๒. โรงเรียนเล็ก..ปัญหาไม่เล็ก..อย่างที่คิด


ผมไม่มีโอกาสได้คิดถึงหลักการบริหารใดๆ ในเวลานั้น นอกจากเดินหน้า ยิ้มสู้ กับงานหนัก ถ้าจะมีอุปสรรค ก็คิดว่าเป็นอาหารเสริม คิดแต่ว่าจะทำงานให้ดีที่สุด และทำเรื่องง่ายๆใกล้ตัวก่อน สร้างความสุขให้สนุกกับงานเสียก่อน...เดี๋ยวทุกอย่างก็ดีเอง

วันที่ผมย้ายมาเป็นผู้บริหารโรงเรียนบ้านหนองผือ..ตรงกับปีการศึกษา ๒๕๔๙..วันนั้น..ยังจำได้อย่างแม่นยำว่า มีครู ๓ คน..๒ คนเป็นครูประจำการ อีก ๑ คน เป็นครูจ้างสอนของเทศบาล ที่ส่งมาช่วยเป็นการชั่วคราว รวมผมด้วย จึงมีบุคลากรรวมทั้งสิ้น ๔ คน นักเรียน ๔๘ คน

ครูทุกคน สอนคนละ ๒ ชั้น ส่วนผมเป็นครูประจำชั้น ป.๓ – ๔ และสอนทุกวิชา..จึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้การทำงานแบบบูรณาการ ที่ผมจะต้องใส่ใจ ไม่ได้มองว่าเป็นจุดพลิกผัน หรือวิกฤติชีวิตแต่อย่างใด ถึงแม้ว่า..ผมจะต้องเดินย้อนรอย และเข้าไปสัมผัสใกล้ๆกับกิจกรรมการ..ฝึกสอน..อีกครั้งหนึ่งก็ตาม

ผ่านไปไม่ถึงเดือน ผมตระหนักแน่แก่ใจเลย ว่าการจัดการเรียนการสอนแบบรวมชั้น และแบบคละชั้น ในโรงเรียนขนาดเล็กเป็นอย่างไร..และไม่แปลกใจ ในภาพรวมของคุณภาพผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนขนาดเล็ก..ว่าทำไม จึงไม่เป็นที่พึงพอใจของผู้นำการศึกษาระดับชาติ

ณ เวลานั้น..ยังไม่ได้มองว่าอะไรเป็นปัญหา แต่มองหาว่าจะจะทำอะไรก่อน มีความรู้สึกว่าอยากทำโน่น นี่ นั่น ไปเสียทุกอย่าง เหมือนครูหนุ่มบรรจจุใหม่ไฟแรง..แต่พอจับงานนอก ที่เป็นงานอาคารสถานที่ แหล่งเรียนรู้และสิ่งแวดล้อม พบอุปสรรค ที่ไม่สามารถเริ่มต้นได้โดยง่าย จึงต้องลงมือทำในสิ่งที่ง่ายกว่าเสียก่อน...นั่นคือ..อยู่ประจำห้องเรียน และใส่ใจการสอน

ปีนั้น ผมไม่ต้องห่วง ป.๓ – ๔ มากนัก เพราะยังไม่มีการสอบระดับชาติ (NT) แต่เป็นห่วงพื้นฐานการเรียนรู้ของนักเรียน ป.๕ ด้วยในโรงเรียนไม่มีครูวิชาเอกหลักๆเลย และเป็นห่วง ป.๖ ที่จะต้องสอบด้วยข้อสอบวัดและประเมินจากสำนักทดสอบของ สปช.(เดิม) ซึ่งปัจจุบัน..เปลี่ยนเป็น สพฐ.และใช้การสอบโอเน็ต ของ สทศ.แทน

ป.๖ มีนักเรียนทั้งหมด ๓ คน ๑ คน อ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่อง อีก ๒ คน อยู่ในระดับปานกลาง ด้วยเงื่อนไขเวลาและภาระงาน ผมก็คงจะไปปรับปรุงหรือพัฒนาคุณภาพ ป.๖ ได้ไม่เต็มที่ จึงพอคาดเดาผลการประเมินปลายปีที่จะออกมาได้ไม่ยาก ผมจึงต้องตั้งหลักก่อน แล้วค่อยคิดอ่านเพื่อปีการศึกษาใหม่ต่อไป

ถึงแม้จะมีครูไม่กี่คน แต่โรงเรียนก็ยังโชคดี ที่มีตำแหน่งลูกจ้างประจำ ทำหน้าที่นักการภารโรง ผมเรียก..พี่แบน..ชื่อจริง คือ คุณนพชัย โชสนับ...บ้านพี่แบนอยู่ใกล้ตลาด ห่างจากโรงเรียน ๓ กิโลเมตร

พองานสอนเริ่มลงตัว ผมจึงพอมีเวลาหาข้อมูลจากพี่แบน ว่าเราจะพัฒนาอะไรกันดี เพื่อให้โรงเรียนมีสีสัน ไม่เงียบเหงา และสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนได้

เพราะเท่าที่ผมมองแล้ว โรงเรียนมีพื้นที่เยอะมาก และตัวอาคาร ตลอดจนต้นไม้ที่เป็นสิ่งแวดล้อมสำคัญ ได้ถูกจัดวางไว้ถูกที่ถูกทาง เพียงแต่พื้นที่กิจกรรมที่ครูและนักเรียนจะต้องลงมือปฏิบัติร่วมกันมีน้อยมาก..

เริ่มจากสระน้ำอันกว้างใหญ่ แต่ทำไมแปลงผักในบริเวณนั้น จึงมีน้อยและพืชผักที่ปลูกไม่ค่อยจะงอกงามเท่าที่ควร

ผมจึงสอบถามพี่แบน....”ทำไมผักไม่ค่อยจะงามเลยล่ะครับ...”

“ดินมันเป็นดินดานน่ะ ผอ. บางที่ก็เป็นดินปนทราย จึงปลูกอะไรไม่ค่อยขึ้น และเด็กเราก็ไม่ค่อยสนใจปลูกด้วยครับ” พี่แบนบอกผม

“เล้าไก่ หลังโรงเรียน ใครสร้างไว้ล่ะครับ” ผมถาม เพราเห็นว่าเป็นโรงเรือนที่มั่นคงดี แต่ไม่มีไก่เลยสักตัวเดียว..

“ครูมงคลแกสร้างไว้เลี้ยงไก่บ้าน พอแกย้ายไป ก็ไม่มีใครเลี้ยงต่อเลยครับ” พี่แบนหมายถึงครูผู้ชายคนเก่าที่ย้ายไปนานแล้ว ได้สร้างไว้เป็นส่วนตัวนั่นเอง

“ผอ.ไม่ต้องเลี้ยงไก่นะครับ ครูเรามีน้อย ไม่มีใครดูแลหรอกครับ และหมู่บ้านนี้ก็ขโมยเยอะด้วย เผลอไม่ได้ จ้องแต่จะเอาของโรงเรียน” พี่แบนบอกผม เหมือนจะรู้ใจผม แต่ก็ไม่ทำให้ผมวิตกกังวล

เพียงแค่เก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ ไม่รีบเร่ง และก็ยังมองไม่เห็นวี่แววของโรงเห็ด สวนสมุนไพร บ่อปลาและแปลงนาสาธิตแต่อย่างใด จึงเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่เรียบง่าย แต่ก็รักษาความสะอาดร่มรื่นไว้เป็นอย่างดีมากๆ อันเกิดจากความเอาใจใส่ในหน้าที่การงานของ..พี่แบน..อย่างแท้จริง

ก่อนที่จะยุติการพูดคุยกับพี่แบน เพื่อไปสอนหนังสือ ผมไม่ลืมที่จะถามพี่แบน ในสิ่งที่ผมอยากรู้

“พี่แบนครับ มีคนเข้ามาขโมยอะไรในโรงเรียนเราครับ”

“แท่นกระจายเสียง สำหรับหอกระจายข่าว ในห้องพักครู มันเข้ามาขโมยเมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง ผมต้องไปหาซื้อรุ่นเดียวกันมาให้โรงเรียน พูดแล้วยังเจ็บใจไม่หาย” พี่แบนมีสีหน้าท่าทางโมโหไม่ใช่น้อย ผมจึงไม่รบกวนที่จะถามอะไรต่อไป

ทั้งหมดที่รับรู้ ความเป็นครู ฟังแล้วต้องหนักแน่น และมองให้เป็นเรื่องทั่วไป แต่ถ้าจะมองให้เป็นปัญหา แล้วเอาทุกเรื่องมารวมกัน ปัญหาก็คงไม่เล็ก..อย่างแน่นอน

ผมไม่มีโอกาสได้คิดถึงหลักการบริหารใดๆ ในเวลานั้น นอกจากเดินหน้า ยิ้มสู้ กับงานหนัก ถ้าจะมีอุปสรรค ก็คิดว่าเป็นอาหารเสริม คิดแต่ว่าจะทำงานให้ดีที่สุด และทำเรื่องง่ายๆใกล้ตัวก่อน สร้างความสุขให้สนุกกับงานเสียก่อน...เดี๋ยวทุกอย่างก็ดีเอง

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 596176เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2015 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2015 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ปัญหาการบริหารงานโรงเรียน

ไม่ว่าจะขนาดไหน...

มากมายพอ ๆ กันจ้ะ

อยู่ที่ " ผู้นำ" จะมีวิสัยทัศน์...แคบหรือกว้าง แค่ไหน ?

และ...ผู้นำ เป็นสุข หรือ เป็นทุกข์ กับการบริหารงาน ?

คำตอบ...อยู่ที่ตัุวท่านเองจ้ะ

เป็นกำลังใจให้เสมอจ้าาา

.........................................


มีแมงกระพรุนมาฝากจ้าา


ดีมากเลยนะคะที่ย้อนรอยอดีตฝากไว้เป็นแนวทางสำหรับคนอื่นๆด้วย เพราะบ้านเราน่าจะมีสภาพแบบนี้ในอีกหลายๆที่แน่นอนเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท