กุ้งแม่น้ำ...กุ้งสมเด็จฯ


ชีวิตสงบที่บ้านริมน้ำป่าสัก ได้มีโอกาสต้อนรับเพื่อนฝูงกันอยู่เนืองๆ ซึ่งส่วนมากเป็นคนกรุง และเมื่อเหล่ามิตรแก้ววางแผนจะพากันมา หนึ่งในอาหารดังของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ทุกคนมักขอให้จัดคือ กุ้งแม่น้ำเผา และต้มยำกุ้งแม่น้ำ

ผู้เขียนเองเคยเข้าใจว่ากุ้งแม่น้ำอยุธยาที่เป็นอาหารขึ้นชื่อของอยุธยามาจากความอุดมสมบูรณ์ของสายน้ำตามธรรมชาติ เพิ่งจะเมื่อไม่นานมานี้เองที่ได้ไปช่วยนิทรรศการวันแม่ที่จัดขึ้นที่สวนอัมพรเมื่อเดือนสิงหาคม(๒๕๕๗)ที่ผ่านมา

ในขั้นตอนเตรียมงานถูกขอให้ช่วยเรื่องข้อมูลในโครงการพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถสิริกิติ์ เขาจะจัดทำเป็นวีดิทัศน์เปิดในงาน จึงได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทถวายงานใกล้ชิด ได้ความรู้มากมาย หนึ่งในนั้นคือเรื่อง กุ้งแม่น้ำ ที่น้อยคนนักจะรู้ความจริงในเบื้องลึก

ต้องขอบคุณ ดร.จรัลธาดา กรรณสูต ที่ปรึกษาสำนักพระราชวัง ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวที่คนไทยทุกคนควรรู้และร่วมปลื้มปิติที่เรามีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯที่ทรงห่วงใยพสกนิกร ทรงใส่พระทัยในการดำรงชีวิตของชาวบ้านที่ได้อาศัยธรรมชาติเป็นแหล่งหาเลี้ยงชีพ

กุ้งแม่น้ำ คือ กุ้งก้ามกราม ....บรรพบุรุษเป็นสัตว์ทะเล!

กุ้งก้ามกรามเป็นกุ้งขนาดใหญ่ และมีก้ามใหญ่สมชื่อ แหล่งอยู่อาศัยก็คือในแหล่งน้ำจืด และต้องเป็นแหล่งน้ำจืดที่มีกระแสน้ำไหลเชื่อมต่อกับทะเลด้วย วงจรชีวิตของกุ้งก้ามกรามนี้เกี่ยวพันกับทะเลอย่างสำคัญทีเดียวล่ะค่ะ

เรามักไม่ค่อยทราบความจริงในส่วนที่มันเกี่ยวพันกับทะเล เราจึงเรียกกุ้งก้ามกรามที่จับขึ้นมาบริโภคอย่างเอร็ดอร่อยนี้ว่า กุ้งแม่น้ำ

นักวิชาการพบหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ซึ่งบ่งชี้ว่าบรรพบุรุษของกุ้งก้ามกรามนั้นเป็นสัตว์ทะเล และทะเลในอดีตกาลนั้นมีพื้นที่ชายฝั่งสูงขึ้นไปถึงลพบุรีโน่นเลยค่ะ (ราวพันปีก่อนไม่มีแผ่นดินที่เป็น กรุงเทพ อยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ที่เราเห็นในแผนที่เช่นทุกวันนี้ )

....ผ่านกาลเวลาและวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน เราพบเห็นกุ้งก้ามกรามได้ในธรรมชาติตามแม่น้ำลำคลอง แม้มันจะไม่ได้เป็นสัตว์ทะเลอีกต่อไป หากแต่มีชีวิตอยู่ได้ในระหว่างสองน้ำ น้ำกร่อยและน้ำจืด และที่ว่ามันแสดงความเชื่อมโยงกับบรรพบุรุษทางพันธุกรรม คือ มันต้องวางไข่ในน้ำกร่อยที่เค็มจัด

ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปกับการพัฒนาประเทศมีการตั้งแหล่งชุมชน แหล่งการค้า และโรงงานต่างๆริมแม่น้ำทำให้บรรดาสายน้ำไม่ได้มีความสะอาดเช่นแต่ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสกปรกเน่าเสียของน้ำในเจ้าพระยาตอนล่างที่ติดกับทะเลอันเป็นรอยเชื่อมต่อระหว่างน้ำจืดและน้ำกร่อย เมื่อก่อนปีพ.ศ. 2523อยู่ในภาวะวิกฤตทำให้ปริมาณกุ้งก้ามกรามในธรรมชาติลดน้อยลงอย่างมากเพราะ แม่กุ้งไม่สามารถว่ายฝ่าน้ำเสียที่มีออกซิเจนน้อยไปสู่ตอนปลายแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อไปวางไข่แพร่พันธุ์ในบริเวณที่มีความเป็นน้ำกร่อยจัดได้

มลพิษกระทบวงจรชีวิตกุ้งก้ามกราม

เราต้องมาทำความรู้จักวงจรชีวิตของกุ้งก้ามกรามกันเพื่อจะได้เข้าใจชีวิตสองน้ำอันน่าทึ่งของมันนะคะ

เราคุ้นเคยกับการเห็นกุ้งก้ามกราม กุ้งแม่น้ำ ที่มีขนาดโตสักหน่อยจนถึงใหญ่มากขนาด 3-4 ตัวได้น้ำหนักหนึ่งกิโล อันเป็นขนาดที่นักบริโภคแสวงหา ตอนที่กุ้งผู้ใหญ่อยู่อาศัยในแม่น้ำลำคลองนี่แหละค่ะที่มันจะผสมพันธุ์และแม่กุ้งจะมีไข่ติดท้อง

จากการศึกษาพบว่ากุ้งก้ามกรามตอนมีไข่ติดท้องที่มีลักษณะเป็นสีส้มจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในน้ำจืดได้ เมื่อสีของไข่กุ้งที่ติดอยู่ที่ท้องเป็นสีน้ำตาลเทา ธรรมชาติของมันจะต้องว่ายไปยังน้ำกร่อยที่ปลายน้ำซึ่งเชื่อมต่อกับทะเลอันมีสภาพเหมาะสมที่มันจะวางไข่และฟูมฟักตัวอ่อนหรือลูกกุ้ง

ทว่าการที่มีช่วงน้ำเน่าเสียขวางกั้นการไปทำภารกิจตามธรรมชาตินี้ได้ กุ้งก้ามกรามจึงต้องว่ายทวนกระแสน้ำย้อนกลับขึ้นมาที่บริเวณน้ำจืด ไข่ติดท้องที่แก่เต็มที่สีน้ำตาลเทาก็จะหลุดล่องลอยในน้ำจืดไม่สามารถฟักเป็นตัวอ่อนได้ เรียกได้ว่าไข่ไม่สามารถเติบโตฟักเป็นลูกกุ้ง กุ้งก้ามกรามจึงใกล้สูญพันธุ์เต็มที เพราะไม่มีการเกิดของกุ้งรุ่นใหม่ๆมาทดแทน

ตามวงจรธรรมชาติหากไข่กุ้งสามารถฟักเป็นตัวอ่อนได้มันจะเป็นตัวอ่อนที่ยังมีลักษณะไม่เหมือนพ่อแม่ ดูเหมือนหงายท้องล่องลอยอยู่ในน้ำกร่อย จากนั้นจะผ่านการลอกคราบอีกหลายครั้งจนถึงระยะสุดท้ายที่ชาวบ้านเรียกว่า กุ้งคว่ำ มันจึงจะมีลักษณะเหมือนพ่อแม่ทุกประการ ช่วงนี้มันจะมีลำตัวยาวเฉลี่ยราว 1 เซนติเมตร ลำตัวใส สามารถควบคุมการทรงตัวในการว่ายน้ำได้ ก็จะว่ายทวนน้ำกร่อยเข้ามาเติบโตในบริเวณน้ำจืดดำเนินชีวิตเติบโตเป็นกุ้งก้ามกรามสมบูรณ์ มีชื่อเรียกต่างๆนานาเช่น กุ้งหลวงเพราะขนาดตัวที่ใหญ่ กุ้งนางหากเป็นกุ้งตัวเมียที่มีขนาดลำตัวเล็ก และกุ้งแม่น้ำ เนื่องจากจับได้ตามธรรมชาติจากแม่น้ำ เป็นอาหารที่ทุกคนชื่นชอบ มีชื่อเสียงระดับโลก คือ ต้มยำกุ้ง กุ้งแม่น้ำย่าง และอีกหลากหลายเมนู สร้างรายได้ให้กับประชาชนที่มีอาชีพหากุ้งหาปลาตามแม่น้ำลำคลองได้อย่างดี

เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงทราบปัญหาการแพร่พันธุ์วางไข่ของกุ้งก้ามกรามจากการนำความกราบบังคมทูลฯโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีพระราชเสาวนีย์ให้มีการศึกษาวิจัยการเพาะลูกกุ้งในสถานีทดลองโดยสร้างระบบนิเวศเทียมขึ้นมาเป็นผลสำเร็จให้แม่กุ้งได้วางไข่ในน้ำมี่มีสภาพเหมาะสม คือ เป็นน้ำกร่อย โดยไม่ต้องว่ายฝ่าน้ำเน่าเสียออกไปและว่ายทวนกลับเข้ามาอย่างไร้อนาคตเช่นแต่ก่อน เพราะลูกกุ้งในระยะตัวอ่อนขั้นต้นจะตายหมดในน้ำจืด

ในระบบนิเวศเทียม ณ สถานีทดลองเมื่อไข่กุ้งฟักเป็นตัวอ่อนในน้ำกร่อย นักวิจัยก็จะอนุบาลจนลูกกุ้งพร้อมจะเติบโตในน้ำจืดได้ ผลสำเร็จเป็นลูกกุ้งหลายล้านตัว

ในปีพุทธศักราช 2523 ได้โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพบางไทรขึ้นริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดศูนย์ฯนี้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2527

สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯได้ทรงปล่อยลูกกุ้งชุดแรกที่หน้าศูนย์ศิลปาชีพบางไทร แห่งนี้ และได้มีการปล่อยอย่างต่อเนื่องมาทุกปีจนถึงทุกวันนี้ ในบางปีที่เสด็จพระราชดำเนินมายังพระตำหนักสิริยาลัย ก็ได้นำลูกกุ้งก้ามกรามนับล้านตัวมาปล่อยในบริเวณหน้าพระตำหนัก

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ทางภูมิธรรมชาติ นับเป็นโครงการในพระราชดำริที่น้อยคนจะรู้ เราสามารถเรียกกุ้งก้ามกราม หรือ กุ้งแม่น้ำรสเลิศที่เราบริโภคทุกวันนี้ได้เต็มปากว่า "กุ้งสมเด็จฯ"

ขอทั้งสองพระองค์ทรงพระเจริญ

------------------

หมายเลขบันทึก: 579959เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2014 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2014 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

หลายปีก่อน ผมกับเพื่อนไปนั่งกินอาหารเย็นที่อยุธยา เพื่อนสั่งกุ้งแม่น้ำมา 1 จาน มีทั้งหมด 5 ตัว

ตอนจ่ายตังค์แทบเป็นลม เพราะราคาตั้ง 900 บาท ผมหายอยากมาตั้งแต่บัดนั้นเลยละครับ 555

ยังคิดถึงวันแรกที่(ต้อย.รัตนาโกมลวนิช..เพื่อนเปียโต)..จัดการกินกุ้งแม่น้ำตัวโต.ให้เพราะรู้ว่ายายธี..ชอบแถมอยากให้รู้จักกับหลานชายเพราะยายต้อยบอกว่า..ฉันมีหลานอาชีพคล้ายแก..แอะๆๆ..และมันคือบ้าน..ริมแม่น้ำป่าสัก.(ที่บ้านคุณนุชตอนไปอยู่ฝรั่งเศส)..ได้ดีเจ้าค่ะ..จำได้แต่กุ้ง..เพราะมันตัวใหญ่และเติบโตในแม่..น้ำ..เรื่องรสชาดไม่ต้องพูดถึ.ง.....พอพบคุณนุช..เลย..พอได้คลับคล้ายคลับคลากะสถานที่..ที่อยู่ในความทรงจำอันเลอะเลือนของคนแก่๕๕.."มาน้อมรับพระมหากรุณาธิคุณ..ที่เรายังมีกุ้งที่โตไม่ทันกินกันอยู่ทุกวันนี้..เจ้าค่ะ..

ได้อ่านบันทึกพี่นุช คิดถึงนะคะ เรื่องกุ้งแม้น้ำนี่ของโปรดเลยค่ะ ได้ความรู้มากเลยจากบันทึกนี้

ปล. หากพี่นุชมีปัญหาในการใช้ระบบ สามารถศึกษาคู่มือได้ที่ http://help.gotoknow.org หรือถามมาได้ที่ [email protected] ได้เลยนะคะ โทรมาหาจันเลยก็ได้ค่ะ

รักและคิดถึงค่ะ

จัน

กุ้งก้ามกราม กุ้งหลวง กุ้งนาง กุ้งแม่น้ำ เป็นพันธุ์เดียวกันถูกมั๊ยคะ

อ่านบันทึกนี้แล้ว รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ มากค่ะ

ทั้งสองพระองค์ทรงทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติมาก หลายๆ เรื่องเรายังไม่รู้

ขอบคุณนะคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

สาระมากมายเชียวค่ะ ขอบคุณนะคะที่ทำให้ทราบวงจรชีวิตกุ้งแม่น้ำ (เดิมรู้อร่อยอย่างเดียวค่ะ ^_,^)

และพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ และในหลวงของปวงชนชาวไทย .... ล้นฟ้าจริง ๆ

ระลึกถึงอาจารย์เสมอนะคะ

อ้อ

หากคุณอักขณิช จะทานกุ้งแม่น้ำที่ร้านตอนนี้จะลมจับเลยค่ะ น้องคนหนึ่งบอกว่าตัวละ 750 บาท!

ราคากุ้งแม่น้ำตอนมาอยู่บ้านหลังนี้เมื่อสิบกว่าปี ราว 500 บาท ปีที่แล้ว 750 ปีนี้ขึ้นไปเลยค่ะ 1100 บาท

ตัวเองนั้นเคยชอบกุ้งแม่น้ำเผา แต่ปัจจุบันเล็งเห็นบาปจากความอยาก ที่ของอร่อยนั้นต้องสดมาบางทียังไม่ตาย หายอยากไปเลยค่ะ แต่ก็ไม่ได้ห้ามหรือพูดให้คนที่ยังชอบอยู่หมดอร่อยนะคะ

คุณยายธี จะมาเยือนอีกเมื่อไรก็จะจัดของโปรดให้ทานค่ะ

โครงการในพระราชดำริของทั้งสองพระองค์ที่ได้ยินได้ฟังมาและน้อยคนที่จะรู้ยังมีอีกหลายเรื่องค่ะ ว่าจะทยอยเขียนเล่าซึ่งจะน่าอ่านกว่าอ่านตัวโครงการซึ่งเป็นแต่ข้อเท็จจริงไม่มีชีวิตชีวาค่ะ

ขอบคุณค่ะอาจารย์จันจันทวรรณ จะพยายามจัดสรรเวลาให้มากขึ้นค่ะ

การใช้งานส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาอะไร เป็นปัญหาที่พี่มากกว่า อยากจะทำให้บันทึกมันสวยงามมีศิลปกว่านี้ แต่ก็ไม่รู้วิธีการ เลยเอาแค่มีเรื่อง มีรูปเป็นพื้นฐานนะคะ^_______^

ถูกต้องค่ะคุณnui กุ้งก้ามกราม กุ้งหลวง กุ้งนาง กุ้งแม่น้ำ เป็นพันธุ์เดียวกัน

ที่สำคัญสำหรับคนชอบทานกุ้งแม่น้ำคือในธรรมชาติหายาก จึงแพงมากขึ้นเรื่อยๆ และเดี๋ยวนี้ยังมีกุ้งก้ามกรามที่เขาเลี้ยงก้ามจะเล็กเนื้อไม่อร่อยเลยค่ะ

ค่ะคุณหมออ้อธิรัมภา การได้ทำงานนี้ทำให้เพิ่งเข้าใจวงจรชีวิตกุ้งก้ามกรามเช่นกันค่ะ

ระลึกถึงเสมอเช่นกัน หวังใจว่าจะมีโอกาสพบกันอีกค่ะ

เป็นกุ้งแม่น้ำตัวโตมากๆจริงๆด้วย

สมัยก่อนชาวบ้านบอกว่าหาง่ายมาก

ตอนนี้คงหายากมากแล้ว

ราคาถึงได้แพงกว่าเห็ดโคนเมืองกาญจน์บ้านเรา

ดอกตูมราคา 500 บาท 555

ขอบคุณพี่นุชมาก หายไปนานเลยครับ

ได้ความรู้เรื่องกุ้งแม่น้ำเพิ่ม แถมได้เรียนรู้เรื่องธรรมชาติด้วย

ขอให้สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ และในหลวงทรงพระเจริญครับ

พี่นุชครับ

คิดถึง

ตอนนี้น้ำลด

แถวอยุธยาลดลงมากไหมครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท