ค่ายห้องเรียนธรรมชาติ


โครงการนี้เป็นโครงการที่สืบเนื่องมาจากโครงการSamsung Smart Learning Center โดยในปีแรกดิฉันกับเพื่อนได้เข้าร่วมโครงการนี้โดยที่พี่ๆได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่21 โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบPBL เป็นการเรียนรู้บนพื้นฐานของปัญหาซึ่งจะทำให้เราคิดอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น กล้าแสดงออกและได้เรียนรู้แบบใหม่ที่ต่างจากห้องเรียนแบบเดิมโดยสิ้นเชิงคือเปลี่ยนจากการเรียนในห้องเรียนสี่เหลี่ยมแบบเดิมๆ เป็นการที่เราต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาเองโดยที่ไม่มีผิดไม่มีถูก มีคุณครูเป็นผู้ให้คำแนะนำ ซึ่งหลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการSamsung Smart Learning Centerแล้ว ก็ทำให้ดิฉันเป็นคนที่กล้าคิดกล้าทำมากขึ้นจากที่แต่ก่อนจะเป็นคนที่เอาแต่เรียนไปเรื่อยๆไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน ทำให้ดิฉันมีอดทนมากกว่าเดิม ได้รับความรู้และประสบการณ์มากมายที่หาได้ยากในห้องเรียน

หลังจากโครงการปีแรกผ่านไปเราก็มีกิจกรรมเพื่อมาสานต่อแนวคิดการเรียนรู้แบบPBLเพื่อเป็นการเผยแพร่ไปยังรุ่นน้อง โดยในปีที่สองนี้เราได้มีการเปิดเป็นชุมนุม Samsung Smart Learning Centerขึ้นและมีการรับสมัครนักเรียนรุ่นน้องในโรงเรียนเข้ามาร่วมกันสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆไปด้วยกัน โดยเป็นชุมนุมแบบพี่สอนน้อง เป็นการให้รุ่นพี่ที่เคยเข้าร่วมโครงการแล้วในปีแรกได้นำเอาความรู้ที่ได้สอนต่อให้กับน้องๆ ซึ่งกิจกรรมหลักของชุมนุม Samsung Smart Learning Centerนั้นก็คือการอนุรักษ์ป่าโคกหนองคอง ที่บ้านขามเปี้ย ตำบลกู่ทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งมีพื้นที่ 1260 ไร่ ถือเป็นปอดให้กับชุมชนเพราะพื้นที่ป่าแห่งนี้อยู่ในวงแหวนอุตสาหกรรม อีกทั้งมีความเสี่ยงที่อาจจะถูกบุกรุกในอนาคต ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้เกิด “ค่ายห้องเรียนธรรมชาติ”ขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะศตวรรษที่21 ให้เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม มีจิตสาธารณะและเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ(Active Citizen)โดยที่คุณครูและดิฉันกับเพื่อนๆได้เชิญชวนให้น้องๆในชุมนุมและเยาวชนในชุมชนเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมซึ่งจัดขึ้นในวันที่22-23 สิงหาคม พ.ศ.2558ที่ผ่านมา

กิจกรรมในวันแรกเริ่มขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 22 สิงหาคม โดยเริ่มจากการลงทะเบียนและเล่นเกมสันทนาการตอนเช้า เป็นการเช็คอินและเป็นการละลายพฤติกรรมของน้องๆให้พร้อมกับการทำกิจกรรมในช่วงต่อไป หลังจากนั้นก็เชิญผู้ใหญ่บ้านของบ้านขามเปี้ยมากล่าวเปิดงานและให้คำแนะนำต่างๆ ในช่วงสายของวันหลังจากพักทานอาหารว่างแล้วคุณครูก็ให้น้องๆในชุมชุมและในชุมชนจับกลุ่มกันและให้คำถามไปว่าภาวะโลกร้อนคืออะไรและภาวะเรือนกระจกคืออะไร โดยมีเงื่อนไขที่ว่าในการตอบคำถามนั้นต้องวาดเป็นภาพออกมาให้ได้ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่สื่อออกมาจากใจจริงๆ ซึ่งน้องๆก็ต่างแสดงมุมมองของตัวเองออกมาได้อย่างหลากหลาย เมื่อวาดภาพและระบายสีเสร็จแล้วคุณครูก็ได้ให้น้องๆแต่ละกลุ่มได้ออกมาอธิบายภาพวาดของตัวเองที่ละคน บางคนก็ยังคงเขินอายเพื่อนๆอยู่บ้างแต่ทุกคนต่างก็มีความกล้าที่จะอธิบายภาพตามมุมมองของตนเองซึ่งภาพที่น้องๆได้วาดออกมานี้สามารถสะท้อนให้ผู้ใหญ่ในชุมชนเห็นถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและภาวะเรือนกระจกขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นก็ให้คำแนะนำต่างๆเพื่อเตรียมความพร้อมไปเดินป่าในช่วงบ่ายของวัน บอกกำหนดการรวมถึงข้อตกลงต่างๆโดยเราได้รับความช่วยเหลือจากผู้ชำนาญการเดินป่าในชุมชนช่วยนำทางเวลาที่เข้าไปในป่า

เมื่อถึงช่วงบ่ายก็ถึงเวลาที่ต้องเข้าไปสำรวจป่า เราได้มีการแบ่งกลุ่มน้องๆให้เป็นกลุ่ม 5 กลุ่มโดยในแต่ละกลุ่มจะมีพี่เลี้ยงประจำกลุ่มอย่างน้อยกลุ่มละ 1 คนและมีผู้นำทางซึ่งจะคอยเดินนำเส้นทางในป่าและให้ความช่วยเหลือเวลาเข้าป่ารวมทั้งยังให้ความรู้เรื่องพันธุ์ไม้ต่างๆที่พวกเราไม่เคยพบเห็น ในการเข้าไปสำรวจป่าในการเข้าไปสำรวจป่าในครั้งนี้พวกเราได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับต้นไม้ดังนี้

1.ประเภทของต้นไม้ โดยมีการแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ

1.1ไม้ใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 4.5 เซนติเมตร สูงกว่า 2 เมตร

1.2ไม้หนุ่ม มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 4.5 เซนติเมตร สูงไม่เกิน 2 เมตร

1.3ลูกไม้

1.4พันธุ์พืชอื่นๆที่ไม่ใช่ไม้ยืนต้น

2.การแบ่งชั้นเรือนยอด ซึ่งมีการแบ่งเป็น 4 ประเภทเช่นกัน คือ

2.1ชั้นเรือนยอดเด่น หรือต้นที่สูงที่สุด

2.2ชั้นเรือนยอดรอง

2.3ชั้นเรือนยอดล่าง

2.4พืชชั้นล่าง

ในการวัดความสูงของต้นไม้ เราจะใช้การกะระยะด้วยสายตาโดยวัดแบ่งเป็นท่อนไปเรื่อยๆ ส่วนการวัดเส้นรอบวงจะวัดที่ความสูงประมาณ 130-150 เซนติเมตร โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดคือสายวัด เมื่อวัดความสูงและเส้นรอบวงของต้นไม้แต่ละต้นแล้วก็จดบันทึกลงในเอกสารประกอบการสำรวจ

ในการสำรวจป่าในครั้งแรกนี้ทำให้ทราบข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นมากมาย โดยเราไม่มีการแบ่งพื้นที่ และสื่อสารกับผู้นำทางไม่ชัดเจนทำให้ในตอนแรกที่มีการวางแผนไว้คือจะสำรวจเป็นแปลง โดยที่ในหนึ่งแปลงจะสำรวจในพื้นที่ 10x10 เมตรและเว้นไป 10 เมตรสำรวจอีกหนึ่งแปลงไปเรื่อยๆ แต่ด้วยการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนนี้เองทำให้เราเดินไปโดยที่ไม่รู้ว่าจะวัดตรงไหน บางครั้งก็ไปเจอกับอีกกลุ่มหนึ่ง จึงทำให้เราสำรวจพื้นที่ป่าไปได้เพียง 10% ของพื้นที่ป่าเท่านั้น

หลังจากสำรวจป่าเสร็จแล้ว คุณครูก็ได้ให้น้องๆกลับไปพักผ่อนและอาบน้ำก่อนที่จะทำกิจกรรมในช่วงเย็นต่อ

กิจกรรมในช่วงเย็นเป็นการที่ให้น้องๆในแต่ละกลุ่มได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นภายในกลุ่มของตัวเองว่าในการเข้าป่าครั้งนี้เราพบเจอปัญหาอะไรบ้าง เพื่อที่จะนำความคิดนี้มาทำเป็นการแสดงซึ่งก็คือละครเร่ โดยจะมีพี่ๆคอยให้คำแนะนำ ซึ่งการแสดงละครเร่ในครั้งนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นครั้งแรกของตัวน้องๆที่เป็นนักแสดงเองหรือแม้แต่พี่ๆที่ได้เป็นคนสอนให้กับน้องๆ แต่การแสดงที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์นี้กลับเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ทำให้เราได้รู้ว่าถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นเพียงแค่เด็กแต่พวกเขาก็รู้ว่าตอนนี้เรากำลังประสบกับปัญหาอะไรอยู่และยังมีความกล้าแสดงออกเพื่อที่จะหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่บางคนยังคาดไม่ถึงเสียด้วยซ้ำ

กิจกรรมในวันที่สองเราเริ่มด้วยการพาน้องๆเล่นเกมเพื่อเป็นการเช็คอินน้องๆ หลังจากนั้นคุณครูก็ได้ให้น้องๆแต่ละกลุ่มได้นำข้อมูลที่ได้ไปลงสำรวจป่าเมื่อวานนี้เพื่อมาวิเคราะห์ปริมาณต้นไม้ ว่ามีต้นไม้ที่เป็นไม้ใหญ่ ไม้หนุ่ม ลูกไม้หรือพันธุ์ไม้ต่างๆที่ไม่ใช่ไม้ยืนต้นมากน้อยเพียงใด เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาสรุปหาความหนาแน่นของการปกคลุม และทำเป็นกราฟ

ในการสำรวจป่าโคกหนองคองในครั้งนี้ทำให้พวกเราได้พบปัญหาหลายอย่าง ทั้งด้านการละลายพฤติกรรมน้องๆที่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ รวมทั้งด้านการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน และมีข้อมูลบางส่วนที่ยังไม่ได้มีการสำรวจเช่น สีของดิน อย่างไรก็ตามในการทำค่ายห้องเรียนธรรมชาติในครั้งนี้ก็ไม่สูญเปล่าเพราะพวกเราได้ทำค่ายเป็นของตัวเองครั้งแรก ได้ทำอะไรหลายๆอย่างเป็นครั้งแรก ทำให้ดิฉันและเพื่อนๆได้พบเจอกับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ได้เห็นมุมมอง ความคิดเห็นของน้องๆที่ได้สื่อออกมาให้เห็น ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีและเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ

หมายเลขบันทึก: 595238เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2015 18:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2015 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นกระบวนการชัดดีมากครับ ... เขียนดีมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท