ระบบข้อมูลแบบ UCHA: การพัฒนาที่พอเพียง เพียงพอ พอดี ดีพอ


ในการดำเนินงานด้านระบบข้อมูลในปัจจุบัน มีโปรแกรมระบบงานที่สถานบริการจัดหามาใช้เองมากกว่า 32 โปรแกรม แต่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ต้องบันทึกข้อมูลหลายหน้าต่าง หลายโปรแกรม เจ้าหน้าที่ไม่พอ ภาระงานมีมาก หลายหน่วยงานประสบปัญหาการเข้าถึงฐานข้อมูลของผู้ป่วย การขอข้อมูลยุ่งยาก การได้ข้อมูลล่าช้า เพราะผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เอง และข้อมูลที่ได้มาไม่ตรงตามที่ต้องการ ไม่ครบถ้วน ไม่ทันสมัย รวมถึงฐานข้อมูลที่มีอยู่ไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงเป็นเหตุให้นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานที่เห็นประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูล (เพื่อพัฒนาองค์กร จัดทำแผน ทำรายงาน ทำวิจัยที่มีความซับซ้อน ที่จำเป็นต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์ทำฐานข้อมูล) ไม่มีทางออก จึงจำเป็นต้องมีการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่มีอยู่บนกระดาษ หรือใช้โปรแกรม Spreadsheet ช่วยทำงานเพื่อให้การวิเคราะห์ข้อมูลทำได้ รวดเร็ว แต่ผู้ปฏิบัติงานไม่มีความชำนาญในการใช้โปรแกรม ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นไปด้วยความล่าช้า ต้องจดจำคำสั่งต่างๆ มากมาย หรือต้องพึ่งพานักคอมพิวเตอร์ที่ทำเป็น ไม่มีการทำความสะอาดข้อมูลก่อนประมวลผล ทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งใช้เวลาในการรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลนานและเครียด จึงไม่มีใครอยากจะทำ ส่วนมากจึงแก้ปัญหาด้วยการจ้างบริษัทมาเขียนโปรแกรมเฉพาะกิจหรือใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ซึ่งพบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดหาหรือจ้างเขียนโปรแกรม ต้องใช้งบประมาณสูง บางครั้งต้องจัดหา Server ใหม่ ต้องมีเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ช่วยดูแลระบบและจัดการเครือข่าย โปรแกรมไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งหมด และถูกจำกัดด้วยลิขสิทธิ์การใช้งาน การพัฒนาต่อต้องใช้งบประมาณอีกมาก ความรู้ที่ซ่อนเร้นในข้อมูลที่ได้บันทึกไว้อย่างละเอียดจากการปฏิบัติงานบนกระดาษ มักไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ บางครั้งเป็นความรู้จากความทรงจำหรือจากการประมวลผลอย่างง่าย ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือไม่มี Evidence base จริงที่น่าเชื่อถือจากความเจ็บป่วยจริงของประชาชนคนไทย นับเป็นความสูญเสียอย่างหนึ่งของประเทศซึ่งเราต้องแก้ไข

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวให้นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงาน และให้เป็นทางเลือกใหม่ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูล อาจารย์นายแพทย์ทวีทอง กออนันตกูล (ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารระดับสูง กรมควบคุมโรค ปี 2537-2544 และกรมการแพทย์ ปี 2545-2553) จึงได้เสนอแนวคิดวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการออกแบบระบบข้อมูลใหม่ เพื่อให้นักวิชาการทุกท่านได้นำไปใช้ โดยแก้ไขปัญหาตามที่กล่าวข้างต้นทั้งหมด ตั้งชื่อระบบข้อมูลนี้ว่า “ระบบข้อมูลแบบ UCHA (อูฉะ)” โดยคำนึงถึงหลัก “พอเพียง เพียงพอ พอดี และ ดีพอ” มีรายละเอียดโดยย่อดังนี้

  1. ใช้งานง่าย ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพานักคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องไปเรียนรู้คำสั่งคอมพิวเตอร์ต่างๆ มากมาย โดยการให้โปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรมให้ผู้ใช้อยากรู้อะไรจากข้อมูลที่หน้าจอ ก็คลิกเข้าไปดูได้เลย และให้คลิกดูรายละเอียดข้อมูลปลีกย่อยลงไปได้เรื่อยๆ ทุกมุมมองของข้อมูล ซึ่งโปรแกรมลักษณะนี้ยังไม่เคยมีปรากฏมาก่อน
  2. ไม่ต้องของบประมาณ (มักจะไม่ได้รับการสนับสนุน) การของบประมาณในการทำฐานข้อมูลแต่ละงานจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก นับตั้งแต่ค่าวิเคราะห์ข้อมูล ค่าเขียนโปรแกรม ค่าเครื่อง Server ค่าเครือข่าย ที่สำคัญต้องมีนักคอมพิวเตอร์มาช่วยดูแล อีกทั้งต้องใช้เวลาในการพัฒนานาน เมื่อมีการอบรมการใช้งานแต่ละโปรแกรมจะต้องจดจำวิธีใช้มากมาย จึงแก้ไขด้วยการใช้ระบบ UCHA (โปรแกรมเดียวใช้ได้กับทุกงาน) อบรมการใช้ระบบเพียงครั้งเดียวสามารถใช้เป็นได้ทุกงาน ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอยู่บน Server เพียงเครื่องเดียว บนฐานข้อมูลที่อนาคตจะขยายตัวเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ บนเครือข่ายที่แข็งแรง มีความปลอดภัยสูง และสามารถบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  3. ตอบคำถามในข้อมูลที่มีอยู่ได้ทุกมุมมอง เมื่อผู้ใช้งานอยากรู้อะไรที่บันทึกไว้ ก็เลือกคลิกตรงส่วนนั้น เมื่อคลิกแล้วระบบข้อมูลแบบ UCHA จะประมวลผลแล้วให้คำตอบในทันที ซึ่งโปรแกรมที่จ้างเขียนส่วนใหญ่จะไม่มีคุณสมบัติที่จะเรียกดูข้อมูลทุกมุมมองเช่นนี้
  4. เรียกดูข้อมูลที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้ ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เครื่องโทรศัพท์มือถือ Smart phone Tablet Notebook คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการเรียกดูข้อมูลในขณะทำงานทุกที่ ภายใต้ระบบความปลอดภัยที่ทันสมัยและรัดกุม
  5. ส่งข้อมูลออกจากระบบได้หลากหลายรูปแบบ เช่น Text file csv excel เป็นต้น เพื่อส่งต่อให้กับงานอื่น เช่น SPSS สปสช. กรมกองต่างๆ ผู้ใช้ระบบไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อนเมื่อถูกขอข้อมูลจากหน่วยงานอื่น
  6. วิเคราะห์ทางสถิติเบื้องต้นและทำกราฟได้ทันที ในหลายรูปแบบ เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ระบบในการทำ Presentation ได้อย่างรวดเร็ว
  7. ขอใช้ได้เลยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ด้วยการทำหนังสือขอใช้ระบบมาถึงเครือข่าย UCHA หรือศูนย์ข้อมูลสุขภาพ NECTEC-UCHA หรือสมาชิก UCHA มากมายทั่วประเทศ (มากกว่า 2,000 คน)
  8. สามารถเก็บข้อมูลการคลิกหลายๆ คลิกเป็นคลิกเดียว ทำให้ผู้ใช้ระบบเข้าถึงข้อมูลที่เรียกดูบ่อยได้อย่างรวดเร็ว
  9. สามารถสร้างรายงานหรือโปรแกรมเฉพาะกิจได้ทุกรูปแบบ เมื่อเป็นที่ต้องการของผู้ใช้กลุ่มใหญ่

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา (สคร.9 นครราชสีมา) เป็นหน่วยงานส่วนภูมิภาคที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งตามนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างและจัดแบ่งส่วนราชการต่างๆ ในส่วนภูมิภาคให้เหมาะสมต่อเหตุการณ์และการกระจายอำนาจ ทำหน้าที่รับผิดชอบการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 นครชัยบุรินทร์ มีพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ มีวิสัยทัศน์คือ “เป็นองค์กรชั้นนำที่มีมาตรฐานสากล ด้านการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ภายในปี 2562” ปฏิบัติงานตามพันธกิจตามแนวทางของกรมควบคุมโรคคือ “การลดเสี่ยง ลดโรค ลดตาย” ขับเคลื่อนโดยตรงกับกลุ่มเป้าหมายคือ ประชาชน อีกส่วนหนึ่งขับเคลื่อนผ่านกลุ่มเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการป้องกันควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังเกิดโรคใหม่ที่ต้องเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน และมีบทบาทหน้าที่ด้านอื่นๆ ที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีข้อจำกัดในการเพิ่มบุคลากร เป็นผลให้บุคลากรมีงานล้นมือ การแสวงหาองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน มักเกิดจากความทรงจำในอดีต หรือเกิดการค้นคว้าเฉพาะงาน บ่อยครั้งที่ไม่สามารถตอบปัญหาหรือข้อสงสัยในงานที่ทำได้ทันที เนื่องจากการรวบรวมข้อมูลต้องใช้บุคลากรที่มีความชำนาญหลายคนหลายกลุ่มงาน และอาจใช้เวลาหลายวัน ความรู้ที่ขาดข้อมูลทำให้เกิดความคาดเคลื่อนทางวิชาการ ซึ่งเป็นผลเสียหากนำองค์ความรู้ที่ไม่ถูกต้องไปใช้

สคร.9 นครราชสีมา จึงได้นำระบบข้อมูลแบบ UCHA มาใช้ในการจัดทำระบบฐานข้อมูล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกฐานข้อมูล สามารถนำเข้าและเรียกดูข้อมูลโรคได้ออนไลน์แบบ Real time หรือ near real time โดยมีการนำระบบข้อมูลแบบ UCHA มาใช้ในการจัดทำระบบฐานข้อมูลของสคร.9 นครราชสีมา ดังนี้

  • ปี 2549 จัดทำระบบฐานข้อมูล 5 โรค ได้แก่ โรคไข้หวัดนก โรคไข้เลือดออก โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคเลปโตสไปโรซีส
  • ปี 2550 เพิ่มระบบฐานข้อมูลอีก 2 โรค ได้แก่ วัณโรค และโรคเรื้อน
  • ปี 2552 จัดทำระบบฐานข้อมูลโรคเรื้อน แบบ Real time (บันทึกข้อมูลจากสถานบริการ)
  • ปี 2553 จัดทำระบบฐานข้อมูลโรคในระบบเฝ้าระวัง (รง.506) ทุกโรค
  • ปี 2554 จัดทำระบบฐานข้อมูลโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 วัณโรค MDR-TB ฐานข้อมูลการฝึกอบรมของบุคลากร และฐานข้อมูลครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์
  • ปี 2555 จัดทำระบบฐานข้อมูลยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา
  • ปี 2556 จัดทำระบบรายงานผู้ป่วยจากโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม (รง.506/2) และทดลองเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูล 12 แฟ้มจังหวัดนครราชสีมา
  • ปี 2555 จัดทำระบบฐานข้อมูลเครื่องพ่น (หมอกควัน สารเคมี)

การพัฒนาระบบฐานข้อมูล สคร.9 นครราชสีมา ใช้แนวทางการวิจัยและพัฒนา (Research and development: R&D) และการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research: R2R) โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีการพัฒนาระบบสารสนเทศด้วยวงจรการพัฒนาระบบ (System Development Life Cycle: SDLC) 6 ขั้นตอนคือ (1) การวางแผน (2) การวิเคราะห์ (3) การออกแบบ (4) การสร้าง ทดสอบ เผยแพร่ (5) การดูแล พัฒนา (6) การประเมินผล เพื่อให้ได้ระบบฐานข้อมูลที่ใช้สนับสนุนการดำเนินงาน

ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูล ดำเนินการโดยคณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร สคร.9 (CIO) และใช้การจัดการความรู้ในเครือข่ายสมาชิก ก่อให้เกิดวิธีการใหม่ในการพัฒนางานที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกิดการใช้ข้อมูลที่นำไปสู่การตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น ซึ่ง สคร.9 นครราชสีมา มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูล แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพเครือข่าย UCHA อย่างต่อเนื่อง


ระบบข้อมูลแบบ UCHA ของสคร.9 นครราชสีมา มีผู้ใช้งานประมาณ 250 Users ได้แก่ บุคลากรสคร.9 นครราชสีมา และหน่วยงานเครือข่าย ได้แก่ สคร. สปสช. สสจ. สสอ. รพ. และศูนย์วิชาการในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 รวมทั้งมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานเครือข่าย ได้แก่ สคร.5 ราชบุรี (ระบบฐานข้อมูล MDR-TB) สคร.10 อุบลราชธานี (ระบบข้อมูลแบบสำรวจ) สคร.12 สงขลา (ระบบฐานข้อมูลงาน HRD) อีกทั้งระบบข้อมูลแบบ UCHA มีการเก็บข้อมูลการใช้งาน (Logbook) ทุกครั้ง ซึ่งมีจำนวนครั้งของการใช้งานระบบฐานข้อมูล ปีงบประมาณ 2550 - 2558 ดังภาพ

ประโยชน์ที่ได้รับ

สคร.9 นครราชสีมา และหน่วยงานเครือข่าย มีระบบฐานข้อมูลที่เป็นเครื่องมือในการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพในด้านมาตรฐานจัดเก็บข้อมูลที่ใช้เป็นรูปแบบเดียวกัน มีความถูกต้องของข้อมูล และมีความปลอดภัยของระบบโดยการกำหนดรหัสผ่านในการใช้งาน ทำให้ได้ระบบฐานข้อมูลที่สามารถใช้งานจากฐานข้อมูลเดียวทุกหน่วยงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบบ Real time ช่วยแก้ไขปัญหาการทำงาน และใช้การจัดการความรู้ (KM) ในเครือข่ายสมาชิก ก่อให้เกิดวิธีการใหม่ (Innovation) ในการพัฒนางานที่มีประสิทธิภาพ บุคลากรสาธารณสุขในเขตพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 (นครชัยบุรินทร์) สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนการดำเนินงานและการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค นำไปสู่การตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น (Evidence based decision making) ช่วยลดความยุ่งยากหรือภาระงานที่มากเกินไป และเกิดประโยชน์ต่องานประจำ ผู้ใช้งานมีความพึงพอใจในการใช้งานระบบฐานข้อมูลโรคเรื้อนในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.72) รวมทั้งระบบข้อมูลแบบ UCHA เป็นผลิตภัณฑ์ทางวิชาการที่พัฒนาตามองค์ประกอบของมาตรฐาน (กลุ่มที่ 3 รูปแบบ) สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หลักคือ คู่มือการใช้งานระบบฐานข้อมูลโรคเรื้อน (UCHA) และใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาฐานข้อมูลโรคเรื้อนของประเทศ

ปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาระบบฐานข้อมูล

  1. เริ่มต้นจากความต้องการของผู้ใช้งาน จะทำให้มีโอกาสสำเร็จสูงคือ มีการใช้งานให้เกิดประโยชน์ ไม่ล้มเลิก ไม่ซ้ำซ้อน ไม่เป็นภาระ
  2. ไม่ติดเงื่อนไข ภาระงาน เงิน ทรัพยากร บุคลากร เวลา ฯลฯ
  3. ทำงานร่วมกันเป็นทีมทั้งด้านวิชาการ (ข้อมูล) และด้าน IT (เทคนิค) ทุกขั้นตอน ได้แก่ วางแผน วิเคราะห์ ออกแบบ สร้าง พัฒนาและประเมินผลเพื่อพัฒนาและปรับปรุง รวมทั้งสร้างทีมการพัฒนาระบบข้อมูลเขตสุขภาพที่ 9 ต่อไป
  4. มีการบริหารข้อมูลระดับเขต โดยผู้รับผิดชอบบันทึกข้อมูลตามโครงสร้างข้อมูล (Data Dictionary) ที่กำหนดไว้ มีการตรวจสอบข้อมูล (Clean) ข้อมูลโดยผู้รับผิดชอบระดับเขต และพัฒนาการใช้งานระบบข้อมูลแบบ UCHA ผ่านการประชุมปกติ การนิเทศงาน และเครือข่าย UCHA ทั่วประเทศ
  5. ระบบข้อมูลนำไปใช้ได้จริงและได้รับการยอมรับ เกิดประโยชน์ร่วมกัน สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผน กำหนดนโยบาย การบริหารจัดการ และการตัดสินใจได้

ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ

  1. ด้านข้อมูล ได้แก่ 1) การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล (Clean) ข้อมูลต้องมีการคลีนให้ครบถ้วนและถูกต้องเพื่อให้ข้อมูลสามารถนำไปใช้ได้ 2) ปัจจุบันมีการใช้งาน UCHA เพียง 10% (การวิเคราะห์ข้อมูล การนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์) เสนอแนวทางแก้ไขคือ 1) ควรมีการนิเทศติดตาม ประเมินผลการใช้งานระบบข้อมูลแบบ UCHA อย่างต่อเนื่อง 2) ควรพัฒนาทักษะการใช้งานระบบข้อมูลแบบ UCHA และการคลีนข้อมูล (ยังมีเทคนิคในการใช้งานที่ต้องเรียนรู้เพิ่มอีก 90%) 3) เร่งฝึกสมาชิก UCHA เพื่ออบรมให้เป็นครู ก. ระดับโรงพยาบาล ระดับจังหวัด และระดับเขต เพื่อสอนการใช้งาน UCHA ต่อ
  2. ด้านเทคนิค ได้แก่ 1) ความล่าช้าของระบบเครือข่าย ความเสถียรของระบบ 2) ความไม่ปลอดภัยจากไวรัสและจากผู้บุกรุก 3) ความเชี่ยวชาญการดูแลแก้ไขปัญหา Server เสนอแนวทางแก้ไขคือ 1) ร่วมสร้างศูนย์ข้อมูลกลางด้านสุขภาพ NECTEC-UCHA ใช้ระบบ Cloud ของ NECTEC 2) พัฒนาด้านเทคนิค Network Server Cloud และความปลอดภัย

ผลงานการพัฒนาระบบฐานข้อมูลของสคร.9 นครราชสีมา ด้วยระบบข้อมูลแบบ UCHA นี้ ได้รับรางวัลทั้งในระดับเขตและระดับประเทศ ดังนี้

  • ปี 2552 รางวัลการนำเสนอผลการดำเนินงานดีเด่นประเภทการจัดนิทรรศการ ในงานสัมมนาวิชาการ สคร.5 6 7 เรื่อง UCHA: ระบบเฝ้าระวังโรคออนไลน์
  • ปี 2553 รางวัลผลงานวิชาการดีเด่นประเภทบรรยายและนิทรรศการ ในงานสัมมนาวิชาการ สคร.5 6 7 เรื่อง การพัฒนาระบบฐานข้อมูลโรคด้วยระบบฐานข้อมูลแบบ UCHA
  • ปี 2554 รางวัลชนะเลิศก้าวแรกการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (R2R) กรมควบคุมโรค เรื่อง ระบบฐานข้อมูลการฝึกอบรม
  • ปี 2555 รางวัลพัฒนาต่อยอดงานประจำด้านบริหารทั่วไปสู่งานวิจัย (R2R) กรมควบคุมโรค เรื่อง ระบบฐานข้อมูลการฝึกอบรม
  • ปี 2557 รองชนะเลิศอันดับ 1 การนำเสนอผลงานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมควบคุมโรค เรื่อง การพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้วยโปรแกรม UCHA


รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดังนี้
- ปี 2553 สคร.6 ชลบุรี
- ปี 2554 นักศึกษามหิดลอินเตอร์, สคร.13 กรุงเทพฯ, สคร.1 เชียงใหม่, สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล, UCHA กรมควบคุมโรค (ผ่านระบบ VDO Conference)
- ปี 2555 สคร.4 สระบุรี, สคร.13 กรุงเทพฯ
- ปี 2556 สคร.5 ราชบุรี, สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล
- ปี 2558 ศูนย์สารสนเทศ กรมควบคุมโรค, สคร.12 สงขลา

เว็บไซต์ สคร.9 นครราชสีมา http://odpc9.ddc.moph.go.th/ หรือ http://www.odpc9.org/

เข้าใช้งาน UCHA ที่ http://ucha9.ddc.moph.go.th/

ติดต่อขอใช้งานระบบข้อมูลแบบ UCHA ที่ งาน IT กลุ่มพัฒนาองค์กร สคร.9 นครราชสีมา e-Mail: [email protected]

หมายเลขบันทึก: 596990เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2015 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2015 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท