แบบฝึกหัดทางปัญญาปี 57-58 สร้างสุขภาวะ ผลิตนวัตกรรมหลายรูปแบบ


"สุขภาวะทางปัญญา" ที่นิยามกันว่าคือการรู้เท่าทันความดี ความชั่ว ก่อนต่อยอดไปสู่การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้กับสังคม ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องผ่านกระบวนการคิดและเอาจริงฝึกฝน แบบ “ภาคปฏิบัติ” ตลอดปี 57-58 พื้นที่บล็อกกระจายสุขแห่งนี้ได้บันทึกเรื่องราวที่ว่าด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านการคิดและร่วมปฏิบัติจากบุคคลหลากหลายกลุ่ม ก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางปัญญาที่สร้างคุณให้กับผู้ปฏิบัติและสังคมส่วนร่วมมาโดยตลอด และเนื่องด้วยโอกาสดี ที่โครงการต่างๆในรอบปีงบประมาณ 57-58 ใกล้หมดวาระลง (บางโครงการได้สรุปผลแล้ว) เราจึงขอทบทวนกิจกรรมและเนื้อหาหลักๆที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

เสียงดนตรีสะท้อนสังคม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือ "ทริเปิล เอช มิวสิค" (Triple H Music) สนับสนุนกลุ่มเยาวชนที่มีความสามารถทางดนตรี ร่วมผลิตผลงานเพลงที่มีเนื้อหาสะท้อนสังคมและเกิดกระบวนการสร้างทักษะความสุขทางปัญญา เพื่อสร้างทักษะเรียนรู้และวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมแก่เยาวชน ในการกระตุ้นให้คนในสังคมตระหนักรับรู้ปัญหา และร่วมกันหาแนวทางแก้ไข ในชื่อโครงการ “พลังเพลง พลังปัญญา” โครงการได้ดำเนินการคัดเลือกเยาวชนมาอบรมปฏิบัติการจำนวน 15 กลุ่ม ก่อนจะให้ทุนสนับสนุนเพื่อทำผลงานเพลงในรูปแบบที่สนใจ อาทิ ประเด็นกลุ่มคนไร้สัญชาติ กลุ่มคนไร้บ้าน ความเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน ฯลฯ

จากนั้นจะส่งเสริมให้เยาวชนเข้าไปร่วมเรียนรู้ ลงพื้นที่จริงกับกลุ่มคนทำงานเพื่อสังคม เช่น มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อให้เยาวชนเข้าใจถึงปัญหา มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้ได้รับผลกระทบ รับรู้ข้อมูลหลายด้าน ก่อนนำเสนอผ่านบทเพลง ผลลัพธ์ของกิจกรรมดังกล่าวนี้ ถูกรวมอยู่ในอัลบั้ม SOUND OF SILENCE ที่พวกเขานิยามว่าเป็นบทเพลงจาก “เสียงแห่งความเงียบ” เปรียบได้กับความทุกข์ของคนตัวเล็กๆในสังคม ที่คนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจหากใครสนใจอยากฟังผลงานเพลงดีๆเหล่านี้ติดต่อได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Triple H music

เพื่อนช่วยเพื่อน ช่วยคนชราถูกทอดทิ้ง
ถึงจะปิดโครงการไปแล้ว แต่แนวคิดการสร้างเครือข่ายผู้สูงอายุไว้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเปรียบเสมือน “เพื่อนช่วยเพื่อน” ยังเป็นแนวทางที่หน่วยงานส่วนท้องถิ่นนำไปสานต่อ ตั้งแต่ปี50 จนถึงปัจจุบันสภาผู้สูงอายุฯ และ สสส. ได้ดำเนินโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” กว่า120โครงการทั่วประเทศ บนพื้นฐานหลักคิดที่ว่าไม่มีใครที่รู้ความต้องการของผู้สูงอายุเท่าผู้สูงอายุด้วยกันเอง

ซึ่งโครงการได้รับการร่วมมืออาสาสมัครในชุมชน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน นักเรียนในนามอาสาสมัครเยาว์วัยใส่ใจผู้สูงอายุ (อผส.น้อย) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างหลักคิดให้ทุกภาคส่วนปรับทัศนคติและร่วมมือเตรียมความพร้อมประเทศสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอีกด้วย

“สวนบำบัด” ธรรมชาติรักษาโรค
แนวคิดการใช้ "สวนบำบัด" กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางนั่นเพราะการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติควบคู่กับการแพทย์ปัจจุบันสามารถช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยได้หลากหลายกลุ่ม ทั้งผู้ป่วยทางจิต เด็กพิการกระทั่งคนทั่วไปที่มีความเครียดสูง สสส.และมูลนิธิเพื่อเด็กพิการผลักดันโครงการ "สวนบำบัด" ซึ่งมีแนวคิดการนำธรรมชาติเข้ามาช่วยบำบัดฟื้นฟูพัฒนาเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส ในด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา

โดยเด็กพิการจะได้เรียนรู้จากกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เช่น กิจกรรมศิลปะบำบัดจากพืช การพัฒนาทักษะทางสังคม การเคลื่อนไหว การฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์สำหรับคนพิการ ทั้งนี้โครงการสวนบำบัดมีระยะเวลารวม 2 ปีและอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยเน้นไปที่ 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มเครือข่ายผู้ปกครองและเด็กพิการที่มารับบริการการฟื้นฟูที่มูลนิธิ และกลุ่มบุคลากรที่ทำงานด้านการสุขภาพและพัฒนาทักษะเด็กพิการ

“โรงเรียนวันสุข” สอนจัดการขยะ-งานสังคม
สสส.ร่วมกับ มูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม จัดทำโครงการ "โรงเรียนวันสุข" เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มเยาวชนในพื้นที่ภาคเหนือและอีสานร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคม รู้จักการเป็นผู้ให้ รวมถึงรู้จักความเพียรพยายามแก้ปัญหาชุมชนอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความสุขทางปัญญานั้น ขณะนี้ มูลนิธิการศึกษาฯ และ สสส.ได้สรุปผลปิดโครงการดังกล่าวแล้ว พบว่า โครงการโรงเรียนวันสุขได้สร้างโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติงานจริงในประเด็นที่ตัวเองสนใจ พร้อมกับสานสัมพันธ์คนในชุมชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อการพัฒนา ได้แก่ ชาวบ้าน โรงเรียน กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ซึ่งมักแยกกันทำงานคนละส่วนให้มาร่วมกันทำงานได้ ที่สำคัญยังพบว่า ถึงเด็กไทยจะติดเกมคอมพิวเตอร์ แต่หากมีการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้ทำกิจกรรม เด็กเหล่านี้ก็พร้อมจะลงมือทำ นอกจากนี้ ยังพบว่าเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนวันสุขยังได้คิด และลงไปศึกษาปัญหาชุมชนที่ตัวเองมีความเกี่ยวข้องมากขึ้นและพร้อมสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสังคมขึ้นมาในรูปแบบของตัวเอง เช่น กิจกรรม "โรงเรียนเรา บ้านฉันร่วมจัดการขยะ" ของโรงเรียนบ้านคลองแยง จ.กำแพงเพชร ที่เด็กและเยาวชนมาร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม กิจกรรม "ห้องเรียนสีเขียว" ของกลุ่มเยาวชนบ้านนิเวศเกษตรศิลป์ จ.สุรินทร์ ที่ใช้เรื่องศิลปะผนวกเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นออกมาเป็นนิทานภาพของชุมชน และการทำอาหารพื้นถิ่น เป็นต้น

ละครสะท้อนปัญญา สร้างสิ่งแวดล้อมของความรู้
สสส.ร่วมมือกับ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (กลุ่มละครมะขามป้อม) จัดทำโครงการ "ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง" ละครสะท้อนปัญญา หรือ Tranformative Theatre for Teen โดยมีเป้าหมายใช้ศิลปะการละครพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาของเยาวชนและสร้างนักการละครรุ่นใหม่ที่สามารถผลิตสื่อสร้างสรรค์ทางปัญญาเอื้อประโยชน์และสอดคล้องกับประเด็นปัญหาในชุมชน ที่คนทุกระดับสามารถเข้าถึงและเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติทางปัญญาอันนำไปสู่การมีพฤติกรรมสุขภาวะได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้กิจกรรมยังขยายขอบเขตไปสู่กลุ่มครู เพราะต้องการกระตุ้นครูให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพราะทุกคนรู้ดีว่าการเรียนไม่ได้มีแค่การบอกและจดจำ แนวคิดของศิลปะที่แทรกในกระบวนการละครจึงเปิดโอกาสให้ผู้เรียน-ผู้สอน สื่อสารระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา เกิดวิธีการใหม่ๆ เพราะละครหนึ่งเรื่องล้วนผ่านการคิด วิเคราะห์ ก่อนนำเสนอ สานต่องานค่ายอาสาฯ ปีที่ 9

นับเป็นปีที่ 9 ที่โครงการค่ายอาสาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (ค่ายสร้างสุข) สนับสนุนให้นักศึกษาทั่วประเทศทำค่ายสร้างประสบการณ์ที่เน้นพัฒนาทักษะเยาวชนให้เป็นนักปฏิบัติการทางสังคม ปลูกฝังความคิดเรื่องจิตอาสา พัฒนาสุขภาวะตนเองกับชุมชน สำหรับปีปัจจุบันที่ดำเนินการอยู่นี้จะเน้นการกระจายทีมงานค่ายไปสู่ระดับภูมิภาค โดยมีพี่เลี้ยงระดับภาคคอยสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาที่ร่วมกิจกรรม จำนวน 75 กลุ่ม แบ่งเป็น ภาคเหนือ 14 กลุ่ม ภาคกลาง 13 กลุ่ม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 24 กลุ่ม ภาคใต้ 24 กลุ่ม และให้แต่ละค่ายมีอิสระออกแบบค่ายตามศักยภาพและความสนใจของท้องถิ่น ซึ่งมีความแตกต่างกันไป และกิจกรรมคาดหวังให้การทำค่ายได้สร้างนักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ๆ เกิดการรวมตัวของคนทำงานจนเป็นสังคมของคนรุ่นใหม่ที่สามารถพัฒนาการทำงานได้หลากหลายตามสถานการณ์ เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่า เรื่องของแบบฝึกหัดทางปัญญาในปี57-58 ที่ร่วมสร้างสุขภาวะทางปัญญา แบบ “ภาคปฏิบัติ” ให้กับผู้ร่วมกิจกรรม สามารถผลิดอก ออกผลได้เป็นนวัตกรรมที่หลากหลายจริงๆ เป็นบทเรียนที่น่าประทับใจ และเราขอบันทึกไว้ ณ โอกาสนี้

หมายเลขบันทึก: 592929เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2015 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2015 16:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท