nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

ประชาธิปไตยเริ่มที่บ้าน


สองมือของเราทุกคนช่วยชาติบ้านเมืองได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะสองมือของพ่อ สองมือของแม่ที่จะช่วยกันเลี้ยงดูลูกๆ ให้พวกเขาได้เติบโตเป็นพลเมืองดี และเป็นนักประชาธิปไตยเต็มตัว

ประชาธิปไตยเริ่มที่บ้าน

ที่มา เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล. “ประชาธิปไตยเริ่มที่บ้าน” นิตยสารรักลูก. ปีที่ ๑๑ ฉบับ ๑๑๖ กันยายน ๒๕๓๕ , หน้า ๑๒๓-๑๒๗.

ภาพประกอบ  : จากนิตยสารรักลูกฉบับเดียวกัน

          ห้วงเวลาที่มีการตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยสูงเช่นนี้ เราคงละเลยไม่ได้ที่จะหันกลับมามองบทบาทของสถาบันครอบครัวหรือ “บ้าน” สังคมแรกของมนุษย์ ว่าจะมีบทบาทในเรื่องนี้อย่างไรบ้างในการสรรค์สร้างนักประชาธิปไตยตัวน้อยๆ ให้แก่บ้านเมือง

          ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ได้อธิบายความหมายของประชาธิปไตยในมิติที่เป็นวิถีชีวิตหรือการดำเนินชีวิตประจำวันไว้ว่า "..การอยู่ร่วมกัน ปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ ไม่ก้าวก่ายในสิทธิของผู้อื่น เคารพกฎเกณฑ์ของสังคม ร่วมกันรับผิดชอบและทำประโยชน์เพื่อความผาสุกของส่วนรวม ตลอดจนการใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหา.."

          จะเห็นได้ว่าความหมายของประชาธิปไตยในมิตินี้ได้ตั้งความคาดหวังต่อคนในสังคมไว้ค่อนข้างสูงและสังคมประชาธิปไตยจะราบรื่นได้จำเป็นที่จะต้องมีสมาชิกในสังคมที่มีคุณภาพ หาไม่แล้วย่อมจะเกิดความวุ่นวายอันเนื่องมาจากการที่ไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่เคารพกฎเกณฑ์ของสังคม ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวมอย่างที่แลเห็นเป็นตัวอย่างได้ดีในบ้านเรา

          ด้วยเหตุที่สังคมประชาธิปไตยเรียกร้องคนที่มีคุณภาพเช่นนี้ สถาบันครอบครัวจึงมีบทบาทอย่างสำคัญที่จะปลูกฝังสิ่งที่ดีงามต่างๆ รวมทั้งการปลูกสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยให้แก่เด็กๆ ตั้งแต่วัยต้นๆ ของชีวิตโดยเฉพาะวัยก่อนเรียนที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าสามารถปลูกฝังสิ่งต่างๆ ได้อย่างลงรากลึก นับเป็นภารกิจอันสำคัญและมีคุณค่าสูงยิ่ง

ความเชื่อของพ่อแม่

          พ่อแม่เลี้ยงดูอบรมลูกตามความเชื่อของตน การที่จะปลูกฝังประชาธิปไตยให้กับลูกๆ ได้นั้นพ่อแม่ต้องล้างความเชื่อเก่าๆ ที่ว่าลูกจะต้องเชื่อฟังพ่อแม่โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้นออกไปเสียก่อน บอกกับตัวเองให้ได้ว่าเราจะสอนให้ลูกเชื่อในเหตุผล ในสิ่งที่อธิบายได้เท่านั้น

          ความเชื่อหลักที่สำคัญคือ การยอมรับว่าลูกเป็น “ปัจเจกบุคคล” ที่มีความคิด มีจิตวิญญาณที่เป็นอิสระเท่าๆ กับผู้ใหญ่คนหนึ่ง ลูกมิใช่สมบัติส่วนตัวของพ่อแม่ที่จะบงการหรือปั้นแต่งให้เขาเป็นอย่างที่พ่อแม่ต้องการ จุดอ่อนของพ่อแม่มีเพียงประการเดียวคือ ใช้ประสบการณ์ของตนปกป้องลูก ไม่ยอมให้ลูกๆได้ลองผิดลองถูกและได้เรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง

          ความเชื่อต่อความเป็นปัจเจกบุคคลของลูกช่วยให้พ่อแม่ปฏิบัติต่อลูกเฉกเช่นที่ผู้ใหญ่ปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ด้วยกันเอง บรรยากาศแบบนี้ช่วยให้เด็กๆ พัฒนาความเชื่อมั่นในตนเองและทักษะในการคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นอิสระได้อย่างรวดเร็ว

ให้ลูกได้ทำทุกสิ่งด้วยตัวของเขาเองให้มากที่สุด

          ความรับผิดชอบเบื้องต้นของมนุษย์คือความรับผิดชอบต่อตัวเอง เด็กๆ ที่ถูกฝึกให้มีความรับผิดชอบต่อตัวเองนั้นจะสามารถพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคมประเทศชาติได้ในที่สุด และนี่เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย

           การกระทำสิ่งใดจนประสบความสำเร็จด้วยสองมือเรานำมาซึ่งความภาคภูมิใจและก่อให้เกิดความรู้สึกมั่นใจในตนเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นธรรมชาติแท้จริงของมนุษย์ พ่อแม่ไทยส่วนใหญ่เลี้ยงดูลูกอย่างประคบประหงมมากเกินไป ทำให้เด็กขาดทักษะในการช่วยเหลือตนเอง การปล่อยให้ลูกทำสิ่งต่างๆ ให้กับตัวเอง เริ่มจากกิจกรรมง่ายๆ ซึ่งพัฒนาไปตามวัย เช่น การถือขวดนม ถือช้อนตักอาหารเข้าปาก สวมเสื้อผ้าเอง ฯลฯ จะช่วยให้ลูกๆ เรียนรู้ว่าเขาจะต้องรับผิดชอบต่อตัวเองมิใช่รอคอยให้ผู้อื่นมาช่วยเหลือ ลูกจะพัฒนาทักษะในการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากง่ายไปหายากและซับซ้อนขึ้น โดยมีพ่อแม่คอยให้กำลังใจแนะนำช่วยเหลือเท่าที่จำเป็นเฉพาะส่วนที่เกินกำลังความสามารถเท่านั้น เด็กๆ จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตนเอง และเกิดความยอมรับนับถือตนเองได้ในที่สุด ความรู้สึกในทางบวกต่อตัวเองเช่นนี้ทำให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ

เปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกำหนดกิจกรรมหรือระเบียบปฏิบัติของบ้าน

          หัวใจอันแท้จริงของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในชาติ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดชีวิตของตน

          หลักการง่ายๆ เช่นนี้นำมาใช้ในบ้านได้โดยการให้ลูกๆ ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดระเบียบปฏิบัติต่างๆที่ใช้กันอยู่ในบ้าน หรือที่เรียกกันว่า “วินัยของบ้าน” รวมไปถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันทั้งครอบครัว

          พ่อแม่มักจะเผลอคิดว่าพ่อแม่เป็นผู้ที่รู้ว่าสิ่งไหนดีที่สุดสำหรับลูก จึงได้กำหนดเป็นระเบียบปฏิบัติขึ้นมาใช้ในบ้าน และพบว่ายิ่งลูกเติบโตระเบียบเหล่านั้นก็ยิ่งถูกละเลย ที่สำคัญคือระเบียบเหล่านั้นใช้ “บังคับ” กับลูกๆ เท่านั้นไม่รวมถึงพ่อแม่ การคิดและทำเช่นนี้ไม่ได้รับความร่วมมือจากลูกๆ เพราะเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดระเบียบนั้นนั่นเอง

          วิธีง่ายๆ แต่ได้ผลคือดึงให้ลูกๆ ทุกคนมานั่งรวมกันที่ “โต๊ะประชาธิปไตย” แล้วหยิบยกปัญหาหนึ่งขึ้นมา เช่น “เด็กๆ กินอาหารเสร็จช้า ใช้เวลาที่โต๊ะอาหารนานกว่าครึ่งชั่วโมง” พ่อแม่บอกความต้องการที่มีเงื่อนไขน้อยที่สุดพร้อมทั้งเหตุผลที่ชัดเจน เช่น “แม่ต้องเก็บจานชามล้างให้เรียบร้อยก่อนไปทำงานบ้านอื่นๆ” สมาชิกทุกคน (รวมทั้งพ่อแม่) ช่วยกันบอกสาเหตุของปัญหามาหลายๆ สาเหตุ ทางออกของปัญหาที่เป็นข้อตกลงร่วมกันจะได้รับการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดโดยเด็กๆ วิธีการเช่นนี้อาจดูเหมือนยากแต่หากพ่อแม่ได้นำไปทดลองใช้ก็จะพบหนทางแก้ปัญหาต่างๆ ของลูกได้อย่างมหัศจรรย์ ข้อสำคัญคือพ่อแม่จะต้องใจเย็น ประนีประนอมในบางจุด มีความคงเส้นคงวา และไม่ละเมิดระเบียบนั้นเสียเอง การโหวตหรือลงคะแนนเสียงอาจใช้ได้กับบางเรื่องแต่ควรให้ความสำคัญกับเหตุผลที่อธิบายได้มากกว่า

          “โต๊ะประชาธิปไตย” ใช้ได้กับปัญหาส่วนใหญ่ของครอบครัว (ที่ไม่ใช่ปัญหาส่วนตัวของพ่อแม่ หรือปัญหาที่ลึกซึ้งเกินไปสำหรับวัยของลูก) ใช้ในการขอความคิดเห็นหรือหาข้อตกลงร่วมกัน เช่น การไปเที่ยวพักผ่อนวันหยุด การใช้เวลาดูโทรทัศน์ที่เหมาะสม ค่าใช้จ่ายส่วนตัวของลูกๆ เป็นต้น บางครั้งพ่อแม่อาจลองเสนอปัญหายากๆ ของพ่อแม่ให้ลูกๆ ช่วยหาทางแก้ พ่อแม่จะพบว่าแท้จริงแล้วปัญหาที่ผู้ใหญ่คิดว่าไม่มีทางออกอาจเป็นโจทย์ที่ง่ายแสนง่ายสำหรับเด็กๆ พวกเขามักมีข้อเสนอแนะที่แหลมคมที่ผู้ใหญ่มองข้าม ซึ่งแม้จะไม่ช่วยแก้ปัญหาในทันทีแต่จะช่วยให้ผ่อนคลายและหาทางออกได้ในที่สุด

          แนวทาง “โต๊ะประชาธิปไตย” อาจใช้ไม่ได้กับทุกๆ เรื่องในบ้านอย่างเช่นพ่อแม่คงไม่ขอความเห็นของลูกในกรณีที่จะต้องเดินทางไปประชุมไกลบ้านหลายๆ วัน แต่การบอกเล่าเรื่องต่างๆ ของผู้ใหญ่ให้ลูกๆ ได้รู้ แม้แต่เรื่องฐานะทางการเงินของครอบครัวช่วยให้ลูกรู้สึกภูมิใจว่าพ่อแม่ให้เกียรติและยอมรับในความมีตัวตนที่เท่าเทียมกับผู้ใหญ่คนหนึ่ง

          วิธีนี้เป็นการฝึกหัดลูกให้รู้จักหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ประนีประนอม การแสดงความคิดเห็นที่มีเหตุผล การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย

ฟังลูกพูดบ้าง

          ในสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง การพูดกับการฟังมีความสำคัญพอๆ กัน เราพูดเพื่อถ่ายทอดแนวคิดต่อเรื่องต่างๆ การฟังช่วยให้เราได้รับรู้แนวคิดอื่นๆ ที่อาจจะตรงหรือไม่ตรงกับความคิดของเรา แต่มันจะมีประโยชน์ตรงที่ทำให้ทัศนะของเรากว้างขึ้น ได้แง่มุมต่างๆ มากขึ้นกว่าการคิดคนเดียวพูดคนเดียว ทักษะในการฟังยากกว่าทักษะในการพูดตรงที่บุคคลมักจะยึดถือความคิดเห็นของตัวเองเป็นหลัก ทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านความคิดเห็นของผู้อื่นที่มีแนวโน้มว่าจะไม่สอดคล้องกับความคิดเห็นของเราเสียตั้งแต่เขายังพูดไม่จบ ประโยชน์จากการฟังจึงไม่เกิด

          พ่อแม่ไทยมักจะยึดถือวิธีการพูดๆๆๆ ใส่ลูกด้วยความเชื่อมั่นอย่างบริสุทธิใจในความปรารถนาดีที่ถ่ายเทออกมาเป็น “คำสอน” เด็กๆ ที่มีลักษณะพื้นฐานที่จะยอมตามหรือที่เราเรียกว่าเด็กหัวอ่อนนั้นอาจจะเก็บเอาคำสอนของพ่อแม่แต่จะไม่ทั้งหมด ส่วนเด็กๆ ที่มีความเป็นอิสระสูงหรือที่เราตั้งฉายาพวกเขาว่าเด็กหัวแข็ง เด็กดื้อนั้น เขาจะเกิดความรู้สึกโต้แย้งอยู่ภายในเมื่อเขาไม่เห็นด้วย หากพ่อแม่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้พูดบ้างก็จะพบว่าความคิดเห็นของลูกๆ นั้นลึกล้ำ น่าสนใจอย่างคาดไม่ถึง

          เด็กๆ เกิดมาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์ที่เปี่ยมล้น แต่กลับถูกลดทอนลงโดยผู้ใหญ่ที่ปิดกั้นขัดขวาง การเปิดโอกาสให้ลูกได้พูด ได้แสดงความคิดเห็น หรือเล่าเรื่องต่างๆ ตามความคิดของเขาเป็นการพัฒนาการคิดสร้างสรรค์วิธีหนึ่ง

          การฟังลูกพูดนั้น พ่อแม่จะต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่ตั้งใจฟังจริงๆ ไม่ได้เสแสร้ง อาจซักถามเพื่อให้ลูกขยายความหรือพูดเสริมให้ความคิดของลูกกระจ่างขึ้นในบางจุด พ่อแม่ที่ไม่คุ้นเคยกับวิธีการคุยกับลูกด้วยวิธีนี้อาจมีอุปสรรคอยู่บ้างในตอนแรกๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปและเด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าพ่อแม่เต็มใจที่จะฟังเขาพูดเหมือนเช่นที่พ่อแม่ปฏิบัติต่อผู้ใหญ่อื่นๆ เขาก็จะเต็มใจที่จะฟังพ่อแม่พูดด้วยเช่นกัน

พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของลูก

          หัวใจของประชาธิปไตยอีกประการคือ ความเท่าเทียมหรือเสมอภาค กับการยอมรับนับถือตนเองและผู้อื่น

          มีความจริงอยู่ประการหนึ่งที่ว่า “ความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงไม่มีอยู่ในโลกนี้” ความเชื่อในความเท่าเทียมกัน จำเป็นต้องคิดไตร่ตรองอย่างระมัดระวัง ตราบใดที่มนุษย์จะต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่น การตัดสินใจทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดย่อมกระทบต่อบุคคลที่สอง บุคคลที่สามอย่างแน่นอน มากหรือน้อย การเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมชายในบางเรื่องอาจส่งผลกระทบต่อสถานะของความเป็นแม่ของหญิง ดังนั้นความเท่าเทียมกันที่แท้จริงจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนและการเคารพสิทธิของผู้อื่น

          เป็นที่น่ายินดีไม่น้อยทีเดียวที่ครอบครัวไทยสมัยใหม่ พ่อได้เข้ามามีบทบาทในการเลี้ยงลูกรวมทั้งช่วยทำงานบ้านมากขึ้น เป็นความใจกว้างของพ่อบ้านอย่างน่ายกย่องโดยที่แม่บ้านไม่ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องความเท่าเทียมแต่อย่างใด

          พ่อและแม่จะต้องทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นว่าต่างก็มีความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ที่เห็นได้ง่ายคือ การช่วยกันแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงลูกและงานบ้าน ให้ลูกได้เห็นว่าพ่อกับแม่ปรึกษาหารือกันและตัดสินใจร่วมกันเพื่อให้ลูกเห็นว่าไม่มีคนหนึ่งคนใดที่เป็นผู้มีสิทธิ์อย่างเด็ดขาดในครอบครัว พ่อหรือแม่หาโอกาสพูดยกย่องฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต่อหน้าลูก เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้วิธีการยกย่องให้เกียรติผู้อื่น การแสดงออกถึงความรักใคร่ ห่วงใยระหว่างพ่อแม่ รวมทั้งการแสดงความรักกับลูกๆ อย่างเปิดเผย ช่วยให้ลูกรู้สึกมั่นคง

          แบบอย่างทั้งที่ดีและไม่ดีของพ่อแม่จะอยู่ในความทรงจำของลูกและมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของลูกมากกว่าคำพร่ำสอนใดๆ


เชื่อมโยงสังคมแคบๆ ในบ้านกับสังคมใหญ่นอกบ้าน

          สังคมประชาธิปไตยต้องการประชาชนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ความรับผิดชอบต่อสังคมมาจากความรู้สึกผูกพันและเป็นเจ้าของ

          ลูกๆ เกิด เติบโตและเรียนรู้สังคมในบ้าน พวกเขารู้จักวิธีปฏิบัติต่อพี่ น้อง พ่อ แม่ รู้จักประนีประนอมกับทุกคนในบ้านเพื่อการอยู่ร่วมกัน ทั้งนี้เพราะพวกเขามีความรู้สึกผูกพันกับบุคคลต่างๆ ในบ้าน พวกเขาหวงแหนทรัพย์สินที่อยู่ในบ้านก็เพราะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ พ่อแม่จำเป็นต้องสร้างความรู้สึกผูกพันและรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมด้วยการเชื่อมโยงสังคมแคบๆ ในบ้านกับสังคมใหญ่นอกบ้าน

          สิ่งที่เด็กๆ เรียนรู้ได้ง่ายที่สุดคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับเพื่อน กับผู้ใหญ่อื่นๆ กับครู เพียงเท่านั้นยังไม่พอ พ่อแม่ควรแนะนำให้ลูกรู้จักถิ่นฐานที่เขาเกิดและประเทศชาติ

          อธิบายให้ลูกเข้าใจว่า การกระทำต่างๆ ของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขาอย่างไร เช่น การทิ้งขยะลงพื้นเพียงหนึ่งชิ้น การเด็ดใบไม้หนึ่งใบ การตัดต้นไม้เพียงหนึ่งต้น การปล่อยน้ำ เปิดไฟทิ้งไว้ การรักและหวงแหนทรัพย์สิ่งของที่เป็นของสาธารณะ รวมไปถึงการเคารพและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางสังคม กฎหมายของบ้านเมือง นอกจากการอธิบายแล้วพ่อแม่จะต้องยึดมั่นต่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างอีกด้วย

จริยธรรม ขนมประเพณี ศาสนา มาตรฐานทางสังคม

          ในการตัดสินใจเลือกหรือทำอะไรบางอย่างอาจต้องใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม ขนมธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา มาใช้อธิบายและประกอบการตัดสินใจ

          การชักนำให้ลูกได้สัมผัสใกล้ชิดกับวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา นั้นจะช่วยขัดเกลาจิตใจ และสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นชาติ การชี้แนะแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรฐานทางสังคมช่วยให้ลูกไม่รู้สึกแปลกแยกและขัดแย้ง

          ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งทางสังคมที่ชัดเจนคือ การที่สังคมของผู้ใหญ่ไม่อาจยอมรับการแสดงความคิดเห็นโต้แย้งของผู้อ่อนอาวุโสกว่า และเรียกมันว่า “ความก้าวร้าว ไม่รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่” ในขณะที่เด็กๆ เรียกมันว่า “การแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล” ความคิดที่สวนทางกันเช่นนี้จะค่อยๆ หมดไปด้วยวิธีการประนีประนอมและการแสดงออกที่เหมาะสม พ่อแม่ควรสอนวิธีการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับผู้อื่นให้แก่ลูกโดยยึดหลักการที่ว่า การแสดงความคิดเห็นจะต้องนุ่มนวล ไม่หักหาญเพื่อเอาชนะ บางครั้งต้องเลือกเวลาและสถานที่ สิ่งนี้เป็นเรื่องยากที่สุดสำหรับเด็กๆ ที่เติบโตมาในครอบครัวประชาธิปไตยที่ลูกมีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตนอย่างอิสระ พ่อแม่จำเป็นต้องฝึกวิธีการแสดงออกกับพ่อแม่เสียก่อน การสอนเรื่องนี้เป็นเฉพาะกรณี ขึ้นอยู่กับสภาพครอบครัว สภาพสังคมที่แวดล้อมเขาอยู่

          ในทำนองเดียวกัน พ่อแม่จะต้องให้กำลังใจแก่ลูกหากพบว่าลูกรู้สึกผิดหวังกับสังคมนอกบ้าน เช่น การถูกตำหนิติเตียนจากครู ความไม่เข้าใจของผู้ใหญ่อื่นๆ พ่อแม่ควรชี้ให้ลูกมองเห็นด้านดีไม่ดีของเหตุการณ์นั้นๆ เป็นกรณีๆ ไป ประคับประคองจิตใจไม่ให้ลูกท้อถอยที่จะยืนหยัดเป็นตัวของตัวเอง โดยเฉพาะการทำในสิ่งที่ถูกต้องและความดี แม้จะทวนกระแสสังคมอยู่บ้าน

          บางครั้งพ่อแม่จะได้ยินคำถามของลูกในลักษณะที่ว่า “ทำไมลูกต้องทำสิ่งนี้ แต่เพื่อนๆ ไม่เห็นต้องทำ” ให้ค่อยๆ อธิบายกับลูกว่าสิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง มีคุณค่าในตัวของมันเอง เด็กอื่นๆ อาจจะยังไม่เข้าใจ แต่ต่อไปเขาจะเข้าใจ สนับสนุนให้ลูกๆ ชักชวนเพื่อนให้ทำในสิ่งที่ลูกทำอยู่และเป็นสิ่งที่ดี ที่สำคัญคือกำลังใจของพ่อแม่จะต้องมีให้ลูกอย่างสม่ำเสมอ

เปิดโลกทัศน์ให้ลูก

          ทัศนะในการมองสิ่งต่างๆ รอบตัว เป็นทักษะเฉพาะบุคคลที่รังสรรค์ได้ด้วยการอ่านมาก ฟังมาก เห็นมาก ความรู้ ข้อมูลและข่าวสารต่างๆ เป็นวัตถุดิบของสมอง เป็นเชื้อเพลิงของการคิดวิเคราะห์ คนในสังคมประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในเหตุการณ์บ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รู้อย่างถ่องแท้ รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้บทบาทของตัวเอง รู้ที่จะปกป้องผลประโยชน์อันชอบธรรมของตนเองและสังคม

          การอ่านช่วยเปิดโลกทัศน์ของบุคคล การอ่านเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนมาตั้งแต่เด็กหรืออาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่เกิด นิสัยรักการอ่านจึงเป็นของขวัญที่วิเศษสุดที่พ่อแม่มอบให้แก่ลูก

          พ่อแม่ควรอ่านหนังสือให้ลูกเล็กๆ ฟังทุกวันอย่างสม่ำเสมอ ให้เขาได้จับต้องหนังสือเมื่อมือหยิบจับได้ ให้หนังสือภาพสวยๆ แก่ลูกเล็กๆ ซื้อหนังสือให้ลูกอ่านเมื่อเขาอ่านเองได้ พาลูกไปเลือกซื้อหนังสือไว้เป็นสมบัติส่วนตัว และที่สำคัญพ่อแม่ควรอ่านหนังสือให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง ได้มีการแนะนำวิธีฝึกนิสัยรักการอ่านไว้อย่างมากมาย เป็นวิธีง่ายๆ แต่มีคุณค่าสำหรับลูกๆ เมื่อเขาโตขึ้น

สองมือของพ่อ สองมือของแม่ ช่วยชาติได้

          เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ เป็นบาดแผลฉกรรจ์ในจิตใจของคนไทยทุกคน คงไม่มีใครต้องการให้เกิดเหตุการณ์นั้นซ้ำอีกในอนาคตกับลูกๆ ของเรา สองมือของเราทุกคนช่วยชาติบ้านเมืองได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะสองมือของพ่อ สองมือของแม่ที่จะช่วยกันเลี้ยงดูลูกๆ ให้พวกเขาได้เติบโตเป็นพลเมืองดี และเป็นนักประชาธิปไตยเต็มตัว เพื่อที่ว่าในอนาคตข้างหน้าเราจะได้ไม่มีการทำลายล้างกันอันเนื่องมาจากความคิดเห็นและความต้องการที่สวนทางกันอีกต่อไป.

พฤหัส ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗


ป.ล. ไม่สามารถลงภาพได้ค่ะ

บันทึกเพิ่มเติม : บทความนี้เขียนในช่วงหลังเวลาที่มีเหตุการณ์รุนแรงเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ ลงพิมพ์ในนิตยสารรักลูกในปีเดียวกัน หลังจากได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ในฐานะเป็นพ่อแม่ เราควรมีบทบาทอย่างไรต่อคำว่า ประชาธิปไตย ค่ะ  เพิ่งเจอต้นฉบับ คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ถ้าเอามาลงใน G2K 

หมายเลขบันทึก: 579821เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2014 07:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2014 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ชอบมากค่ะ...หวังว่า..คงจะเป็น..ข้อคิด..กับผู้อ่าน...ที่พยายาม..เข้าใจ..จะเข้าใจคำว่า..ประชาธิปไตย..ไม่ใช่เพียง..รู้..งูๆปลาๆว่า..เราเป็นผู้สร้าง..คำว่า  ประชาธิปไตย..ไม่ใช่..อนุสาวรีย์..กลางถนน..(อิอิ)...สี่เหลี่ยมนี้ลองว่าจะมีรูปไหม..เพราะเมื่อกี้..มีรูป..หลงดีใจ..๕๕๕

ขอบคุณนะคะคุณยายธี ที่เพิ่มเติมความเห็น  กลัวเหลือเกินว่าจะมีคนคิดว่า ประชาธิปไตยคือทำอะไรได้ตามใจ..

เห็นภาพเสือโคร่งหน้าตาใจดีแล้วค่ะ ดิฉันลองลงภาพใหม่ก็ยังไม่สำเร็จค่ะ

ขอบคุณพี่มากนะครับ

พี่เตือนสติในบางเรื่องให้ผมตระหนักมากขึ้นครับ

ด้วยความยินดีอย่างยิ่งค่ะคุณแสง สงแห่งความดี...

-สวัสดีครับ

-ตามมาอ่านบทความดี ๆ ครับ

-หวังว่าสักวันหนึ่งคงได้มีโอกาสสร้างคนด้วยสองมือ..ครับ

-รออย่างมีความหวังว่าสักวัน...จะมี...เธอ...กลับมาอีกครั้ง...

-แล้วหวังว่า...ครอบครัวเล็ก ๆของผมจะสมบูรณ์..

-ขอบคุณครับ


น่าสนใจและเห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ

ขอบคุณ อาจารย์ nui ที่กระตุกต่อมคิด เรื่องประชาธิปไตย

เราเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ลืมสร้างประชาธิปไตย

เราอยากได้ประชาธิปไตย แต่เราให้คนอื่นทำให้

ประชาธอปไตยครัวเรือน คือฐานคิดของคนสร้างประชราธอปไตย.....

ขอบคุณยิ่งนัก

ขอคุณน้องเพชร เพชรน้ำหนึ่ง

ขอให้ครอบครัวน้องมีเจ้าตัวเล็กเร็ววัน แล้วช่วยส่งข่าวด้วยพี่จะได้ร่วมแสดงความยินดี

ขอบคุณลุงวอญ่า วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei-- สรุปได้ดีเชียวค่ะ

ครอบครัวสร้าง โรงเรียนสานต่อ ชุมชนรับช่วง แล้วประชาธิปไตยไทยจะเข้มแข็งได้แน่ เราต้องไม่เอาแต่เรียกร้องโน่น นี่ นั่น จากคนอื่นโดยตัวเองไม่ทำอะไรเลยนะลุงนะ

เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับพี่ฯ..

ความเป็นพ่อแม่ ใช้ประสบการณ์ตรงของตนเองปกป้องลูกๆ จากสถานการณ์ต่างๆ โดยที่ไม่ค่อยได้เปิดโอกาสให้ลูกๆ ได้เรียนรู้ลองผิดลองถูกด้วยตนเองอย่างที่ควรจะเป็น...

แต่ก็อย่างว่าครับ
ความรัก นำพา ...

ความสมดุล เหมาะสม
คือ การค้นหา และทำการบ้านร่วมกันระหว่าง พ่อแม่ และ ลูก ...

..ความรักนำพา..

รักอย่างเดียวน้อยไป ต้องรู้ด้วยค่ะอาจารย์ แผ่นดิน

ยุคนี้พ่อแม่ยิ่งต้องรู้เท่าทันสิ่งต่างๆ มากกว่ายุคเก่า

ขอบคุณนะคะสำหรับความคิดเห็นดีๆ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท