สอนภาษาไทย..ด้วยเพลงพระราชนิพนธ์..ใกล้รุ่ง


การสอนขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ หรือเพลงต่างๆ ครูสามารถใช้เนื้อหาบทเพลง บูรณาการไปสู่การสอนภาษาไทยได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเพลงไทยลูกทุ่ง หรือเพลงไทยสากล ล้วนให้ความงดงามทางภาษาและมีความหมายแฝงอยู่มากมาย

ที่โรงเรียน..หลังบ่ายสองโมงครึ่ง นักเรียนจะซ้อมดนตรี..ภาคเรียนที่ ๑ จะเน้นวงดุริยางค์เมโลเดียน ปีนี้วงใหญ่ขึ้น เพราะได้นักเรียนชั้นป.๓ - ๔ มาร่วมบรรเลงด้วยหลายคน เพลงชาติเล่นได้ทุกคน เพลง ๔ จังหวะ ประเภทรำวง หรือเพลงไทยพื้นบ้าน นักเรียนก็เล่นได้จนคล่อง ยกเว้นมือใหม่ ยังต้องฝึกกันอีกพอสมควร

เพลงปลุกใจ..ที่นักเรียนชอบบรรเลงกันมาก ได้แก่ เพลงสยามมนุสสติ และเพลงรักเมืองไทย ผมพยายามจะหาเวลาเพิ่มเติมให้นักเรียนอีกสักเพลง ส่วนเพลงพระราชนิพนธ์ที่ต่อจบไป และนักเรียนสามารถบรรเลงได้ไม่ผิดเพี้ยน คือ เพลงใกล้รุ่ง ..ซึ่งใช้จังหวะบีกิน ที่นักเรียนสามารถให้จังหวะกลองได้ดีมาก

ทั้งเพลงพระราชนิพนธ์และเพลงปลุกใจ..ผมคิดเสมอว่า นักเรียนควรจะขับร้องได้ด้วย ทั้งขับร้องเดี่ยวและเป็นหมู่ ตลอดจนการขับร้องประสานเสียงได้ยิ่งดี เพื่อนักเรียนจะได้ซาบซึ้งในเนื้อหาและความหมาย ได้เรียนรู้ภาษา และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ..ค่านิยม ๑๒ ประการด้วย

วันนี้..ผมจึงเริ่มให้นักเรียนชั้น ป.๕ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เนื้อหาของบทเพลง..ใกล้รุ่ง..และให้ค้นคว้าเป็นการบ้าน เกี่ยวกับ..คำควบกล้ำ โดยให้เน้นที่..คำกล้ำ.เป็นพิเศษ โดยให้นักเรียนค้นหาคำทีมี ร ล ที่อยู่คู่กับพยัญชนะต้น ในบทเพลงนี้ มีหลายคำด้วยกัน..ถ้านักเรียนเข้าใจและสังเกตดีๆ จะพบได้ไม่ยาก

การสอนภาษาไทยด้วยบทเพลง เริ่มต้นด้วยการให้นักเรียนอ่านในใจก่อน จากนั้นก็อ่านออกเสียง แล้วครูก็จะสาธิตการร้องให้ถูกจังหวะ ในช่วงแรกนี้ ยังไม่ต้องเน้นที่ความไพเราะ เอาที่ถูกจังหวะก่อน เมื่อร้องจบแล้ว ยังสามารถจัดกิจกรรมเสริมต่อได้อีกด้วย โดยแบ่งนักเรียน หญิง ชาย..ให้ร้องกันคนละวรรค สลับกัน

จากนั้น..จึงเข้าสู่การบูรณาการ..ภาษาไทย ให้นักเรียนสังเกต วิเคราะห์ถ้อยคำในเนื้อหาของบทเพลง ครูไม่ควรบอกตรงๆ แต่ต้องบอกนิยามความหมาย ให้นักเรียนเลือกคำแล้วบอกครู เช่น ครูบอกว่า คำสองพยางค์ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน ในภาษาไทย เรียก..คำซ้อน ในภาษาการประพันธ์ ถือเป็นการ เล่นคำ ที่เป็นสัมผัสอักษร..ที่ช่วยให้บทเพลง หรือบทร้อยกรอง..มีความไพเราะยิ่งขึ้น

เช่น คำว่า..ชุ่มชื่น รำไร โบกโบย เพลิดเพลิน เชยชิด ขับขาน ซาบซ่าน ....เป็นต้น

ในส่วนของ..คำกล้ำ..ก็มีไม่ใช่น้อยเหมือนกัน เช่น ไกล ใกล้ กล่อม คล้อง กลิ่น เพลิด เพลิน ประสาน....

ครูจะสนทนาด้วยการตั้งคำถาม.ให้นักเรียนตอบหรือช่วยกันค้นคว้า หรือจะเล่นเกมหาคำที่มีความหมาย เช่น อาจจะถามว่า ในบทเพลงนี้มี...สัตว์อะไรบ้าง และมีดอกไม้อะไรบ้าง นักเรียนก็จะสนุกสนานและมีส่วนร่วมในการเรียนด้วย..

ดังนั้น การสอนขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ หรือเพลงต่างๆ ครูสามารถใช้เนื้อหาบทเพลง บูรณาการไปสู่การสอนภาษาไทยได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเพลงไทยลูกทุ่ง หรือเพลงไทยสากล ล้วนให้ความงดงามทางภาษาและมีความหมายแฝงอยู่มากมาย

อีกทั้งยังช่วยให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจได้ง่ายขึ้น เกิดการสังเกต และมีความคิดรวบยอดที่จะเชื่อมโยงประสบการณ์ ได้คิด วิเคราะห์ ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้จากเรื่องง่ายๆใกล้ตัว ไปสู่เรื่องที่ยาก สลับซับซ้อนและลึกซึ้งมากขึ้น

ท้ายที่สุด..บทเพลงใกล้รุ่ง ..ให้จินตนาการ..เกิดบรรยากาศที่งดงาม หากนักเรียนจะสร้างสรรค์ต่อเป็นภาพวาดระบายสี..นักเรียนจะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ด้วยภาพและสี ที่บ่งบอกทักษะและความเข้าใจ ภาพจะออกมาอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับ..สีสัน..ที่นักเรียนใช้..บอกให้ได้ว่าเป็นช่วงเวลา...ใกล้รุ่ง..ก็แล้วกัน

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๘


หมายเลขบันทึก: 594178เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2015 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2015 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น่าสนใจมาก

ผมเคยใช้การขับเสภา

นักเรียนประถมศึกษาไม่เคยได้ยินเลยชอบมาก

ขอบคุณมากครับ

อยากให้อาจารย์เขียนเผยแพร่วิธีการสอนแบบนี้ลงในวารสารที่ครูระดับประถมศึกษาอ่านกัน จะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์อย่างยิ่งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท