไปถึงบ่อก็มีคนไปรออยู่มากมาย บ่อน้ำซับตาน้ำมีน้อยต้องรอให้น้ำไหลออกมาเยอะๆ จึงเข้าคิวตัก? ภาษาอีสานเรียกการตักน้ำแบบนี้ว่า “ถ่าน้ำส่าง” อุไรไปถึงก็ปักหลักคอยใต้ร่มหมากค้อ หักกิ่งใบของมันมาปูนอนฟังเพลงลูกทุ่งจากวิทยุอย่างสบายใจ ไม่รีบร้อน จนได้ตักน้ำในบ่อเป็นคนสุดท้าย ระหว่างทางที่หาบน้ำมาจากทุ่งนา เสียงเพลงก็เจื้อยแจ้วมาจากปลายไม้คานจิตใจของเด็กน้อยปล่อยภวังค์ให้ล่อง ลอยไปตามท่วงทำนองอันอ่อนหวานปากก็คลอตามบทเพลงที่จำจนขึ้นใจ จนกระทั่งเสียงหนึ่งตะโกนถามดังลั่น

“”อีไร มึงสิหาบน้ำไปไส”” เป็นเสียงของป้าหนูอยู่บ้านคุ้มใต้

“”หาบไปบ้าน”” อุไรหันไปตอบ

“”บ้านแม่มึงอยู่คุ้มใต้หรือ แหกตาเบิ่งนี่มันที่ไหน

มัวแต่ร้องเพลงจนลืมทางเข้าบ้านเนาะมึง “”

พอ อุไรเงยหน้ามองไปรอบข้าง จึงรู้ว่าตัวเองหาบน้ำเลยบ้านตัวเองมาเสียไกลหน้าแดงเพราะความอาย ก้มหน้างุดๆ หาบน้ำย้อนกลับไปทางเก่า เสียงแม่ป้าหนูหัวเราะเอิ๊กๆ ดังไล่หลัง กลับถึงบ้านต้องเทน้ำทิ้งทั้งหาบ แถมโดนแม่ด่าเสียงเอ็ดตะโร ก็น้ำที่เธอหาบมามันเป็นน้ำก้นบ่อ ที่ขุ่นข้นจนใช้ดื่มไม่ได้นั่นเอง “”มันมัวแต่ไปนอนฟังเพลง”” เพื่อนๆ ของอุไรที่อยู่บ้านติดกัน ฟ้องแม่ของอุไร เพื่อเอาความดีความชอบ

เมื่ออายุครบ 11 ปี เด็กหญิงอุไร สีหะวอ ก็จบการศึกษาภาคบังคับ ป.4 ด้วยคะแนนเป็นที่หนึ่งของชั้นคุณครูประจำชั้นมาหานายสมนางผันถึงบ้าน แล้วแนะนำว่า พ่อแม่น่าจะส่งอุไรให้ได้เรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้น เพราะเด็กคนนี้มีแววจะไปได้ดี อ่านชัด เขียนคล่อง กล้าแสดงออกแต่คุณครูก็ต้องหอบความปรารถนาดีกลับไป เมื่อนายสมกับนางผันบอกว่าไม่มีปัญญา ทุกวันนี้ก็ทำไร่ทำนาหากินไปวันๆ จะเอาเงินทองที่ไหนส่งเสียเมื่อเรียนสูงยิ่งขึ้นไป และที่สำคัญ อุไรเป็นเด็กผู้หญิง จะไปอยู่ต่างถิ่นต่างแดนอย่างไรได้ ญาติพี่น้องในเมืองก็ไม่มีซักคน เด็กหญิงแอบไปนั่งร้องไห้อยู่คอกควายใต้ถุนบ้าน นึกน้อยใจ เสียใจในโชคชะตาของตัวเอง ถ้าเธอได้ไปเรียนในเมือง เธออาจจะมีโอกาสได้ดูการแสดงของนักร้องดังๆ ต่อไปอาจมีช่องทางเป็นนักร้องชื่อดังเหมือนเขา มีโอกาสอัดแผ่นเสียงให้คนฟังทั่วประเทศอยู่บ้านคอกตื้ออย่างนี้ อย่างดีก็ร้องบนหลังควาย เป็นนกเอี้ยง นกขุนทอง ใครเขาจะยินดีปรีดาด้วยสักเท่าไหร่ ออกโรงเรียนมาเป็นลูกสาวชาวนาเต็มตัว ถึงหน้านาเสียงเพลงของอุไรก็ดังกังวานทุ่ง วิทยุทรานซิสเตอร์เครื่องนั้นยังอยู่ข้างตัวเธอไม่ห่างหายแม้มันจะชราภาพไป มาก แต่ก็ทำหน้าที่ถ่ายทอดเสียงเพลงเสียงลำอย่างซื่อสัตย์เสมอมา เสร็จหน้านาเข้าหน้าเทศกาลงานบุญ เมื่อก่อนนั้นมีบุญบ้านไหนใกล้เคียง พวกเด็กๆ

และหนุ่มสาวก็จะพากันเดินเท้าไปเที่ยวกัน บางทีต้องเดินไกลนับสิบกิโลเมตร แต่เมื่อพอไปถึงงานเห็นเวทีหมอลำ เห็นจอหนัง เห็นแสงไฟหลากสีจากชิงช้าสวรรค์ ความเหนื่อยก็หายเป็นปลิดทิ้ง งานวัดมักจะมีสอยดาวอัน เป็นที่พบปะของหนุ่มสาวบ้านนอกบริเวณที่สอยดาวมักมีเวทีประกวดร้องเพลง มีหนุ่มสาวดาวเสียงจากหมู่บ้านต่างๆ มาประกวดประชันกันมีกองเชียร์ติดตามมาให้กำลังใจกันเป็นที่ครึกครื้น เช่นเดียวกับอุไร สีหะวอ เด็กสาววัยกระเตาะจากบ้านจาน อำเภอยางชุมน้อย ที่จะต้องเป็นหนึ่งในจำนวนผู้เข้าประกวดแทบทุกเวที เพียงหน้างานปีเดียวเท่านั้น ชื่อเสียงของอุไรก็ขจรขจายไปทั้งตำบล

และข้ามไปตำบลอื่นๆในเวลาต่อมา

เธอกวาดรางวัลชนะเลิศมาทุกเวที ด้วยคะแนนที่เป็นเอกฉันท์ปราศจากข้อกังขา ผู้คนเล่าขานถึงเด็กหญิงเสียงวิหคดั่งนกน้อยผู้นี้ และมองว่าถ้าได้รับการสนับสนุนอย่างดีแล้วไซร้ เธอจักต้องเป็นนักร้องผู้ยิ่งใหญ่ในภายภาคหน้า จนในที่สุดในเขตอำเภอยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ ก็ไม่มีนักร้องคนไหนกล้าประลองฝีปากกับเธอบนเวที ชัยชนะเริ่มอิ่มตัว ความภาคภูมิใจของเด็กน้อยเริ่มเสื่อมคลาย เธอจะต้องก้าวไปสู่เวทีที่ยิ่งใหญ่ มีผู้คนได้รับฟังเสียงของเธอกระจายทางวิทยุ ไม่ใช่เวทีแคร่ไม้ไผ่ในงานวัดที่นับวันจะไร้คู่แข่ง คู่แข่งของเธอยังมีอีกมาก เพียงแต่ยังไม่ได้เจอกันเท่านั้น จนกระทั่งเมื่ออายุย่าง 12 ปี มีน้ำเนื้อนวลสาวขึ้นมาบ้าง วันหนึ่งอุไรจึงออกปากกับพ่อแม่ว่า ให้พาเธอไปประกวดร้องเพลงที่สถานีวิทยุ กวส. 1 จังหวัดสุรินทร์ พ่อกับแม่ได้ฟังถึงกับผงะ เพราะสมัยนั้นสุรินทร์กับศรีสะเกษไกลกันนัก ด้วยถนนหนทางอันยากลำบาก ผ่านห้วยลงหุบ ต้องใช้เวลาเดินทางครึ่งค่อนวัน “”มันไกลนะลูก ต้องไปนอนค้างอ้างแรม และที่สุรินทร์เขาก็มีแต่นักร้องเก่งๆ ร้องออกวิทยุทุกวันอาทิตย์ ลูกจะสู้เขาไหวหรือ”” แต่อุปสรรคเพียงเท่านั้นมิอาจต้านทานความตั้งใจจริงของอะไร เธอยื่นคำขาดว่าถ้าพ่อกับแม่ไม่พาไป เธอจะหนีไปเอง นักร้องที่ประกวดทางสถานี กวส.1 ทุกวันอาทิตย์ เธอเปิดฟังประจำ และคิดว่าน่าจะสู้เขาได้

ในที่สุด เกวียนชราของครอบครัวสีหะวอ ก็ได้ทำหน้าที่อีกครั้ง คราวนี้แล่นจากบ้านจานแต่เช้ามืดตัดตรงไปอำเภอราษีไศล จอดฝากวัวฝากเกวียนไว้ที่วัด แล้วต่อรถสองแถวไปขึ้นรถไฟที่อำเภออุทุมพร

พิสัย ถึงจังหวัดสุรินทร์ตอนฟ้าค่ำพอดี พ่อกับแม่พาอุไรไปขอนอนที่วัดหนองบัว ใกล้สถานีรถไฟ หลวงพ่อถามว่ามาทำธุระอะไร พ่อบอกว่าพาลูกสาวมาประกวดร้องเพลงที่ กวส. หลวงพ่อหัวร่อเอิ๊กอ๊ากแล้วบอกให้ร้องให้ฟังซิอุไรไม่รีรอ ลุกขึ้นกลางลานหน้ากุฏิ ขยับเพลงโปรดของเธอให้หลวงพ่อฟังทันที เมื่อร้องเพลงจบหลวงพ่อควักธนบัตรฉบับละห้าบาทมาวางให้ “เสียงดีนี่อีหนู โชคดีมีชัยนะหลานเอ้ย คืนนี้หาที่หลับที่นอนบนศาลาโน่นแหละ ยุงเยอะไปหน่อย เดี๋ยวหลวงพ่อให้เด็กหายากันยุงมาให้ พากันมาไกลเชียวจากศรีสะเกษโน่นแน่ะ ตั้งใจให้ดีนะหลานนะ”

คืนนั้นบนศาลาวัด พ่อกับแม่หลับตาลงด้วยความเหนื่อยอ่อน เหลือเพียงแต่อุไรเท่านั้นที่ยังนอนไม่หลับ ดวง ตาสดใสสว่างไสวอยู่ในความมืด เธอรอให้ถึงวันพรุ่งนี้ วันที่เสียงของเธอจะมีโอกาสดังเจื้อยแจ้วไปไกลหลายจังหวัด ชื่อของ “อุไร สีหวงศ์” จะถูกประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้แล้ว

ประเด็น เหมือนนกขมิ้น

เนื้อ เรื่อง เหมือนดังนกขมิ้นบินจร ไร้คอนไร้ที่อยู่อาศัย ไร้พ่อแม่พี่น้องคุ้มภัย โดดเดี่ยวเดียวดาย มองหาใคร ใครเขาไม่มอง เหมือนดังเราเป็นนกขมิ้น เที่ยวบินร้องหาคู่เคียงครอง เสียงเจื้อยแจ้ว นกน้อยร่ำร้อง เขาเมินไม่มองเสียงร่ำร้องขอความเมตตา นกน้อยคอยคู่มานาน โปรดสงสารข้าบ้างเถิดหนา อย่าให้เหมือนนกขมิ้น เที่ยวบินขอความเมตตา ได้โปรดกรุณา นกน้อยเถิดหนา นะเจ้าข้าเอย อย่าให้เหมือนดังนกขมิ้น เที่ยวบินเร่ร่อนไปลับเลย รับนกน้อยไว้แนบเขนย อย่าให้ลับเลย เจ้าข้าเอ๋ยนกน้อยขอวอน

**เพลง “เหมือนนกขมิ้น” เป็นเพลงชุดแรกๆ ที่ “นกน้อย อุไรพร” ร้องบันทึกแผ่นเสียง ซึ่งเพลงนี้ได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะสะท้อนภาพชีวิตของเด็กสาวบ้านนอกในม่านมายา ได้ลึกซึ้งกินใจ เป็นผลงานจากปลายปากกาของ นคร พงษ์ภาพ พี่ชายแท้ๆ ของนพดล ดวงพร หัวหน้าวงเพชรพิณทอง สถานีวิทยุ กวส.1 จังหวัดสุรินทร์ เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน จัดว่าเป็นคลื่นวิทยุอันดับหนึ่งของเขตอีสานใต้ การกระจายเสียงครอบคลุมพื้นที่กว่า 6 จังหวัด อันประกอบไปด้วย สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และบางส่วนของโคราช อุบลฯ ยโสธร กลุ่มนักจัดรายการรุ่นหนุ่มไฟแรงที่มีชื่อเสียงก็มี “ตำบลจ๊ะเจ้ก” ,”อุทัย บุญศิริ” และ “สัจจา ธนาภัทราสกุล” รายการประกวดร้องเพลงวันอาทิตย์เป็นรายการที่มีเรตติ้งคนฟังสูงสุด เริ่มกันตั้งแต่เก้าโมงเช้าไปสิ้นสุดประกาศผลตอนสี่โมงเย็น สามหนุ่มดีเจ.เมืองช้าง ต่างพากันมองหน้ากันอย่างประหลาดใจเมื่อเด็กหญิงผิวกระดำกระด่างหน้าตามอม แมม เดินตรงมาขอสมัครประกวดร้องเพลงรายการวันอาทิตย์นี้ พวกเขาให้เธอกรอกชื่อและที่อยู่ลงในกระดาษ กรอกเสร็จสัจจาดึงไปอ่านดู ถึงกับร้องอุทาน “”โฮ…มาไกลจากยางชุมน้อยโน่นแน่ะ มากี่คนจ๊ะหนู” “”มากับพ่อกับแม่จ้ะ นั่งอยู่ทางโน้น”” ตอบพลางชี้มือไปที่พ่อกับแม่ซึ่งนั่งอยู่หน้าเวทีประกวด “”โชคดีนะจ๊ะ ร้องเพลงของใครล่ะ กรอกลงไปด้วย”” สัจจาแนะนำอุไรเขียนชื่อเพลง “น้ำตาเมียหลวง” ของผ่องศรี วรนุช ต่อท้ายชื่อของตัวเอง หนุ่มดีเจ.รับไปอ่านแล้วพยักหน้าหงึกๆ มีคนมาต่อแถวสมัครอีกหลายคน ล้วนแต่หนุ่มสาววัยห่างชั้นอุไรทั้งนั้น ใจของเด็กน้อยเต้นโครมครามอยู่ในอก จะสู้เขาไหวไหมเนี่ย จะต้องกลับศรีสะเกษมือเปล่าเสียแล้วกระมัง การประกวดเริ่มขึ้นตรงเวลา มีการถ่ายทอดเสียงออกอากาศตามปกติ สรุปยอดนักร้องเข้าประกวดทั้งสิ้นเกือบห้าสิบคน รอบแรกคัดเหลือ 30 รอบสอง 20 รอบสาม 10 รอบชิงชนะเลิศ 5 คน การแข่งขันผ่านไปสองรอบ อุไรยังมีชื่อติดกลุ่มเข้ารอบอยู่ การร้องในรอบสามนั้นนักร้องจะต้องเปลี่ยนเพลงที่ใช้ในการแข่งขัน และจะต้องเป็นเพลงเร็วเท่านั้น อุไรถึงกับเหงื่อตก เพราะเธอไม่ได้เตรียมซ้อมเพลงเร็วมาเลย เพลงที่พอจำได้ก็ไม่ได้สนใจฝึกซ้อมจริงจังนัก เท่าที่จำแม่นและร้องเล่นบ่อยๆ ก็มีเพลง “ยมบาลเจ้าขา” ของบุปผา สายชล แต่อุไรไม่ค่อยชอบเสียงของนักร้องท่านนี้เลย มันออกห้าวๆ ไม่หวานเหมือนผ่องศรี เสียงของเธอหวานใส มันจะเหมาะกับเพลงนี้หรือ จนจะถึงคิวตัวเองขึ้นร้อง ยังตัดสินใจไม่ได้ ทีมงานผู้จัดก็เข้ามาเร่งรัดเอาชื่อเพลงจึงต้องเขียนชื่อเพลงให้ด้วยไม้มือ สั่นๆ จะตกรอบกลับบ้านก็อีคราวนี้แหละ แต่แล้วอุไรก็ติด 1 ใน 5 ของนักร้องรอบชิงชนะเลิศ นอกจากพ่อกับแม่ซึ่งนั่งหน้าดำคร่ำเครียดคอยเป็นแรงใจแล้ว เธอยังได้แรงเชียร์จากผู้เข้าชมอย่างท่วมท้น เพราะเธอเป็นนักร้องที่อายุน้อยที่สุดในการประกวดนั่นเอง กว่าจะได้ร้อง ในรอบชิงชนะเลิศ เวลาก็ผ่านเลยถึงบ่ายสองโมง ในรอบนี้อุไรตัดสินใจใช้เพลง “ด่วนพิศวาส” เป็นเพลงแข่งขัน ขณะที่เธอกำลังร้องได้ยินเสียงหวูดรถไฟดังแว่วมาแต่ไกลจากสถานี บรรดาผู้ชมปรบมือดังลั่น ชอบอกชอบใจกับเสียงหวูดรถไฟที่มาสร้างบรรยากาศให้บทเพลงอย่างเหมาะเจาะ

ผล การตัดสินการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งของสถานีวิทยุ กวส.1 จังหวัดสุรินทร์ประจำสัปดาห์นั้น ผู้ชนะเลิศ คือ เด็กหญิงอุไร สีหะวอ จากอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับรางวัลเป็นครีมแก้สิวฝ้าและสบู่สมุนไพรอย่างละโหล พร้อมค่าเดินทางอีก 100 บาท คืนนั้นนักร้องผู้ชนะการประกวดยังนอนตากยุงอยู่ศาลาวัดหนองบัวอีกหนึ่งคืน เพราะรถไฟขบวนสุดท้ายออกไปแล้ว ตั้งแต่เธอร้องเพลง “ด่วนพิศวาส” นั่นแหละ บุญบั้งไฟผ่านไม่นานนัก ฝนเดือนหกก็ตกมาเหมือนฟ้ารั่วทุ่งนาเจิ่งนองด้วยน้ำขาว กบเขียดร้องเพลงระงมท้องนา เสียงเพลงก็ยังระงมในหัวใจของลูกสาวชาวนานาม “อุไร สีหะวอ” ปีนั้นอุไรอายุ 14 ปีแล้ว เนื้อนวลเริ่มแตกเต่ง ผิวพรรณผุดผาด ด้วยฝาดสาว ใครๆ ในหมู่บ้านก็ชมว่าเธอเป็นเด็กสาววัยรุ่นที่โตเกินวัย และดูสวยที่สุดในหมู่บ้านผู้เฒ่าหลายคนทักทายว่าเด็กหญิงคนนี้จะไม่ดักดาน เป็นชาวนาเหมือนอ้ายสมนางผันผู้พ่อผู้แม่แต่มันจะเป็นดาราดวงเด่นส่งแสงเจิด จ้าประหนึ่งดวงเดือนนั่นเทียว “”ลูกเอ้ย พ่อกับแม่ยังมองไม่เห็นทางเลย ว่าลูกจะเป็นนักร้องคือเขาว่าได้จั่งใด๋”” แม่เปรยขึ้นต่อหน้าพ่อ

ขณะ ล้อมวงกินข้าวกลางวันบนเถียงนาน้อยหัวนา พ่อเงียบไม่ปริปาก แต่อุไรรู้สึกเต็มตื้นในอก น้ำตาพาลจะไหลปริ่มๆ ก็จริงอย่างแม่ว่า ถึงเธอจะรักการร้องเพลง มั่นใจในเสียงตัวเองและภูมิใจกับรางวัลที่ได้รับ แต่อนาคตของเธอยามนี้เห็นมีแต่ผืนนา ช่วยพ่อแม่คราดไถ ปักดำ ตกเย็นก็ขี่หลังควายเข้าบ้าน นอนเหงาเดียวดาย เพราะวิทยุทรานซิสเตอร์เครื่องนั้น ชำรุดทรุดโทรมเกินจะเยียวยา ครั้นจะร้องเพลงเจื้อยแจ้วเหมือนวัยเด็ก ก็รู้สึกอายที่จะทำอย่างนั้น ตั้งแต่เริ่มเป็นสาว ความกล้าเก่าๆ เช่น ร้องเพลงบนหลังควาย ร้องเพลงในงานบุญต่างๆ มลายหายไปสิ้น จะร้องแต่ละทีก็ต้องอาศัยช่วงเวลาอยู่ไกลผู้คน แต่เธอก็ยังมั่นใจในน้ำเสียงของตัวเองเสมอ

หน้าแล้งปีนั้น หมู่บ้านใกล้ๆ กันจัดงานปิดทองฝังลูกนิมิต 7 วัน 7 คืน มีมหรสพการแสดงมากมายแต่ในคืนสุดท้ายนั้นมีการแสดงของวงดนตรีใหญ่ที่กำลังมี ชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในอีสาน คือ “วงเพชรพิณทอง” ของอาจารย์นพดล ดวงพร คนในหมู่บ้านรับทราบข่าวนี้ด้วยความตื่นเต้นกันทั่วหน้าต่างรอคอยวันเวลาดัง กล่าวด้วยใจระทึก พวกหนุ่มสาวขายข้าวซื้อเสื้อผ้าใหม่ไว้ใส่เที่ยวงาน พ่อแม่ผู้ปกครองเตรียมเงินไว้ให้ลูกหลาน เกวียนของแต่ละบ้านถูกนำมาตรวจสภาพการใช้งานที่ชำรุดก็ซ่อมแซมจนใช้การได้ เตรียมเป็นพาหนะเดินทางไปหาความอภิรมย์สำราญตามประสาคนบ้านนอก ที่นานทีปีหนจะมีโอกาสรื่นเริงบันเทิงใจ สำหรับอุไรนั้นเล่า ไม่ต้องถามเลยว่าเธอตื่นเต้นขนาดไหน มิใช่แต่เตรียมตัวไปชมวงดนตรีเท่านั้น เธอตั้งใจใฝ่ฝันเอาไว้แล้วว่า จะขอขึ้นร้องเพลงกับวงดนตรีเพชรพิณทองให้ได้ และถ้าเป็นไปได้มากกว่านั้น ก็จะขอสมัครเป็นนักร้องประจำวงเสียทีเดียว เมื่อวันนั้นมาถึง ผู้คนหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ ปานสายน้ำมาบรรจบพบกัน ณ ลานวัดการแสดงดนตรีของวงเพชรพิณทองเริ่มตอนสองทุ่มตรง เป็นวงดนตรีที่แปลกมากที่สุดก็คือ หัวหน้าวงจะร้องเพลงออกหน้าเวทีเป็นคนแรก ผิดกับวงดนตรีลูกทุ่งอื่นๆ ที่หัวหน้าจะออกเป็นคนสุดท้าย ผู้ชมร่วมหมื่นเงียบงันด้วยเครื่องเสียงอันกระหึ่มก้อง แสงสีละลานตระการตา หางเครื่องสาวสวยนุ่งน้อยห่มนิด โยกย้ายส่ายสะโพกยั่วยวน วัยรุ่นหนุ่มๆ เป่าปากเฟี้ยวฟ้าว ผู้เฒ่าคราวปู่อ้าปากหวอ ส่วนผู้เฒ่าคราวย่า ก่นด่าเอ็ดตะโรเพราะรับไม่ได้ “”จังไรไฟไหม้เอ้ย… ลูกหลานผู้ใด๋ช่างมาอุบาทว์อุบาย””

ช่วงที่นพดล ดวงพร เข้าหลังเวที ปล่อยให้นักร้องในวงรับหน้าที่ต่อ อุไรก็เบียดตัวเองแทรกเข้าด้านหลังเวที เดินตรงไปหานพดลที่กำลังนั่งพักดื่มน้ำอยู่ เธอก้มลงพนมมือไหว้ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของอีสานอย่างนอบน้อม “”มาหยังอีหล่า นี่หลังเวทีนักแสดงเขานะ”” นพดลถาม “”มาขอร้องเพลงค่ะ หนูอยากเป็นนักร้อง” อุไรว่าประสาซื่อ “”บ่ได้ดอกนาง นักร้องมันหลายแล้ว ขึ้นไปแทรกเดี๋ยวก็ผิดคิวเขา””””สงสารหนูเถอะค่ะ หนูอยากเป็นนักร้องอีหลี”” เด็กสาววิงวอนด้วยเสียงปนเศร้า นพดลใช้นิ้วดีดหัวล้านของตัวเองอยู่สองสามป๊อกพลางครุ่นคิดสลับกับการมอง หน้าเด็กสาวอย่างพินิจพิจารณา “”เอาอย่างนี้เด้อ ถ้าขึ้นร้องคืนนี้บ่ได้แน่นอน มันจะเสียระบบการแสดงเขา ให้ออกไปดูหน้าเวทีกับเขาโน่น ถ้าอยากเป็นนักร้องจริงๆ ให้พ่อแม่พาไปหาอาจารย์อยู่อุบล ไปหาโลดถามสามล้อทุกคันฮู้จัก สำนักงานเพชรพิณทอง บ้านอาจารย์นพดล ตำบลท่าวังหิน จำได้ไหมล่ะ”” จำใส่กะโหลกเลยทีเดียวสำหรับอุไร เธอกราบลาอาจารย์นพดลออกมาจากหลังเวที จากนั้นใจก็จดใจจ่ออยู่กับการแสดงโดยเฉพาะนักร้องสาวสวยของวงที่แต่งกายด้วย เสื้อผ้าอาภรณ์ประดับเพชรแพรวพราว สักวันหนึ่งบนเวทีแห่งนี้จะต้องมีเธอ อาจารย์นพพลรับปากเธอแล้ว เขาเป็นผู้ใหญ่ คงไม่ผิดสัญญา นายสมกับนางผันมีเรื่องที่ต้องให้ครุ่นคิดหนักที่สุดในชีวิต

เมื่อ อุไรออกปากให้พาเธอไปฝากอยู่กับวงเพชรพิณทองที่อุบลราชธานี ทังสองพยายามทัดทานลูกสาวด้วยเหตุผลร้อยแปดพันเก้า แต่ลูกสาวคนเดียวก็ไม่ยอมฟังเหตุผลนั้นแม้แต่น้อย เด็กสาววัยแค่ 14 ยังสวยบริสุทธิ์ ไร้ราคีมาแผ้วพาน ไปอยู่วงดนตรี อยู่กับแสง สี เสียง และคนที่มีอาชีพเต้นกินรำกินอย่างนั้น หัวอกพ่อแม่ย่อมหวาดวิตกเป็นธรรมดา แต่นายสมกับนางผันก็จำเป็นต้องทำตามคำร้องขอของลูก

เพราะทั้งสองรู้ว่า ไม่มีสิ่งใดยับยั้งความตั้งใจของอุไรได้ การเอาไปฝากฝังด้วยตัวเอง ย่อมดีกว่าปล่อยให้ลูกสาวหอบผ้าหอบผ่อนหนีไปเพียงลำพัง ข่าวตาสมกับนางผันพาลูก ขึ้นเกวียนไปต่อรถไฟที่ศรีสะเกษส่งลูกไปอยู่กับวงเพชรพิณทอง เล่าลือกันทั่วบ้านจอม สรรพเสียงของชาวบ้านล้วนแล้วแต่ดูหมิ่นเหยียดหยัน ภาพของหางเครื่องและนักร้องที่แต่งตัวไม่เอาเนื้อเอานมที่ได้ชมเมื่องานปิด ทองฝังลูกนิมิตที่ผ่านมา ยังตราตรึงและเป็นที่โจษจันกันไม่สร่างซา ขนบธรรมเนียมอีสานเมื่อก่อนนั้น ยังเคร่งครัดนัก

วัฒนธรรมตะวันตกยัง ไม่ไหลบ่าท่วมทุ่ง ฮีตสิบสองคลองสิบสี่ยังยึดมั่นถือมั่นตามครรลองผู้เฒ่าผู้เคร่งจารีตบางคนใน หมู่บ้านถึงกับฟันธงชี้ลงไปเลยว่าการกระทำของตาสมกับยายผันเท่ากับการส่งลูก ไปเป็น “กะหรี่” ชัดๆ คำกล่าวนี้อาจจะดูเหมือนรุนแรงใส่ร้ายกันจนเกินไปแต่หลังจากที่นายสมกับนาง ผันกลับจากอุบลราชธานีโดยไม่มีลูกสาวกลับมาด้วย คนทั้งหมู่บ้านต่างพากันเห็นด้วยกับคำกล่าวหาดังกล่าว เพราะได้ยินจากปากของสองผัวเมียเองว่าอาจารย์นพดล ดวงพร ได้รับอุไรไว้ร่วมวงกับเพชรพิณทองแล้วตั้งแต่วันแรกที่ไปถึงไม่ได้รับเป็น นักร้องประจำทีมงาน แต่รับไว้ในตำแหน่ง “หางเครื่อง” ดงรัก พนมรุ้ง

เสียงอิสาน ตำนานนกน้อย

(ลุล่วงถึงต้นฤดูหนาว ข้าวในนาเหลืองอร่ามรอการเก็บเกี่ยว เคียวที่เสียบไว้ข้างฝายุ้งข้าวถูกนำมาลับคมใหม่อีกครั้ง นกน้อยได้เคียวขนาดเหมาะมือมาเล่มหนึ่งมือนุ่มนิ่มที่เคยจับแต่ไมโครโฟน เดี๋ยวนี้หยาบกร้านมาตั้งแต่หน้าปักดำโน่นแล้ว มีบางวันที่ก้มเกี่ยวข้าวแล้วได้ยินเสียงเพลงของตัวเองลอยล่องมา น้ำตาพาลจะไหลลงดิน เจ้าของเสียงเพลงอันโด่งดังต้องกลับมาเอาหลังสู้ฟ้าเอาหน้าสู้ดิน เป็นกระดูกสันหลังของชาติที่ไม่มีอนาคตเอาเสียเลย ใจร่ำๆ อยากจะกลับไปอยู่วงดนตรีอีกครั้งแต่เมื่อมองเห็นพ่อกับแม่ที่เกี่ยวข้าวอยู่ ติดๆ กันแล้ว ความคิดที่ร่ำๆ นั้นต้องสลัดให้ขาดรอน จนฤดูเก็บเกี่ยวผ่านไป ได้ข้าวใส่ยุ้งตามสมควร เสร็จหน้านาชาวบ้านก็ว่างงานจะปลูกผักปลูกพืชเป็นรายได้เสริมก็ไม่มีน้ำ ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงฆ่าเวลาด้วยการเล่นโบกเล่นไฮโล บางพวกกินเหล้าหัวราน้ำ คนที่ไม่เอากับเขาก็นั่งจับเจ่าเฝ้าใต้ถุนเรือนท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุอบ อ้าว แม่ของนกน้อยซื้อไหมเจ๊กมาทอผ้าขาวม้า เธอจึงมีกิจกรรมให้ทำพอหายเหงา เครื่องทอผ้าเป็นกี่กระตุกแบบโบราณหลังจากที่แม่สอนให้ทำครั้งเดียว วันต่อมาเธอก็ทอผ้าได้อย่างชำนิชำนาญ ขณะกำลังทอผ้าในสายวันหนึ่ง มีเสียงหมาเห่าอยู่หน้าบ้านพอเงยหน้าไปมอง เท้าที่เหยียบกี่อยู่ก็ต้องชะงัก มือที่กำลังขยับฟืมฝ้ายสั่นเทาสิ้นเรี่ยวแรง วิเศษ เวณิกา, ชุติมา ดวงพร และอาจารย์นพรัตน์ ดวงพร ยืนอยู่ตรงทางเข้าบ้าน ต้อนรับขับสู้ด้วยน้ำเย็นจากตุ่มดินแล้ว ไถ่ถามทุกข์สุขกันพอสมควรจึงพูดคุยกันเป็นเรื่องเป็นราวได้ ความว่าที่ทั้งสามบากบั่นมาถึงที่นี่ในวันนี้ เพื่อตามนกน้อย อุไรพร ให้กลับไปร้องเพลงอีกครั้ง “”ไม่ได้อยู่เพชรพิณทองนะ ไปรับเชิญให้หมอลำหมู่ ค่าตัวได้แพงเป็นพันเชียวล่ะ ตอนนี้ใครๆ ก็อยากเห็นนกน้อย เพลงเจ้ากำลังดัง”” ชุติมา ดวงพร ชักชวน นกน้อยเองก็หูผึ่งเมื่อได้ยินว่าค่าตัวเป็นพัน เมื่อนกน้อยถามว่าไม่ได้พากันอยู่วงเพชรพิณทองแล้วหรือ ทั้งสามก็อธิบายว่าก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับอาจารย์นพดล เพียงแต่อยากออกมารายได้ที่ดีกว่า หาประสบการณ์ เวลาวงเพชรพิณทองมีงานเรียกใช้ก็กลับไปช่วยเป็นครั้งคราวไป เรื่องการหางานการรับงานนั้น อาจารย์นพรัตน์จะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด แกเองก็ต้องออกมาหารายได้ เพราะลำพังแต่งเพลงขายมันไม่พอยาไส้ นานๆ จะขายได้เพลงหนึ่ง ค่าเพลงก็แค่สี่ห้าร้อยบาทเท่านั้น ใจของนกน้อยนั้นเอากับเขาเกินร้อย ติดก็ตรงพ่อกับแม่จะว่าอย่างไร เพิ่งไปตามมาทำนาได้ปีเดียว จะหนีไปอีกแล้ว นกน้อยโยนภาระตรงนี้ให้กับผู้มาเยือนทั้งสาม หลังจากจับเข่าคุยกันอยู่นานสองนานนกน้อยก็ดีใจแทบกระโดดตัวลอย เมื่อตาสมหลุดปากออกมาว่า “”สุดแท้แต่มัน ไปโลดเผื่อดวงมันสิดีทางนี้ เห็นลูกเฮ็ดนากะหลูโตน ชาวบ้านเพิ่นกะหยามกะเหยียบ ไปซะหล่า พ่อกับแม่บ่ขัดดอก ฝากอาจารย์ดูแลมันด้วย มันยังเด็กนัก”” ถ้าตาสมไม่ตัดสินใจอย่างนี้ในวันนั้น ไฉนเลยจะมีนกน้อย อุไรพรและวงเสียอิสานในวันนี้ การตัดสินใจที่ถูกต้องเพียงครั้งเดียว ก็สามารถพลิกชีวิตคนๆ หนึ่งให้แปรเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

สำนัก งานธุรกิจบันเทิงในเมืองอุดรธานีเมื่อยี่สิบปีก่อน ไม่มีสำนักงานใดได้รับความเชื่อถือเท่ากับสำนักงาน “บ้านพักทัมใจ” ซึ่งเป็นศูนย์รวมของหมอลำกว่าร้อยคณะ ภายใต้การบริหารงานของลูกชายเจ้าของสำนักงานนามว่า “อาวทิดหลอด” หรือชื่อจริง “มัยกิจ ฉิมหลวง” อาวทิดหลอดเป็นนักจัดรายการวิทยุที่ได้รับความนิยมสูงสุดของอุดรธานี ความได้เปรียบตรงนี้จึงทำให้กิจการสำนักงานธุรกิจบันเทิงดำเนินไปอย่างราบ รื่นรุ่งเรือง หมอลำคณะไหนๆ ก็อยากมาอยู่ภายใต้สังกัดเขาทั้งนั้น เพราะเขาไม่เคยเอาเปรียบนักแสดง ค่านายหน้าก็คิดตามสมเหตุสมควร ไม่ใช่ขูดเลือดขูดเนื้อเหมือนบางสำนักงาน ดังนั้น หมอลำระดับแนวหน้าจึงอยู่ในสังกัดของเขาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคณะประถมบันเทิงศิลป์ คณะระเบียบวาทะศิลป์ หนูภารวิเศษศิลป์ ฯลฯ นอกจากจะเป็นผู้จัดหาหมอลำให้เจ้าภาพแล้ว ยังจัดหานักร้องลูกทุ่งชื่อดังขึ้นเป็นนักร้องรับเชิญบนเวทีหมอลำอีกด้วย สุดแท้แต่เจ้าภาพต้องการใคร ทิดหลอดจัดหามาได้หมด มีนักร้องสาวคนหนึ่งกำลังมาแรงชื่อ “นกน้อย อุไรพร” เขาเปิดเพลงของเธอเป็นประจำ ทราบแต่เพียงว่าอยู่วงเพชรพิณทอง เมื่อให้คนไปสืบถามดูปรากฏว่าเธอลาออกไปทำนาแล้ว ต่อมานักร้องของเพชรพิณทองคือ นพรัตน์ ดวงพร วิเศษ เวณิกากับชุติมา ดวงพรมาเป็นนักร้องรับเชิญในสังกัดของเขา ทั้งสามจึงได้รับมอบหมายให้ไปตามนกน้อยกลับมาร้องเพลงให้ได้ เพราะมีเจ้าภาพเรียกร้องอยากได้มากเหลือเกิน และในวันหนึ่งอาวทิดหลอดกับนกน้อย อุไรพรก็ได้พบกัน เมื่อนพรัตน์พานกน้อยมานั่งคอยอยู่ที่สำนักงาน “มาแล้วครับ นกน้อย อุไรพร สวัสดีอาวทิดหลอดซะนก นี่ละคนสิหางานให้เราทำ เพิ่นเป็นนักจัดรายการใหญ่นำ มีหยังกะฝากเนื้อฝากตัวกับเพิ่นนพรัตน์แนะนำให้นกน้อยรู้จักกับอาวทิดหลอด หนุ่มใหญ่ถึงกับใจสะท้านเมื่อรับไหว้แล้วสบตากับนักร้องสาว ดวงตาคู่นั้นกลมโตเต็มไปด้วยแววใส่ใจซื่อ ใบหน้าสวยยังซ่อนอยู่ในความคล้ำหมองจากการตากแดดตากฝน เขาเคยเห็นเด็กคนนี้แต่ในปกแผ่นเสียงก็รู้สึกเฉยๆ แต่พอมาเจอตัวจริงกลับทำให้ใจนักจัดรายการหนุ่มไหวหวั่นขนาดนัก อาวทิดหลอดได้แต่เก็บอาการไว้ในใจ

เขาเริ่มคุยเรื่องงานว่า ต่อไปนี้เขาจะเป็นผู้ดูแลคิวของนักร้องรับเชิญทั้งหมด ส่วนค่าตัวนั้นก็ลดหลั่นกันไปตามความดังของแต่ละคน นกน้อย อุไรพร กำลังดังสุดๆ จึงได้มากกว่าคนอื่น ค่าตัวจากการรับเชิญของนกน้อยที่จะได้รับหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วคือ 2,000 บาทต่อหนึ่งงาน นกน้อย อุไรพร ดีใจเหมือนได้ขึ้นสวรรค์ เริ่มมองเห็นบ้านหลังใหม่และทุ่งนาผืนใหญ่กว่าเดิม มีงานแสดงเข้ามามากมายจนรับไม่หวาดไม่ไหว บางงานก็ไปกันทั้งทีม บางงานก็แยกกันไป งานไหนที่นกน้อยต้องไปคนเดียว อาวทิดหลอดก็เป็นผู้ขับรถ เป็นผู้จัดการประสานงานในทุกเรื่อง นกน้อยมีหน้าที่ขึ้นร้องเพลงอย่างเดียวเท่านั้น เนิ่นนานวันผ่านไปสิ่งที่ซ่อนตัวอยู่ในใจของนักจัดรายการหนุ่มก็เริ่มแย้ม พรายออกมาให้ฝ่ายสาวได้รับรู้ แต่นกน้อยก็สงวนท่าทีของตัวเองอย่างที่สุด เพราะแม้ในใจจะมิได้รังเกียจผู้ชายคนนี้ แต่ฐานะระหว่างเธอกับเขามันแตกต่างราวกับฟ้าดิน เขาเป็นลูกชายเจ้าของสำนักงานธุรกิจบันเทิง มีเงินทองมากมายก่ายกอง มีบ้านหลังใหญ่รถหลายคัน มีชื่อเสียงในวงสังคม ส่วนเธอก็แค่คนขายเสียงเลี้ยงชีวิต เขาจะมาจริงจับกับเธอคงเป็นไปได้ยาก มีแต่จะแกล้งรักแกล้งชอบเพื่อเชยชมเล่นๆ คืนหนึ่งขณะกลับจากการแสดงที่จังหวัดขอนแก่น อาวทิดหลอดเอ่ยขึ้นระหว่างขับรถ “”เราน่าจะตั้งวงของตัวเองนะนก ชื่อเสียงของเธอก็มีมากพอแล้ว”” “”ผู้ได๋เขาสิตั้งให้ ใช้เงินบ่แม่นน้อยๆ”” นกน้อยแสดงความเห็น “”ถ้าอยากมีวงเป็นของตัวเอง ผมจะตั้งให้”” อาวทิดหลอดพูดจริงจัง คนอย่างเขาไม่เคยพูดเล่นอยู่แล้ว นกน้อยเงียบไปชั่วขณะเพราะตกใจกับคำพูดของผู้จัดการหนุ่ม “”คิดให้ดีเด้อค่ะ ชื่อเสียงความดังไม่รู้มันจะอยู่ได้นานแค่ไหน”” “”คิดดีแล้ว คิดมานาน ผมอยากให้คุณยิ่งใหญ่เสียที มีวงเป็นของตัวเอง มีรายได้มากกว่านี้ พ่อกับแม่จะได้สุขสบาย”” เสียงของเขาเนิบช้า ทุ้มนุ่มลึกสะท้านสะเทือนไปถึงก้นบึ้งหัวใจของสาวน้อย

ต้นปีพุทธศักราช

2518 วงดนตรี “เสียงอิสาน” นกน้อย อุไรพร ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในวงการ อาวทิดหลอดทุ่มเททั้งแรงเงิน แรงกาย เพื่อผลักดันวงดนตรีของตัวเองให้ได้รับการยอมรับจากประชาชน ที่เรียกว่าวงดนตรีของตัวเองนั้น ก็เพราะว่าขณะนั้นเป็นที่ทราบกันทั่วไปในวงการว่าอาวทิดหลอดกับนกน้อย อุไรพร ได้อยู่กินเป็นสามีภรรยาถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่สิ่งที่อาวทิดหลอดคาดการณ์ไว้กลับไม่เป็นเช่นนั้น วงเสียงอิสานไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนเลย งานจ้างก็มีกระท่อนกระแท่น จนต้องยกวงเดินสายและพากันกลับมาอย่างบอบช้ำ ขาดทุนยับเยิน สมาชิกภายในวงก็เริ่มหนีหาย จนเหลืออยู่ไม่กี่สิบคน เมื่อมานั่งวิเคราะห์สถานการณ์อย่างถ้วนถี่แล้ว เขาจึงค้นพบจุดอ่อนของวง นั่นคือ วงเสียงอิสานเป็นวงดนตรีลูกทุ่งเพียวๆ แสดงจากสามทุ่มตีหนึ่งก็เลิก

ต่างจากวงหมอลำที่เล่นกันยันสว่าง และมีลำเรื่องต่อกลอนให้ผู้ชมๆ ได้ทั้งคืน จึงไม่แปลกที่หมอลำใหญ่ๆ อย่างคณะประถมบันเทิงศิลป์ จะมีงานแสดงอย่างล้นเหลือ ในขณะที่เสียงอิสานจับเจ่าเฝ้าสำนักงาน อีกหนึ่งจุดอ่อนที่ค้นพบก็คือ ขนาดของวงเสียงอิสานเล็กเกินไป มีสมาชิกในวงแค่ 40 กว่าชีวิต วงเล็กๆ แบบนี้เจ้าภาพไม่ชอบ เขาชอบจ้างคณะใหญ่ที่มีนักแสดงเป็นร้อย มีรถหลายคัน มีเวทีแสงสีเสียงใหญ่โตมโหฬาร ส่วนผลงานด้านหน้าเวทีไม่ได้เรื่องจนหมาหลับก็ช่างมัน เมื่อคิดได้ดังนี้แผนการฟื้นฟูกิจการวงเสียงอิสานครั้งใหญ่จึงถูกตระเตรียม ในหัวสมองของอาวทิดหลอด เขาประกาศพักวงชั่วคราวเพื่อปรับปรุงใหม่ อันดับแรกสุดคือเรียกหาหัวหน้าวง “นกน้อย อุไรพร” เข้ามาพบเพื่อรับบัญชา “”เจ้าไปหัดร้องหมอลำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เฮาสิเอ็ดวงใหม่เป็นลำเรื่องต่อกลอนทำนองขอนแก่น ถ้าไม่เช่นนั้นเฮาสู้คณะอื่นบ่ได้”” การตัดสินใจของอาวทิดหลอดถูกต้องที่สุด เพราะหลังจากยกเครื่องปรับปรุงทีมงานการแสดงได้ไม่นานนัก

วงดนตรีลูกทุ่งหมอลำคณะเสียงอิสานก็ได้รับการกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวาง นกน้อย อุไรพร

อาศัย ไหวพริบปฏิภาณเรียนรู้การร้องหมอลำจนชำนิชำนาญ เมื่อร้องจนเก่งแล้วจึงลองหัดแต่งกลอนลำร้องเอง ต่อมาก็แต่งให้นักแสดงในวงนำไปร้อง จนในที่สุดถึงปัจจุบันนี้การแต่งนิทานและกลอนลำที่ใช้ในการลำเรื่องต่อกลอน ของคณะเสียงอิสาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฮอยปานดำ, ฮอยปูนแดง, วงเวียนชีวิต, เงากรรม ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของนกน้อย อุไรพร ทั้งสิ้น 10 ปีต่อมา ชื่อเสียงของคณะเสียงอิสานเริ่มขยายวงกว้างเป็นไฟลามทุ่ง ด้วยทีมงานที่ยิ่งใหญ่ขบวนคอนวอยที่ยาวเหยียด เวทีแสงสีเสียงและการแสดงอันตื่นตาตื่นใจ รวมทั้งการแจ้งเกิดในวงการของสองพระเอกดาวรุ่ง “ลูกแพร-ไหมไทย อุไรพร” ลูกแพร อุไรพร พระเอกหนุ่มหน้าทะเล้น น้ำเสียงแหบห้าวเป็นเอกลักษณ์ คนนี้มีศักดิ์เป็นหลานของนกน้อย อุไรพร เธอนำมาเลี้ยงดูตั้งแต่เป็นเด็กวัยรุ่น ปลุกปั้นสั่งสอนจนกลายเป็นนักร้องหมอลำแถวหน้าคู่กับไหมไทย

อุไรพร ไหมไทย อุไรพร เด็กหนุ่มหน้าซื่อจากอำเภอประทาย โคราช ซัดเซพเนจรออกจากบ้านด้วยใจรักทางหมอลำจนได้เป็นพระเอกของคณะระเบียบวาทะ ศิลป์ ก่อนจะลาออกมาอยู่คณะเสียงอิสาน กลายเป็นนักร้องหมอลำคู่ขวัญกับลูกแพร อุไรพรจนกระทั่งทุกวันนี้ ปอยฝ้าย มาลัยพร อดีตเณรน้อยผู้ใฝ่ฝันจะเป็นนักเทศน์ แต่ชะตาชีวิตผกผันเมื่อวันหนึ่งเสียงอิสานไปเล่นที่วัด

เณรฝ้ายได้ดูแล้วเกิดอยากเป็นพระเอกหมอลำขึ้นมาเลยไปขอสมัครกับนกน้อยทั้งผ้าเหลือง

พอ นกน้อยตกปากรับคำว่ารับไว้ในคณะ ก็ลาสิกขาสะพายกระเป๋าขึ้นรถบัสไปกับเสียงอิสานทันที ด้วยชื่อเสียงที่ขจรขจายเล่าลือกันปากต่อปาก จนเริ่มไหลลามถึงกรุงเทพฯ จนเข้าหูนายทุนบริษัทเทปหลายค่าย ต่างพากันไปเสนอผลประโยชน์ให้นกน้อยถึงเมืองอุดร อาวทิดหลอดเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้ ประสบการณ์ของเขาไม่ธรรมดาแต่ก็โดนนายทุนเทปบางเจ้าหักหลังจนได้ สุดท้ายเสียงอิสานจึงตัดสินใจเข้าสังกัดท็อปไลน์มิวสิคของนายห้างทวีชัย จริยะเอี่ยมอุดม

โดยมีนักร้องหมอลำที่อยู่ในคณะเสียงอิสานเป็นศิลปิน ในสังกัดดังนี้ นกน้อย อุไรพร, ลูกแพร-ไหมไทย อุไรพร, สามนางเอกสาวดาวรุ่ง รัชดา-แสงอรุณ-ปานดำ, น้องแกละ, ปอยฝ้าย มาลัยพร, สายใย-ไหมพรม อุดมพร ตลอดจนทีมดาวตลกพ่อยง, ยายแหลม, ยายจื้น ก็มีคิวอัดเสียงด้วยเช่นกัน มิถุนายน ปี พ.ศ.2544 เป็นชวงพักวงของเสียงอิสานปีนั้น ชาวคณะแยกย้ายกันไปทำไรทำนาที่ถิ่นฐานบ้านเกิดของตน จะเหลือก็เพียงอาวทิดหลอด นกน้อย อุไรพร ลูกแพร-ไหมไทย ปอยฝ้าย และน้องแกละที่ไม่ได้หยุดพัก อาวทิดหลอดเตรียมงานด้านปรบปรุงวง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเสียง เวที ที่บอบช้ำมาจากการทัวร์ 8 เดือนเต็ม นกน้อย อุไรพร เตรียมงานด้านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่จะใช้ในหน้างานใหม่ที่จะมาถึง งบประมาณด้านนี้ต้องใช้สูงถึง 5 ล้านบาท ข้าวของบางชิ้นบางอันเช่น ขนนก ลูกปัด เพชรพลอย ต้องลงทุนบินไปซื้อถึงฮ่องกงเพราะราคาถูกกว่าเมืองไทยหลายเท่าตัว ไหนจะเตรียมกลอนลำใหม่ที่จะใช้เล่นปีหน้า ส่วนบรรดานักร้อง

รวมทั้งตัว นกน้อยก็เตรียมเข้าบันทึกเสียงงานเพลงชุดใหม่ ผลงานเพลงและกลอนลำทุกอัลบั้มของเสียงอิสานในรอบปีที่ผ่านมา ไม่น่าพอใจนักในเรื่องความนิยมและยอดขาย ชุดบ้าไก่ตี ของนกน้อยเงียบสนิทกว่าใคร ชุดล้างแค้นด้วยน้ำตาของ 2 พระเอกดาวรุ่งก็ไม่หวือหวา

ส่วนชุดปอยฝ้ายวอนแฟนของปอยฝ้ายแฟนเพลง ก็ไม่ค่อยสนใจคำวอน จนพระเอกน้อยจากหนองคายท้อใจ มีเพียงบันทึกการแสดงสดตลกเสียงอีสานเท่านั้น ที่ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ผลงานชุดนี้ปอยฝ้ายเล่นได้ยอดเยี่ยม มีผู้นิยมชมชอบเขามากมายในฐานะตลกเด่นของวง แต่ในของปอยฝ้ายกลับอยากดังในฐานะนักร้อง จึงเข้าไปคุยกับนกน้อยและอาวทิดหลอดในวันหนึ่ง “”ผมท้อแล้วล่ะ บ่อยากอัดอีก”” พระเอกน้อยตีหน้าเศร้า “”สู้อีกสักชุดนะลูก บางทีอาจจะดังก็ได้”” นกน้อยให้กำลังใจ “”ชุดใหม่ของเสียงอิสานทั้งหมด เปลี่ยนครูเพลง เปลี่ยนโปรดิวเซอร์ใหม่นะ ไม่สนใจหรือฝ้าย”” อาวทิดหลอดโน้มน้าวความสนใจ ปอยฝ้ายรู้สึกมีกำลังใจขึ้นมาบ้างเมื่ออาวทิดหลอดขยายความว่า เพลงชุดใหม่ของนักร้องวงเสียงอิสานจะเปลี่ยนคนแต่งเพลง เปลี่ยนคนทำดนตรี เพื่อฉีกสไตล์ที่ซ้ำซากจำเจ จึงได้เสนอไปที่ต้นสังกัดขอตัวอาจารย์ “ส” เข้ามาช่วยงานในช่วงเวลานั้นเพลง “มอเตอร์ไซค์ฮ่าง” ของอาจารย์ “ส” กำลังได้รับความนิยมสูงสุด ไม่นานนักเนื้อเพลงและไกด์เพลงของอาจารย์ก็ส่งมาถึงคณะเสียงอิสาน มีของนกน้อย อุไรพร ลูกแพร-ไหมไทย และน้องแกละหามีของปอยฝ้ายแม้แต่เพลงเดียว นกน้อยปลอบใจว่าอาจารย์กำลังเขียนให้อีกไม่นานจะส่งมา แต่จนแล้วจนรอดจนคณะเสียงอิสานยกทีมเข้าห้องอัด ปอยฝ้ายก็ยังไม่มีเพลงร้องกับเขา ที่ห้องบันทึกเสียงของท็อปไลน์มิวสิค ปอยฝ้ายได้เจอกับอาจารย์ “ส” ซึ่งกำลังง่วนอยู่กับการทำงานเพลงของคนอื่นๆ ในเสียงอิสาน

จนกระทั่งงานอัดดนตรีเสร็จสรรพเหลือใส่เสียงร้อง อาจารย์ก็ขอตัวกลับบ้านที่บุรีรัมย์เพราะโรงเรียนจะเปิดในวันมะรืนนี้ “”เพลงของปอยฝ้าย ยังบ่ได้เลยแม่นบ่อาจารย์”” นกน้อยทวงถาม “”ยังเลยครับ ผมไม่ว่างจริงๆ กะว่ากลับลงไปนี้จะแต่ง”” อาจารย์ “ส” บอกก่อนจะอำลากลับ ขณะที่อาจารย์เดินออกมาหน้าบริษัทก็เจอกับปอยฝ้ายนั่งเหงาอยู่ร้านส้มตำยาย จ่อย จึงเดินเข้าไปทักทาย ปอยฝ้ายก็ทวงถามเพลงทำตาละห้อย อาจารย์ครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งจึงเอ่ยปากออกมา “”อาจารย์ไม่รู้จะแต่งยังไง ยังไม่คุ้นเคยกับโตเลย เพลงโตเฮาก็ไม่เคยฟัง ลูกแพร-ไหมไทยนั่นโอเคพอจับสไตล์ได้ แต่กับโตนี่มืดแปดด้านว่ะ แต่เอาอย่างนี้ เดี๋ยวขึ้นไปเก็บข้าวของไปอยู่กับอาจารย์ที่บุรีรัมย์สักอาทิตย์หนึ่งคงจะ ได้อยู่หรอก”” ปอยฝ้ายดีใจสุดขีด รีบวิ่งขึ้นไปขออนุญาตนกน้อยกับอาวทิดหลอด ก่อนจะเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าตามอาจารย์ “ส” ไปอยู่ที่บุรีรัมย์ บ้านอาจารย์ “ส” อยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ห่างไกลความเจริญ โรงเรียนที่สอนอยู่ห่างจากบ้านราว 5 กิโลเมตร การเดินทางระหว่างบ้านไปโรงเรียนใช้มอเตอร์ไซค์ ที่นั่นเองที่ปอยฝ้ายมีโอกาสได้สัมผัสกับที่มาที่ไปของเพลง “มอเตอร์ไซค์ฮ่าง” ที่เขาชื่นชอบอย่างถึงแก่น ทุกเช้าเขาจะต้องนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไปโรงเรียนกับอาจารย์ ผ่านทุ่งนาป่าเขาก็พากันชี้นกชมไม้คุยกันอย่างสนุกสนาน รถของอาจารย์เก่ามาก วิ่งช้าเหมือนคลาน มีควันขาวยาวโขมงไล่ตามก้นไปตลอดทาง เมื่อถึงโรงเรียนอาจารย์ก็เข้าสอนตามปกติ ปล่อยให้ปอยฝ้ายนั่งเล่นใต้ร่มไม้หน้าอาคารเรียน สอนไปได้สักชั่วโมงอาจารย์ก็เดินถือแผ่นกระดาษตรงมาหา บอกว่าแต่งได้แล้วเพลงหนึ่ง นั่งต่อกันใต้ร่มไม้ อาจารย์ไปสอนต่อ ส่วนปอยฝ้ายก็เดินซ้อมเพลงไปรอบโรงเรียน ครูบางคนกวักมือเรียกเขาให้เข้าไปร้องให้นักเรียนฟัง สร้างความสนุกสนานครึกครื้นให้กับโรงเรียนเล็กๆ แห่งนั้นเป็นอย่างยิ่ง ตกค่ำบรรดาคุณครูตั้งวงเหล้า ปอยฝ้ายก็มีหน้าที่ไปนั่งเฝ้าร้องเพลงร้องหมอลำให้ครูฟัง ดังนั้นตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่นั่น มีแต่คนรักคนชม จนวันสุดท้ายอาจารย์ “ส” ก็ถือกระดาษเข้ามาหาที่ใต้ต้นไม้ต้นเดิม “”เพลงสุดท้าย พรุ่งนี้โตต้องกลับเอาเพลงไปให้นักดนตรีทำ แม่นกน้อยโทรมาตามหลายรอบแล้ว”” “”อาจารย์ครับ ผมอยากให้อาจารย์แต่งเพลงเกี่ยวกับชีวิตผมบ้าง”” ปอยฝ้ายออกปากร้องขอ “”อืมม์…อยากได้แบบไหนล่ะ ลองเล่าชีวิตตัวเองให้ฟังซิ เผื่อจะแต่งได้””ปอยฝ้ายเริ่มเล่าเรื่องหลังของชีวิตให้ฟัง เริ่มตั้งแต่เป็นเด็กเกิดที่หนองคาย ทางบ้านจนอยากเรียนต่อจึงต้องบวชเป็นเณร พอเป็นเณรก็เกิดอยากเอาดีทางร้องทางลำจนได้มาอยู่กับเสียงอิสาน แต่พอมาอยู่กลับได้เล่นในบทตลก แม้บทตลกจะส่งให้ชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จักของประชาชน แต่เขาก็ต้องสูญเสียคนรักซึ่งรับสภาพตรงนี้ไม่ไหว เธอโทรมาขอเลิกกับปอยฝ้ายตอนที่เขากำลังแต่งหน้าแต่งทาทุเรศทุรังเตรียมออก เล่นตลกบนเวที เขามองภาพอันน่าสังเวชของตัวเองในกระจก น้ำตาไหลออกมาจนต้องยกมือปาดป้อยๆ เล่าจบอาจารย์ “ส” ก็จับปากกาลากพรืดๆ ลงบนกระดาษ ใช้เวลาประมาณ 10 นาที จึงเงยหน้าบอกว่าเสร็จเรียบร้อยชื่อเพลง

“ตลก อกหัก” ให้คิดว่าเป็นเพลงแถมในอัลบั้มก็แล้วกัน แต่เหมือนโชคชะตาปาฏิหาริย์เพียงสองเดือนหลังการบันทึกเสียง เพลง “ตลกอกหัก” ที่ถือว่าเป็นเพลงแถมให้เต็มอัลบั้ม กลับดังกระหึ่มไปทั้งประเทศทั้งภูธรและนครบาล ชื่อของปอยฝ้าย มาลัยพร เป็นที่รู้จักของชาวบ้านทุกหัวระแหง ทุกที่ที่เสียงอิสานยกวงไปทำการแสดง คลื่นประชาชนจะแห่แหนกันมาดูจนมืดฟ้ามัวดิน ส่งผลให้คณะเสียงอิสานของนกน้อย อุไรพร พุ่งขึ้นถึงจุดรุ่งโรจน์สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งวงมา คิวการแสดงมีผู้จับจองยาวเหยียดจนเต็มเอี้ยดถึงปี 2546 อาวทิดหลอดและนกน้อย อุไรพร โล่งใจและเป็นสุขที่ผลักดันให้พระเอกน้อยปอยฝ้ายก้าวขึ้นจุดสูงสุดของชีวิต เสียงกรี๊ดสั่นหวั่นไหวเหมือนฟ้าถล่มดินทลายเมื่อปอนฝ้ายปรากฏตัวหน้าเวที ทำให้ความเหน็ดเหนื่อยในหลายปีที่ผ่านมามลายหายไปสิ้น เสียงเพลง “ตลกอกหัก” ของปอยฝ้าย เจื้อยแจ้วอยู่หน้าเวที ผู้ชมเรือนหมื่นนั่งเงียบกริบหลังจากที่หัวร่องอหายกับปอยฝ้ายมานับชั่วโมง บทเพลงแห่งชีวิตจริงของเขาสะกดความรู้สึกของผู้ชมให้หยุดนิ่ง บางคนน้ำตาไหลริน บางคนตื้นตันในอกด้วยความสงสาร สมเพชเวทนาชีวิตของพระเอกหมอลำในดวงใจ อาวทิดหลอดนั่งพ่นบุหรี่สายฝนอยู่บนเก้าอี้หลังเวทีอย่างสบายอารมณ์ พลางหันไปเปรยกับคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ว่า “”เพลงอีหยังวะ ผู้แต่งกะบ้า ผู้ร้องกะบ้า มันดังได้จั่งใด๋””

นับตั้งแต่ก่อตั้งวงมายาวนานกว่า 20 ปี ปีพุทธศักราช 2545 คือห้วงเวลาอันรุ่งโรจน์ที่สุดของเสียงอิสานทุกสิ่งทุกอย่างเอื้ออำนวยไปหมด ไม่ว่าเงินทุนซึ่งมีสปอนเซอร์หลักจากบริษัทเครื่องดื่มบำรุงกำลังชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงของศิลปินในทีมงาน และความลงตัวในด้านการแสดง คิวการแสดงของวง ถูกจองยาวเหยียดเต็มเอี้ยดถึงปี 46 คิวปี 47 ก็ใกล้จะเต็มอยู่รอมร่อ จนอาวทิดหลอดต้องออกปากว่า คนจ้างไม่กลัวหมอลำจะตายจากหรืออย่างไร ปรากฏการณ์ “เสียงอิสานฟีเวอร์” เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตลอดระยะเวลาการทำวง เมื่อก่อนนั้นเล่นปิดวิกจะเก็บเงินได้หลักแสนนั้นอย่าหวัง แค่สี่ห้าหมื่นก็บุญโข แต่ตกมาปีนี้บางงานเก็บได้กว่าล้าน ต่ำสุด 7-8 แสน ชนิดว่าวงสตริงดังๆ แห่งยุคที่ว่าแน่ ยังต้องชิดซ้ายตกคันแทนาไปโลด อาวทิดหลอดก็ได้แต่นั่งสะหวอย ไอ้ที่เขาเก็บได้เป็นล้าน จะตกมาถึงวงเป็นค่าจ้างแค่แสนเจ็ด ที่เหลือเขาหอบใส่ถุงปุ๋ยกลับบ้าน ได้แต่ทำตาปริบๆ คิดอยากจะได้คิวปิดวิกเองซัก 10 คิว แต่ก็สายไปเสียแล้ว เพราะรับงานจ้างไว้เต็มเหยียด เงินแสนกว่าไม่ได้มากมายเลยเมื่อนำมาหารกับค่าแรง ค่ากินค่าอยู่ของคนกว่า 400 ชีวิต ค่าน้ำมูกน้ำมันรถยนต์สามสิบกว่าคัน แค่อาวทิดหลอดและนกน้อยยังมั่นคงกับจุดตรงนี้ไม่มีเปลี่ยนแปลง ทั้งสองคิดเสมอว่านี่ไม่ใช่กองทัพการแสดงศิลปวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว แต่นี่คือกองทัพแรงงานที่สัญจรรอนแรมไปทุกถิ่นฐาน การแสดงคือการทำงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าแรงนำไปจุนเจือครอบครัวเมื่อถึงฤดูกาลปิดวงในหน้าฝนทุก ต้นเดือนมิถุนายนของทุกปี

วันวัยที่ผ่านผัน ประมุขแห่งเสียงอิสานเริ่มรู้สึกอ่อนแรงล้าโรย บางครั้งท้อถอย ถอดใจ อยากกลับไปใช้ชีวิตอย่างเงียบสงบ สะดวกสบายกับสามี ทรัพย์สมบัติที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงการเต้นกินรำกินมีอยู่พอเพียง ทั้งชาติก็ใช้ไม่หมด ลูกเต้าก็ไม่มีสืบสกุลสักคน เอาแต่หลานมาเลี้ยงเป็นนักร้อง นักดนตรีในวง ก็ได้แต่คิดเท่านั้นเอง เมื่อเห็นหน้าลูกวงนับร้อย เห็นความพร้อมเพรียง ความยิ่งใหญ่อลังการด้านหน้าเวที เห็นผู้ชมนับหมื่นที่แออัดยัดเยียดกันเข้ามาชม เลือดและวิญญาณศิลปินก็เต้นเร่าๆ ข้างผัวก็หน้าเป็นมันอยู่กับการจัดคิวจัดสคริปต์ ข้างเมียก็ร้องเพลงขับกล่อมผู้ชมอยู่หน้าเวที การแสดงอันยาวนานที่เริ่มตั้งแต่หัวค่ำยันฟ้าแจ้งจางปางของวันใหม่ นักแสดงทุกคนจะต้องยืนหยัดอยู่บนเวทีจนเพลงสุดท้าย ไม่เว้นแม้แต่กระทั่ง “นกน้อย อุไรพร” เมื่อการแสดงชุดสุดท้ายจบลง ทุกชีวิตหลับไหลไร้สติในรถที่เคลื่อนเป็นกองคาราวานเดินทางสู่จุดหมายปลาย ทางแห่งใหม่ที่รออยู่เบื้องหน้า กว่า 400 ชีวิตฝากไว้ในมือโชเฟอร์ ซึ่งเป็นคนกลุ่มเดียวของคณะที่ได้หลับได้นอนเต็มอิ่มมาตลอดคืน

ความ สำเร็จของเสียงอิสานมิใช่จะเฉพาะการแสดงด้านหน้าเวทีเท่านั้น ผลงานเพลงและบันทึกการแสดงสดในรูปแบบซีดีและวีซีดี ยังขายดีเป็นเทน้ำเทท่า นายห้างทวีชัยแห่งท็อปไลน์มิวสิค ที่เคยร่ำรวยจากพุ่มพวง ดวงจันทร์ กลับมาร่ำรวยมหาศาลอีกครั้งกับการ “เกิด” ของเสียงอิสาน ปอยฝ้าย มาลัยพร มีโอกาสพบอาจารย์ “ส” อีกครั้งในงานคอนเสิร์ตใหญ่ที่ท้องสนามหลวง เขาเข้าไปกราบที่อกและสวมกอดครูเพลงคู่บารมี ตั้งแต่โด่งดังด้วยเพลงตลกอกหัก นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เจอกัน “”ร่ำรวยแล้วสิเราดังใหญ่แล้วนะ”” ครูเพลงกระเซ้า “”คือเก่าล่ะครับ บักฝ้ายผู้เก่านั่นละ”” ปอยฝ้ายพูดเสียงอ่อยๆ ตามสไตล์ “”เบอร์โทรอะไร จดให้หน่อย เผื่อมีธุระคุยด้วย”” “”บ่มีครับ บ่ได้ซื้อ”” นักร้องหนุ่มตอบประสาซื่อ เป็นไปได้และเป็นไปแล้ว นักร้องดังก้องฟ้าเมืองไทย ผลงานติดชาร์ตอันดับหนึ่งทั่วประเทศ ยอดขายเทปและซีดีเฉียดล้านแต่ไม่มีมือถือใช้ นี่ถ้าเป็นนักร้องคนอื่นไม่ขับเบนซ์ไปแล้วหรือ แต่เมื่อมานั่งใคร่ครวญแล้วก็น่าเห็นใจ เสียงอิสานมีคนเยอะ ค่าแรงจะได้สักเท่าไหร่เชียว นักร้องวงนี้ไม่มีสิทธิออกไปวิ่งรอกรับเชิญ นี่คือกฎเหล็กที่ทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นนักร้องดังหรือไม่ดังก็ตาม “”นักร้องอีหยังกระจอกแท้ มือถือกะบ่มี”” สาวน้อยนางหนึ่งเดินสะบัดก้น บ่นกระปอดกระแปดหลังจากที่บุกเข้าไปหลังเวทีเพื่อขอเบอร์โทรปอยฝ้าย แต่ต้องผิดหวังกลับมา “”จักสิซื้อมาโทรหาไผ กลางวันก็นอน กลางคืนก็เล่นหมอลำขอดแจ้ง”” นั่นคือเหตุผลที่แท้จริงของนักร้องหนุ่มชื่อดัง

ต้นเดือนมิถุนายน ฝนเริ่มกระหน่ำหนัก เป็นสัญญาณบอกว่าฤดูการทำนามาถึง เวลาของการทัวร์คอนเสิร์ตหมอลำทุกคณะสิ้นสุดลง เสียงอิสานก็เช่นเดียวกัน หลังจากงานสุดท้ายเสร็จสิ้น ทุกคนในคณะต่างดีอกดีใจที่จะได้กลับบ้านไปพบหน้าคนในครอบครัวเสียที หลังจากที่จากกันมานานถึง 8 เดือน เงินสดหลายล้านบาทถูกเบิกออกมาจากธนาคารเพื่อจ่ายเป็นค่าแรงแก่ชาวคณะ พวกเด็กๆ หางเครื่องที่เพิ่งเข้ามาปีแรก ตื่นเต้นดีใจจนออกนอกหน้า เกือบทุกคนมีพ่อแม่ผู้ปกครองมารอรับกลับบ้าน พร้อมด้วยเงินก้อนใหญ่ที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของลูก บัญชีเบิกจ่ายทำกันอย่างละเอียดลออไม่มีตกหล่น เริ่มเรียกชื่อจ่ายกันเป็นแผนกๆ ไปตั้งแต่คอนวอย หางเครื่อง แม่ครัว เด็กเก็บชุด คนขับรถ และนักแสดงหลักๆ อาวทิดหลอดนับเงินจ่ายจนเมื่อยมือ ทุกคราวที่หยิบยื่นเงินให้ลูกน้อง หัวใจมันอิ่มเอิบปลื้มปีติแทนพวกเขาเหล่านั้น นี่คือสิ่งตอบแทนที่ทุกคนทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงงานมาด้วยกัน แม้บางคนจะได้น้อย แม้บางคนจะได้มาก เพราะต่างบทบาทต่างหน้าที่ แต่สิ่งที่ทุกคนได้เท่ากันคือความภาคภูมิใจในเม็ดเงินอันสุจริตที่เกิดจาก งานศิลปะโดยแท้ นกน้อย อุไรพร นั่งอยู่หน้าเรือนหลังใหญ่ไกลออกไป ลูกน้องคนที่ได้รับเงินแล้วก็พากันมากราบลากลับบ้าน บางคนที่มีพ่อแม่มารับก็พาพ่อแม่เข้ามากราบขอบคุณที่เลี้ยงดูลูกเขาเป็น อย่างดีตลอดเวลาที่ทำงาน และสัญญาว่าจะพาลูกกลับมาส่งเมื่อถึงวันนัดหมายเปิดวง ผู้คนเริ่มบางตา จนในที่สุดก็เหลือเพียงอาวทิดหลอด นกน้อย และคนในบ้านไม่กี่คน เสียงไก่ชนโก่งคอขันเสียงดังสนั่น แต่บรรยากาศในคุ้มนกน้อยกลับวิเวกชอบกล ปอยฝ้ายสะพายกระเป๋าเดินตรงมาหา สองผัวเมียถามว่าจะกลับหนองคายวันนี้เลยหรือ แต่ปอยฝ้ายส่ายหน้า

“”ผมจะไปบุรีรัมย์ครับพ่อกับแม่”” ปอยฝ้ายบอก

“”อย่าไปกวนครูเขาเด้อ”” นกน้อยหมายถึงอาจารย์ “ส”

“”บ่ไปกวนเพิ่นดอก สิไปหานักเรียน ไปร้องเพลงให้เพิ่นฟัง””

ปอย ฝ้ายเล่าว่าเมื่อครั้งที่เขาไปต่อเพลงกับอาจารย์ที่โรงเรียน ได้รู้จักเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ หลายคน พอรู้ว่าเขาเป็นนักร้อง ก็ขอให้ร้องเพลงให้ฟัง พอร้องให้ฟังก็ไม่มีใครรู้จัก จึงบอกกับเด็กๆ

ว่า ถ้าเพลงดังเมื่อไหร่จะกลับมาร้องใหม่ ตอนนี้เด็กๆ ที่นั่นคงรู้จักเพลงของเขาแล้ว อาวทิดหลอดกับนกน้อยมองตามนักร้องหนุ่มที่สะพายกระเป๋า สวมรองเท้าแตะเดินออกไปจากบ้านด้วยความรู้สึกชื่นชม บักฝ้ายก็คือบักฝ้ายคนเดิมที่ติดดิน ไม่รู้สึกรู้สากับเกียรติยศชื่อเสียงแต่ประการใด อาวทิดหลอดขอตัวออกไปเดินดูไก่ นกน้อย อุไรพรนั่งทอดสายตาสู่เวิ้งฟ้าหน้าฝน เมฆดำทะมึนเคลื่อนตัวลอยเรี่ยยอดไม้ สักพักหนึ่งฝนก็เทลงมาเหมือนฟ้ารั่ว พรุ่งนี้ชาวคณะเสียงอิสานแต่ละคน คงปรับเปลี่ยนฉากและบทละครชีวิตของตัวเอง กลับไปเป็นชาวนาสามัญชน รากเหง้าดั้งเดิมที่กำเนิดเกิดมา แต่ละครชีวิตของ “อุไร สีหะวงศ์” หรือนกน้อย อุไรพร ไม่มีสิทธิจะเปลี่ยนบทเปลี่ยนฉากได้แล้ว เพราะเธอได้ตั้งปณิธานจะเล่นละครบทนี้จนกว่าสองปีกของนกน้อยสิ้นแรงจะโบยบิน ยังคงเป็นผู้นำกองคาราวานวัฒนธรรมที่ราบสูง เดินทางไกลขับกล่อมกระแสเสียงแห่ง “อิสาน” สู่พี่น้องผองชนทั่วประเทศมายาวนาน และจักยาวไกลไม่มีสิ้นสุด ตราบที่กระแสเสียงสำเนียงนี้ยังได้รับการต้อนรับจากมหาชนอย่างล้นหลามเช่น “เสียงอิสาน”

ในวันนี้


คำสำคัญ (Tags): #[email protected]
หมายเลขบันทึก: 602554เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2016 22:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2016 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท