การศึกษาไทย: ชีวิตของเด็กไทยแต่ใครคิด


ระบบการศึกษาไทย คือสิ่งที่เป็นตัวชี้นำแนวทางการคิดและปฏิบัติของเยาวชนคนไทยในยุคนั้นๆ ในแต่ละยุคที่ระบบการศึกษาเปลี่ยน คนก็จะเปลี่ยน ในศักราชนี้ ก็คงจะแบ่งกลุ่มคนได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ
กลุ่มแรกคือกลุ่ม คนสูงวัย คนกลุ่มนี้ถูกสั่งสอนมาแบบเดิมๆ ให้เชื่อฟังคำของครู เชื่อหนังสือ เชื่อผู้ใหญ่ อย่าตั้งคำถาม อย่ามีของสงสัย หากใครไม่ทำตามก็จะถูกลงโทษ ถ้าใครไปถามคนในยุคนี้เกี่ยวกับสมัยที่ยังเรียนอยู่ ก็คงมักจะได้คำตอบที่ไม่ค่อยต่างกัน ประมาณว่า ยุคของฉัน เรียนหนังสือกันจริงจัง บทเรียนก็ยากกว่าเด็กสมัยนี้ มีความรับผิดชอบมากกว่า ไม่เถลไถล ทำผิดต้องตีด้วยไม้เหลียวให้เชื่อฟัง ไม่ใช่สอนเด็กให้ก้าวร้าวแบบสมัยนี้ แต่เมื่อมองเทียบกับสิ่งที่เราเห็น ผู้ใหญ่สมัยนี้มักจะเรียนไม่จบ บ้างก็จบ ป.4 ม.3 บ้าง บางคนก็สูงหน่อย ม.8 น้อยคนนักที่จะมีใบปริญญามาไว้ประดับบารมี ถ้าจะเอาวุฒิการศึกษามาเทียบกันก็คงจะไม่แฟร์นัก เพราะต้องยอมรับว่าโอกาสทางการศึกษาสมัยก่อนไม่ได้มีมากเท่าสมัยนี้ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดในคนกลุ่มนี้คือ มักจะไม่ยอมรับเหตุผลและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มักจะหาข้อดีที่มักจะไม่ค่อยมีเหตุผลประกอบมาค้านการนำมาของสิ่งใหม่ๆเสมอ นี่ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่นี่คือสิ่งที่ระบบการศึกษาในยุคนี้ ปลูกฝังมา ขอเรียกกลุ่มนี้สั้นๆว่า กลุ่ม ก แล้วกัน
พอมาถึงรุ่นลูกของคนกลุ่ม ก ระบบการศึกษาก็กำลังเข้าสู่อีกยุคสมัยหนึ่ง ยุคนี้เป็นยุคแห่งความเฟื่องฟูทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม เริ่มมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากขึ้น ระบบการศึกษาในยุคนี้จะต่างจากกลุ่ม ก ที่มักจะให้ความสำคัญกับเรียนเพื่อประกอบอาชีพมากกว่า แต่ในยุคนี้เป็นยุคที่สร้างใบปริญญาขึ้นมารับรองว่าคนนี้เป็นคนที่มีความรับผิดชอบและความพยายาม พูดง่ายๆก็คือ แทนที่จะเป็นบัตรเล่นเครื่องเล่นเฉพาะอัน กลับเป็นบัตรเข้าสวนน้ำที่จะไปเล่นเครื่องเล่นไหนก็ได้ เพราะฉะนั้นยุคนี้ เป็นยุคที่คนมีอิสระในการเลือกที่จะทำอะไรก็ได้มากขึ้น เป็นยุคที่การศึกษามีไว้รับรองคน ทำให้คนที่มีวุฒิการศึกษาต่ำในยุคนี้ มักจะไม่ค่อยก้าวหน้าในการงานนัก ขอเรียกกลุ่มที่ 2 นี้ว่ากลุ่ม ค ล่ะกัน
ยุคที่ 3 คือกลุ่มเด็กวัยรุ่นเยาวชนปัจจุบัน ก็คือรุ่นลูกของกลุ่ม ค นั่นเอง กลุ่มนี้จัดว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับโอกาสทางการศึกษามากที่สุด มีนโยบายจากรัฐ กองทุนสนับสนุนต่างๆเข้ามาผลักดันมากมาย เด็กยุคนี้เป็นเด็กกลุ่มที่เกิดมาพร้อมกับ internet everywhere และการพัฒนาของระบบคอมพิวเตอร์ เด็กยุคนี้ถูกสอนด้วยวิธีแบบกึ่งกลาง สองยุค คือให้คิดถึงอนาคตและรักษาอดีตไว้ ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆก็คือการใช้คอมพิวเตอร์ในห้องสมุด ทั้งๆที่คอมพิวเตอร์ถูกออกแบบให้เข้าถึงความรู้ที่ไหนก็ได้ จากที่ใดก็ได้ในโลก แต่ก็ยังให้ใช้ในห้องสมุดเพื่อรักษาสิ่งเดิมๆไว้ เป็นยุคที่ระบบการศึกษาไทยน่าจะสมบูรณ์ที่สุด ด้วยการรักษามาตรฐาน และการค่อยๆเปลี่ยนแปลง ทำให้สังคมมีความรู้สึกว่าไม่เร็วเกินไป พอรับไหวกับการเปลี่ยนแปลง คนยุคนี้จึงมักจะเป็นกลุ่มที่คิดสมัยใหม่ แต่ยังทำแบบเก่าอยู่ ยุคนี้ทำให้เกิดยุคของคนสร้างไอเดียขึ้นมา เป็นจุดเริ่มต้นทางการศึกษาที่ให้สอนให้เด็กคิดให้เยอะขึ้น ขอเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่ม อ
ยุคที่ 4 ต้องบอกว่าเป็นยุคที่เด็กเติบโตมาก็เจอกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่มาก ระบบการศึกษาในยุคนี้จึงออกแบบให้เด็กยุคนี้ เป็นคนลงมือทำ เด็กยุคนี้จึงมีความเอาแต่ใจ สะดวกสบาย ก้าวร้าว เมื่อคิดแล้วต้องลงเมือทำไม่แคร์สายตาผู้ใหญ่ จนถูกมองว่าเป็กเด็กก้าวร้าว คนยุคนี้ในปัจจุบันก็ยังไม่เห็นผลว่าคนกลุ่มนี้จะนำพาประเทศชาติไปได้ถึงไหน แต่ให้จับตามองเด็กกลุ่มนี้ไว้ให้ดี ขอเรียกคนกลุ่มนี้ว่า กลุ่ม ท
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เพียงจะให้เห็นว่า ระบบการศึกษาไทยชี้นำคนในแต่ละยุคให้มีลักษณะอย่างไร ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องที่ผิด ที่คนแต่ละยุคจะมีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่กำลังอยากจะนำเสนอก็คือ การศึกษาไทย คือสิ่งที่ต้องมองไปสู่อนาคต การเปลี่ยนแปลง จะเห็นได้ว่าใน 4 กลุ่มข้างบนนี้ต่างก็มีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นในแง่ของเสรีภาพและกระบวนการคิดมาตลอด แต่สิ่งนี้กำลังมาถึงทางตัน เมื่อคนกลุ่ม ท กลุ่มสุดท้ายที่จะนำสิ่งต่างๆที่คิดมา ลงมือทำให้เป็นรูปเป็นร่าง กลับถูกมองอย่างเป็นศัตรูกับคนกลุ่ม ก อย่างร้ายแรง เด็กกลุ่ม ท ถูกมองว่ากำลังจะเข้ามาทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมที่อยู่คู่มากับคนกลุ่ม ก มาตลอด เหตุนี้จึงทำให้แนวทางของการศึกษาเปลี่ยนไป วันนี้การศึกษากำลังเข้าสู่ยุคถอยหลัง เรากำลังเอาบทเรียนเก่าๆเมื่อช้านานมาสอน บทเรียนเริ่มถูกแทรกซึมด้วย ความรักในวัฒนธรรมดั้งเดิม และสอนให้มองว่าความคิดในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเก่าๆนั้น เป็นสิ่งที่ผิดและยอมรับไม่ได้ เหตุผลง่ายๆก็คือ ระบบการศึกษาที่ว่านี้ประกอบไปด้วยผู้บริหารสูงวัยที่มาจากกลุ่ม ก ที่จะเข้ามาควบคุมกิจกรรมการศึกษาให้เป็นไปตามแนวคิดของคนกลุ่มนี้ สิ่งนี้แหละที่เป็นปัญหามาตลอด เมื่อเกิดเหตุการณ์เรียกร้องจากเด็ก มักจะถูกปฏิเสธและอ้างเหตุผลด้านวัฒนธรรมอยู่เสมอ มันเป็นเรื่องที่สมควรแล้วหรือ ที่การศึกษาที่พัฒนาคนที่จะสร้างอนาคต ถูกกำหนดโดยคำรุ่นเก่าที่กลัวการเปลี่ยนแปลง คำถามนี้ สิ่งนี้จึงทำให้เริ่มต้นแนวคิดที่ว่า “สภานักเรียน”
สภานักเรียนประกอบไปด้วยกลุ่มเด็กตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไปจนถึงอุดมศึกษา ตั้งระบบสภาแบบรัฐสภา มีคณะกรรมการนักเรียนเป็นผู้กำหนดนโยบายหลักทางการศึกษา จับคนกลุ่ม ก ทีเคยเป็นผู้บงการระบบการศึกษา มานั่งเป็นคณะกรรมการตรวจสอบการทำงานของสภานักเรียน คล้ายกับวุฒิสภา มีหน้าที่อนุมัติหรือไม่อนุมัติความคิดของสภานักเรียนมาดำเนินการจริง สมาชิกสภานักเรียนมาจากตัวแทนกลุ่มนักเรียนในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ให้เด็กเป็นคนสร้างอนาคตของเขาด้วยตัวเอง กำหนดวิถีชีวิตของเขาด้วยตัวเอง ให้มติของสภานักเรียนมีอำนาจเทียบเท่ากับการตัดสินใจของผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมาสภาเหล่านี้ มีไว้เพื่อหลอกชาวโลก หลอกประชาชนถึงโครงสร้างในการรับฟังความเห็นจากเด็ก แต่ที่จริงแล้วแทบไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาเลย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะสร้างอนาคตตัวเองด้วยตัวเราเอง

เครดิต : lmPooh

หมายเลขบันทึก: 596440เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2015 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ตุลาคม 2015 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท