ขอบฟ้าใหม่ในเรื่องความรู้ : ๒๐. AAR (จบ)


......................................................และหากจะไปให้ถึง ความสร้างสรรค์ ต้องเพิ่มเครื่องมืออีกชิ้นหนึ่ง คือ “การไตร่ตรองสะท้อนคิด” (reflection) จากประสบการณ์ การทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไตร่ตรองสะท้อนคิดร่วมกัน ในหมู่เพื่อนร่วมงาน ทั้งแบบ F2F (face to face) และแบบ virtual meeting ซึ่งที่จริงก็คือเครื่องมือ AAR นั่นเอง


บันทึกชุด “ขอบฟ้าใหม่ในเรื่องความรู้” นี้ ถอดความจากหนังสือชื่อ The New Edge in Knowledge เขียนโดย Carla O’Dell & Cindy Hubert แห่ง APQC (American Productivity and Quality Center) ให้มุมมองต่อ KM สมัยใหม่ มีประเด็นทั้ง เชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ สอดคล้องกับยุคสมัยอย่างยิ่ง

บันทึกตอนที่ ๒๐ ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายนี้ เป็น AAR ของผมเอง ว่าหนังสือเล่มนี้บอกขอบฟ้าใหม่ในเรื่อง KM จากความรู้เมื่อราวๆ ๗ ปีที่แล้ว เป็นอย่างไรบ้าง

KM ต้องเป็นส่วนสำคัญต่อการสนับสนุนผลสำเร็จของธุรกิจ ความเชื่อมโยงกับหน่วยธุรกิจ หรือการเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ จึงมีความ สำคัญยิ่ง และจะยิ่งดี หากใช้เป็นเครื่องมือเชื่อมต่อเชิงยุทธศาสตร์ การสร้างสรรค์กับภาคีธุรกิจ หรือภาคีภารกิจ ภายนอกองค์กร ในการที่จะใช้พลังความร่วมมือออกไปนอกองค์กร เพื่อเพิ่มโอกาสก้าวกระโดดในผลงาน ดังที่ผม AAR ไว้ในบันทึกชุดนี้ตอนที่แล้ว

ขอบฟ้าใหม่ในเรื่องความรู้เมื่อ ๗ ปีที่แล้ว (และยิ่งชัดเจนขึ้นในปัจจุบัน) คือการมีเครื่องมือ Web 2.0 และ social networking ให้ใช้ การจัดระบบให้พนักงานใช้เครื่องมือง่าย และใช้พร้อมไปในเวลาทำงานเพื่อเพิ่ม คุณภาพผลงานของตน จึงมีความสำคัญยิ่ง

นอกจากอำนวยความสะดวกในเรื่องเครื่องมือ ทีมอำนวยความสะดวกส่วนกลางด้านการจัดการความรู้ ต้องสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมการแบ่งปันความรู้ และคอยหมั่นตรวจสอบปัจจัยเอื้อต่อการไหลของความรู้ และหาทางส่งเสริม พร้อมๆ กับตรวจสอบหาปัจจัยขัดขวาง และหาทางขจัด

ความเข้าใจที่สำคัญที่สุดคือการเชื่อมโยงพนักงาน สำคัญกว่าตัวความรู้ เพราะการที่พนักงานเชื่อมโยง ติดต่อสื่อสาร แบ่งปันความรู้และประสบการณ์กัน คือความรู้ เครื่องมือหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่เรียกว่า Big Data Technology สามารถสะกัดความรู้ออกมาใช้ประโยชน์ได้

แต่สำคัญกว่าความรู้และการติดต่อสื่อสาร คือความสร้างสรรค์ (creativity) ผมคิดว่าการเชื่อมโยง ระหว่างพนักงาน และแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน เป็นการเปิดช่องทางสู่ความสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความสร้างสรรค์รวมหมู่” (collective creativity)

ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ยังหยุดอยู่แค่ความรู้ ยังไปไม่ถึงความสร้างสรรค์ และหากจะไปให้ถึง ความสร้างสรรค์ ต้องเพิ่มเครื่องมืออีกชิ้นหนึ่ง คือ “การไตร่ตรองสะท้อนคิด” (reflection) จากประสบการณ์ การทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไตร่ตรองสะท้อนคิดร่วมกัน ในหมู่เพื่อนร่วมงาน ทั้งแบบ F2F (face to face) และแบบ virtual meeting ซึ่งที่จริงก็คือเครื่องมือ AAR นั่นเอง

หนังสือเล่มนี้เด่นมากในด้านเครื่องมือ Web 2.0 แต่หย่อนด้านเครื่องมือ Human KM ซึ่งวงการ KM ไทยเราเข้มแข็ง ดังนั้น หากได้นำมาผสมกันเข้า ก็จะขับเคลื่อน KM ไทยไปอีกภพภูมิหนึ่งได้

ความเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือการดำเนินการ KM อย่างเป็นระบบ ให้รับใช้และส่งผลต่อธุรกิจหลัก ขององค์กร และมีการวัดการส่งผล (หรือน่าจะส่งผล) นี้ อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นด้านที่ KM ไทยอ่อนแอ ดังนั้นตัวอย่างวิธีดำเนินการในหนังสือเล่มนี้ จึงน่าจะมีคุณูปการต่อการนำ KM ยุคใหม่มาใช้ประโยชน์ สร้างสรรค์สังคมไทย



วิจารณ์ พานิช

๑๕ ส.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 596107เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2015 15:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2015 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท