เข้าพรรษา(4) ; เดินทาง


เข้าพรรษา(4) ; เดินทาง

แม้ข้าพเจ้าจะไม่ใช่นักบวชเต็มตัวที่ฝังตัวปฏิบัติตามแบบในวัด...ยังคงมีวิถีที่ต้องเกี่ยวข้องทั้งการงานและการปฏิบัติภายนอก-ภายใน แนวทางที่ได้รับการชี้แนะจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ทำให้หัวใจนี้แข็งแกร่งไม่หวั่นไหว "โกนหัวใส่ชุดขาวนี่แหละไปทำงาน ไปให้คนเห็นไปให้โลกรู้" ... "ศีลแปดนั้นทำให้มันสอดคล้องกันทั้งภายในและภายนอกใส่ชุดขาวคนเขาจะได้รู้ว่ารักษาศีลแปด"

และเส้นทางนี้ก็ดำเนินต่อเนื่องมา ๔ ปีและย่างเข้าปีที่ ๕ (ปีที่ ๕ พรรษาที่ ๔) เมื่อย้อนกลับไปทบทวนระยะเวลา ๔-๕ ปี ไม่ใช่น้อยกับการเดินทางในรูปลักษณ์เช่นนี้

หลายคนว่าเป็นบ้าหรือเพี้ยน หลายคนก็กังขาสงสัย

แต่ก็อุ่นใจเมื่อได้ฟังประวัติของพ่อแม่ครูบาอาจารย์อาทิเช่น หลวงพ่อโต หรือแม้แต่ท่านพุทธทาส ...ข้าพเจ้าไม่อาจเทียบเคียงบารมีท่านแต่ก็ใจชื้นว่า เส้นทางนี้พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านก้าวผ่านมาแล้วและเราจะเจอบ้างจึงมิใช่เรื่องแปลก

และวิถีชีวิตของข้าพเจ้าก็ไม่เคยหยุดเดินทาง ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน R2R ประเทศไทย ...

และวันนี้ก็เริ่มออกเดินทางอีกครั้ง การเรียนรู้ในรอบที่๒ ของสถาบันมะเร็ง

รอบนี้แม้เภสัชติ๋วไม่สามารถมาช่วยภารกิจนี้ได้แต่ข้าพเจ้าก็ได้คุณอำนวย R2R อย่างคุณชลภัสสรณ์ - รพ. ยโสธร ที่ขับเคี่ยว R2R มา ๖-๗ ปีแล้วมาช่วยภารกิจรอบนี้

ก่อนออกเดินทางก็ไปทำงาน Routine ปกติในช่วงเช้า

และที่ประทับใจคือ เดินไปเยี่ยมสมาชิกศูนย์ฟื้นฟูฯ ของวัดที่มานอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล "หลอด" ไข้สูงมาหลายวัน และเมื่อวันอาทิตย์ขาเริ่มบวม พระอาจารย์จึงพามารักษาตัวที่โรงพยาบาล พอเห็นหน้าข้าพเจ้า หลอดก็ปิดหน้าร้องไห้ ข้าพเจ้าถามว่าร้องทำไม "มันตื้นตัน..," ข้าพเจ้าเห็นเด็กชายน้อยๆ ที่ปรากฏในดวงจิตของหลอด หลอดอายุ ๔๗ ปี มาฟื้นฟูจิตใจและได้ปฏิบัติธรรมที่วัด พร้อมอุทิศแรงกายบำเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่วัดตามแนวทางพระอาจารย์ต้อพาดำเนิน...

การเจ็บป่วยของสมาชิกศูนย์ฟื้นฟูฯ พระอาจารย์ท่านจะเมตตาและใส่ใจมาก แม้การแสดงออกมาจะดูเป็นปกติ แต่ด้วยความได้ถวายการทำงานร่วมกับท่านมาหลายปี..จะเห็นเป็นเช่นนี้ ...ภายนอกดูคล้ายเฉยๆ แต่ทราบเลยว่าแต่ละคนท่านจะครุ่นคิดและใคร่ครวญว่าจะช่วยเหลือสงเคราะห์เขาอย่างไรดี

เที่ยง...เสร็จงานคลินิกก็ออกเดินทางไปขึ้นเครื่องที่สนามบินนานาชาติอุบลฯ ระหว่างทางแวะไปโรงพยาบาลมะเร็งเพื่อนำงานไปส่งกัลยาณมิตรที่กรุณาให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ร่วมด้วยในการทำหลักสูตรในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายหรือ Palliative Care ของ อ.ชาลิยา

จากนั้นก็มุ่งหน้าสู่ กทม.

แม้ว่าจะเดินทางแต่การฝึกฝนปฏิบัติตนเองก็ยังคงไว้เช่นเดิม

ทางผู้จัดได้ประสานงานจัดหาที่พักที่ดูสัปปายะพอสมควรเหมาะต่อการพัก และที่ประทับใจพนักงานให้การดูแลและจำข้าพเจ้าได้ ทำให้ไม่รู้สึกแปลกแยกมากนัก ที่สำคัญอาหารมื้อเช้าอุดมสมบูรณ์และปริมาณผงชูรสน่าจะน้อย เพราะทานแล้วไม่มีอาการแพ้ผงชูรส มารอบนี้ไม่มีกลิ่นการบูร ...ใช้ได้ดีทีเดียว

นึกถึงงาน R2R ของเครือข่ายสถาบันมะเร็งแห่งชาติที่คุณบุปผชาติส่งมาให้แล้วชื่นใจ

พลังคนเล็กๆ พลังของคนรุ่นใหม่ที่นำทักษะทางการวิจัยมาเชื่อมใช้กับงานประจำของตนเอง...

ทบทวนย้อนมองตนเองในวันนี้

ข้าพเจ้าก็ยังคงรู้สึกว่า "ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นดีเสมอ"

เพราะนี่คือชีวิต...ชีวิตที่ได้เรียนรู้

....

๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 593102เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2015 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2015 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท