สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

“ครูยุคใหม่” ต้องมีมากกว่า “จิตวิญญาณความเป็นครู”


“ครูยุคใหม่” ต้องมีมากกว่า “จิตวิญญาณความเป็นครู”

เนื่องในวันที่ 16 มกราคม ของทุกปี ถือว่าเป็น “วันครูแห่งชาติ” เป็นวันที่ “ลูกศิษย์”จะร่วมรำลึกถึงพระคุณของครูที่ให้ความรู้และสั่งสอนให้เป็นคนดีจนประสบความสำเร็จในชีวิต อันที่จริงแล้วบทบาทหน้าที่ของครูไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ยังคงสำคัญเสมอ อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้ให้ความเห็นว่าการจัดการเรียนรู้ในยุคใหม่นั้น การมีจิตวิญญาณของความเป็นครูเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอเสียแล้ว ครูจำเป็นต้องมีทักษะและคุณสมบัติเพิ่มอีกก็ 3 ข้อด้วยกันคือ 1.ครูต้องเข้าใจพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กและเข้าใจว่าการเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นอย่างไร 2.ครูต้องมีทักษะในการสอนแบบใหม่เพื่อให้เด็กมีทักษะในศตวรรษที่ 21 และ 3.มีความสามารถในการประเมินผลสำเร็จโดยดูผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นในเด็กแต่ละคน

การที่ครูต้องมีความเข้าใจพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กและเข้าใจว่าการเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นอย่างไรนั้น จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ “ครูยุคใหม่”จัดการเรียนการสอนได้ตรงกับลูกศิษย์ได้อย่างเหมาะสม คุณสมบัติอีกข้อที่สำคัญคือ ต้องมีทักษะในการสอนแบบใหม่ คือการสอนให้มี*** ทักษะในศตวรรษที่ 21ครูต้องออกแบบการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะและคุณสมบัติเหล่านั้นได้ “..คุณสมบัติที่สำคัญที่สุด คือ ครูต้องมีฉันทะ มีแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้ในที่นี้ คือ การเรียนรู้เพื่อทำหน้าที่ครูที่ดี ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจากมุมมองของผม การเรียนรู้ดีที่สุดของครู คือการเรียนรู้จากห้องเรียนของตัวเอง การเป็นครูที่ดี คือ ต้องมาตั้งเป้าหมาย learning out come ในปีนี้ เทอมนี้ หรือวิชานี้ คืออะไร ซึ่งต้องมีทั้งสองส่วน ทั้งในส่วนวิชาการและนิสัยใจคอ การเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดี ครูตั้งเป้าหมายหาวิธีที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย”

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “วิธีก็คือการออกแบบการเรียนรู้ ต้องเป็นการเรียนรู้ที่ให้เด็กทำกิจกรรม เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งเหล่านั้นจากการสร้างความรู้นั้นข้างในตัวเอง จากการปฏิบัติ การสัมผัส การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ระหว่างนั้นครูก็ต้องมาทำความเข้าใจว่าจะร่วมเรียนรู้หรือเข้าใจไปพร้อมๆ กับเด็กได้อย่างไร จะส่งเสริม ให้กำลังใจอย่างไร ซึ่งในกระบวนการนั้น ครูจะคอยประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก แล้วให้เด็กสะท้อนการเรียนรู้ตลอดเวลา ครูต้องให้กำลังใจและเป็นแรงเสริม เพื่อให้เด็กรับรู้ เด็กจะได้ทักษะการเรียนรู้จากปฏิบัติไปตลอดชีวิต ครูจะเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ได้ตลอด หน้าที่ของครูไม่ใช่ว่าเปิดตำราแล้วสอน เริ่มต้นก็คือ วางแผน แล้วก็ทำให้บรรลุแผนนั้น การศึกษาที่ดีจะทำให้คนในสังคมนั้นมีศักยภาพเพิ่มขึ้นมากมาย..” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

คุณสมบัติอีกข้อหนึ่งที่ครูจะขาดเสียมิได้คือครูต้องมีความสามารถในการประเมินผลสำเร็จของลูกศิษย์โดยดูผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นของเด็กแต่ละคน “...ครูสมัยใหม่ แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาถ่ายทอดความรู้ ก็มาต้องคิดเสมอว่าการจัดการเรียนรู้ของครู ก่อให้เกิดผลลัทธ์อะไรต่อผู้เรียนบ้าง ครูต้องรู้ว่าหากจะทำให้ให้เกิดการเรียนรู้ อะไรที่จะทำให้เกิดผลลัทธ์เช่นนั้นได้ ครูให้เด็กทำอะไร ครูก็ต้องรู้ว่าต้องทำอย่างไร เป็นต้น แล้วครูจะรู้ได้อย่างไรว่า เด็กมีความก้าวหน้าในเรื่องการเรียนรู้ไปได้ดี เด็กในชั้นเรียน บางคนไปไว บางคนไปช้า ครูก็ต้องมาตั้งคำถามอีกว่า คนไหนไปไว คนไหนไปช้า แล้วครูจะทำอย่างไร การเรียนรู้ที่ดีเด็กทั้งชั้นต้องเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง ถึงแม้ว่าหัวจะช้าก็ตาม ...” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวทิ้งท้าย

นี่เป็นเพียงแนวคิดเพียงบางส่วนของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ต้องการเห็น “ครู” ได้ปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีสอน ให้กลายเป็น “ครูยุคใหม่” หากทำได้จะทำให้การพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ของประเทศ สร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ และมีส่วนร่วมในการดูแลพัฒนาประเทศได้อย่างแน่นอน.


***ทักษะในศตวรรษที่ 21ประกอบด้วย ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะในการแก้ปัญหา ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์ ทักษะด้านการสื่อสารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทักษะอาชีพ-ทักษะการเรียนรู้ และสุดท้ายทักษะการเปลี่ยนแปลง


หมายเลขบันทึก: 599560เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2016 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2016 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ครูยุคใหม่ = ครู ผู้มีทักษะในศตวรรษที่ 21ประกอบ ด้วย ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะในการแก้ปัญหา ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์ ทักษะด้านการสื่อสารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทักษะอาชีพ-ทักษะการ เรียนรู้ และสุดท้ายทักษะการเปลี่ยนแปลง.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท