การปฎิรูประบบงานวิจัยของประเทศไทย (๒)


ผมคิดว่าจะเขียนเรื่องการปฏิรูประบบงานวิจัยของประเทศไทยต่อจากตอนที่ ๑ ซึ่งได้เขียนไว้ในเฟสบุ๊ค เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๙ เมื่อได้ฟังพลอากาศเอก ดร. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี แสดงปาฐกถาพิเศษและกล่าวถึงการปฏิรูประบบงานวิจัยของประเทศไทย ในการประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่...พบ...เมธีวิจัยอาวุโส สกว." ครั้งที่ 15 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ณ โรงแรมเดอะรีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท จังหวัดเพชรบุรี

แต่เผอิญมีประเด็นเรื่องการนำข้อมูลของ TDRI ที่กล่าวว่าประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาแต่เน้นวิจัยขึ้นหิ้ง ด้วยสัดส่วนร้อยละ ๒๕ ซึ่งมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีคนเอามาขยายความต่อว่า "เศรษฐกิจพัง เพราะประเทศไทยมีแต่งานวิจัย...ขึ้นหิ้ง!!" ซึ่งกำลังกลายเป็นเรื่องที่สร้างความเข้าใจผิดและสับสนที่ควรจะต้องเขียนถึงเสียก่อน

เป็นเรื่องถูกต้องที่ว่างานวิจัยของประเทศไทยกำลังมีปัญหาที่จะต้องแก้ไขด้วยการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพราะมิฉะนั้นประเทศไทยจะใช้งานวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อสร้างนวัตกรรม ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและบริการ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็งและหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางไม่ได้

แต่การวินิจฉัยปัญหาเรื่องการวิจัยที่ผิดพลาด จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ผิดพลาด กลายเป็นการสร้างปัญหาเพิ่ม และปัญหาที่แท้จริงกลับไม่ได้รับการแก้ไข ประเทศไทยจะยังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางเหมือนเดิม

ผมขอเขียนแย้ง TDRI และผู้ที่เขียนขยายความต่อใน ๓ ประเด็น คือ

๑. ประเทศไทยลงทุนในด้านการวิจัยน้อย เพียงประมาณร้อยละ ๐.๒๕ ของจีดีพี มาเป็นเวลานานมากกว่า ๑๐ ปี (แม้ว่าในหนึ่งหรือสองปีหลังมีการขยับขึ้นบ้าง แต่ยังถือว่าน้อย) ดังนั้น ตัวเลขร้อยละ ๒๕ ของร้อยละ ๐.๒๕ ของจีดีพี คิดเป็นเม็ดเงินเท่าไหร่ TDRI ควรจะเปรียบเทียบด้วยตัวเลขเม็ดเงินจริง ของการลงทุนด้านการวิจัยทั้งหมดและการวิจัยด้านพื้นฐานของทุกประเทศที่ยกมาเปรีบเทียบ ซึ่งหลายประเทศมีการลงทุนด้านการวิจัยร้อยละ ๒-๔ ของจีดีพี และมีจีดีพีที่ใหญ่กว่าประเทศไทยมาก (ลองคิดทั้งเม็ดเงินต่อปีและสะสมสัก ๑๐ ปีก็ได้) ตัวเลขร้อยละ ๒๕ ของเม็ดเงินจริงที่น้อย (เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ) อาจจะไม่ได้มีความหมายและนัยยะสำคัญใดๆ เลยก็ได้ เรื่องนี้ผมคิดว่า TDRI สร้างความสับสนและความเข้าใจที่ผิด (mislead) ซึ่งจะส่งผลเสียที่ใหญ่หลวงต่อประเทศไทย

๒. คำว่างานวิจัย "ขึ้นหิ้ง" เป็นวาทะกรรมที่ผู้ซึ่งไม่ค่อยรู้เรื่องงานวิจัยสร้างขึ้น เป็น "วาทะกรรมแห่งความไม่รู้" ซึ่งทำลายงานวิจัยและทำลายนักวิจัย (นักวิจัยแท้ๆ หาได้อยากอยู่แล้ว) งานวิจัยขึ้นหิ้งอาจจะมีได้คือในกรณีของงานวิจัยที่ไม่มีคุณภาพ ทำโดยนักวิจัยที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งในวงการวิจัยไม่ได้ให้การยอมรับ งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน พัฒนาสติปัญญาความรู้และทักษะของคน คนที่ได้รับการพัฒนาด้วยงานวิจัยแล้ว จะเป็นคนที่มีสติปัญญาความรู้และทักษะในการแก้ปัญหาโดยใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือ ผลของงานวิจัยจริงๆ จึงไม่ได้อยู่บนหิ้งแต่อยู่ในตัวคน (อย่าไปหลงผิดติดยึดเรื่องสิ่งที่อยู่บนหิ้ง คือเอกสารรายงานผลการวิจัย ซึ่งไม่ได้สำคัญอะไรมาก) ตัวคนจึงคือผลของงานวิจัยที่สำคัญที่สุด แต่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ ก็สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ได้ ทำให้เกิดการเจริญงอกงามขององค์ความรู้ ซึ่งเมื่อมีการสะสมมากพอก็จะมีการนำไปประยุกต์สร้างเทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม

ในวงการของผู้ที่รู้จริงทางด้านงานวิจัย เขารู้กันมานานแล้วว่างานวิจัยที่จะนำไปประยุกต์ได้จะต้องมีการทำวิจัยที่มากและยาวนานพอสมควร จนสะสมองค์ความรู้มากพอ จึงจะนำไปประยุกต์สร้างเทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมได้ ไม่ไช่การวิจัยที่สะเปะสะปะกระจัดกระจายหรือทำกันเพียงเรื่องสองเรื่องหรือชิ้นสองชิ้น ก็จะนำไปประยุกต์หรือสร้างนวัตกรรมกันแล้ว

คนที่พูดว่างานวิจัย "ขึ้นหิ้ง" มักจะไม่ใช่นักวิจัย หรือถ้าเป็นนักวิจัยก็มักจะเป็นนักวิจัยเทียมที่ไม่เข้าใจงานวิจัยอย่างแท้จริงและไม่เข้าใจในเรื่องห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของงานวิจัย ซึ่งจะต้องมีงานวิจัยที่เข้มข้นและจริงจังอย่างมากพอตลอดสาย จะต้องมีการลงทุนที่มากอย่างเพียงพอ และมีโครงสร้าง ระบบและกลไกตลอดห่วงโซ่รองรับด้วย ตั้งแต่ต้นจนถึงการนำไปใช้ประโยชน์ จึงไม่ใช่จะให้นักวิจัยคนเดียวหรือไม่กี่คนทำในทุกเรื่องและทุกอย่าง ซึ่งเป็นไปไม่ได้

การจะให้นักวิจัย ทำงานวิจัยที่มุ่งเน้นแบบไหน (พื้นฐาน แปรไปสู่การประยุกต์ ประยุกต์ นวัตกรรม ฯลฯ) และมีสัดส่วนมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐ ของมหาวิทยาลัย และหน่วยงานผู้ให้ทุนโดยแท้ นักวิจัยไม่ได้มีทางเลือกมากนัก ถึงนักวิจัยอยากจะทำ แต่รัฐบาล มหาวิทยาลัย และแหล่งทุนไม่ให้เงินทุนทำวิจัย นักวิจัยก็ไม่สามารถจะทำได้ เพราะไม่มีเงินทุนจะทำ การมาโยนความผิดทุกอย่างมาให้นักวิจัยจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม

๓. เศรษฐกิจไทยไม่ได้พังเพราะงานวิจัยและนักวิจัย เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยพังเพราะเหตุอื่น เช่น นักการเมือง ข้าราชการและพ่อค้า ร่วมกันโกงกินทุจริตคอร์รัปชั่นและทำให้เกิดความเสียหาย (เช่น โครงการจำนำข้าว มีความเสียหายห้าหกแสนล้านบาท) นโยบายของรัฐบาลก่อนๆ ที่ผิดพลาด ระบบราชการที่ด้อยประสิทธิภาพ ระบบการผลิตที่ล้าหลังไม่สามารถแข่งขันได้ เป็นต้น

แค่เม็ดเงินลงทุนด้านการวิจัยพื้นฐานเพียงจิบจ้อย (ร้อยละ ๒๕ ของร้อยละ ๐.๒๕ ของจีดีพี) จะถึงกับสร้างผลกระทบทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยได้มาก ถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจพังได้จริงหรือ ผู้ที่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทย หรือแม้แต่ TDRI คงจะช่วยตอบได้

หมายเลขบันทึก: 599393เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2016 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มกราคม 2016 13:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท