คู่แฝด....วงเวียนใหญ่ที่กลับคืนมา


คู่แฝด....วงเวียนใหญ่ที่กลับคืนมา

            การเดินทางในกรุงเทพมหานครดูช่างลำบากลำบนเสียจริงไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรือแม้ปัจจุบัน โดยเฉพาะกรุงเทพฝั่งธนบุรีสมัยเมื่อสามสิบถึงสี่สิบปีก่อนนี้ การเดินทางไปมาหาสู่หรือติดต่อค้าขายกันส่วนใหญ่จะเป็นทางน้ำ โดยอาจจะเป็นเรือยนต์เรือหางยาว หรือแม้กระทั่งเรือพายหากเป็นระยะทางใกล้ๆ ยิ่งการเดินทางไปทำสวน ไร่ นา ด้วยแล้วเรือดูจะเป็นความสำคัญในลำดับต้นๆ เพราะสามารถจะบรรทุกและลำเลียงพืชพันธุ์จากในสวนออกมาได้ทีละมากๆ สะดวกและเบาแรง
         ส่วนการเดินทางโดยรถยนต์นั้นค่อนข้างมีความสำคัญน้อยและไม่ค่อยได้รับความนิยม นอกจากจะใช้ในสถานการณ์ที่จำเป็นจริงๆ เช่นเจ็บป่วยต้องไปโรงพยาบาล หรือจะออกไปเที่ยวตลาดนัดที่ท้องสนามหลวง ก็ต้องนั่งเรือออกไปคอยขึ้นรถซึ่งก็นานๆจะมีรถเมล์ผ่านมาสักคัน แต่รับประกันได้ว่ามีที่นั่งแน่นอนเพราะผู้โดยสารส่วนใหญ่จะมีแต่ผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงจะอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน การศึกษาและทำมาหากินเป็นเรื่องของฝ่ายชาย ส่วนเด็กและคนชรานั้นก็นิยมไปเที่ยวเล่นและทำบุญกันที่วัดใกล้บ้าน ใครที่ต้องการความคล่องตัวและเป็นอิสระก็สามารถนั่งรถ ตุ๊กๆหรือรถแท็กซี่ได้แต่ก็นานโขกว่าจะผ่านมาสักคัน และก็ไม่มีรถปรับอากาศดังเช่นในปัจจุบันอีกด้วย
        การนั่งรถเมล์ประจำทางจึงเป็นทางเลือกที่เกือบจะทุกคนเห็นตรงกันว่าดีและเหมาะสมที่สุด ที่แล่นผ่านหน้าบ้านก็มีหลายสายแต่ที่ชอบนั่งก็ได้แก่สาย ๕๖ และสายไทยประดิษฐ์ ที่แล่นไปรอบเมืองแต่เก็บค่าโดยสารเพียงห้าสิบสตางค์ ยิ่งหากเป็นวันเด็กก็นั่งฟรีไม่มีการเก็บสตางค์ ทั้งสองสายจะแล่นผ่านสามแยกไฟฉาย บางขุนนนท์ขึ้นสะพานซังฮี้ ซึ่งแต่เดิมยังไม่มีสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯและวนรอบกลับมาที่เดิม ระหว่างการเดินทางพอใกล้ถึงคุรุสภาเด็กๆก็จะพากันลงที่นี่ เพื่อเดินไปดูงานโชว์อาวุธและการแสดงของทหารที่ลานพระบรมรูปทรงม้า หลายคนได้มีโอกาสสัมผัสตัวจริงเสียงจริงของรถถังและอาวุธของทหารก็ในวันเด็กนี่แหละ
        หากใครต้องการไปขึ้นชมเรือของทหารเรือก็ต้องไปที่ท่าราชวรดิษฐ์ ซึ่งในอดีตจะมีเรือรบของทหารเรือจอดอยู่เต็มสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปากคลองบางหลวงขึ้นไปจนจรดโรงพยาบาลศิริราช ต่อมาเมื่อมีการสร้างสะพานประชาธิปกขึ้นมาคู่กับสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯเดิม ทำให้ทหารเรือต้องย้ายเรือรบไปจอดที่อู่ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯและที่สรรพาวุธบางนา ส่วนเรือที่กินน้ำลึก ก็ไปจอดท่าเทียบเรือแหลมเทียนที่สัตหีบ เหตุหนึ่งก็เพราะสะพานที่สร้างขึ้นใหม่ไม่มีการปิด - เปิดให้เรือเข้าออกได้เช่นเดียวกับสะพานพุทธฯเดิม โดยเฉพาะในช่วงหลังการจราจรบริเวณสะพานพุทธฯ หนาแน่นมาก การเปิดสะพานให้เรือผ่านเข้าออกในแต่ละครั้งทำให้การจราจรติดขัดมาก
          บริเวณสะพานพุทธฯก็เป็นจุดหนึ่งที่จัดให้เด็กมาเที่ยวชม เพราะบริเวณใต้สะพานจะเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง ช่วงนั้นยังไม่มีสถานีโทรทัศน์แม้แต่แห่งเดียวในประเทศไทย การรับฟังวิทยุจึงเป็นที่นิยมมากโดยเฉพาะละคอนวิทยุที่มีชื่อเสียง ได้แก่คณะกันตนาและคณะแก้วฟ้า วันเด็กคราวนั้นที่สถานีวิทยุเป็นการแสดงลิเกพร้อมกับออกอากาศ  ให้ทางบ้านได้ฟังไปพร้อมกัน ก็คงไม่มีอะไรน่าสนใจมากนักเวลาก็บ่ายมากแล้วกลับบ้านดีกว่าเดี่ยวทางบ้านจะเป็นห่วง
จึงเดินออกมารอรถเมล์ใกล้กับวงเวียนเล็ก วงเวียนเล็กจริงๆ ค่ะไม่ใช่กล่าวผิด คงจะเป็นคู่แฝดของวงเวียนใหญ่เพราะตั้งอยู่ไม่ห่างจากกันมากนัก
           วงเวียนเล็กนั้นแต่เดิมตั้งอยู่ตรงบริเวณปากถนนที่มาจากถนนสมเด็จเจ้าพระยา มาตัดกับถนนอิทรพิทักษ์ก่อนขึ้นสะพานพุทธฯ หน้าโรงเรียนศึกษานารีปัจุบัน มีลักษณะเป็นวงเวยีนเพื่อระบายรถโดยไม่มีไฟแดงเช่นเดียวกับวงเวียนใหญ่แต่ก่อน แต่ว่ามีขนาดเล็กกว่ารูปร่างจะเป็นหอนาฬิกาสูงพอประมาณ เหมือนกับที่หลายจังหวัดได้สร้างไว้ตามตัวจังหวัดนั่นเอง เนื่องจากทางราชการต้องการระบายการจราจรให้คล่องตัวและมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจึงรื้อออกพร้อมทั้งสร้างสะพานประชาธิปกขึ้นมาเป็นสะพานคู่ขนานกับสะพานพุทธฯ นับแต่นั้นทั้งชื่อและสัญญาลักษณ์ของวงเวียนเล็กก็หายไปจากความทรงจำของคนอีกหลายต่อหลายรุ่น และดูเหมือนว่าจะไม่เคยมีสิ่งนี้มาก่อนเลย
           หลายวันก่อนมีโอกาสนั่งรถผ่านไปทางสะพานพุทธฯสังเกตุเห็นว่าทางขวามือของฝั่งตรงข้าม ใกล้วัดพิชัยญาติการามก่อนขึ้นสะพาน มีหอนาฬิกาตั้งอยู่ขากลับจึงแวะไปดูปรากฏว่าเป็นวงเวียนเล็กที่เลือนหายไปจริงๆ ซึ่งทางเขตคลองสานได้นำมาบูรณะและติดตั้งไว้ใกล้กับบริเวณที่ตั้งดั้งเดิม หากใครมีโอกาสผ่านไป - มาก็ควรหาโอกาสไปเยี่ยมชมอดีตที่หวลกลับมาอีกครั้ง หากจะให้ดีก็ควรจะนั่งรถเลยไปกราบพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระผู้ทรงกอบกู้ชาติไทยที่วงเวียนใหญ่พร้อมกันเสียทีเดียว เพื่อความเป็นมงคลแก่ชีวิตของเราและลูกหลานสืบต่อไป
                                                                  โดย  คนบ้านเดียวกัน

หมายเลขบันทึก: 58000เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2006 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท