หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ​รั้วไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์ (ความสำเร็จของสาขาฟิสิกส์ประยุกต์ในฟาร์มโคนมโคกก่อมหาสารคาม)


ที่สำคัญที่สุดก็คือการติดตั้งเครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ โดยมีกระบวนการให้ความรู้ในด้านการใช้งานและการบำรุงรักษาผ่านการ "อบรมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม" รวมถึงการจัดทำ "คู่มือ" เพื่อให้ชุมชนสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง.

จังหวัดมหาสารคาม เป็นที่รู้จักแพร่หลายหลากมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติแห่งการเป็นพุทธมณฑลอีสาน สะดืออีสาน และเมืองแห่งการศึกษาในชื่อ "ตักสิลานคร"

ด้วยความที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดฯ ก็มิเคยได้ละเลยที่จะ "เบิ่งมอง" เมืองมหาสารคาม โดยเพียรพยายามเป็นส่วนหนึ่งกับการพัฒนาเมืองมหาสารคามอย่างหลากมิติ โดยใช้ทุนทางการศึกษาในมหาวิทยาลัยฯ ออกไปให้บริการหนุนเสริมเมืองมหาสารคามอย่างไม่หยุดหย่อน ดังจะเห็นได้จากโมเดลการบริการสังคมในชื่อ "หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน" หรือ "๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน" ซึ่งหมายถึงการนำสรรพกำลังอันเป็นเทคโนโลยีไปผนึกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านวาทกรรมเรียนรู้คู่บริการ

ในวาระ ๑๕๐ ปีเมืองมหาสารคาม (นำฮอย ๑๕๐ ปีเมืองมหาสารคาม) โครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชนก็ได้ขยับเข้าไปหนุนเสริมความเป็นเมืองมหาสารคามหลากหลายประเด็นและหลากหลายพื้นที่ โดยยึดชุมชนเป็นฐาน อันหมายถึงบริการวิชาการบนความต้องการ (โจทย์) ของชุมชน

การขับเคลื่อนดังกล่าว มิได้ยึดติดกับความเก่าแก่ของชุมชน หรือท้องถิ่น หากแต่ยึดมั่นในหลักคิดการเรียนรู้คู่บริการด้วยการบูรณาการองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยฯ กับองค์ความรู้ของชุมชนเข้าด้วยกัน เพื่อก่อให้เกิดพลังอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนาชุมชน รวมถึงการพัฒนาระบบการเรียนการสอน

สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อมหาสารคาม เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ขับเคลื่อนการเรียนรู้คู่บริการอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการเติมเต็มองค์ความรู้ใหม่ร่วมกับชุมชน เป็นการเติมเต็มบนฐานความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง และน่าจะเป็นอีกชุมชน หรือกิจกรรมหนึ่งที่ควรค่าหยิบจับมาพูดถึงเนื่องในวาระ ๑๕๐ ปีเมืองมหาสารคาม เพราะอย่างน้อยก็เป็นปรากฏการณ์อันสำคัญของการตอบโจทย์มหาวิทยาลัยกับการรับใช้สังคม หรือกระทั่งการตอบโจทย์อันเป็นภาพลักษณ์ของเมืองมหาสารคามในมิติการศึกษา หรือตักสิลานคร...นั่นเอง

คลิปข่าว : รั้วไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
คลิปข่าว มมส มอบชุดรั้วไฟฟ้าให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม


ถึงแม้สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อมหาสารคาม จะเพิ่งก่อตั้งได้ไม่ถึง ๒๐ ปี แต่ก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายในจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดใกล้เคียง เพราะสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจชุมชนของจังหวัดมหาสารคามที่หลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงหน่วยงานต่างประเทศในบางประเทศก็เข้ามาร่วมส่งเสริมและสนับสนุนเป็นระยะๆ อย่างไม่ขาดสาย



ภายหลังการจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์ฯ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๐ สหกรณ์พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว มีความเข้มแข็งและกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ในด้านภูมิปัญญากับเทคโนโลยีและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยปัจจุบันสหกรณ์ฯ มีสมาชิก ๖๒ ราย มีโคนม ๑,๘๐๐ ตัว มีฟาร์มกระจายอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอบรบือ จำนวน ๖๒ ฟาร์ม สามารถผลิตนมดิบได้ประมาณ ๙ ตันต่อวัน ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์บรรจุถุงส่งขายได้ ๖๐,๐๐๐ ถุงต่อวันเลยทีเดียว




ปี ๒๕๕๗ หลักสูตรฟิสิกส์ประยุกต์ ได้ขับเคลื่อนโครงการ "ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อมหาสารคาม" (ต.โคกก่อ อ.เมือง จ.มหาสารคาม) โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ๓ ประเด็น คือ

  • (๑) วิเคราะห์ศักยภาพพลังงานทดแทนสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ
  • (๒) เรียนรู้ชุมชนกับแนวโน้มการพัฒนาพลังงานทดแทนที่เหมาะสม
  • (๓) ส่งเสริมและถ่ายทอดผลงานการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน



จากการดำเนินงานภายใต้หลักคิด "เรียนรู้คู่บริการ" พบว่าชุมชนมีความต้องการที่จะนำพลังงานทดแทนเข้ามาใช้ในระบบ "รั้วไฟฟ้า" ในฟาร์ม เพราะแต่ละฟาร์มจะอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในฟาร์มต้องทำการต่อสายออกมาจากหมู่บ้าน ส่งผลให้ไฟตกและไฟดับอยู่บ่อยครั้ง ทำให้โคนมที่เลี้ยงหนีหายออกไปจากคอกและฟาร์ม

ด้วยเหตุนี้อาจารย์วุฒิศักดิ์ โชคเกื้อ ผู้รับผิดชอบหลักโครงการฯ ร่วมกับทีมงานอาจารย์และนิสิต จึงได้คิดค้นเครื่อง "ผลิตพลังงานไฟฟ้า" จากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือแผง "โซล่าร์เซลล์" (solar cell) โดยมุ่งที่จะดึงพลังงานดังกล่าวมากักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ให้ได้ไม่น้อยกว่า ๒๔ ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้สามารถปล่อยพลังงานไฟฟ้าไปยัง "รั้วไฟฟ้า" ได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังสามารถปล่อยพลังงานไฟฟ้าไปยังหลอดไฟฟ้าอื่นๆ เพื่อเพิ่มแสงสว่างให้เพียงพอต่อระบบของฟาร์มโคนม



เครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ที่จัดทำขึ้นครั้งนี้ถือเป็น "นวัตกรรมการประหยัดพลังงานไฟฟ้า" ได้เป็นอย่างดี แต่ละเครื่องมีต้นทุนการผลิตเครื่องละ ๑๐,๐๐๐ บาท ถูกส่งมอบให้กับสมาชิกสหกรณ์ฯ จำนวน ๔ เครื่อง แต่ละเครื่องส่งพลังงานสู่รั้วไฟฟ้ากั้นโคนมได้ ๑๒ โวลต์ ไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่การใช้งานได้ ๕๐ ไร่ต่อเครื่อง ซึ่งในส่วนที่เป็นแผงโซล่าร์เซลล์นั้นมีอายุใช้งานยาวนาน ๒๐ ปี ส่วนแบตเตอรี่ก็ใช้งานได้ยาวนาน ๒ ปี

กรณีการเรียนการสอน โครงการดังกล่าวฯ บูรณาการผ่านรายวิชาต่างๆ เช่น

  • วิชาปฏิบัติการฟิสิกส์พลังงาน
  • พลังงานและการแปรรูป
  • พลังงานแสงอาทิตย์
  • พลังงานชีวมวล
  • พลังงานชุมชนและการวางแผน (รายวิชาใหม่ที่ปรับปรุงปี ๒๕๕๕)



ในทางกระบวนการเป็นการปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมระหว่างอาจารย์ นิสิต สมาชิกสหกรณ์ฯ และสำนักงานพลังงานจังหวัดมหาสารคาม ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ เช่น การบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ"พลังงานกับเกษตรกรไทย" และ "พลังงานทดแทนกับกลุ่มสหกรณ์โคนม"

นอกจากการบรรยายข้างต้นแล้วยังประกอบด้วยกิจกรรมอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ที่สำคัญที่สุดก็คือการติดตั้งเครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ โดยมีกระบวนการให้ความรู้ในด้านการใช้งานและการบำรุงรักษาผ่านการ "อบรมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม" รวมถึงการจัดทำ "คู่มือ" เพื่อให้ชุมชนสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง ต่อเมื่อติดตั้งเสร็จก็มีการเก็บข้อมูลต่อเนื่องเป็นระยะๆ แต่ละครั้งเก็บข้อมูลต่อเนื่องไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน ซึ่งก็พบว่าสามารถลดการใช้พลังงานคิดเป็นเงิน ๒๐,๗๒๐ บาทต่อปีเลยทีเดียว




เช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นๆ ได้ถูกหนุนเสริมขึ้นพร้อมๆ กัน อาทิ การรณรงค์ให้ใช้ "ก๊าซชีวภาพจากมูลวัว" เพื่อลดปริมาณการใช้ LPG ในครัวเรือน รวมถึงการส่งมอบ "เตาเผาถ่านประหยัดพลังงาน" แก่สหกรณ์ฯ จำนวน ๑ ชุด เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในการใช้พลังงานทดแทน โดยผลของการเก็บข้อมูลจากการใช้จริงพบว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เท่ากับ ๓,๒๔๐ กิโลกรัมต่อปี

ในทำนองเดียวกันนี้ เมื่อโครงการฯ เสร็จสิ้นลง อาจารย์วุฒิศักดิ์ โชคเกื้อ และคณะทำงาน ยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนต่อเนื่อง กล่าวคือได้เดินทางไปเสนอผลการดำเนินงานในเวทีการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการรูปแบบพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๗ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ในเรื่อง "การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อมหาสารคาม"



ทั้งปวงนี้จึงนับได้ว่าโครงการดังกล่าวฯ เป็นอีกหนึ่งต้นแบบของการบูรณาการภารกิจ In ๑ ได้อย่างลงตัวไม่แพ้หลักสูตรอื่นๆ ผลลัพธ์ที่เกิดจากการเรียนรู้คู่บริการและการปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมระหว่าง "มหาวิทยาลัยมหาสารคามกับชุมชน" ผ่านโครงการนี้มีผลสัมฤทธิ์ที่โดดเด่นและเป็นรูปธรรมอย่างไม่ต้องสงสัย สามารถตอบโจทย์วิชาชีพของหลักสูตรอย่างชัดเจน ขณะที่ชุมชนก็ได้รับประโยชน์หลากมิติอย่างยิ่งใหญ่ มิหนำซ้ำยังยึดโยงถึงการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าชื่นชม



ภาพ : สาขาฟิสิกส์ประยุกต์



ความเห็น (4)

ขอชื่นชมโครงการดีๆมีประโยชน์เช่นนี้ค่ะ....

-สวัสดีครับ

-เกี่ยวกับการใช้แผงพลังงานแสงอาทิตย์น่าสนใจมาก ๆครับ

-ตอนแรกตั้งใจว่าจะหาไปไว้ในไร่สักแผง...สุดท้าย..ก็ต้องพึ่งไฟฟ้า..น่ะครับ

-ขอบคุณครับ

ชอบใจเป้นพลังงานสะอาด

ใช้ได้ตลอดเวลา

สุดยอดมากๆๆ

เป็นโครงการที่ดียิ่ง มีประโยชน์จริง ๆ จ้ะ ขอชื่นชมด้วยใจจริง

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท