“เตรียมตัวซักนิดก่อนให้ลูกเรียนการศึกษาทางเลือก (ลัด)”


"เตรียมตัวซักนิดก่อนให้ลูกเรียนการศึกษาทางเลือก (ลัด)"

เมื่อได้ยินคำว่า "การศึกษาทางเลือก" เชื่อว่าคงสร้างความกังขาในใจของใครหลายๆคนไม่มากก็น้อย การศึกษาทางเลือก คืออะไร ทำไมจึงเรียกว่า การศึกษาทางเลือก เหมือนหรือต่างจากการจัดศึกษาในโรงเรียนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างไร ซึ่งในยุค พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 นี้เด็กๆ มีทางเลือกในการจัดการศึกษามากมาย แม้แต่การศึกษาที่บ้าน (Home school) หรือสถาบันการศึกษาทางเลือกต่างๆที่ล้วนแล้วแต่ใช้เวลาน้อยกว่าการศึกษาในระบบโรงเรียนตามปกติ แน่นอนว่าเด็กๆ หลายคนสนใจเพราะใช้เวลาน้อยกว่า ง่ายกว่า สบายกว่า ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือไม่ดีแต่อย่างใด

ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยก็เห็นด้วยที่จะให้ลูกเรียนในระบบการศึกษาตามอัธยาศัย แต่อาจต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าระบบการศึกษานอกระบบโรงเรียนตามปกตินั้นมีไว้เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กที่มีความยากลำบากในการเข้าไปเรียนในโรงเรียน เช่น มีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย มีความบกพร่องทางสมองหรือร่างกายรุนแรง เด็กที่มีพยาธิสภาพทางจิต หรือมีความบกพร่องทางพัฒนาการบางอย่างที่ไม่สามารถเข้าสังคมตามปกติได้ หรือเด็กที่มีคุณลักษณะพิเศษที่โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนให้ตามตามความเหมาะสมกับตัวเด็กเอง ดังนั้นก่อนที่จะส่งลูกเข้าเรียนในระบบการศึกษาดังกล่าว อาจต้องสำรวจลูกๆก่อนว่าเข้าหลักเกณฑ์ไหม

เมื่อผู้ปกครองตัดสินใจส่งลูกเข้าเรียนในระบบการศึกษานอกโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น กศน. Home school หรือ GED. ก็ตาม สิ่งที่ผู้ปกครองจำเป็นต้องตระหนักอย่างยิ่งคือ เวลา เพราะระบบการศึกษาที่กล่าวมานั้นเด็กจะมีเวลาเหลืออย่างมากมาย หากปราศจากการบริหารจัดการเวลาเด็กก็จะใช้เวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ ปราศจากทิศทางและการพัฒนาศักยภาพ ผู้ปกครองมีความจำเป็นต้องหากิจกรรมอื่นๆให้ทำเช่น การฝึกอาชีพ งานฝีมือ การค้นคว้าต่างๆในระหว่างวัน และควรทำอย่างมีเป้าหมายไม่ต่างกับแผนการจัดการเรียนการสอนที่คุณครูทำในโรงเรียน นั่นหมายถึงผู้ปกครองต้องมีเวลาให้เด็กพอสมควร ในครอบครัวที่มีแม่บ้านหรือพี่เลี้ยงคอยดูแลนั้น การมอบหมายสิ่งเหล่านี้ให้แม่บ้านหรือพี่เลี้ยงจัดการอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีเพราะความสัมพันธ์เป็นไปแบบ ลูกเจ้านาย กับ ลูกจ้าง ไม่ใช่ ศิษย์ กับ ครู การบังคับสั่งสอนไม่สามารถทำได้เต็มที่ และสิ่งที่ยากกว่าการเขียนแผนกิจกรรมหรือการเรียนที่บ้านนั้นคือ การบังคับใช้ ลองคิดทบทวนว่า ในแต่ละวันการที่ผู้ปกครองต้องปลุกลูกขึ้นมาตอนเข้าเพื่อที่จะไปโรงเรียนให้ทัน หรือควบคุมเวลาในการเล่นเกมของลูกมีความยากลำบากเพียงใด การบังคับควบคุมลูกเพื่อให้ทำตามแผนการเรียนการสอนที่ผู้ปกครองเขียนขึ้นนั้นยากกว่าหลายเท่า

ปฏิสัมพันธ์กับสังคมของเด็กจะลดลงอย่างมากเมื่อนำเด็กออกจากระบบโรงเรียน เด็กจะมีวงสังคมที่แคบลงคือมีแค่เพื่อนสนิทไม่กี่คนและสมาชิกในครอบครัว ซึ่งจะส่งผลต่อบุคลิกภาพซึ่งมีแนวโน้มที่จะยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง หรือยอมตามไปซะทุกอย่าง ทักษะทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการไกล่เกลี่ยหรือแก้ปัญหาความสัมพันธ์ การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆจะลดลง บางคนจะพยายามเข้าหาสังคมมากขึ้นโดยการเที่ยวกลางคืน ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นมา

ดังนั้นก่อนที่ผู้ปกครองจะส่งลูกเข้าเรียนในระบบการศึกษาทางเลือก อาจต้องคำนึงถึงปัญหาต่างๆและหาแนวทางการแก้ไขไว้ล่วงหน้า ซึ่งผู้ปกครองสามารถขอคำปรึกษาได้จากครูที่ปรึกษา ครูแนะแนว ฝ่ายวิชาการของโรงเรียน นักจิตวิทยาประจำโรงเรียน

โดย : กิตติศักดิ์ รักษาชาติ

นักจิตวิทยาประจำโครงการ IEP

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต

หมายเลขบันทึก: 581108เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2014 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2014 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท