Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เราควรจะมีท่าทีอย่างไรต่อสถานการณ์ด้านแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย


ความเห็นทางวิชาการเพื่อสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๗

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10153002777178834

-----------------------------------------

ประเด็นแรก : อยากทราบสถานการณ์ของแรงงานต่างด้าวในเมืองไทย ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการประติบัติต่อพวกเค้า สิทธิต่างๆที่มีอยู่ว่าเหลื่อมล้ำ หรือ เท่าเทียมกับคนไทยแค่ไหน แล้วจะเตรียมรับมือยังไงกับการเข้ามาของชาติสมาชิกอื่นๆที่เป็นแรงงานมีฝีมือ / ไร้ฝีมือ ตาม ASEAN Blueprint หรือ ทำนองเดียวกันครับ

-----------------------------------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบัน การเลือกประติบัติต่อแรงงานต่างด้าวย่อมจะทำไม่ได้เลยในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานปัญหาก็คือ อะไรคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ? ซึ่งคำตอบในปัญหานี้ก็ไม่มีความคลุมเครือแต่อย่างใด ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน แรงงานไม่ว่าจะมีสถานะคนสัญชาติไทยหรือคนต่างด้าว ก็ย่อมมีสิทธิในการคุ้มครองแรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำย่อมต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเที่ยมกัน หรือความปลอดภัยในการทำงานย่อมได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

แต่ในเรื่องเสรีภาพที่จะเลือกสาขาอาชีพที่จะทำงานนั้น คนต่างด้าวย่อมไม่อาจเลือกทำงานในสาขาอาชีพที่ประเทศไทยสงวนให้แก่คนสัญชาติ และคนต่างด้าวจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตให้ทำงานกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลทั่วไปยอมรับให้รัฐเจ้าของดินแดนอันเป็นที่ตั้งของตลาดแรงงานกำหนดสาขาอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ และกำหนดเงื่อนไขสำหรับการอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในประเทศของตนเอง สำหรับประเทศไทย เรามีกฎหมายภายในของประเทศไทยหลายฉบับที่กำหนดกลไกในการปิดเปิดตลาดแรงงานไทย ตลอดจนเงื่อนไขในการเข้าสู่ตลาดแรงงานไทย ฉบับที่เป็นแม่บท ก็คือ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑

ในส่วนที่เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนนั้น เราตระหนักดีว่า ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๘/ค.ศ.๒๐๑๕ตลาดการค้าเสรีอาเซียนจะเปิดมากขึ้น ในทุกประเด็นทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ทุน บริการ สินค้า แรงงาน ดังนั้น จึงต้องมีการอพยพข้ามชาติของแรงงานอย่างแน่นอน ซึ่งทิศทางอพยพย่อมเกิดใน ๒ กระแส กล่าวคือ การเข้ามาของแรงงานต่างด้าว และการออกไปของแรงงานไทยนอกจากนั้น แรงงานที่เคลื่อนไหวเข้าออกประเทศไทย ก็น่าจะมีทั้งแรงงานที่มีฝีมือและไร้ฝีมือ ปัญหาที่ต้องคิด ก็คือ เราจะตั้งรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร ?

ในประการแรก เราน่าจะปิดตลาดแรงงานไทยไม่ได้อย่างแน่นอน และคงจะไม่ฉลาดมากนักที่จะปิดตลาด การเคลื่อนไหวของแรงงานในทุกทิศทางย่อมจะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าผลกระทบที่ควรจะตระหนักก็คือ หากเราปิดตลาดแรงงานของเรา ประเทศอื่นก็อาจใช้หลักต่างตอบแทนเพื่อปิดตลาดของเขาต่อคนสัญชาติไทยอีกด้วย และนอกจากนั้น ในประการที่สอง เรื่องจริงที่เราต้องยอมรับ ก็คือ เราขาดแรงงานไร้ฝีมือ ในขณะที่กลไกการผลิตในประเทศไทยยังต้องการแรงงานไร้ฝีมือ หรือแม้แรงงานมีฝีมือในหลายสาขาอาเซียน

การตั้งรับที่ดีในปัญหาแรงงานข้ามชาติ ก็น่าจะเป็น (๑) การคุ้มครองความยุติธรรมทางแรงงานให้แก่แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทย (๒) การเสริมศักยภาพของแรงงานไทยที่จะมีฝีมือแรงงานที่สู้ได้กับแรงงานต่างด้าวที่อยู่แล้วในประเทศไทย หรือเพิ่งเข้ามาในประเศไทยและ (๓) การสร้างศักยภาพที่จะคุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศ

-----------------------------------------

ประเด็นที่สอง : ผลกระทบของ พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงานของไทย ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ. การห้ามประกอบอาชีพของคนต่างด้าว (หรืออาจจะมีเพิ่มเติม อาจารย์สามารถยกตัวอย่างได้ครับ ) จะทำให้มีความยากลำบากน้อย-มาก แค่ไหนต่อการเข้ามาประกอบอาชีพของคนต่างด้าว

-----------------------------------------

ประเทศไทยน่าจะมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เอื้อต่อการสร้างความยุติธรรมแก่แรงงานต่างด้าวที่ข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทยในระดับหนึ่ง กล่าวคือ (๑) เรามีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของที่คุ้มครอง “ทุกบุคคลตามกฎหมาย” ทั้งที่เป็นคนสัญชาติและคนต่างด้าว (๒) เรามี พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ เพื่อรองรับกฎหมายต่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศที่มีผลให้สิทธิแก่แรงงานต่างด้าวที่ข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทย (๓) เรามีกฎหมายก่อตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาความแรงงานที่รับรองสิทธิในการเข้าสู่ความยุติธรรมของแรงงานทุกคน ไม่ว่ามีสัญชาติหรือไม่ ไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ (๔) เรามีกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เคารพมนุษย์ทุกคน (๕)เรามีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ใช้ได้กับแรงงานต่างด้าวในลักษณะหนึ่ง (๖) เรามีกฎหมายประกันสังคมที่ใช้กับแรงงานต่างด้าวในลักษณะหนึ่ง และ (๗) เราก็มีกฎหมายเพื่อควบคุมการเข้าประกอบอาชีพของคนต่างด้าว โดยพิจารณา พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งเป็นแม่บทหลักของกลไกการจัดการตลาดแรงงานไทยสำหรับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทย เราก็อาจสรุปได้ว่า กฎหมายนี้เปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารของรัฐไทยมีดุลยพินิจที่จะบริหารประสิทธิภาพของกลไกการจัดการดังกล่าว

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเกือบทุกปัญหา น่าจะอยู่ที่การบังคับการตามกฎหมาย เราควรย้อนกลับมาพิจารณาแต่ละปัญหาว่า ฝ่ายบริหารของรัฐไทยมีนโยบายและวิธีปฏิบัติที่จัดการตลาดแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยบนสมดุลย์ระหว่างความมั่นคงของรัฐและสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ในหลายเรื่อง กระทรวงแรงงานไม่ได้ดูแลให้มีการเคารพมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนแก่แรงงานต่างด้าว อาทิ ปล่อยให้การค้ามนุษย์ในแรงงานต่างด้าวปรากฏโดยทั่วไป ในขณะที่ปัญหาความขาดแคลนแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือก็ยังมีอยู่ในหลายธุรกิจนั่นก็คือ ปัญหาความมั่นคงทางแรงงานในตลาดแรงงานไร้ฝีมือไทยก็ปรากฏอีกด้วย สรุปความก็คือ การบริหารจัดการของกระทรวงแรงงานในประเด็นนี้จึงไม่บรรลุผลทั้งในเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและการรักษาความมั่นคงภายในของตลาดแรงงานไทย

นอกจากนั้น เรื่องที่ควรตระหนัก ก็คือ แรงงานต่างด้าวไร้สัญชาติที่ตั้งรกรากแล้วในประเทศไทย ซึ่งอาจหมายถึงแรงงานที่มีสิทธิในสัญชาติไทย แต่ยังไม่ได้รับบัตรประชาชน อันได้แก่ แรงงานช่าวเขาในประเทศไทย พวกเขาถูกถือว่า “เป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย” จึงถูกเลือกปฏิบัติมากมายโดยกฎหมาย ทั้งนี้ เพราะไม่มีนโยบาย ตลอดจนกฎหมายปกครองในระดับลูก ที่แยกแยะและคุ้มครองสิทธิของคนเหล่า จบปริญญาตรี แต่ต้องไปทำงานเป็นกรรมการไร้ฝีมือ เป็นความสูญเปล่าทางเศรษฐศาสตร์แรงงานที่น่าตกใจ คนก็คือปัจจัยการผลิต เมื่อแรงงานไร้สัญชาติที่เป็นราษฎรไทยเหล่านี้ควรทำงานที่มีคุณภาพระดับหนึ่งได้ เพราะจบถึงปริญญาตรี แต่ให้ไปทำงานเป็นกรรมกร ประเทศไทยจึงสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมไปไม่น้อยเลย เราคิดดู คนจบพยาบาลศาสตร์ แต่ต้องไปทำงานเป็นกรรมกรไร้ฝีมือ คนจบวิศวกรรมศาสตร์ จะต้องไปทำงานเป็นกรรมกรไร้ฝีมือ

ปัญหาคงไม่อยู่ที่กฎหมายที่เอื้อต่อการทำงานบริหารความยุติธรรมทางแรงงานอย่างมาก ปัญหาน่าจะอยู่ที่การบริหารจัดการของรัฐบาลและกระทรวงแรงงานมากกว่า แม้จะปรับกฎหมายอีกกี่ครั้ง แต่ถ้าการปรับใช้กฎหมายยังทำไม่ได้อย่างมีเป้าหมายที่ควรจะเป็น ประสิทธิภาพของกฎหมายก็คงไม่เกิด กฎหมายไม่มีชีวิต คนรักษากฎหมายต่างหากที่มีชีวิต

วันนี้ของประเทศไทย ก็คือ การถามหาแนวคิดและวิธีการที่จะมีภาคการเมืองและภาคราชการที่มีคุณภาพ และสามารถใช้กฎหมายในการสร้างสันติสุขในประเทศไทย แน่นอนรวมถึง การจัดการคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศ หรืออาศัยอยู่อย่างถาวรแล้วในประเทศไทย

-----------------------------------------

ประเด็นสุดท้าย : อยากให้อาจารย์ยกตัวอย่างคดีระหว่างไทย-ชาติสมาชิกอาเซียนที่เคยเกิดขึ้น เพราะความแตกต่างทางด้านกระบวนการยุติธรรมของแต่ละประเทศ ( ทั้งสบัญญัติ และ ระบบกฎหมาย ) ครับ

-----------------------------------------

มีกรณีศึกษาหลายเรื่องที่สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมทางแรงงานในการจัดการตลาดแรงงานไทยที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเพื่อนบ้าน แต่จะต้องย้ำว่า ปัญหาส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากความแต่งของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีระหว่างประเทศอาเซียนแต่กลับเป็นปัญหาของความแตกต่างในระดับการพัฒนาของระบบกฎหมายและการเมืองต่างหาก สิ่งที่ทำให้การจัดการความยุติธรรมทางแรงงานเกิดไม่ได้ดีนักในส่วนที่เกี่ยวกับแรงงานอาเซียนที่ข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทย ก็เพราะความไม่มีประสิทธิภาพ ๒ ด้าน กล่าวคือ (๑) ความไม่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายแรงงานไทยซึ่งดีขึ้นอย่างมากมาย และ (๒) ความไม่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายแรงงานของประเทศอาเซียนยากจน ซึ่งการนิติบัญญัติสมัยใหม่เพิ่งเริ่มต้น นอกจากนั้นกลไกของประชาคมอาเซียนตามกฎบัตรอาเซียนก็ยังเพิ่งเริ่มต้น และยังอ่อนแอ

หมายเลขบันทึก: 593057เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2015 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2015 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท