​แก้“0”ก่อนติด“0”


หลายเรื่องที่ครูเราเอาแต่โทษเด็กๆ มาจากครอบครัวไม่พร้อมบ้าง เหลือจากการคัดเลือกของโรงเรียนใหญ่แล้วบ้าง แต่บางเรื่องมิใช่ที่มาของเด็กๆอย่างเดียวดอก ครูเราเองนี้แหละแอบป้อนยาพิษให้ทีละน้อย จนวันหนึ่งศักยภาพในตัวเขาที่มีอยู่ต้องลดน้อยถอยลง อ่อนแอขึ้น

ความรักความห่วงใยที่ครูมีต่อศิษย์ ยิ่งใหญ่จะเป็นรองก็แต่ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกเท่านั้น ด้วยความรักครูจึงหยิบยื่นทุกสิ่งทุกอย่างให้ แน่นอนว่าเรื่องดีต้องเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว ก็เรียนกันมาจนขนาดนั้น บางคนปริญญาโทด้วยซ้ำ แต่อย่างว่าบางเรื่องคิดถึงแต่ประโยชน์อื่นๆ จนหลงลืมละเลยประโยชน์เด็กๆ หรือเพราะพลั้งเผลอก็อาจเป็นไปได้ ทั้งหมดต่อไปนี้อยากกล่าวถึงอีกแง่มุมหนึ่ง เฉพาะที่พลั้งเผลอ อาจจะเป็นประโยชน์บ้าง แต่สำหรับที่ตั้งใจแล้ว คงไม่เกิดประโยชน์อันใด

หลายเรื่องที่ครูเราเอาแต่โทษเด็กๆ มาจากครอบครัวไม่พร้อมบ้าง เหลือจากการคัดเลือกของโรงเรียนใหญ่แล้วบ้าง แต่บางเรื่องมิใช่ที่มาของเด็กๆอย่างเดียวดอก ครูเราเองนี้แหละแอบป้อนยาพิษให้ทีละน้อย จนวันหนึ่งศักยภาพในตัวเขาที่มีอยู่ต้องลดน้อยถอยลง อ่อนแอขึ้น จนต้องมาบ่นกัน ทำไมเด็กสมัยนี้แย่กว่าเมื่อก่อน ความรับผิดชอบ ความตั้งใจ ความเอาจริงเอาจังต่อการเรียน สู้สมัยเราไม่ได้เลย

ที่รู้กันทั่วไปแล้ว เป็นเรื่องการวัดผลประเมินผล แต่ก่อนมีตกซ้ำชั้น เดี๋ยวนี้สอบไม่ผ่าน หรือได้ผลการเรียน“0” สามารถสอบแก้ตัวได้ การสอบตกซ้ำชั้นกลายเป็นตำนานให้คนรุ่นก่อนหวนถึงทุกคราวที่พบว่า ผลการเรียนของลูกหลานแย่ลง เมื่อก่อน ป.4 อ่านหนังสือแตกฉาน แถมลายมือสวยยังกับตัวพิมพ์ เดี๋ยวนี้จบมัธยมอ่านหนังสือไม่ออกก็มี นอกจากคุณภาพครูที่ถูกพูดถึงทุกเรื่องอยู่แล้ว การวัดประเมินผลแบบยังไงก็ผ่าน ติด“0”ก็แก้ได้ เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทุกคนล้วนเห็นพ้องต้องกัน ว่าเป็นต้นตอหนึ่งแน่

เรื่องนี้สมัยนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศธ.เป็นรูปธรรมที่สุด นโยบายให้ตกซ้ำชั้นเหมือนเมื่อก่อน เริ่มมีโรงเรียนนำมาใช้ แต่ก็ชั่วครู่ยาม จากนั้นอีหรอบเดิม บัดนี้ ไม่รู้ว่าเกณฑ์กติกาอะไรตรงนี้ยังหลงเหลืออยู่หรือไม่? แปลกที่ใครๆต่างก็พูดถึงการตกซ้ำชั้น แต่การเปลี่ยนแปลงจริงไม่เกิด หรือบ้านเราเป็นธรรมดาเสียแล้ว มีเหตุทีก็พูดถึงกันที เงียบเมื่อไหร่ก็จบลงแค่นั้น มิหนำซ้ำบางที่บางโรง เหตุการณ์นี้เลวร้ายขึ้นด้วยซ้ำไป สามารถที่จะแก้“0”ก่อนติด“0”ได้ด้วย อย่างไร?

ที่มาน่าจะเกิดจากครูมักถูกเพ่งเล็ง จากทั้งสังคมและการประเมินต่างๆ ยิ่งมีนักเรียนสอบไม่ผ่านหรือติด“0”มากขึ้นเท่าใด หมายถึงคุณภาพการจัดการเรียนการสอนใช้ไม่ได้ นวัตกรรมใหม่จึงเกิด ก็ให้แก้“0”ก่อนที่จะติด“0”เสียเลย ทำท่าหรือมีแนวโน้มว่า คนนี้คะแนนคงไม่ถึงครึ่งหรือร้อยละ 50 ตามเกณฑ์แน่ๆแล้ว ก็ให้มาสอบแก้“0”กันก่อน วิธีอาจเป็นอย่างอื่นด้วย ที่พอจะทดแทนการสอบได้ อาทิ ทำรายงาน สรุป ทำแบบฝึกหัด ผลิตชิ้นงาน ฯลฯ ไปจนถึงการทำความสะอาดห้องเรียน

เพื่อมิให้ตัวเลขจำนวนนักเรียนติด“0”ปรากฏในสารบบของงานทะเบียนวัดผล ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญยามที่โรงเรียนถูกประเมิน แต่ถ้าให้ดูดีหรือที่บางคนเรียกเชิงบวก ก็อาจจะอธิบายว่า นี้คือวิธีการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่สอบไม่ผ่านให้มีความรู้เพิ่ม จะปล่อยให้ติด“0”ก่อนทำไม นอกจากสถิติไม่ดีแล้ว สุดท้ายก็ต้องแก้ให้ผ่านอยู่ดี ฟังผิวเผินก็เข้าท่าดี แต่ในทางปฏิบัติมีเรื่องแย่ๆเกิดขึ้นกับลูกหลานเรามากมาย

ติด“0”แล้วแก้ได้ ทำให้ไม่ตั้งใจเรียนขึ้นอยู่แล้ว เคยได้ยินศิษย์บางคนวิพากษ์กับหู “จะไปสนใจอ่านหนังสือหรือทำการบ้านทำไม? ติด“0”ก็แก้ตัวเอา ง่ายกว่าเยอะ” ยิ่งแก้ได้ก่อนติดจริง หรือก่อนที่“0”ตัวเองจะไปโชว์ในหลักฐาน(ปพ.)ด้วยแล้ว ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ ก็ไม่ต้องตั้งใจเรียนยิ่งขึ้น สอบแก้ตัวง่ายกว่าเรียนอยู่แล้ว แถมเกรดยังดูดีอยู่ ไม่เคยได้“0”เลยเห็นไหม?

ความไม่รับผิดชอบของเด็กๆค่อยสะสมพอกพูน ความเอาใจใส่ต่อการเรียนด้อยลง เลือกทำแต่เรื่องง่าย ขาดความพยายามและความอดทน ความมุมานะไม่มี กลายเป็นคนหนักไม่เอา หรือเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ

ความรักความอยากช่วยเหลือ เป็นคุณสมบัติที่ดีของทุกคน โดยเฉพาะครูเรา แต่ขีดจำกัดต้องมี เส้นแบ่งต้องชัด ชีวิตที่เราประสบทุกเรื่องล้วนมีเส้นแบ่ง เส้นนั้นอยู่ที่ไหน จึงจะเหมาะสมพอดี เป็นเรื่องที่ครูเราต้องครุ่นคิดให้รอบคอบ

เส้นตกกับผ่านอยู่ตรงร้อยละ 50 สูงกว่าก็ผ่าน ต่ำกว่าก็ตก ไม่ขีดเส้นตรงนี้ก็ตัดสินและพัฒนาไม่ได้ ช่วงเวลาให้ทำคะแนนเพิ่มเติมจะสิ้นสุดลงเมื่อใดต้องขีดเช่นกัน ขีดตรงไหนจะพัฒนาศิษย์อย่างแท้จริงเป็นความรับผิดชอบ ด้วยสำนึกพื้นฐานก็ต้องการเรียนการสอนจบสิ้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่ครูต้องประมวลผลทั้งหมด เพื่อตัดสินผลการเรียน ถ้าหลังจากนั้นก็ยังให้แก้ตัวหรือเพิ่มเติมคะแนนได้อีกเรื่อยๆ แม้ดูดีดูช่วยเหลือก็จริง แต่จะส่งผลกระทบใหญ่หลวง เพราะจะทำให้การจัดการเรียนการสอนในห้องของครู ไร้ความหมายไปในทันที ในสายตาของนักเรียน

ลำพังติด“0”แล้วแก้ตัวได้ตามหลักสูตร ก็หนักหนาสาหัสแล้ว แต่การแก้ได้โดยไม่ต้องติด“0”เลย การเรียนในห้องก็หมดความจำเป็น “คะแนนไม่ถึง ประเดี๋ยวก็แก้ตัวเอา”

สุดท้ายจึงต้องมาบ่นกันในเรื่องซ้ำเดิม จบมัธยมแล้วยังอ่านไม่ออก เด็กสมัยนี้แย่กว่าเมื่อก่อน ความรับผิดชอบ ความตั้งใจ ความเอาจริงเอาจังต่อการเรียน สู้สมัยเราไม่ได้เลย

เพราะมาจากครอบครัวไม่พร้อม เหลือมาจากการคัดเลือกของโรงเรียนใหญ่แล้ว? 

หมายเลขบันทึก: 578837เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2014 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2014 10:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

"วิธีการ" .... บ้างครั้งต้องสัมพันธ์และควบคู่ กับ "เป้าหมาย"  นะคะ ท่าน อาจารย์ .....  ถ้ามุ่งแต่เป้าหมายให้เด็กๆๆ ผ่านไป ...ขึ้นชั้นไปๆ  ...แต่เด็กๆ อ่านไม่ออก ... ในอนาคตของพวกเขา ... ในการคิดวิเคราะห์ ... คงจะยากๆๆ นะคะ .....  เป็นปัญหาที่ระบบและปัญหาทางโครงสร้าง (ทั้งครอบครัว + การศึกษา+สังคม) ... ปัญหามันใหญ่มากๆๆนะคะ ... เป็นกำลังใจให้ท่าน อจ.ธนิตย์ ค่ะ  สู้ๆๆ

"คนสมัยนี้"..ไม่มีเวลา.."แค่จิ้ม"..ยังไม่ได้เลย...แล้วจะให้เขียนหนังสือให้เป็นตัวได้..ไง..(อิอิ)...

ตามมาให้กำลังใจพี่ครู

เข้าใจว่า นโยบายบางอย่างน่าจะยกเลิกไป

แต่ที่เด็กติด 0 มีหลายประเด็น

ปัญหาอยู่ที่ว่า ถึงเราจะรับเด็กไม่เก่งมา

แต่ความท้าทายอยู่ที่ว่า

ทำอย่างไรให้เด็กเหล่านั้นได้พัฒนาได้เต็มตามศักยภาพครับ

เด็กเก่ง ทำอย่างไรเขาก็เก่งครับ

ขอบคุณมากๆครับ

เป็นปัญหาขึ้นหิ้งนะคะ  พี่ว่าเราต้องไปให้ถึงต้นตอ คือ ทำอย่างไรให้เด็กรักที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเองมาแต่น้อย  โตไปก็จะ คิดเป็น ทำเป็น เพื่อให้ได้อาวุธติดตัวไปจนตายคือเรียนรู้ตลอดชีวิต  มิฉะนั้นสังคมก็จะพบเห็นเหยื่อแบบคุณสังเวียน (ที่ไปเผาตัวเองหลังจากร้องเรียนขอความช่วยเหลือหลายครั้งเรื่องหนี้นอกระบบ) อยู่เรื่อยๆ 

การแก้ 0 ไม่แก้ 0 จึงเป็นแค่วิธีการหนึ่งในหลายๆ วิธีของระบบการศึกษานะคะ

คุณแม่พี่จบ ป ๔ แต่ลายมือสวยมาก และอ่านหนังสือทุกวัน ชอบอ่าน แม้อายุใกล้ ๘๐ แล้ว นี่คือผลผลิตที่พึงปรารถนาของการศึกษานะคะ

ชอบอ่านบันทึกของอาจารย์ค่ะ เพราะมีแง่มุมให้คิดเยอะ

  • ง่ายและชัดดีจังครับ วิธีการและเป้าหมายต้องสัมพันธ์กัน..
  • ขอบคุณDr.Pleครับ
  • ฮาๆๆๆ แค่จิ้มยังไม่ได้เลย! เวลาเปลี่ยน สภาพแวดล้อมเปลี่ยน คนเปลี่ยน..
  • ขอบคุณยายธีครับ

ครูดีต้องมีใจถึงใจให้แก่ลูกศิษย์...ทำให้ดู อยู่ให้เห็นนะคะ

  • หลายคนบ่นการวัดประเมินผลว่ายอมเด็กๆเกิน แต่บางที่บางโรงกลับยอมเด็กๆยิ่งกว่าครับ..
  • ขอบคุณอ.ขจิตครับ

พี่ครูธนิตย์เปิดเทอมหรือยังครับ

ฝากบอกพี่ครุกาญจนานะครับว่า

มีค่ายภาษาอังกฤษเมื่อไรบอกด้วย

อยากไปช่วยจัดกิจกรรมครับ

  • คุณแม่พี่จบ ป ๔ แต่ลายมือสวยมาก และอ่านหนังสือทุกวัน ชอบอ่าน แม้อายุใกล้ ๘๐ แล้ว นี่คือผลผลิตที่พึงปรารถนาของการศึกษานะคะ..หลายคนและหลายหลักสูตรที่ผ่านมา มุ่งหวังผลผลิตที่สุดยอดเช่นคุณแม่  แต่ทุกวันนี้เหมือนเรากำลังห่างจากเป้าหมายที่สำคัญนี้(รักการเรียนรู้ คิดเอง ทำเองเป็น)มากขึ้นเรื่อยๆ และถ้าเป็นจริง(อย่างที่ตัวเองคิดเอง) คงเกิดจากหลายๆปัจจัย แต่ในฐานะ บทบาท ของโรงเรียนหรือครูผู้รับผิดชอบจัดการศึกษา ที่สำคัญที่สุด..ต้องไม่ใช่สาเหตุที่ไปทำให้เกิดผลในเชิงลบเหล่านี้ขึ้นเสียเอง..
  • ขอบคุณพี่nuiมากๆครับ
  • "ทำให้ดู อยู่ให้เห็น" มีผลยิ่งกว่าวิธีใดๆ และ"ให้ใจจึงจะได้ใจ"นะครับพี่ใหญ่..
  • ขอบคุณพี่ใหญ่ นงนาทครับ
  • โรงเรียนเปิดวันนี้เองครับ อ.กาญจนาบอกขอบคุณอาจารย์มากๆเลยครับ..
  • ขอบคุณอ.ขจิตอีกครั้งครับ
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท