วิชาภาวะผู้นำ : ว่าด้วยกระบวนการเตรียมนิสิตลงชุมชน (ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้)


กระบวนการนี้ไม่ได้ฝึกแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า-การทำงานอย่างเป็นทีมเท่านั้น แต่ยืนยันว่าเป็นการสอนให้นิสิตได้ตระหนักถึงหลักการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนบนฐานของชุมชนโดยแท้จริง ไม่ใช่เรียนรู้แบบแยกส่วน แต่เน้นย้ำให้นิสิตตระหนักและเข้าใจว่าในชุมชนนั้นๆ เต็มไปด้วยความรู้หลากรูปแบบ และความรู้ที่ว่านั้นก็อยู่ในองค์ประกอบของชุมชนอย่าหลากมิติ และทั้งปวงนั้นก็ยึดโยง สัมพันธ์กัน เป็นเหตุและเป็นผลต่อกันและกัน

การเรียนการสอนวิชาภาวะผู้นำ ประจำวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๘ เป็นวาระการเรียนรู้ในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” หรือเรียนผ่านกระบวนกร เรียนผ่านกิจกรรม และเรียนผ่านความเป็นทีม ซึ่งใช้กิจกรรมหลักๆ มาเป็นโจทย์การเรียนรู้ นั่นคือ “สถานการณ์เฉพาะกิจ ความคิดเฉพาะตน ข้ามพ้นความเป็นทีม”




เริ่มต้น : ใบงานและสื่อสร้างสรรค์


ยังคงเริ่มต้นจากกระบวนการอันเป็นครรลองเดิม คือแจกใบงานให้กับนิสิตก่อนเข้าสู่ชั้นเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อให้นิสิตได้ใช้ใบงานบันทึกสรุปการเรียนรู้ประจำวันว่า “เรียนอะไร-ได้อะไรจากการเรียน” ถัดจากนั้นก็ฉายสารคดี (สื่อสร้างสรรค์) ให้นิสิตได้ดูชมร่วมกัน


คราวนี้-หยิบจับงานเก่าๆ เมื่อหลายปีก่อนของอาจารย์ปรีชา สาคร (คณะวิทยาการสารสนเทศ) ในชื่อ “กลับบ้าน” มาฉายให้นิสิตได้เรียนรู้ เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง เน้นที่จะฝึกให้นิสิตถอดรหัส-ความรู้จากสื่อสร้างสรรค์ด้วยตนเอง โดยมีทีมกระบวนกร (ผู้ช่วยสอน) ทำหน้าที่กระตุ้นให้นิสิตได้บอกเล่าสู่กันฟังว่า “ได้เรียนรู้อะไรจากสื่อ”




ทบทวนงานเก่า : ก่อนย่างก้าวสู่การเรียนรู้ใหม่


กระบวนการถัดมา มีกระบวนกรให้นิสิตแต่ละกลุ่มที่ได้รับมอบหมายไว้ตั้งแต่ชั่วโมงที่แล้ว ได้ออกมานำเสนอผลการเรียนรู้ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกออกแบบไว้ตั้งแต่ต้นว่านิสิตจะต้องเป็นผู้สรุปการเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ใช่อาจารย์ผู้สอนต้องสรุปให้เสียทั้งหมด

กระบวนการที่ว่านี้ ไม่มีอะไรซับซ้อนมากมายนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือการจัดการเรียนรู้แบบ “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” เนื่องเพราะให้นิสิตเป็นผู้ไป “ทบทวนความรู้” จากชั่วโมงที่แล้ว มุ่งให้ผู้เรียนได้ “ถอดความรู้” และ “ออกแบบความรู้” เพื่อการสื่อสารผ่านแผนผังมโนทัศน์ หรืออื่นๆ อย่างเป็น “ทีม” ร่วมกัน รวมถึงมุ่งเน้นให้นิสิตได้ฝึกทักษะการทำงานอย่างเป็นทีมและฝึกการสื่อสารต่อสาธารณะผ่านรูปแบบที่นิสิต (ผู้เรียนชื่นชอบ/ถนัด) ไม่ว่าจะเป็นเล่าด้วยภาพ –เล่าเรื่องด้วยวาจา-บรรยาย-พรรณนา ฯลฯ

โดยประเด็นที่ถูกนำมาสรุป หรือสะท้อนผลการเรียนรู้หน้าชั้นเรียนนั้นจะเป็นเรื่อง “ผู้นำในฝัน” ที่เชื่อมโยงภาคทฤษฎีสู่กระบวนการและโลกแห่งความจริงในมุมคิดของนิสิต


กระบวนการ : ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้


ทีมกระบวนกรเลือกกระบวนการ “สถานการณ์เฉพาะกิจ ความคิดเฉพาะตน ข้ามพ้นสู่ความเป็นทีม” ที่ผมเคยทดลองใช้ในหลายปีก่อนมาเป็นโจทย์การเรียนรู้ในครั้งนี้ เพื่อให้นิสิต หรือผู้เรียนได้เข้าใจหลักในการ “ลงชุมชน” บนฐานคิดของการ “เรียนรู้คู่บริการ” หรือการบริการสังคมแบบมีส่วนร่วม ซึ่งก่อนนั้นได้มีการบรรยายภาคทฤษฎีไปแล้วในประเด็น “หลักคิดและแนวปฏิบัติของการจัดกิจกรรมเรียนรู้ชุมชน”

โดยส่วนตัวแล้ว ผมใช้กระบวนการนี้ในหลายๆ เวทีก็สนุกได้รสชาติมากมาย ครบรสในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” แต่ก็หนักใจกับทีมงาน เพราะครั้งนี้คนที่ลงทะเบียนในรายวิชาภาวะผู้นำเยอะมาก –คนจำนวนเยอะๆ จัดการ หรือจัดกระบวนการได้ยากและยุ่งมากเป็นพิเศษ (แต่นี่คือความท้าทาย-ที่ท้าทายจริงๆ)



ครับ-กระบวนการไม่มีอะไรมาก แบ่งนิสิตเป็นกลุ่มๆ โดยทีมกระบวนกรจัดเตรียมกล่อมสลากข้อความที่เป็นคำ/วาทกรรมในชุมชนไว้ให้เสร็จสรรพ เมื่อให้สัญญาคนแรกหัวแถวในแต่ละกลุ่มก็จะรีบวิ่งมาจับสลาก แล้ววาดรูปตามข้อความที่จับได้- ทำเช่นนั้นจนครบจำนวนสลากที่เตรียมไว้ให้

จากนั้น-ให้แต่ละกลุ่มมานั่งโสเหล่ถึงสภาวะอารมณ์ ความรู้สึกที่เผชิญอย่างโดดเดี่ยว ซึ่งต้องวาดแข่งเวลา รวมถึงการอธิบายความเป็นภาพและแนวคิดที่แต่ละคนวาดให้เพื่อในกลุ่ม “รับรู้และรับฟัง” ร่วมกัน เสมอเหมือนการ “เปิดใจ-แบ่งปัน” ไปในตัว



ครั้นเสร็จสิ้นแล้ว ก็ให้สมาชิกในกลุ่มได้บูรณาการ “ภาพและเรื่องราว” ขึ้นใหม่ร่วมกัน คราวนี้ไม่มีสถานการณ์เฉพาะกิจ หรือสถานการณ์เฉพาะหน้ามาให้เครียด-แต่เป็นสถานการณ์ที่ทุกคนต้อง “ระดมพลังความคิดและจิตใจ” ร่วมกันอย่างค่อยเป็นคนไป

เมื่อจัดการเสร็จสิ้น ก็ออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียนอีกรอบ –



ความเป็นชุมชนในกระบวนการ

จากกระบวนการที่ถูกสร้างเป็นโจทย์ข้างต้น ยืนยันว่าเป็นประเด็น “ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้” อย่างไม่ต้องกังขา และเป็นประเด็นเกี่ยวโยงกับการไปจัดกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการแก่สังคมด้วยเช่นกัน เพราะประเด็น หรือข้อความที่กำหนดให้นั้น ล้วนเป็นองค์ประกอบในชุมชนทั้งสิ้น หรือเรียกง่ายๆ ก็คือเป็นเรื่องราวอันเป็นบริบท หรือสภาพทั่วไปในชุมชน เช่น

  • ข้าว ปลา นา น้ำ
  • บ้าน วัด โรงเรียน ส่วนราชการ
  • พืชผัก
  • ป่าชุมชน
  • ผู้นำ
  • สัตว์เลี้ยง
  • ประเพณี
  • พิธีกรรม ฯลฯ


แน่นอนครับ-กระบวนการนี้ไม่ได้ฝึกแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า-การทำงานอย่างเป็นทีมเท่านั้น แต่ยืนยันว่าเป็นการสอนให้นิสิตได้ตระหนักถึงหลักการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนบนฐานของชุมชนโดยแท้จริง ไม่ใช่เรียนรู้แบบแยกส่วน แต่เน้นย้ำให้นิสิตตระหนักและเข้าใจว่าในชุมชนนั้นๆ เต็มไปด้วยความรู้หลากรูปแบบ และความรู้ที่ว่านั้นก็อยู่ในองค์ประกอบของชุมชนอย่าหลากมิติ และทั้งปวงนั้นก็ยึดโยง สัมพันธ์กัน เป็นเหตุและเป็นผลต่อกันและกัน–

ด้วยเหตุนี้ จึงแอบเฝ้าหวังลึกๆ ว่านิสิตตะเข้าใจถึงหลักคิดและกระบวนการเรียนรู้ชุมชนผ่านกิจกรรมที่จะลงไปสู่การบริการสังคม โดยการให้ความสำคัญกับบริบทของชุมชน มากกว่าการให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตนเองอยากรู้ หรืออยากทำให้กับชุมชน แต่ไม่ได้อยู่บนบริบท หรือความต้องการของชุมชน



ที่สุดแล้วคือถามทักกลับสู่ตัวเอง (ผู้เรียน)

แน่นอนครับ-กระบวนที่ว่านี้ยังแฝงการเรียนรู้ในเรื่องทักษะบางอย่างไว้อย่างเนียนนุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบกระบวนเรียนรู้ การถอดความรู้ การเก็บข้อมูลชุมชน การจัดการความรู้ร่วมกัน สุนทรียะการสนทนา การฟังอย่างฝังลึก การสื่อสารสร้างสรรค์ ฯลฯ

และที่สำคัญ ผมยืนยันว่ากระบวนการเรียนรู้ข้างต้น ยังมีผลต่อการสะกิดเตือนให้นิสิตได้หันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองบ้างล่ะ อย่างน้อยก็คงมีใครสักคนได้หวนมาทบทวนถึงเรื่องราวอันเป็นบริบทของชุมชนบ้านเกิดตัวเองว่าเป็นมาอย่างไร สภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร ฯลฯ


ครับ-นี่คืออีกหนึ่งกระบวนการเรียนรู้ที่ “เรา” ออกแบบไว้ในวิชาภาวะผู้นำ –ผู้นำที่ต้องเรียนรู้ตัวเอง-เรียนรู้ความเป็นทีม-เรียนรู้กับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและเฉพาะกิจ-ผู้นำที่ต้องรับใช้สังคม ฯลฯ

หรือกระทั่ง-นี่คือกระบวนการเตรียมความพร้อมนิสิตก่อนการลงสู่ชุมชนในอีกมิติหนึ่ง-มิติแห่งการเรียนรู้แบบ “บันเทิงเริงปัญญา”

หรือไม่จริง !


หมายเหตุ : ภาพโดยทีมกระบวนกร และนิสิต จิตอาสา

หมายเลขบันทึก: 596163เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2015 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2015 13:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นกระบวนการที่ครบทั้งการเรียนรู้และบันเทิงเริงปัญญามาก

ขอบคุณมากๆครับ

-สวัสดีครับอาจารย์

-เป็นวิชาที่น่าเรียนมาก ๆครับ

-ชอบบรรยกาศการเรียนการสอนแบบนี้ครับ อิๆ

-"บันเทิงเริงปัญญา"จริงๆครับ..

-ขอบคุณครับ

ขอบคุณครับ อ.ดร.ขจิต ฝอยทอง

บันเทิง-เริงปัญญา
คือการสร้างปัญญาแห่งการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

กระนั้น ทั้งผมและทีงานก็ยังลองถูกลองผิดอยู่ครับ-

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท