47 ปี ค่ายอาสาพัฒนาชนบท มข. 47 ค่ายเพื่อชุมชน


"หากเราไม่เคยคิดที่จะให้ ก็ไม่ควรรอว่าจะได้รับ" "เราไม่ได้เป็นผู้ให้แต่ฝ่ายเดียว แต่เราคือผู้ที่ได้รับเช่นกัน"

วันนี้ มีโอกาสได้ข้อมูลการออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท ของชมรมอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งออกค่ายเป็นครั้งที่ 47 (ปีที่ 47) ถ้าเป็นคนก็ถือว่าได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมากอย่างโชกโชน หากเป็นคนเพียงคนเดียวก็คงเป็นวัยที่เข้มแข็งมากพอสมควร แต่นี่เป็นค่าย ในค่ายมีสมาชิกค่ายมากหน้าหลายตา อย่างน้อยๆในค่ายน่าจะมีชาวค่ายที่เป็นนักศึกษา 30-50 คนต่อค่าย ปีนี้น่าจะสัก 50 คนได้ หากเอาตัวเลขคร่าวๆ 30x47 = 1,150 คน ก็จะเห็นว่ามีคนผ่านกระบวนการของค่ายนี้อย่างน้อยๆ 1,000 คนเป็นอย่างต่ำ ในค่ายอาสาพัฒนาชนบทของชมรมอาสาพัฒนา ตลอด 47 ปีที่ผ่านมา

การใช้ห้องเรียนที่ฝึกปฏิบัติ ผลิตคนคุณภาพจำนวน 1,100 คน ก็ถือว่าคุ้มค่า เราไม่เคยคำนวณค่าใช้จ่าย (ต้นทุน) ที่เกิดขึ้นจากค่ายเท่าใดนัก แม้ว่าเป็นเรื่องที่ควรทำหรือฝ่ายมหาวิทยาลัยควรให้ความสำคัญ แต่ “คนค่าย” จะเข้าใจกันว่า การไปค่ายให้อะไรเราบ้าง ที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ไม่ได้มีเพียงค่ายอาสาหรือชมรมอาสาพัฒนา หากแต่มีกิจกรรมของชมรม ชุมนุม องค์การนักศึกษา สโมสรนักศึกษา หรือฝ่ายกิจการนักศึกษาที่จัดค่ายอาสามากมายหลายค่ายในแต่ละปีการศึกษา ในแต่ละปี จึงน่าจะมีนักศึกษาร่วมเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านค่ายอาสามากมาย แม้กระนั้นก็ยังมีฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกมากที่เข้าสู่กระบวนการของค่าย เช่น ชุมชน โรงเรียน หน่วยงานรัฐและเอกชน ที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับ “ค่าย” ตัวเลขคร่าวๆ 1,100 คน จึงน่าจะเป็นตัวเลขที่น้อยมากสำหรับค่ายอาสาพัฒนาชนบทของชมรมอาสาพัฒนา

ผมได้ข้อมูลและบทสัมภาษณ์ของน้องๆที่ไปร่วมค่ายมาเล่าสู่กันฟัง อดเสียดายที่ไม่มีบทสัมภาษณ์ของคนในพื้นที่จากชุมชนหรือชนบทที่น้องๆไปจัดค่าย เพราะเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่ในชุมชนก็เป็นมุมที่น่าสนใจจากการมอบโอกาสมอบห้องเรียนห้องใหญ่ให้ชาวมหาวิทยาลัยได้เรียนรู้การทำงาน ได้ปฏิบัติ และเกิดกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติ Learning by doing และชุมชนเองได้อะไร หากมีโอกาสก็อยากรับรู้ว่าชุมชนคิดอะไร แต่กระนั้นก็ช่างเถอะ หากมองอีกมุม ชาวค่ายจาก มข. ก้ได้เรียนรู้และเป็นความรู้ฝังลึก อันเกิดจากการลงมือปฏิบัติ และขณะเรียนรู้ก็มีความสุข มันจึงน่าจะเป็นความรู้ฝังลึกของผู้เรียน ลองมาดูรายละเอียดว่าค่าย ให้อะไรบ้าง (ผมแอบสรุปแผนผังแบบคร่าวๆจากคำที่น้องๆกล่าวไว้)

นายพงษ์สิทธิ์ นิลทร น้องฟูโด้ ประธานชมรมอาสาพัฒนา เล่าว่า “ค่ายอาสาพัฒนาชนบท ครั้งที่ 47 เป็นค่ายสร้าง ที่มุ่งเน้นไปออกค่ายเพื่อสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์แก่โรงเรียนและชุมชน เพื่อการพัฒนาและสร้างโอกาสทางด้านการศึกษาแก่โรงเรียนและชุมชน ในเขตพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการในการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนในชนบท ปีนี้จัดเป็นปีที่ 47 ที่ชมรมได้จัดค่ายอย่างต่อเนื่องเสมอมา ในแต่ละปีชมรมมีกิจกรรมค่ายหลายค่าย แต่ค่ายใหญ่จะจัดปีละ 1 ครั้ง การได้ออกค่ายถือเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่สำคัญ เพราะชาวค่ายจะได้เรียนรู้การทำงานร่วมกันระหว่างเพื่อนนักศึกษา และการทำงานร่วมกันกับคนในชุมชน การเรียนรู้วิถีชุมชน และที่สำคัญคือการได้อาสาไปพัฒนาชนบท แม้จะช่วยไม่ได้มาก แต่ก็ได้เห็นถึงความมีจิตอาสาหรือการเสียสละความสุขส่วนตนมาทำงานร่วมกัน ตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมเป็นไปด้วยดี และสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของค่าย”

นางสาวขวัญหทัย สติยานุช น้องขวัญ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ "หากเราไม่เคยคิดที่จะให้ ก็ไม่ควรรอว่าจะได้รับ" การออกค่ายแต่ละครั้งทำให้ได้พบเจออะไรใหม่ๆ ได้ลองเห็นลองทำในสิ่งที่เราไม่เคยได้ลอง มันไม่ใช่ความลำบาก แต่มันคือความสุขที่คนคิดจะเริ่มต้นทำงานอาสาจะได้รับ ค่ายอาสาพัฒนาชนบทครั้งที่ 47 นี้เป็นค่ายที่ 2 แล้วที่ได้มาร่วมกับชมรมอาสา และเป็นการออกค่ายอาสา 2 ค่ายติดกัน ต่อเนื่องจากชมรมอีสาน ก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าอะไรกันที่ดลใจให้มาออกค่ายติดกันแบบนี้ แต่ก็ต้องบอกเลยว่ารู้สึกขอบคุณตัวเองและสิ่งรอบข้างทุกครั้งที่ตัดสินใจมาออกค่าย ไม่ผิดหวังเลยจริงๆ เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นในความรู้สึก จากที่เราเคยมองโลกในมุมแคบๆ เลือกมองแต่มุมที่ตนเองอยากมอง ตอนนี้เหมือนได้พบเจอกับโลกใบกว้าง มิตรภาพที่หาได้ หากเราก้าวเข้าไปหา ทุกครั้งที่เห็นรอยยิ้มของผู้อื่น มันจะมีความรู้สึกตื้นตันว่า "เราไม่ได้เป็นผู้ให้แต่ฝ่ายเดียว แต่เราคือผู้ที่ได้รับเช่นกัน" ขอบคุณอะไรก็ตามที่ทำให้เราได้มาพบกัน

นางสาวศิรดา พรหมบุตร น้องหนอนไหม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ “ความประทับใจแรกเลยก็คือการต้อนรับของชาวบ้าน พ่อแม่พี่น้อง รอยยิ้มของเด็กๆ ในพื้นที่ เห็นแล้วมันรู้สึกมีความสุข รู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเองเหมือนว่าเราก็สำคัญนะ ยังมีคนอีกตั้งมากมายที่ไม่ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเหมือนคนในเมือง ยังมีคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากเราอยู่ มันดีนะที่เราจะได้ทำตัวให้เป็นประโยชน์กับสังคมบ้าง และจากที่ตอนแรกคิดไว้ว่าเราจะมาเป็นผู้ให้แต่ในความเป็นจริงเรากลับเป็นผู้รับต่างหาก จากคนที่ทำอะไรไม่ค่อยเป็น ก็ได้รับประสบการณ์มากมายจากค่ายนี้ เช่น การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนจำนวนมากๆ การแบ่งเวลา การทำงาน ทำอาหาร ล้างจาน ก่อสร้าง ทาสี บลาๆๆๆ และสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเค้าในการมาค่ายอาสาพัฒนาชมรมอาสาพัฒนาครั้งที่ 47 นี้ คือ มิตรภาพดีๆจากเพื่อน พี่ น้อง และชาวค่ายทุกๆคน”

นายวฤทธา ปวะบุตร น้องโอปอร์ คณะนิติศาสตร์ “ในการมาค่ายอาสาครั้งนี้เป็นค่ายอาสาค่ายแรกของผม ในการตัดสินใจมาค่ายนี้ก็เพราะว่าเป็นช่วงปิดเทอมและอยากได้ประสบการ์ณใหม่ๆและทำหน้าที่พลเมืองที่ดีในการเสียสละเพื่อผู้อื่น แต่เมื่อมาอยู่ในค่ายนี้แล้วสิ่งที่เราได้กลับคืนมานั้นมากมายเกินกว่าที่คาดหวังไว้ เราได้ทั้งมิตรภาพจากเพื่อนใหม่ ได้รู้จักพี่รู้จักน้อง และได้รับความอบอุ่นจากการดูแลของชาวบ้าน ความลำบากที่นี่สอนให้เรามีความอดทนเข้มแข็งรู้จักการทำงานร่วมกับคนอื่น ซึ่งตลอดระยะเวลาเจ็ดวันมานี้สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้หลายอย่าง และมีความทรงจำดีๆให้ระลึกถึงตลอดไป”

ชมรมอาสาพัฒนา องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอม เสริมจิตอาสา สร้างค่ายอาสาพัฒนาชนบท ครั้งที่ 47 โดย ค่ายอาสาพัฒนาชนบท ครั้งที่ 47 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-7 มิถุนายน 2558 ณ โรงเรียนบ้านหนองแวง ตำบลนาเวียง อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร ใช้เวลาเดินทางจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ถึงค่าย ประมาณ 3-4 ชม. ระยะทางรวม 190 กิโลเมตร จำนวนนักศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 90 คน ได้มีการสร้างอาคารเรียนขนาด 4x6 เมตร เพื่อใช้ในการเรียนการสอนชั้นอนุบาล งบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียนทั้งหมด 82,000 บาท และนอกจากนั้นยังมีกิจกรรม พ่อฮัก-แม่ฮัก ระหว่างชาวบ้านและชาวค่าย เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างชาวบ้านและชาวค่าย (นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ชนบท

หมายเลขบันทึก: 590960เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2015 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2015 11:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การเขียนบทความดีมากๆค่ะ ที่บอกว่าค่ายสร้างคนที่ดี มีคุณภาพ ขอบอกว่าจริงค่ะ คนที่ผ่านค่ายเกินกว่าครึ่งเป็นคนที่มีจิตสำนึกต่อสังคมดีมากค่ะ แล้วได้รับทราบข้อมูลมาครบถ้วนหรือไม่คะ ทราบไหมว่างบ 80000 กว่าๆนั้น มีงบที่จัดสรรจากม.แค่ 20000 ที่เหลือ พี่ๆน้องๆศิษย์เก่าได้ช่วยกันร่วมกับชาวบ้านในรูปการทำผ้าป่า...นี่แหละค่ะ การที่เราเคยสร้างค่าย เราถึงยังสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสสร้างค่ายบ้าง มันหมายถึงการสร้างจิตสำนึกดีๆในใจของคนที่ผ่านค่ายค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท