สติคืออะไร


สติ หรือสติสัมปชัญญะ จึงเป็นตัวชักนำให้เกิด ศีล สมาธิ และปัญญา (หรือไตรสิกขา) หรือมรรคมีองค์แปด

 

สติ คือ ความระลึกได้

หมายถึง ความระลึกได้ หรือความตระหนักรู้ หรือการเอาจิตไปรับรู้ ในสิ่งที่เกิดขึ้น หรือปรากฎขึ้น ในปัจจุบันขณะ หรือความระลึกรู้ในปัจจุบันขณะ

สติ คือ ความระลึกรู้ในปัจจุบันขณะนี้ จะเกิดขึ้นก่อนและเป็นตัวชักนำ ให้เกิดความรู้ตัว หรือสัมปชัญญะขึ้นด้วย หมายถึง เมื่อสติขึ้นจะชักนำให้เกิดความรู้ตัวเกิดขึ้นด้วยเสมอ จึงทำให้เกิดทั้งความระลึกรู้ในปัจจุบันขณะและความรู้ตัว เพราะเหตุนี้ จึงมักพูดติดต่อไปด้วยกัน หรือพูดเป็นคำเดียวกันว่า ‘สติสัมปชัญญะ’ คือ เมื่อมีความระลึกรู้ในปัจจุบันขณะ จะเกิดความรู้ตัวด้วยเสมอ

การเอาจิตไปรับรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น หรือปรากฎขึ้น ในปัจจุบันขณะนั้น จิตจะมีความจดจ่อและสงบแนวแน่ด้วย คือเกิดสมาธิขึ้นด้วย สมาธิคือความจดจ่อและสงบแนวแน่ในสิ่งที่จิตระลึกรู้ (หรือในสิ่งที่จิตใช้เพ่ง) ถ้ามีสติชั่วขณะ ก็จะเกิดสมาธิเพียงชั่วขณะสั้นๆ (เรียกว่า ขณิกสมาธิ) ถ้ามีสติที่เกิดต่อเนื่อง ก็จะเกิดสมาธิที่ต่อเนื่อง (เรียกว่า อุปจารสมาธิ) ถ้ามีสติที่ต่อเนื่องละเอียดและแนบสนิท ก็จะเกิดสมาธิที่ต่อเนื่องและแนบสนิท (เรียกว่า อัปปนาสมาธิ) สติจึงเป็นตัวชักนำให้เกิดสมาธิขึ้นด้วย ทั้งขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ 

เมื่อมีสติ หรือสติสัมปชัญญะ คือ มีความระลึกรู้ในปัจจุบันขณะและความรู้ตัว อย่างต่อเนื่อง บ่อยๆ เนืองๆ จนละเอียดถี่ถ้วน จะเกิดความสำรวมระวังในการรับรู้ทางทวาร (หรืออายตนะ หรืออินทรีย์) ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ความสำรวจระวังในอินทรีย์ ๖ นี้ คือ ศีล สติสัมปชัญญะจึงทำให้เกิดศีล เรียก อินทรียสังวรศีล

นอกจากนี้ สติสัมปชัญญะที่ละเอียดต่อเนื่อง ยังจะทำให้เห็นชีวิตตามความเป็นจริงว่ามีกาย (รูป) และจิต (นาม) หรือมีองค์ประกอบห้าอย่าง (ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) สติสัมปชัญญะจึงเป็นตัวชักนำให้เกิดการเห็นความจริง หรือเกิดปัญญา บางทีจึงเรียกติดต่อกัน หรือเรียกเป็นคำเดียวกันว่า ‘สติปัญญา’ ปัญญาที่เกิดจากสติสัมปชัญญะนี้ เรียกว่า ‘ภาวนามยปัญญา’ หรือ ‘วิปัสสนาปัญญา’

สติ หรือสติสัมปชัญญะ จึงเป็นตัวชักนำให้เกิด ศีล สมาธิ และปัญญา (หรือไตรสิกขา) หรือมรรคมีองค์แปด (คือความเห็นที่ถูกต้อง ความดำริที่ถูกต้อง วาจาที่ถูกต้อง การกระทำที่ถูกต้อง การเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง ความเพียรที่ถูกต้อง ความระลึกได้ที่ถูกต้อง และการมีจิตตั้งมั่นที่ถูกต้อง) นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 596129เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2015 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2023 11:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท