ครูศิริลักษณ์ ชมภูคำ : ๐๑ _ กระบวนทัศน์ของครูตุ๋ม


ภารกิจสำคัญอย่างหนึ่ง ของศูนย์พัฒนาวิชาการเพื่อการเรียนรู้(Center of Academic Development for Learning) หรือ CADL คือ การค้นหาครูเพื่อศิษย์ที่เป็น Best Practice (BP) ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม แล้วช่วยเหลือให้ครูเพื่อศิษย์เจ้าของ BP นั้นได้ สามารถนำเสนอและขยายผลของความสำเร็จไปสู่เพื่อนๆ ครูในพื้นที่ โดยใช้กระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management) หรือ KM หนุนสร้างชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (Professional Learning Community) ในเขตพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม หรือ “PLC มหาสารคาม” พร้อมๆ กับการสร้างเสริมเครือข่ายหนุนเสริมการพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ (Local Learning Enrichment Network) หรือ “LLEN มหาสารคาม”โดยมีความมุ่งหมายร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา ให้สมกับที่เป็นเมืองแห่งการศึกษา “ตักสิลานคร”


ครูศิริลักษณ์ ชมภูคำ(ครูตุ๋ม) ครูโรงเรียนบ้านหินลาด สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จังหวัดมหาสารคาม เขต ๑ (สพป.มค.๑) อ.เมือง จ.มหาสารคาม ถือเป็นครู BP ที่ประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ การอ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง ของนักเรียน ทั้งนักเรียนที่มีระดับสติปัญญาปกติและนักเรียนพิเศษCADL เห็นว่าแนวปฏิบัติของครูตุ๋ม ควรได้รับการเผยแพร่ และขยายผลอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ของนักเรียนที่กำลังเป็นประเด็นระดับชาติอยู่ในขณะปัจจุบันนี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันการณ์ จึงได้ติดตามเรียนรู้ สัมภาษณ์ เพื่อถอดบทเรียนแห่งความสำเร็จเชิงประจักษ์ และเรียบเรียงความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ในตัวครูตุ๋ม จนกลายมาเป็นบันทึกครู BP เล่ม ๑ ซึ่งจะเผยแพร่ต่อไป

การทำงานอย่างทุ่มเท เสียสละ และเมตตา ให้ความรัก เอาใจใส่นักเรียนอย่างต่อเนื่องยาวนาน ของครูตุ๋ม ทำให้มีนักเรียนเรียนดี มีจิตอาสามาช่วยครูตุ๋มด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง การใช้จิตวิทยาเชิงบวกที่สอดคล้องกลมกลืนกับศักยภาพและสภาพความจริงของเด็กแต่ละคน กอปรกับการใช้นวัตกรรมการเรียนการสอนด้วยกระบวนการ ๖ ขั้นตอน ที่ตกผลึกจากประสบการณ์การสอนของตนเอง ทำให้ครูตุ๋มประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และทำให้นักเรียนเกิดเจตคติที่ดีต่อการอ่านและเขียน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ด้วยตนเองและอุปนิสัยใฝ่เรียนรู้ต่อไป นอกจากนี้แล้ว กระบวนการพัฒนานักเรียนด้วยนักเรียนจิตอาสาที่ครูตุ๋มพัฒนาขึ้น ยังส่งผลโดยตรงต่อ “นักเรียนจิตอาสา” ในการพัฒนทักษะทั้งการอ่าน การเขียน คุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตร และคุณธรรมพื้นฐานด้านความเอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ และสามัคคี ให้เกิดมีภายในใจของนักเรียน อีกทั้งยังส่งผลทางอ้อมต่อการเรียนรู้ในรายวิชาอื่นๆ กับเพื่อนครูในโรงเรียน อันเป็นผลจากพฤติกรรมการเรียนรู้แบบแบ่งปัน ช่วยเหลือ หรือการเรียนรู้เป็นทีมของนักเรียน



ครูตุ๋มมองนักเรียนเป็นลูก ห้องเรียนเหมือนครอบครัว ตัวครูเป็นเหมือนพ่อแม่ ใช้ความรักเป็นต้นทุนหรือเงื่อนไขเริ่มต้นในการคิดและการลงมือทำอย่างประณีต คือดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคล ให้ความสำคัญกันอย่างเท่าเทียมกันหมด ทั้งนักเรียนที่ปกติหรือบกพร่องด้านการเรียน ให้นักเรียนทุกคนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพของตนแอง โดยไม่ทอดทิ้งใครให้โดดเดี่ยว ดังบทบันทึกส่วนหนึ่ง ว่า

ห้องเรียนของครูจะต้องเป็นห้องเรียนที่มีความสุขมีคุณครูที่ยิ้มแย้มแจ่มใสมีสายตาที่อ่อนโยนมองเด็กที่อยู่ตรงหน้าเหมือนลูกคนหนึ่งที่ครูจะต้องดูแลเขาด้วยความรู้สึก ที่เต็มใจ ไม่ว่าเขาจะมีความบกพร่องอะไร จะมากน้อยแค่ไหนครูจะต้องมองข้ามสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดแต่สิ่งที่ครูจะต้องคิดและลงมือทำอย่างประณีตด้วยความรักเป็นต้นทุนในการที่จะดูแลแก้ไขเขาให้ผ่านพ้นความบกพร่องนั้นไปให้ได้ ด้วยเวลาที่สั้นที่สุดครูคนเดียวคงไม่สามารถเนรมิตให้สำเร็จได้ครูจะต้องมีผู้ช่วยที่เป็นสมาชิกในห้องเรียนทุกคนคือคนสำคัญเท่ากันหมดนักเรียนที่เรียนดีจะต้องคอยดูแล ช่วยเหลือนักเรียนที่มีความบกพร่องด้านการเรียน ให้เขาได้เรียนรู้ในห้องเรียนไปพร้อมๆกับเราครูและนักเรียนที่เรียนดีจะต้องจับมือประสานใจช่วยเหลือนักเรียนที่มีความ บกพร่องด้านการเรียนให้เขาได้พัฒนาตนองได้ตามศักยภาพของเขาเราจะต้องไม้ทอดทิ้งเขาให้โดดเดี่ยวห้องเรียนของเราจะเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกันมีปัญหาเราร่วมกันแก้ไขมีรอยยิ้มมีเสียงหัวเราะร่วมกัน”


มุมมองในการพัฒนาการเรียนรู้ของครูตุ๋ม ไม่ได้มองครูเหมือน “เรือจ้าง” แต่เห็นนักเรียนเป็นเหมือน “เมล็ดพันธุ์” มองครูเป็นผู้ปลูก ดินน้ำธาตุอากาศ เปรียบเหมือนบรรยากาศในกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งบทบาทสำคัญของครูคือผู้เตรียมให้เหมาะสมต่อเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิดซึ่งแตกต่างกัน อีกทั้งครูยังต้องพัฒนาวิธีปลูก วิธีดูแล คือวิธีการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้อง กับบริบทของนักเรียนแต่ละคน ท่านถือหลักคิดนี้เป็นเหมือนเข็มทิศในการเป็นครู ดังจะเห็นจากบันทึกของท่าน ว่า...

นักเรียนเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่จะนำมาหว่านลงบนพื้นดินถ้าหากว่าพื้นดินที่หว่านลงไปได้รับการเตรียมดินไว้อย่างเหมาะสมแล้วเชื่อว่าเมล็ดพันธุ์ย่อมเจริญเติบโต และงอกงามได้ตามจุดประสงค์ที่วางไว้คำว่าพื้นดินที่เตรียมไว้ดีเหมาะสมแล้วคือการเตรียมจัดบรรยากาศในการเรียนกระบวนการวิธีการที่เอื้อต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนให้เป็นไปตามจุดประสงค์ ที่วางไว้เพราะฉะนั้นครูจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่จะนำพานักเรียนไปสู่จุดมุ่งหมายของ การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพการเดินทางย่อมมีปัญหาและอุปสรรคบ้างเพราะแต่ละปีกลุ่มนักเรียนมีความหลากหลายไม่เหมือนกันปัญหาและอุปสรรคย่อมแตกต่างกันครูจะต้องค้นหาคำตอบหาวิธีแก้ไขนำพานักเรียนไปสู่จุดมุ่งหมายให้สำเร็จด้วยกระบวนการที่หลากหลายมีความมุ่งมั่นมีความพยายามมีความตั้งใจมีความทุ่มเทมีความเสียสละมีความเต็มใจและมีความสุขของการเป็นครูมืออาชีพเมล็ดพันธุ์ที่หว่านลงไปจะต้องเจริญเติบโตและงอกงามอย่างน่าอัศจรรย์นี้คือเข็มทิศนำทางของครู”

ครูตุ๋มไม่เพียงมองเห็นปัญหา แต่กระโดดลงไป “ตะลุยแก้ปัญหา” อย่างจริงจังต่อเนื่อง สะท้อนถึงความตระหนักที่แท้จริง

ครูตุ๋มมองว่า “...การอ่านไม่ออกเขียนสะกดคำไม่ได้ เป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังพบอยู่ทั่วไปในกระบวนการเรียนการสอนทุกๆ ระดับชั้น ซึ่งเป็นวิกฤติที่กระทบต่อการเรียนรู้อย่างมหาศาล ไม่เฉพาะวิชาเรียนที่ต้องใช้ทักษะด้านภาษาเท่านั้นแต่ยังรวมถึงข่าวสาร ข้อมูล ความรู้จากแหล่งต่างๆนอกเหนือจากตำราเรียนในกระเป๋าซึ่งล้วนต้องอาศัยทักษะการอ่านเขียนเพื่อเก็บเกี่ยวความรู้เหล่านั้นไปตลอดชีวิต...”

ก่อนกระบวนการพัฒนา ครูตุ๋มเปรียบลูกๆ นักเรียนพิเศษ เหมือน “ต้นกล้าที่อ่อนแอ” “...ต้นกล้าที่อ่อนแอของครูเป็นอย่างไรบ้างครั้งแรกที่ครูพบ ครูเป็นห่วงมาก ต้องหาทางช่วยเหลือดูแลอย่างเร่งด่วนต้นกล้าที่อ่อนแอจะต้องแข็งแรงเจริญเติบโตได้ตามศักยภาพของตนเอง ครูจะไม่ทอดทิ้งต้นกล้าที่อ่อนแอของครูเด็ดขาด ครูจะใช้น้ำใจของจิตอาสา รดลงบนต้นกล้าจะใช้ปุ๋ยแห่งความเอื้ออาทรเติมลงไปบนโคลนต้น จะฉีดยาปราบศัตรูยี่ห้อแห่งความเอาใจใส่และมุ่งมั่นฉีดลงอีกครั้งต้นกล้าที่อ่อนแอตอบสนองได้เป็นอย่างดี เริ่มแข็งแรงดูมีชีวิตมีความสุขมีความพยายาม มีการพัฒนาได้ดี มีความมั่นใจต่อการมีชีวิตและจะต้องเติบโตป็นต้นไม้ใหญ่ที่ใช้ประโยชน์ได้ อย่างเต็มศักยภาพ



ครูตุ๋มมีกระบวนทัศน์ที่เน้นการ ปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาหน้างานของตนเองด้วยตนเอง จึงพบและเป็นผู้กำหนดปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนสะกดคำไม่ได้ในโรงเรียนด้วยตนเอง ครูตุ่มบอกว่า ...เด็กยังขาดทักษะสำคัญที่เปรียบเสมือนกุญแจและเครื่องมือ ที่จะเปิดประตูไปสู่การเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กพิเศษที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มากกว่าปกติ ซึ่งบุคคลสำคัญที่จะช่วยเหลือให้นักเรียนก้าวผ่านวิกฤตของตนเองได้คือ ครู... เมื่อเห็นและตระหนักปัญหา จึงนำมาซึ่งการลงมือออกแบบวิธีการช่วยเหลือขึ้นด้วยตนเองได้แก่หลักสูตรการแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนคำสะกดไม่ได้ด้วยกระบวนการ ๖ ขั้น (ดังจะได้กล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป)เพื่อพัฒนาให้นักเรียนสามารถอ่านออกและเขียนสะกดคำได้ และจากการนำไปใช้อย่างต่อเนื่องหลายภาคการเรียน ครูตุ๋มพบว่าหลักสูตรนี้ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง และสามารถใช้ได้กับทั้งนักเรียนพิเศษเรียนร่วมนักเรียนปกติและยังสามาถบูรณาการร่วมกับวิชาอื่นๆ หรือเพื่อนครูผู้สอนในโรงเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม

หมายเลขบันทึก: 575306เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2014 21:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2014 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท