สิ่งที่ได้มากกว่าสิ่งที่เห็น...บันทึกจาก note taker ตามประสาแม่พลอยตาโกโก


ขอบคุณ ดร.เก๋ ที่ให้โอกาส...ขอบคุณพี่โต๋ผู้มีจิตใจดุจแม่น้ำไหลเย็น...ขอบคุณรอยยิ้ม เสียงหัวเราะจนเมื่อยแก้มจากเรื่องเล่าของพี่เยาะ...และขอบคุณดวงตาที่เปี่ยมรอยยิ้มจากพี่น้องผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมือที่กดกล้องมือถือถ่ายภาพที่ขึ้นจอ...

บันทึกจาก note taker สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการ

พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการประเมินผลโครงการเชิงคุณภาพ

วันที่ 30 มีนาคม -1 เมษายน 2558 โรงแรมแมนดาริน แมนเนจ บาย เซนเตอร์ พอยท์ กรุงเทพฯ

การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพด้านการประเมินผลโครงการเชิงคุณภาพนี้ ทีมวิทยากรมี 4 ท่าน คือ ดร.ภญ.กมลนัทธ์ ม่วงยิ้ม (ดร.เก๋) หัวหน้าทีม ภญ.จำปี วงศ์นาค ( อ.ปี) อ.อารีรัตน์ บากาสะแต (อ.เยาะ) และ อ.ยลฤดี ตัณฑสิทธิ์ (อ.โต๋) ซึ่ง ดร.เก๋ และ อ.เยาะ ท่านมาจากวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดชลบุรี (วสส.ชลบุรี) ส่วน อ.ปี และอ.โต๋ มาจาก วสส.ขอนแก่น

ทีมวิทยากรเกิดขึ้นได้เพราะ ดร.เก๋ ชักชวนอีก 3 ท่านให้มาทำอะไรดีๆร่วมกัน ซึ่ง ดร.เก๋ ผู้เป็นวิทยากรหลักให้ความรู้แก่พี่น้องบุคลากรที่เข้ารับการอบรม ไม่ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของวิทยากรแต่ละท่านไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด อาจเพราะท่านอยากให้การอบรมครั้งนี้เป็นไปตามธรรมชาติให้มากที่สุด ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของวิทยากรรับเชิญแต่ละท่านจึงถูกกำหนดด้วยแต่ละท่านกำหนดเองตามสถานการณ์อันควร

อ.ปี วางบทบาทของตนเองเป็น "note taker" พร้อมจับประเด็นและสกัดองค์ความรู้ที่ ดร.เก๋ บรรยาย หรือที่ อ.เยาะ และ อ.โต๋ เล่าเรื่องประสบการณ์การทำงาน เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น ด้วย "ภาพ" ที่ถูกสร้างขึ้นจากเครื่องมือ / อุปกรณ์ ที่พอมีติดตัวอยู่ในขณะนั้น และนำเสนอผลของการจับประเด็นและสกัดองค์ความรู้แบบมีส่วนร่วมและใช้วิธีการ "สุนทรียสนทนา" (dialogue) และ "สุนทรียสาธก" (Appreciative inquiry: AI) ที่เน้นจุดร่วมเชิงบวก ทุกช่วงจังหวะเริ่มต้นของการอบรมช่วงเช้า ช่วงบ่ายและในวันถัดไป เพื่อเน้นย้ำทำความเข้าใจ "หัวใจของสาระ" ที่ทีมวิทยากรอยากจะบอกเล่า

อ. เยาะ และ อ.โต๋ ผู้มีประสบการณ์มากมายในแวดวงการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพไม่น้อยกว่า 30 ปี เป็นผู้สร้างบรรยากาศของการอบรมแบบมีส่วนร่วมอย่างมีชีวิตชีวา ด้วยการ "เล่าเรื่อง" ประสบการณ์จากการทำงาน ที่สามารถสะท้อนถึง "ทักษะ" ด้านการประเมินโครงการเชิงคุณภาพที่ควรคำนึงถึงในการลงมือปฏิบัติจริง เช่น ทักษะในการสังเกต การสัมภาษณ์เชิงลึก เป็นต้น


บรรยากาศของการอบรมครั้งนี้ จึงเป็นไปด้วยรูปแบบของการกระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (sharing) แบบที่ไม่เป็นทางการ หรือ มีความเป็นวิชาการที่ไม่เคร่งเครียดจนเกินไปและเน้นจุดร่วมเชิงบวกในบริบทของการอบรมดังต่อไปนี้

1. มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยอิสระ (independent) ของทีมวิทยากรกับผู้อบรม ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและอย่างไม่เป็นทางการในขณะที่มีการบรรยายให้ความรู้ หรือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน

2. มีการนำเสนอการจับประเด็น (capture) ความรู้ที่บรรยายและขณะที่มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานโดย note taker เพื่อสรุปสาระสำคัญหรือหัวใจของเนื้อหาการบรรยายและเชื่อมโยงให้เข้าใจง่ายขึ้น รวมทั้งเป็นการทวนซ้ำความเข้าใจในกลุ่มผู้อบรมที่อาจตามไม่ทัน ทุกจังหวะของการพัก break และระหว่างวัน

3. มีการการสนทนากลุ่ม โดยแบ่งกลุ่มผู้อบรมเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละประมาณ 10 คน และมีวิทยากรประจำกลุ่มเป็นผู้ดำเนินการสนทนากลุ่ม (modulator) กลุ่มละ 2 ท่าน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างใกล้ชิด

4. จัดให้มีการถอดบทเรียน (After Action Review: AAR) ในกลุ่มพี่น้องที่เข้าอบรมและในทีมวิทยากร เพื่อวางแผนปรับปรุงรูปแบบการอบรมในลักษณะที่มีความยืดหยุ่นสูง ที่สามารถเติมเต็มความต้องการของผู้อบรมให้มากที่สุด

ก่อนที่ ดร.เก๋ จะเริ่มบรรยาย ท่านทำการประเมินผู้เข้ารับการอบรมก่อนการอบรมด้วยแบบสอบถาม เพื่อสำรวจลักษณะทั่วไปและความคาดหวังของผู้อบรม โดยทีมวิทยากรรวบรวมและนำเสนอผลของการสำรวจดังกล่าวทันทีและ ดร.เก๋ บอกเล่าขอบเขตคร่าวๆของการอบรมครั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน

เมื่อการอบรมเดินมาถึงจุดสิ้นสุดของแต่ละวัน ทีมวิทยากรทั้ง 4 ท่าน ได้ทำการถอดบทเรียน (After Action Review: AAR) ในกลุ่มพี่น้องที่เข้าอบรมซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มย่อย 2 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 10 ท่าน ด้วยคำถาม 2 ประเด็นที่ว่า ท่านมีความคิดเห็นหรือความรู้สึกอย่างไรต่อการอบรมครั้งนี้ และ ท่านอยากให้การอบรมครั้งนี้เป็นอย่างไร หลังจากนั้นทีมวิทยากรนำผล AAR ของกลุ่มย่อยมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อวางแผนแบบที่มีความยืดหยุ่นสูงสำหรับการอบรมในวันถัด เพื่อเติมเต็มให้ตรงกับความต้องการของผู้อบรมมากที่สุด

ภาพรวมของผลการ AAR ภายในกลุ่มย่อย สะท้อนถึงการได้รับความรู้ แนวทาง และทักษะเกี่ยวกับการประเมินโครงการเชิงคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งส่วนมากรู้สึกชอบวิธีการอบรมในลักษณะที่ไม่เป็นวิชากรจนเกินไปและมีบรรยากาศเป็นกันเองในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ลักษณะนี้ เพราะ ทำให้กล้าพูด กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีประเด็นที่น่าสนใจซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการพัฒนาต่อ ได้แก่

1. ลักษณะพื้นฐานของผู้อบรมที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน 2 กลุ่มแบบครึ่งต่อครึ่ง คือ กลุ่มที่มีพื้นฐานองค์ความรู้ด้านการประเมินโครงการเชิงคุณภาพค่อนข้างมาก และอีกกลุ่มที่แทบจะไม่เคยมีองค์ความรู้ด้านนี้มาก่อน ซึ่งเป็นไปตามลักษณะของบทบาทหน้าที่รับผิดชอบงานประจำ ทำให้กลุ่มที่แทบจะไม่เคยมีองค์ความรู้ด้านนี้มาก่อน ไม่สามารถทำความเข้าใจเนื้อหาสาระบางส่วนได้ทันทีกับที่วิทยากรบรรยายเสร็จสิ้น ซึ่งการใช้วิธีการสรุปหัวใจของเนื้อหาสาระของ note taker ในครั้งนี้สามารถทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

2. ผู้อบรมซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานใหม่บางท่าน มีความต้องการได้รับความรู้พื้นฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเขียนโครงการ

การเติมเต็มประเด็นนี้ ดร.เก๋ จึงทำการบรรยายให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเขียนโครงการที่ดี

3. อยากให้มีการยกกรณีตัวอย่างการประเมินโครงการเชิงคุณภาพให้มีความสอดคล้องกับงานประจำที่ทำอยู่ และสามารถนำมาเทียบเคียงหรือนำมาประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติในงานประจำได้มากขึ้น

การเติมเต็มประเด็นนี้ ดร.เก๋ จึงให้การบ้าน (แบบไม่บังคับส่ง) กับผู้อบรมให้เขียนโครงการพร้อมวิธีการประเมินโครงการเชิงคุณภาพโดยละเอียด และส่งมายังทีมวิทยากรเพื่อให้คำปรึกษา

เมื่อการอบรมดำเนินการเสร็จสิ้น ดร. เก๋ ได้ทำการประเมินผู้เข้ารับการอบรมหลังการอบรมด้วยแบบสอบถามที่มุ่งประเมินการอบรมครั้งนี้สามารถตอบสนองความคาดหวังของผู้อบรมอย่างไรบ้าง ในแง่มุมต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ทีมวิทยากรได้ทำการ AAR สำหรับการอบรมครั้งนี้ด้วยคำถามที่ว่า ท่านมีความคิดเห็นหรือความรู้สึกอย่างไรต่อการอบรมครั้งนี้ ซึ่งสรุปภาพรวมได้ 2 ประเด็น คือ

1. คุณลักษณะของผู้อบรมที่เกิดขึ้นขณะเข้ารับการอบรม ได้แก่ ลักษณะการทำงานเป็นทีมที่ดีในกลุ่มย่อย (team work) มีการแบ่งหน้าที่ประธาน เลขานุการ ผู้จดบันทึก และมีการระดมสมอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงบวก (positive sharing) ซักถามเพื่อทำความเข้าใจ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ประสานใจ มีการคิดวิเคราะห์ (analytical thinking) เชื่อมโยงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหาสาระทางทฤษฎีที่ได้เรียนรู้จากการบรรยายในการอบรมครั้งนี้กับการปฏิบัติจริงในงานประจำ (practice in routine)

2. การต่อยอดศักยภาพของบุคลากรด้านการประเมินโครงการเชิงคุณภาพ ควรจัดให้มีการกระตุ้นให้มีการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านการประเมินโครงการเชิงคุณภาพนี้ เพื่อให้มีความเข้าใจและมีการฝึกทักษะ (skill) ให้มากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

group_sharing.mov / happiness_sharing.mov


ขอบพระคุณทุกสิ่งที่เกิดขึ้น...

แม่พลอย...note taker ตาโกโก

๖ เมษายน ๒๕๕๘



หมายเลขบันทึก: 588623เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2015 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2015 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท