ชีวิตที่พอเพียง : ๒๕๑๓. ฟื้นชีวิตกายวิภาคศาสตร์



ภาพยนตร์ documentary ๕ ตอน ชุด The Beauty of Anatomy ให้ทั้งความงามของศิลปะ ประวัติศาสตร์พัฒนาการของความรู้ และที่ใหม่เอี่ยมสำหรับผม คือภาพวาดกลุ่มคนในสมัยก่อน ที่ใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเด่นดังให้แก่บุคคล

เรื่องดังกล่าวอยู่ในตอนที่ ๓ ตอนที่อธิบายภาพวาดโดย Rembrandt โดยที่ภาพนั้นวาดนักกายวิภาคศาสตร์ ที่ต่อไปจะเติบโตไปเป็นนักการเมือง ในภาพเขากำลังชำแหละศพให้คนดู เพื่อเป็นความรู้ ภาพชำแหละศพยังมี อีกหลายรูปในยุคต่อๆ มา โดยศิลปินต่างคน และนักกายวิภาคศาสตร์ต่างคน สะท้อนยุคทองของความรู้ในอัมสเตอร์ดัม ในยุคศตวรรษที่ ๑๗ ถึง ๑๙ คือคนธรรมดาก็สนใจความรู้เรื่องกายวิภาคของคน

ผมได้เรียนรู้ว่า เริ่มแรกของความสนใจกายวิภาค มาจากศิลปิน ที่ต้องการสลักรูปคนหรือวาดรูปคนให้เหมือนจริง ความสนใจใช้ในทางแพทย์ โดยเฉพาะเพื่อการผ่าตัดมาทีหลัง และได้เรียนรู้ว่ามีการเปิดโรงเรียนกายวิภาคศาสตร์ที่ Covent Garden ลอนดอน ในศตวรรษที่ ๑๘ เป็นโรงเรียนแนวใหม่ ที่นักเรียนไม่ใช่แต่ดู แต่เรียนโดยการชำแหละศพจริงๆ จึงต้องใช้ศพมาก และเกิดการขโมยศพมาขาย สองพี่น้องตระกูล Hunter คือ William ผู้พี่และ John ผู้น้อง มีชื่อเสียง และร่ำรวยมาก จากงานด้านกายวิภาคนี้เอง จะเห็นว่า ในสังคมตะวันตก ความรู้เป็นเงินเป็นทอง เพราะคนใฝ่ความรู้

ผมเพิ่งทราบว่า หนังสือ Gray Anatomy อันทรงชื่อเสียง พิมพ์ครั้งแรกปี 1858 ยังใช้การได้ดีในปัจจุบันแต่ตอนผมเรียนที่ศิริราชเมื่อกว่า ๕๐ ปีมาแล้ว ใช้หนังสือ Cunningham’s Anatomy ที่น่าสนใจคือ Gray Anatomy เขียนโดยหมอหนุ่ม (Henry Gray) อายุเพียง ๒๘ ปี และมีชื่อเสียง ทำงานร่วมกับหมอหนุ่มอีกคนที่เป็นศิลปินนักวาดรูป แต่ไร้ชื่อเสียง (Henry Carter) โดยมีการวางแผนอย่างดีและประณีตยิ่ง และใช้เวลาเขียนและวาดรูป ๒ ปีครึ่ง ทำเสร็จ สองคนก็แตกกัน คาร์เตอร์ไปเป็นอาจารย์แพทย์ที่อินเดีย สร้างชื่อเสียงและผลงานวิจัยอีกมาก เกรย์ตายเมื่ออายุเพียง ๓๔ ปี จากโรคไข้ทรพิษ

แต่หนังสือ Gray Anatomy ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยผ่านการปรับปรุงใหญ่มาหลายครั้ง ฉบับพิมพ์ หลังสุดเป็น edition ที่ 48 และ edition หลังๆ แทบไม่เหลือเค้าเดิมแล้วทั้งตัวหนังสือ และภาพ เพราะเทคโนโลยีการ มองเห็นภาพสมัยใหม่ก้าวหน้ามากมาย ภาพกายวิภาคไม่ใช่แค่ภาพที่เห็นจากการชำแหละศพอย่างเมื่อ กว่า ๑๕๐ ปีก่อน แต่เป็นผลของ imaging technology ด้วย CT Scan ละ MRI ด้วย และด้วย IT สมัยใหม่ ภาพบางภาพเอาไปไว้ในห้องสมุด ออนไลน์ ไม่ต้องเอามาลงในหนังสือ เป็นการเปลี่ยนชีวิตใหม่ของตำรากายวิภาคศาสตร์

เขาลงท้ายว่า ภาพยนตร์ชุดนี้ ทำความเข้าใจวิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างกายวิภาคกับศิลปะเป็นเวลา ๖๐๐ ปี ความสัมพันธ์นั้นยังคงอยู่ และวิวัฒนาการต่อไป จากความสามารถในการเห็นภาพในระดับเล็กยิ่งกว่าจุลทรรศน์ แต่ไม่ว่าความสัมพันธ์นี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หัวใจคือ ต้องเห็นด้วยตนเอง จึงจะเข้าใจแท้จริง

ขอขอบคุณ อ. หมอปรีดา มาลาสิทธิ์ ที่จัดหาภาพยนตร์ documentary ชุดนี้ให้ผม ให้ความสำราญและความรู้ ยิ่งนัก


วิจารณ์ พานิช

๖ ก.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 596157เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2015 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2015 11:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท