วัฒนธรรมองค์กรท้องถิ่น (Organization Culture)


วัฒนธรรมองค์กรท้องถิ่น (Organization Culture)

17 กันยายน 2558

สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ในสังคมการปกครองท้องถิ่นไทย หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือ องค์กรบริหารท้องถิ่น (อบท.) โดยเฉพาะ อปท. ระดับล่าง ซึ่งหมายถึง เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นั้น หากพิจารณาในมิติของของความเป็นเมือง (Urbanization) [2] ก็จะแยกได้เป็น (1) อปท. เขตพื้นที่เมือง (Urban) (2) อปท. เขตพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท (Semi urban-rural) [3] และ (3) อปท. เขตพื้นที่ชนบท (Rural) ในที่นี้ผู้เขียนขอรวม อปท. เขตพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบทและ อปท. เขตพื้นที่ชนบทเข้าด้วยกัน ซึ่งจะมีจำนวน อปท. ที่มากกว่า อปท. พื้นที่เขตเมือง ซึ่งมีอยู่น้อยจำนวนกว่า และส่วนใหญ่จะเป็นเมืองใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น ได้แก่ เทศบาลนครและเทศบาลเมือง รวมถึงเมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร

วันนี้มาดูเรามาดูเรื่อง “วัฒนธรรมองค์กรท้องถิ่น” [4] ในบริบทของท้องถิ่นว่า มีปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบสำคัญใดบ้าง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลทำให้ อปท. แต่ละท้องที่ มี “วัฒนธรรมองค์กรท้องถิ่น” ที่แตกต่างกัน ทำให้มีผลต่อการกำหนดนโยบาย และทิศทางการบริหารพัฒนาองค์กร โดยเฉพาะ “อปท. เขตพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบทและ อปท. เขตพื้นที่ชนบท” โดยมีสมมติฐานว่า เป็นสังคมบ้านนอกที่ห่างไกลความเป็นเมืองสักหน่อย ซึ่งมีสภาพการบริหารจัดการที่แตกต่างกันไป

มีนักวิชาการต่างประเทศ เช่น Fred W Riggs เห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมของระบบราชการ (Bureaucrat) [5] John Embree เห็นว่าสังคมไทยมีโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลแบบหลวม ๆ (Loose Structure) [6] นอกจากนี้ยังมีนักสังคมวิทยาการเมืองอีกหลายท่านที่วิพากษ์สังคมการเมืองไทยไว้ว่าสังคมไทยเป็น สังคมแบบอุปถัมภ์ค้ำจุน หรือสังคมแบบผู้นำ-ผู้ตาม (Patronage & Client) [7]

(1) สภาพทางกายภาพของท้องถิ่น

แน่นอนว่า อปท.ที่มีสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ย่อมมีผลต่อการบริหารงานของ อปท. โดยตรง เช่น อปท. เขตพื้นที่ภูเขา ย่อมมีการบริหารงานที่แตกต่างจาก อปท. พื้นที่ชายทะเล ฉะนั้น การวางแผนเพื่อการพัฒนา และ การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการพัฒนาย่อมแตกต่างกัน

(2) วัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น

ในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย จำแนกส่วนตามลักษณะทางภูมิศาสตร์และกลุ่มคนได้เป็นสี่ภาค พอสรุปได้ว่า (1) คนในภาคอีสานจะมีวัฒนธรรมที่รื่นรมย์ สนุกสนาน (2) คนภาคใต้จะมีวัฒนธรรมที่แข่งขันกันในความรู้การศึกษา ฉะนั้น นักการเมืองภาคใต้จึงมีลักษณะเฉพาะตัวที่เป็นคนเด็ดเดี่ยวพูดจาชัดเจน มีอุดมการณ์ เพราะมีการศึกษาที่ดี (3) คนภาคเหนือจะมีวัฒนธรรมที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โอบอ้อมอารีมีจิตใจดี (4) คนภาคกลางจะมีวัฒนธรรมที่รักในอำนาจนิยม ชอบการมีอำนาจ ชอบการเล่นพรรคเล่นพวกในระบบอุปถัมภ์ เช่น หากมีตำแหน่งหน้าที่ เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือนักการเมืองในระดับต่าง ๆ ก็จะแสดงอำนาจบารมีที่ตนเองได้มาอย่างไม่เกรงขาม ในลักษณะที่เรียกว่า “กร่าง” ฉะนั้นจึงเกิดเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลที่มากกว่าภาคอื่น ๆ

(3) ลักษณะของผู้นำในท้องถิ่นนั้น ๆ [8]

ในที่นี้หมายถึงผู้นำ หรือ “แกนนำ” ที่มีบทบาทชี้นำการบริหารงานของท้องถิ่น ผู้เขียนขอจำกัดไว้เพียง 2 ตำแหน่ง คือ นายก อปท. และ ปลัด อปท. เท่านั้น ทั้งนี้ยังไม่รวมไปถึงบุคคลอื่นที่อยู่ใน อปท. ที่มีลักษณะเป็นการ “ซ้อนอำนาจ” ได้แก่ เป็นคู่สมรส เป็นสามีหรือภริยาโดยตรงหรือโดยปริยาย เป็นญาติฯ หรืออื่นใดที่มีอิทธิพลฯ เพราะบุคคลทั้ง 2 ตำแหน่งนี้อยู่ในสถานะที่สามารถชี้นำ อปท. ให้เดินไปสู่เป้าหมายการพัฒนาท้องถิ่นได้ ในบริบทนี้ผู้เขียนจำแนกแนวทางการบริหารงานของ อปท. ตามผู้นำดังกล่าว เป็น 3 แบบคือ (1) แบบที่มีนายก อปท. มีบทบาท บารมี อำนาจมากกว่าปลัด อปท. (2) แบบที่ปลัด อปท. มีบทบาทในการชี้นำ นายก อปท. (3) แบบที่นายก อปท. และ ปลัด อปท. มีผลประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ปลัด อปท. มีผลประโยชน์ทางด้านตำแหน่งหน้าที่ในราชการ นายก อปท. มีผลประโยชน์อื่นโดยเฉพาะการพัสดุจัดซื้อจัดจ้างฯ เป็นต้น

มีข้อสังเกตว่า ใน อปท. ที่มีรูปแบบเป็น เทศบาลนั้น นายก อปท. จะมีบทบาทมากกว่า ปลัด อปท. ซึ่งมีลักษณะที่กลับกันกับ อบต. ซึ่งปลัด อปท. มีบทบาทในการชี้นำฯ มากกว่านายก อปท. โดยเฉพาะใน อบต. ในพื้นที่ที่ค่อนข้างเป็นบ้านนอกอยู่ห่างไกล ฉะนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายก อปท. หรือ ปลัด อปท. ครั้งใดก็จะมีผลกระทบต่อทิศทางหรือแนวทางการบริหารงานของ อปท. ไปด้วย

(4) ผู้กำกับดูแลตามกฎหมายจัดตั้ง

ในที่นี้ได้แก่ นายอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแล อบต. [9] และ ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้กำกับดูแลเทศบาล [10] ซึ่งยังมิได้รวมไปถึง ท้องถิ่นอำเภอ ท้องถิ่นจังหวัด หรือ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพนักงานท้องถิ่นจังหวัด (ผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.จังหวัดฯ) เพราะในทางปฏิบัติบุคคลเหล่านี้มีผลต่อทิศทางการบริหารงานของ อปท. มากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ละจังหวัด

(5) นักการเมืองระดับชาติ

แน่นอนว่าในระบบสังคมการเมืองไทยนั้นนักการเมืองระดับชาติย่อมหวัง “คะแนนเสียง” จากการเมืองในระดับท้องถิ่น ฉะนั้น นักการเมืองระดับชาติจึงเข้ามามีบทบาทต่อ อปท. ในลักษณะของผู้อุปถัมภ์ค้ำจุน เพื่อหวังผลทางด้านคะแนนเสียงจากประชาชนในพื้นที่เขต อปท. นั้น ๆ เมื่อใดก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงตัว สส. หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็น “นักการเมืองระดับชาติ” ก็จะมีผลต่อแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ของ อปท. ทันที อาทิ มีการพัฒนาหรือแนวทางการบริหารงานที่เป็นไปตามการชี้นำของนักการเมืองระดับชาติคนนี้ เพราะมีการใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือหลอกล่อจูงใจท้องถิ่นให้ปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะโดยวิถีทางใด ๆ ในรูปแบบที่ใช้เส้นสายบารมี ฉะนั้น หากมีการลงคะแนนประชามติหรืออื่นใดในระดับประเทศ ประชาชนใน อปท. เหล่านี้ก็จะได้รับการชี้นำจากบรรดานักการเมืองระดับชาติดังกล่าว ซึ่งมีผลต่อการชี้เป็นชี้ตายของประเทศได้ เช่น การลงคะแนนประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นต้น

(6) องค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society) [11]

ในสังคมท้องถิ่นทุกแห่งนอกจากมีองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชนแล้ว ยังมีองค์กรอีกองค์กรหนึ่งที่สำคัญคือ “องค์กรภาคสังคม” หรือ “ภาคประชาสังคม” ที่มีส่วนในการชี้นำการบริหารการพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ กลุ่มรักษ์น้ำชี กลุ่มรักษ์ถิ่น กลุ่มรักษ์ป่า ฯลฯ รวมไปถึงบุคคลที่มีบารมีเป็นที่นับหน้าถือตาของคนในชุมชนนั้น ๆ อาทิ อดีตครูเกษียณ หมอผี หมอไสยศาสตร์ พระภิกษุ ดะโต๊ะ ฯลฯ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าบุคคลเหล่านี้ย่อมมีบารมีหรืออิทธิพลในการชี้นำการบริหารพัฒนาต่อนายก อปท. ได้

(7) กฎหมายที่เป็นรูปธรรม (Law Enforcement)

ในที่นี้หมายถึงกฎหมายทั้งหลายของฝ่ายปกครอง นอกเหนือจากประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นกฎหมายที่เป็นการจัดระเบียบสังคมอื่น ๆ ที่มีผลบังคับใช้ได้ในเชิงรูปธรรม เพื่อการลงโทษบุคคลที่ฝ่าฝืน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ปปช.) กฎหมายตรวจเงินแผ่นดิน (คตง. หรือ สตง.) เป็นต้น

ข้อสังเกตพิจารณา

(1) วัฒนธรรมขององค์กรท้องถิ่นมีความอ่อนตัวมาก

เป็นที่น่าสังเกตว่า “วัฒนธรรมขององค์กรท้องถิ่น” นั้น มีความอ่อนตัว มีโครงสร้างทางสังคมของชาวบ้านที่มีความสัมพันธ์กัน “แบบหลวม ๆ” โอนอ่อนผ่อนตาม ถ้อยทีถ้อยอาศัย ประนีประนอม ไม่ผูกติดยึดถือ ไม่เหนียวแน่น ไม่ฝังรากลึกเหมือนวัฒนธรรมของ “ฝ่ายปกครอง” ในที่นี้หมายถึงฝ่ายกำกับดูแล อปท. ที่มีวัฒนธรรมเฉพาะตัวที่แข็งแกร่ง ส่งทอดกันมารุ่นต่อรุ่น เหนียวแน่นไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง แต่ปรากฏว่า วัฒนธรรมขององค์กรท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงไปตามตัวบุคคลที่มาชี้นำ ในที่นี้ก็คือ นายก อปท. นั่นเอง

(2) วัฒนธรรมของชุมชนสะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรมการบริหารงานท้องถิ่น

มีข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า เรื่องวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น ใน อปท. นั้นเป็นสิ่งสำคัญ เช่น วัฒนธรรมองค์กรของภาคอีสานที่ชอบสนุกสนาน สังคมค่อนข้างมีความแร้นแค้น อดอยากมากกว่าภาคอื่น จึงเกิดปรากฏการณ์ “การทุจริตซื้อขายตำแหน่งฯราชการ” ที่มีมากกว่าภาคอื่น ได้แก่ การทุจริตเรียกรับเงินในการสอบบรรจุเข้ารับราชการ รวมถึงการสอบบรรจุพนักงานจ้างตามภารกิจ พนักงานจ้างทั่วไป การทุจริตเรียกรับเงินในการโอนย้าย การทุจริตเรียกรับเงินในการเลื่อนระดับ-ตำแหน่งให้สูงขึ้นของข้าราชการ โดยเฉพาะในตำแหน่งสายบริหาร เป็นต้น ฉะนั้น การเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงถือเป็นเรื่องปกติ จึงไม่เป็นที่สงสัยและแปลกใจว่า เหตุใดจึงมีสัดส่วนหรือเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นที่ภาคอีสานมากกว่าภาคอื่น

(3) การปฏิบัติราชการของท้องถิ่นที่หลากหลายแต่ขาดมาตรฐาน

ปัญหาเรื่องมาตรฐานการปฏิบัติราชการของท้องถิ่น ย่อมมีความหลากหลายไปตามแต่ละท้องที่ ขึ้นกับผู้นำ (นายก อปท.) ที่เข้ามาบริหารในงานห้วงเวลานั้น ๆ ฉะนั้น จึงมักพบปรากฏการณ์บริหารงานที่อาจแปลก หามาตรฐานใดมาอ้างอิงเทียบเคียงได้ยาก กล่าวคือ หากนายก อปท. มีบุคลิก หรือลักษณะเช่นใด ก็จะส่งผลสำคัญต่อการบริหารพัฒนา อปท. นั้น เช่น นายก อปท. ที่เป็นนักกีฬา ก็จะส่งเสริมการกีฬา นายก อปท. ที่เป็นพ่อค้า ผู้รับเหมา ก็จะบริหารงานแบบมีผลประโยชน์ต่อรอง มีการทับซ้อนในผลประโยชน์ที่ค่อนข้างสูงกว่าบุคคลที่มาจากอาชีพอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดในท้องถิ่น

พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์มักแสดงออกมาในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น มีระบบอุปถัมภ์ต่างตอบแทนผลประโยชน์ในการบริหารงานบุคคลฯ การแต่งตั้งเครือญาติพี่น้องให้เข้ารับตำแหน่งสายบริหาร (ปลัดฯ รองปลัดฯ หัวหน้าส่วนราชการฯ) หรือ เป็นข้าราชการพนักงานลูกจ้างหรือเจ้าหน้าที่อื่นของท้องถิ่น การแสวงประโยชน์จากเรื่องต่าง ๆ ในเรื่องพัสดุการจัดซื้อจัดจ้างฯ การชำระภาษีประกอบการค้าฯ ภาษีโรงเรือน ภาษีป้ายฯ การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สิน หรือบุคลากรของท้องถิ่นในการปฏิบัติเพื่อส่วนบุคคล หรือ เพื่อการหาเสียง หาคะแนนนิยมส่วนบุคคล การประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงตนเองเป็นการส่วนตัวเพื่อหวังผลคะแนนนิยมในการเลือกตั้งครั้งหน้า ด้วยการเลี้ยงดูตอบแทนหัวคะแนนชาวบ้านเป็นเงินทอง หรือด้วยการจัดเลี้ยงเหล้าสุรา พาทัศนศึกษาสังสรรค์เฮฮา ฯลฯ เป็นต้น

มีตัวอย่างแนวทางการบริหารพัฒนาท้องถิ่นที่แปลกมากเช่น บาง อปท. มีข้าราชการพนักงานจำนวนไม่ถึง 10 คน ปรากฏว่านายก อปท. มีนโยบายซื้อเครื่องสแกนนิ้วมือเพื่อควบคุมการเวลาการมาทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากพิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็นแล้ว อาจไม่มีความจำเป็น

นอกจากนี้ วิสัยทัศน์ของนายก อปท. ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่มีผลโดยตรงต่อ อปท. ตัวอย่างการบริหารงานแบบอิทธิพลที่เรียกว่า “บ้าอำนาจ” กล่าวคือ มีการใช้อำนาจในการบริหารงานที่หลบหลีกหลีกเลี่ยงระเบียบปฏิบัติ สร้างความลำบากใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติที่จะต้องยึดถือและปฏิบัติงานตามระเบียบกฎหมาย ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการตรวจสอบจับผิดจากองค์กรตรวจสอบ ปปช.และ สตง. รวมถึง การปิดหูปิดตาข้าราชการพนักงานฯ ในการพัฒนาองค์ความรู้ เช่น การไปประชุมสัมมนาถูกจำกัดสิทธิ ยังมีพบเห็นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะใน อปท.ระดับล่าง ฉะนั้น จึงไม่ต้องไปสอบถามถึงเรื่องมาตรฐานในการปฏิบัติราชการตามระบบธรรมาภิบาล การตรวจประเมินผลการปฏิบัติราชการเจ้าหน้าที่ต้องเลี่ยงไปทำผลงานอื่น โดยขาดคะแนนในส่วนนี้ไป

ข้อสังเกตข้างต้นเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนที่เกิดจากประสบการณ์ที่นำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวให้ผู้อ่านได้พิจารณา อย่างน้อยที่สุดอาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาปรับปรุงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้บ้างตามสมควร



[1] สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2558ปีที่ 65 ฉบับที่ 22790 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น

[2] กิตติพงศ์ พลเสน, “ความเป็นเมือง (urbanization)”, 21 มิถุนายน 2550, https://www.gotoknow.org/posts/105046& ดู การพัฒนาเข้าสู่สังคมเมือง (Urbanization) ใน AEC”, 6 กุมภาพันธ์ 2557, http://www.scbsme.com/th/business-knowledge/business/733/การพัฒนาเข้าสู่สังคมเมือง-urbanization-ใน-aec

[3] ดู ทัศนา พฤติการกิจ, บริบทชุมชนภายใต้สังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบท (Community Context Under the Semi-Urban, Semi-Rural Society), สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น, วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 พฤษภาคม 2558 – กรกฎาคม 2558, http://journal.feu.ac.th/pdf/v9i1t2a4.pdf

[4] วัฒนธรรมองค์การ เป็นวิถีชีวิตที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ซึ่งจะกลายเป็นนิสัยและความเคยชิน และกลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีประพฤติปฏิบัติ ความเชื่อ ค่านิยม รวมทั้งภาษาวัตถุสิ่งของต่าง ๆ วัฒนธรรมทำให้คนรวมตัวกันเป็นสังคม มีการอยู่ร่วมกันอย่างมีระเบียบ ผลของวัฒนธรรมจะออกมาในรูปจริยธรรม ตลอดจนค่านิยมที่ใช้ในการตัดสินใจหรือวินิจฉัยสั่งการ, ดู วัฒนธรรมองค์การ, https://ajsuthasinee.files.wordpress.com/2010/10/e0b8a7e0b8b1e0b892e0b899e0b898e0b8a3e0b8a3e0b8a1e0b8ade0b887e0b884e0b98ce0b881e0b8b2e0b8a3.doc

[5] ดู มรุต วันทนากร, วังวนของทหารในการเมืองไทย : ศึกษาผ่านโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ, 21 ธันวาคม 2551, http://www.pub-law.net/publaw/printPublaw.aspx?ID=1311 , Fred W Riggs, Thailand : The Modernization of a Bureaucratic Polity ว่าการเมืองไทยเป็นการเมืองของระบบราชการ หรือ อามาตยาธิปไตย (Bureaucratic Polity) กระบวนการทางการเมืองหรือกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะของไทย ล้วนอยู่ภายใต้อิทธิพลของข้าราชการที่นำโดยทหาร

[6] ดูใน “โครงสร้างสังคมหลวม (John Embree)”, จุรี วิจิตรวาทการ, Key Concept และลักษณะคำถาม, http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:FSN7KCNC3t0J:https://nidamppm14.files.wordpress.com/2008/11/keyconcept-drjuree.doc+&cd=1&hl=en&ct=clnk&gl=th ได้แก่ (1) มีความเป็นปัจเจกชนนิยมสูง(Individualism) ลักษณะตัวใครตัวมัน อิสระชน ไม่ชอบถูกบังคับ ไม่ค่อยมีวินัย สอดคล้องกับการเลี้ยงดูในวัยเด็ก

(2) ไม่ชอบผูกมัด ไม่ชอบวางแผนในระยะยาว ไม่ชอบป้องกันปัญหา เป็นพวกปฏิบัตินิยม ชอบทำงานเฉพาะกิจ ทำให้ไม่มีพลังในการรวมกลุ่มทางสังคมในระยะยาว

(3) มีความยืดหยุ่นสูง(Flexibility) เปลี่ยนอะไรได้ง่าย ไม่ชอบป้องกันปัญหาแต่แก้ปัญหาเก่ง แก้ไขสถานการณ์ได้ มีพลวัตร ปรับตัวเก่ง

(4) เข้าใจกฎระเบียบและกติกาทางสังคมดี รู้ว่าเป็นหน้าที่ใครแต่มักจะละเมิด แสดงว่าเรามีกระบวนการทางสังคมดี แต่สังคมไม่มีการลงโทษผู้ละเมิด(Low social sanction) การลงโทษทางสังคมไม่เข้มแข็ง เบาบางมาก ไม่จริงจัง ทำให้ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำความดี ความถูกต้อง เช่นการเลี้ยงดูพ่อแม่เป็นสิ่งที่ดี แต่ลูกที่ไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ก็ไม่ถูกสังคมลงโทษและลูกที่ดูแลพ่อแม่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับความรักหรือการยกย่องมากกว่าลูกที่ไม่ดูแล เป็นลักษณะอยู่แบบถ้อยทีถ้อยอาศัยแล้วแต่กรรมเวร

[7] ระบบอุปถัมภ์กับการเมืองการบริหารในสังคมไทย, https://nidamppm14.files.wordpress.com/2008/11/the-patron-client-system.doc

[8]ดู ภาวะผู้นำของนายก อบจ. ใน ภัสนันท์ พ่วงเถื่อน, วัฒนธรรมองค์การขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: บทบาทผู้นำต่อวัฒนธรรมองค์การ, วารสารการเมือง การบริหาร และกฎหมาย ปีที่ 4 ฉบับที่ 1, 2555, มหาวิทยาลัยบูรพา, http://digital_collect.lib.buu.ac.th/ojs/index.php/law/article/view/2327 &http://digital_collect.lib.buu.ac.th/journal/Politic/v4_n1/p123-157.pdf & วัฒนธรรมองค์กรของชาวท้องถิ่น, 15 ตุลาคม 2555, http://www.nengnengneng.net/archives/3860

[9] พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537,มาตรา 90

[10] พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496,มาตรา 71 มาตรา 72

[11] สีเสียด(นามแฝง), แนวคิดพื้นฐานที่สำคัญเกี่ยวกับประชาสังคม (Civil Society) คิดถึง..การเคลื่อนไหวของ อ.ศศิน เฉลิมลาภ, 22 ตุลาคม 2556, http://nattawatt.blogspot.com/2013/10/blog-post_3228.html & ธีรพัฒน์ อังศุชวาล, ‘ประชาสังคม’ (Civil Society) ในมุมมองใหม่: บทสำรวจหน้าตาและตำแหน่งแห่งที่ของประชาสังคมในมุมมอง Civil Society Diamond (CSD), ใน วารสารการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 กันยายน 2557 – กุมภาพันธ์ 2558 ประชาสังคม – การบริหารท้องถิ่นและการปกครองท้องถิ่น - นโยบายของรัฐ, http://copag.msu.ac.th/journal/filesjournal/n5-1/4.pdf

หมายเลขบันทึก: 594958เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2015 00:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2015 20:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท