หลวงปู่แหวน สุจิณโณ จำพรรษากับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


จำพรรษาอยู่นาหมีนายูง

นาหมีนายูง อยู่ในเขตอำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี สถานที่ดังกล่าวนี้ในสมัยก่อนเป็นป่ารกชัฏ ชุกชุมไปด้วยสัตย์ป่า ไข้ป่า พื้นที่เป็นที่ราบติดภูเขา บางแห่งเลียบเลาะไปตามลำน้ำโขง พื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูก แต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปจับจอง เพราะเกรงความเจ็บไข้และอันตรายอย่างอื่นๆ ตามความเชื่อถือของชาวบ้าน เขามีความเชื่อกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า ถ้าใครขืนเข้าไปตัดไม้ในบริเวณป่า ต้องถูกผีป่ามันทำอันตรายเอา มีอันให้เป็นไปต่างๆ พวกเขาเคยเล่าให้ฟังว่าบางรายถึงตายก็มี เพราะเหตุนั้นจึงไม่มีใครกล้าเข้าไปในบริเวณนั้น

ในพรรษาปีนั้นได้จำพรรษาร่วมกันกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต กับตาผ้าขาวอีกคนหนึ่ง การปรารภความเพียรในพรรษานั้นเป็นไปอย่างเต็มที่ เพราะมีหลวงปู่มั่นคอยควบคุมแนะนำอุบาย
จิตตภาวนา

การแนะนำให้ศิษย์ปฏิบัติภาวนานั้น หลวงปู่มั่นท่านย้ำเสมอว่า จะใช้บท ."พุทโธ" เป็นบริกรรมสำหรับผูกจิตก็ได้ เมื่อจิตสงบลงเป็นสมาธิแล้วให้วางบทบริกรรมเสีย แล้วพิจารณาร่างกาย ครั้งแรกให้พิจารณาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ที่เราสามารถจะเพ่งพิจารณาได้อย่างสะดวกใน
อาการ 32

เมื่อพิจารณาจนเกิดความชัดเจนกลับไปกลับมาหรือที่เรียกว่าอนุโลมปฏิโลมแล้ว เมื่อหายสงสัยในจุดที่พิจารณานั้นแล้วจึงค่อยเปลี่ยน
เป็นจุดอื่นต่อไป อย่าพิจารณาเป็นวงกว้างทั้งร่างกาย เพราะปัญญายังไม่แก่กล้า ถ้าพิจารณาพร้อมกันทีเดียวทั้งร่างกายความชัดเจน
จะไม่ปรากฏ ต้องค่อยเป็นค่อยไป

เมื่อพิจารณาจนเกิดความชำนาญแล้ว เราเพ่งปัญญาลงไปจุดใดจุดหนึ่ง ความชัดเจนจากจุดอื่นๆ ก็จะปรากฏเป็นนัยเดียวกัน เมื่อพิจารณาพอสมควรแล้วให้น้อมจิตเข้าพักอยู่ใน
ความสงบ เมื่อพักอยู่ในความสงบพอสมควรแล้วให้ย้อนกลับมาพิจารณาร่างกายอีก ให้เจริญอยู่อย่างนี้ จึงจะเจริญทางด้านปฏิบัติ

เมื่อจิตมีความชำนาญเพียงพอแล้ว คำบริกรรมพุทโธก็ไม่จำเป็น เพียงกำหนดจิตก็จะสงบเข้าสู่สมาธิได้ทันทีผู้ปฏิบัติ
จิตตภาวนา ถ้าส่งจิตออกไปภายนอกร่างกายแล้ว เป็นอันผิดทางมรรคภาวนา เพราะบรรดาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ได้ทรงสั่งสอนประกาศศาสนาอยู่ตลอด
พระชนม์ชีพของพระองค์นั้น แนวการปฏิบัติไม่พ้นไปจากกาย กายจึงเป็นสนามรบ กายจึงเป็นยุทธภูมิที่ปัญญาจะต้องค้นเพื่อทำลาย
กิเลสและกองทุกข์ซึ่งจิตของเราทำเป็นธนาคาร เก็บสะสมไว้ภายในหอบไว้หาบไว้หวงไว้จนนับภพนับชาติไม่ได้

สัตว์ทั้งหลายไม่ว่าชนิดใด ในสังสารวัฏนี้ ล้วนแต่ติดอยู่กับกายนี้ทั้งสิ้น ทำบุญทำบาปก็เพราะกายนี้ มีความรัก มีความชัง มีความหวงแหน ก็เพราะกายอันนี้ เราสร้างทรัพย์สมบัติขึ้นก็เพราะกายนี้ เราะประพฤติศีลธรรม ก็เพราะกายอันนี้ เราประพฤติผิดศีล เราประพฤติธรรม ก็เพราะกายอันนี้

ในพระพุทธศาสนา พระอุปัชฌาย์ก่อนที่จะให้ผ้ากาสายะแก่กุลบุตรผู้เข้ามาขอบรรพชาอุปสมบทก็สอนให้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เป็นส่วนที่เห็นได้โดยง่าย เพราะเหตุนั้น กายนี้จึงเป็นทั้งเหตุและผล
มรรคผลจะเกิดขึ้นก็ต้องเกิดขึ้นจากกายนี้แหละ กายนี้เป็นเหตุ กายนี้เป็นผล เอากายนี้แหละเป็นมรรคเครื่องดำเนินของจิต

เหมือนแพทย์ทั้งหลายจะรักษาเยียวยาคนป่วยได้
ต้องเรียนร่างกายนี้ให้เข้าใจถึงกลไกทุกส่วน จึงจะสามารถรักษาคนไข้ได้ ไม่ว่าทั้งอดีตอนาคตและปัจจุบัน วงการแพทย์จะทิ้งร่างกายไม่ได้ ถ้าวิชาแพทย์ทิ้งการศึกษาระบบกลไกของร่างกาย
เสียแล้ว ก็เป็นอันศึกษาผิดทางวิชาการแพทย์ทางสรีระวิทยา

นักปฏิบัติธรรมถ้าละเลยทิ้งการพิจารณาร่างกายเสียแล้วจะเอาอะไรมาเป็นเครื่องดำเนินมรรคปัญญา ร่างกายที่เป็นของประกอบขึ้นด้วยส่วนที่เป็นรูปและ
ส่วนที่เป็นนาม ถ้าผู้ปฏิบัติไม่พิจารณาให้เป็นแจ้งด้วยปัญญาอันชอบแล้ว คำว่า นิพทิทา วิราคะ นั้น จะไปเบื่อหน่ายคลายกำหนัดอะไร นิโรธซึ่งเป็นตัวปัญญาจะไปดับทุกข์ที่ไหน เพราะ เรามองไม่เห็นทุกข์ ที่เกิดของทุกข์ ที่ดับของทุกข์ ก็ไม่รู้ ไม่เห็น

พระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ พระองค์ก็ต้องพิจารณากายนี้แลเป็นเครื่องดำเนิน
มรรคปัญญา เพราะในอุทานธรรมบทว่า อเนกชาติสํสารํ เป็นต้นนั้นพระองค์ได้ประจักษ์อย่างแน่นอนว่า การเกิดนั้นเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป พระองค์หักกงกรรมคือ อวิชชา เสีย ความเกิดของพระองค์จึงไม่มีต่อไป

กงกรรมคืออวิชชามันอยู่ที่ไหน ถ้ามันไม่อยู่ในจิตของเรา จิตของเรามันอยู่ที่ไหน จิตมันก็คือหนึ่งในห้าของปัญจขันธ์อันเป็นส่วนของ
นามนั่นเอง นี้แลผู้ปฏิบัติต้องใคร่ครวญพิจารณาอย่างนี้จึงจะได้
เชื่อว่าดำเนินตามรรคภาวนา ไม่มีอารมณ์อย่างอื่นนอกจากกายนี้ที่จะดำเนินมรรคภาวนาให้เกิดปัญญาขึ้นได้
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต นั้นจะแนะนำสั่งสอนศิษย์ ท่านไม่ค่อยอธิบายธรรมะให้พิสดารมากนัก โดยท่านให้เหตุผลว่า

"ถ้าอธิบายไปมากผู้ปฏิบัติมักไปติดคำพูดกลายเป็น
สัญญา ต้องปฏิบัติให้รู้ให้เกิดแก่จิตแก่ใจของตนเองจึงจะรู้
ได้ว่า คำว่าทุกข์นั้นเป็นอย่างไร คำว่าสุขนั้นเป็นอย่างไร จึงจะรู้ว่า พุทธะ ธรรมะ สังฆะ นั้นมีความหมายอย่างไร สมาธิละเอียดเป็นอย่างไร สมาธิอย่างหยาบเป็นอย่างไร ปัญญาที่เกิดจากสัญญาเป็นอย่างไร ปัญญาเกิดจากการภาวนาเป็นอย่างไร เหล่าผู้ปฏิบัติ ต้องทำให้เกิดให้มีขึ้นในตนและของตนจึงจะรู้ ถ้ามัวถือเอาคำอธิบายของครูอาจารย์แล้วจิตก็จะติดอยู่ในสัญญาไม่ก้าวหน้าในการภาวนา"

เพราะเหตุนั้นท่านจึงไมอธิบายให้พิสดารมากมาย แนะนำให้รู้ทางแล้วต้องทำเอง เมื่อเกิดความขัดข้องจึงมารับคำแนะนำอีกครั้งหนึ่ง การปฏิบัติเช่นนี้เป็นผลดีแก่ศิษย์ผู้มุ่งปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรมอย่างแท้จริง ในพรรษานี้การบำเพ็ญเพียรภาวนาหลวงปู่จึงเร่ง
ความเพียรอย่างสม่ำเสมอเป็นไปโดยต่อเนื่อง ไม่ขาดวรรคขาดตอน จึงได้รับความเยือกเย็นทางด้านจิตใจมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้เพราะความเพียรเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เพราะมีหลวงปู่มั่นเป็นแบบอย่างในการทำ
ความเพียรให้เห็น

โดยปกติองค์ท่านจำทำความเพียรประจำอิริยาบถ ไม่ว่าท่านจะอยู่ในอิริยาบถใดๆ ต้องอยู่ด้วยการภาวนาทั้งสิ้น เรื่องนี้ท่านย้ำเตือนเสมอไม่ให้ศิษย์ประมาทละความ
เพียรเราอยู่ร่วมกับท่านต้องเอาองค์ท่านเป็นตัวอย่าง ถึงแม้จะทำไม่ได้อย่างท่าน แต่ก็เป็นศิษย์ที่มีครู มีแบบแผน มีแบบอย่าง มีตัวอย่างเป็นทางดำเนิน.

บริเวณนั้นมีถ้ำอยู่ใกล้ๆ ฝั่งโขง เป็นถ้ำไม่ใหญ่นักแต่ถ้าเข้าไปอยู่ก็อยู่ได้อย่างสบาย วันหนึ่งหลวงปู่มั่นท่านพูดว่า "แหวนๆ ที่ถ้ำใกล้ฝั่งโขงนั้นมีเจ้าของ ลองไปพูดกับเขาดู เผื่อจะเป็นบุญเคยช่วยกันมา ถามเขาดูหน่อยว่า สมัยก่อนเขาทำอะไรจึงมาอยู่ที่นี่"

เมื่อได้ฟังคำบอกให้ไปเช่นนั้น วันนั้นตอนกลางวันได้ไปสำรวจดูพื้นที่ ทำที่พัก ทำที่เดินจงกรมไว้พร้อมเสร็จ เมื่อถึงเวลาเย็นหลังจากทำกิจวัตรเสร็จแล้วก็ไป
ภาวนาอยู่ที่ถ้ำ

คืนที่ 1 และคืนที่ 2 ผ่านไป ไม่ปรากฏว่าจะมีอะไร นอกจากเสียงพวกสัตว์ป่าที่ออกหากินในเวลา
กลางคืน พอคืนที่ 3 คืนนั้น ขณะที่กำลังนั่งภาวนาอยู่ พลันก็ปรากฏเป็นรูปร่างกำยำใหญ่โต มายืนทะมึนอยู่ใกล้ๆ จึงกำหนดเพ่งแผ่เมตตาไป ร่างนั้นไม่ได้แสดงอาการว่ายินดีหรือไม่ยินดีอย่างไร คงยืนทะมึนอยู่อย่างนั้น นานๆ เข้าก็หายไป

วันต่อมาก็มาในลักษณะเดียวกันอีก แต่หลวงปู่ก็พยายามกำหนดจิตแผ่เมตตาให้เขาทุก
ครั้งเมื่อเขามาหาแต่ก็มิได้แสดงอาการอย่างอื่นนอกจากยืนทะมึนอยู่อย่างนั้น ถามก็ไม่ยอมพูด ไปพยายามอยู่หลายวัน ในที่สุด วันต่อมาเมื่อเขามาหาอีกก็แผ่เมตตาเจาะจงให้เขา
อย่างที่เคยทำมา คราวนี้เขาแสดงความยินดีอนุโมทนา จึง

กำหนดจิตถามว่า
"สมัยก่อนเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ไปทำกรรมอันใดไว้จึง
ได้มาอยู่ในถ้ำนี้" เปรตตนนั้นตอบว่า "สมัยก่อนเมื่อครั้งเป็นมนุษย์เป็นนักเลงชนไก่ ไม่ว่าทีบ่อนไก่อยู่ที่ไหนใกล้ไกลไม่ถือเป็นประมาณ
ต้องไป เพราะชอบการชนไก่ สนุกดี"
หลวงปู่ "เมื่อไปบ่อนไก่ เคยเอาไก่ไปชนกับเขาบ้างไหม"
เปรต "ได้นำไก่ไปตีกันทุกครั้งที่ไป"
หลวงปู่ ."จำนวนไก่ที่นำไปตีมีจำนวนเท่าไร จำได้ไหม"
เปรต "จำได้อยู่ว่ามีจำนวนอยู่เท่าไร เพราะทำอยู่หลายปีตลอดชีวิต
หลวงปู่ "ไก่ที่นำไปตีกันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง"
เปรต "ถ้าตัวไหนชนะคู่ต่อสู้ก็เลี้ยงดูมันอย่างดี ถ้าได้รับบาดเจ็บด้วยชนะด้วย ไม่พิการ ยังเห็นว่าพอรักษาให้ หายได้ ก็ต้องรักษากันไป แต่ถ้าแพ้ก็ดี หรือแม้จะชนะแต่บาดเจ็บจนรักษาไม่ได้ ก็ฆ่าแกงกินเสียเพราะไม่มีประโยชน์แล้ว"
หลวงปู่ "ที่ว่าบาดเจ็บเป็นอย่างไร"
เปรต "บางครั้งก็ตาบอด หนังหัวขาด คางหัก หรือถ้าคู่ต่อสู้ชำนาญอาจถูกเดือยแทงเพียงครั้งเดียวตายก็มี"
หลวงปู่ "ไม่นึกสงสารไก่บ้างหรือ ที่มันต่อสู้กันถึงบาดเจ็บล้มตาย"
เปรต "ไม่นึกสงสารหรอก โมโหด้วยซ้ำไปที่มันสู้เขาไม่ได้ ไก่บางตัวชั้นเชิงยังอ่อนถูกคู่ต่อสู้กระโดดเตะเพียง
ครั้งเดียวก็ถูกแทงตายกับที่ บางครั้งไก่สู้เขาไม่ได้ก็ฆ่าแกล้มเหล้าเสีย ทำอยู่อย่างนี้หลายปี ต่อมาได้ป่วยลงได้รับความเจ็บปวดทรมานไม่ไหวก็
ถึงแก่ชีวิต ต้องไปเสวยกรรมอีกนานก่อนที่จะมาอยู่ที่นี่"
หลวงปู่ "มาอยู่ที่นี่ก็รู้อยู่ว่าเป็นทุกข์ จะมาเฝ้าอะไร ทำไมไม่ไปผุดไปเกิดเสียล่ะ"
เปรตไม่ตอบเป็นแต่นิ่งอยู่ แล้วยกมือชี้ไปรอบๆ จึงเข้าใจได้ทันทีว่าขายังห่วงป่าไม้อยู่
หลวงปู่ "ทำไมไม่สละ ของเท่านี้ จะเอาทับถมจิตใจให้ห่วงใยเป็นทุกข์อยู่ทำไม จะได้พ้นจากสภาพอันเป็นทุกข์เสียไม่ดีกว่าหรือ"
เปรต "ไม่ได้ๆ สละไม่ได้ ถ้าสละสมบัติเหล่านนี้แล้ว ไม่มีอะไรกิน สละไม่ได้'

เมื่อเขาพูดมาถึงประโยคนี้แล้ว เขานิ่งไม่ยอมพูดอะไรต่อไปอีก จะถามอย่างไรก็ไม่ยอมพูด จึงตั้งจิตแผ่เมตตาให้เขาอีกครั้งหนึ่ง เขาจึงหายไป ณ ที่นั้นเอง ป่าบริเวณนั้นไม่มีใครเข้าไปตัดต้นไม้ได้ก็เพราะเหตุนี้ ถ้าใครกล้าพอตัดไม้ได้เท่านั้นเป็นต้องมีอันเจ็บไข้ได้ป่วยไป ต้องเอาไก่เอาหมูมาเซ่นไหว้จึงจะหาย

เพราะฉะนั้น เขาจึงสละที่นั้นไปไม่ได้ หวงไว้กินไก่ต้มหมูต้ม เป็นอันว่าไปทรมานเจ้าของถ้ำไม่สำเร็จ จึงต้องกราบเรียนหลวงปู่มั่นให้ทราบ ภายหลังท่านได้ทรมานได้สำเร็จ ท่านแผ่เมตตาให้เขาแล้วบอกให้เขาย้ายที่อยู่เสีย
ใหม่

คืนนั้นที่เขาเคลื่อนย้ายที่อยู่นั้นเวลากลางคืนดึกสงัด ขณะที่หลวงปู่มั่นกำลังแผ่เมตตาให้เขาอยู่นั้น เขาได้ย้ายที่ไปเกิดเสียงดังเทือนไปทั้งป่า เหมือนฟ้าผ่า

จนวันรุ่งขึ้น พวกชาวบ้านถามว่า เมื่อคืนนี้ได้ยินเสียงอะไรดังมากเหลือเกิน หลวงปู่มั่นไม่ตอบมั่นไม่ตอบ แต่กลับหัวเราะและพูดว่า "จะเอาไร่เอานาก็เอาเสีย เจ้าของเขาย้ายที่ไปอยู่ที่อื่นแล้ว"

จากชีวประวัติปฏิปทาและธรรมคำสอน หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

คำสำคัญ (Tags): #หลวงปู่แหวน
หมายเลขบันทึก: 585285เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2015 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2015 08:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท